พ่วง พรหมเพชร คนสู้พิษหมาบ้าแห่งรัตภูมิ


บ้านท่ามกลางสวนเขียวครึ้มและร่มรื่น เลขที่  77 หมู่ 4 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา รับรักษาโรคพิษสุนัขบ้าแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดโดยนายพ่วง พรหมเพชร
หมาพันธุ์เล็กขนปุกปุยเห่าต้อนรับแขกผู้มาเยือน

ปู่พ่วงวัย 86 ปี ลงจากศาลาข้างบ้านมาต้อนรับเชิญชวนนั่งในบ้าน จากการติดต่อทางโทรศัพท์ล่วงหน้าทำให้แกรู้ว่าเราไม่ใช่ผู้ป่วยรายล่าสุด ยิ่งทุกวันนี้คนถูกหมากัดตรงไปโรงพยาบาลมากกว่า
"ยาหมานี่ไม่มีการเปลี่ยนยาจะต้มกี่หม้อ ใช้ตัวยาเดิมหมด สมุนไพร 8 อย่าง  ประกอบด้วย  รักหมา หรือรักขาว ,ไม้ค้อนตีหมา, คันหามเสือ ,ตาเสือ  ,มือเสือ ,จิ้งจ้อต้น ,จิ้งจ้อย่านและหัวลิงทะเล"

ปู่พ่วงเริ่มบทสนทนาโดยการบอกสูตรยารักษาพิษสุนัขบ้าอย่างไม่ปิดบังอำพราง พร้อมเดินไปหยิบยาตากแห้งบรรจุปี๊บเทลงบนกระดาษหนังสือพิมพ์ นิ้วเขี่ยแยกส่วนผสมคลุกเคล้าให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร

อาจารย์ชัย เหล่าสิงห์ ผู้ศึกษาและสืบทอดวัฒนธรรมพื้นบ้าน คนนำทางเราไปหาปู่พ่วงวันนั้นให้ความเห็นต่อตัวยาว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสุนัขหรือหมาโดยตรง อย่างเช่นรักหมา ไม้ค้อนตีหมา  ส่วนจิ้งจ้อนั้นเกี่ยวข้องกับหมาจิ้งจอกซึ่งหมาบ้านกลัว

ตัวยาสับแล้วตากแดดให้แห้งก่อนต้ม กำหนดต้มหลังเที่ยง ห้ามเริ่มกินยาครั้งแรกในวันพระ   ได้ผลดีสำหรับผู้ป่วยที่รีบรักษาทันทีหลังถูกกัดหรือปล่อยไว้ไม่เกิน 1 เดือน ระยะเวลาและปริมาณของยาแล้วแต่อาการ   

รสชาติยาออกเลี่ยนๆ ต้องกินวันละ 3-4 ครั้งก่อนอาหาร หรือมากกว่านั้นก็ได้ ไม่เป็นอันตรายแม้สตรีมีครรภ์ หม้อหนึ่งกินได้ประมาณ  15 วัน บางคนอาการไม่หนักใช้ยาหม้อเดียวพอ แต่บางคนต้องกิน3-4หม้อหรือมากกว่า ถ้ายังรู้สึกอย่างที่ปู่พ่วงอธิบายว่า ปวดเมื่อย  ใจสั่น ปลิวๆ หายๆ  
"ยานี้ต้มกับหม้ออะไรก็ได้ขอให้กินตามกำหนดก็แล้วกัน หม้อละประมาณ 15 วัน หรือยืดออกไปอีกสักระยะหนึ่ง สำคัญที่สุดข้อห้าม อย่ากินของแสลง ห้ามกินสัตว์สองเท้า สี่เท้า ปลามีเงี่ยง มีพิษ ภายใน 3 เดือน  ห้ามทำงานหนัก ห้ามขึ้นต้นไม้  ห้ามเดินลอดใต้ต้นมะขามป้อม  ถ้ากินยาอื่นอยู่ด้วยห้ามกินยาผสมมะขามป้อม"

ปู่พ่วงยังห้ามคนป่วยตากฝนถ้าไม่จำเป็นจริงๆ แต่ควรอาบน้ำวันละหลายหน

"ให้อาบจนตัวเย็นท้านเลยทีเดียว  แต่พวกนี้มักกลัวน้ำบางคนลงห้วยหนอง ไม่นานรีบกลับเพราะหนาวเย็น  ต้องข่มใจแช่น้ำจนตัวสั่นให้ได้"

นอกจากยากินแล้วปู่พ่วงยังมียาโปะแผล ส่วนประกอบ ถ้าถูกกัดราวสองแผลใช้ใบสลอดที่ไม่แก่มากนัก  7-8 ใบ เมล็ดสลอด 3- 4 เมล็ด  ตำให้ละเอียดปนด้วยสารหนูปริมาณราวหัวไม้ขีดตำเข้าด้วยกันให้ละเอียด

"หมากัดต่ำกัดสูงใช้เหมือนกัน แต่กัดที่สูงจะโป๊ะยายาก หากยา หยดลงตาอาจทำให้ตาบอด พลาดเข้าปากอาจตาย เพราะสารหนู"

จากประสบการณ์ปู่พ่วงเล่าว่าแผลข้างในรอยเขี้ยวหมาจะแข็ง เมื่อโปะยานี้สัก 3 วันผู้ป่วยคอยเอามือชุบน้ำหยอดใส่แผลให้ชุ่มระวังอย่าให้น้ำไหลล้นออกมา เพราะฤทธิ์สารหนูกัดลามเป็นแผลบริเวณอื่น เวลาอาบน้ำ ให้แกะยาที่โปะออกมาจากแผลใส่กลับที่ตำยาคลุกเคล้าตัวยาใหม่เพื่อรอนำกลับมาใช้ได้อีก  อย่าให้ยาแห้งอาบน้ำเสร็จก็ใส่ยากลับที่แผลกลับดังเดิม

"ทำครบ 3 วันก็ได้แผลจะไม่เปื่อย ดูคล้ายแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกนิดหน่อย"

หลังยาโปะยังมียาพาดปู่พ่วงให้ใช้ รากน้ำกระทุ้ง (รากน้ำข้าว)ฝนกับน้ำแช่ข้าวสารได้ยาแล้วใช้หญ้าตีนกาหรือขนไก่ชุบลากผ่านบนแผลเรียกว่า “พาด”  ทำเรื่อยๆ จนหาย บางคนใช้เวลานับเดือน  

"ยาพาดทำให้แผลสารหนูกัดพองเปื่อยออกมา รากน้ำข้าวจะไปเผา อย่ากลัว ต้องพาดจนหมดเนื้อเก่าที่สารหนูมันเผา เห็นแผลสีแดง ไม่เป็นไรแล้ว รากน้ำข้าวพาพิษออก  อันนี้ไม่ได้ทำทุกคน เฉพาะอาการหนักที่เห็นชัดว่าหมาบ้ากัดจริง ๆ"

ยาพาดใช้จนหายดีหลังแผลเปื่อยหมด บางคนพบว่าแผลตรงกลางรอยเขี้ยวหมา ลักษณะคล้ายหัวฝี นานเข้าเหลือรอยอยู่นิดเดียวต้องรอให้หายเองห้ามแกะเพราะพิษจะกำเริบ รายละเอียดเหล่านี้ต้องปฏิบัติกันอย่างเข้มงวด

กระบวนการรักษานอกจากสูตรยาแล้วต้องปลุกเสกตามแบบโบราณ บนหม้อต้มยาต้องขัด “หลิวเพชร” หรือรูปดาวห้าแฉก ทำกับก้านพร้าว หรือก้านจาก เสียบตรงปากหม้อ เสร็จแล้วเสกคาถาอาการสามสิบสองหรือดึงสาการ  ต่อด้วยคาถา สักกัตวา ส่วนที่ท้องหม้อต้องลงพระเจ้าห้าองค์  “นะโมพุทธายะ”

เวลาเสก ใช้คาถาปัดเสกในตัวยาว่า...

"โอมสิทธิการ เมื่อแรกเสด็จ เขาทั้งเก้าพระองค์   เท้ายังตั้งพัทสีมาและมลฑล  บอระจนไปด้วยมาราธิราชก็แพ้พ่ายออกไปนอกฟ้า จักกะราวาล    ท่านจึงให้กูปัดพิษหมาใหญ่ และหมาน้อย นับด้วยร้อยด้วยพัน  อย่างอิโปะและอิปัน สะรัพพะพันและผักหนาม   หนามผัก หนามไผ่ หนามไพ หนามเขียน  ทั้งไม้เคียน อันมีผี  ท่านยังมาไว้มนต์แก่ตนนี้   กูเสี้ยมมารานแรด  มารานช้าง   มารานวัว   มารานควาย  มารานเสือสีห์  เที่ยวท่องร้องก้องพงไพร    พิษลิงร้ายและจักจั่นสนั่นอยู่วาววู  พิษแมงภู่และหมาหอนทั้งพังพอนและเหล็กบาด  พิษสะปลา  พิษสะปู   ขุดรูอยู่ในถ้ำ พิษจระเข้ อยู่ในแม่น้ำพระคงคา  โอมสะรัพพะพิษเอย   สูเร่งออกมากูจะหักเอาเงี่ยง กูจะหักเอางา   ควักเอาหน่วยตาพาไป ถวายแก่พระนารายณ์ผู้เป็นเจ้า โอมอ่ำสรรพสิทธิครูสะวะหาย" คาถาปัดนี้ยังใช้ในรักษาอีกหลายขั้นตอน

 พิธีปัดคนป่วย สั่งคนป่วยนั่งยืดแขนยืดขามาทางเดียว หันหน้าไปทิศตะวันตกหรือเหนือ ผู้ทำพิธีอยู่ทางขวาว่าคาถาพร้อมใช้ใบไม้ปัดคนปวยตั้งแต่หัวลงมาหยุดที่แผลแล้วใช้คาถาตัดหนวด “ปัจจักขามิ ตัจจักขามิ” โดยมีกะลาใส่น้ำตั้งไว้ พอตัดหนวดเสร็จชุบน้ำ แล้วปัดให้ดูขลัง

"การเด็ดพิษใช้คาถาบทเดียวกัน แต่ของประกอบมี ก้านอุตพิดสามก้าน  มีดครู ตั้งไว้ด้วย พอถึงแผล ว่าคาถาตัดหนวด ว่าแล้วตัดไปที อันนี้ไม่ลงในน้ำ น้ำต้องกะลาเพราะว่า หมากินข้าวในกะลา อย่าใส่ถ้วยชาม"

นอกเหนือจากขั้นตอนเหล่านี้ บางคนยังขอให้เหยียบพิษ ปู่พ่วงบอกว่าทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ เหมือนการปัด ใช้คาถาตัดหนวดแต่จะลงเสือหมายถึงการทำรูป เขี้ยวเสือ จมูกเสือ ตาเสือ ลงตรงจะใช้เหยียบ แล้วเหยียบแผลเบาๆ พร้อมว่าคาถา

"ฉันยังได้วิชามาจากท่านชื่น  (วัดควนหวาด) ว่าถ้าพิษหมาขึ้นอย่านั่งแล ต้องทำน้ำมนต์ ตบหัว ให้เขากิน ท่านว่า  'นะโสติ ยุตตังสติ'  เป็นการกำราบพิษ อีกข้อหนึ่ง  ตบหัว  ทำน้ำให้เขากินว่า 'อะกระจาย ยะสูญ'  อาจต่อว่า 'พิษทั้งมูลสูญไปด้วยนะโมพุทธายะ' "

แม้กระบวนการจะละเอียด  มากขั้นตอนแต่ปู่พ่วงเล่าว่าบางอย่างต้องยอมยืดหยุ่นได้โดยยึดหลักรักษาชีวิตคนเป็นอันดับแรก อาจต้มยาทันทีโดยไม่รอเวลา

ปู่พ่วงเล่าอาการกลัวน้ำว่าถ้าพิษหมากำเริบ จะหิวน้ำ ขอกินน้ำบ่อย  หน้าแดง คนอื่นไปจับตัวคนป่วยจะรู้สึกร้อน แต่เจ้าตัวรู้สึกหนาว ขอห่มผ้าแม้จะเป็นกลางเที่ยงแดดร้อนเพียงใด  

"บางคนเห่าหอนแต่ไม่ใช่ทุกคน บางใจใจตึกๆ เที่ยวข่วน เที่ยวเกา เจ้าตัวเองก็ไม่รู้เลย  แสดงว่าพิษขึ้น บางคนนั่งคุยอยู่ดีๆส่งเสียงเหมือนหมาเห่า แล้วลุกหนีไปเลย บางคนลุกขึ้น  คู้ คลานเหมือนหมา  บางคนเที่ยวกัด ฉวยสิ่งของขว้าง ต่อยตามห้อง คอแข็ง  บางคนอาการขึ้นแล้ว จับไม่อยู่ พ่นน้ำลาย  เข้ามากัดตัวคนอื่น น้ำลายพวกนี้มาถูกเรา ก็จะติดอีก"

คนหมาบ้ากัดไร้ที่พึ่งมักมาพร้อมความตื่นตระหนก ขันหมากพลู เงินตั้งราดแล้วแต่ศรัทธา  เดิมเคยคิดแค่ 12 บาท

"เงินจะเรียกก็ได้ไม่เรียกก็ได้ บางคนฉันสงสาร บางคนมาถึงถามว่าจะไหว้ครูเดือนไหน พูดไหว้ครูเสียแล้วยังไม่ทันต้มยา(หัวเราะ)  แบบนั้นส่วนมากไปพ้นทั้งเพ ฉันไม่ว่าหรอก บอกว่าเดือนไหนก็ได้ครบ 3 เดือนมาเด็ดพิษ  แหลงกันว่าต้มยาหม้อ 100  จะไหว้ครูหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขาแล้ว เราถ้าไม่เอา(เงิน) เครื่องยา ต้องหา"

ปัญหาของปู่พ่วงทุกวันนี้นี้เครื่องยาหายาก ต้องสืบเสาะเห็นอะไรอยู่ตรงไหน จะติดตามไปเก็บมา บางแห่งไกล บางทีให้คนที่รู้จักช่วยหามาให้ ต้องมีค่าใช้จ่าย

"หัวลิงเลหายาก มาก บางที ต้องไปสองเที่ยวกว่าจะได้เสียเงินไป 300 ไปถึงแล้วขอช่วยเด็กแถวนั้นเป็นเพื่อน เพราะไปเดินดุ่มๆ อยู่คนสงสัยอีก  หาว่าโจร  ต้องให้เงินเด็กอีก ที่ว่านี้อยู่ตามน้ำเค็มสายคลอง ถ้าไม่มีก็ไปตรงอื่นอีก  ไปเสาะแสวงหาทุกแห่ง"

ความเป็นมาของตำรารักษาพิษสุนัขบ้าตามแบบวิธีนี้ปู่พ่วงเล่าสืบทอดมาจาก “นายไข่” ผู้เป็นพ่อ ที่รับมาจากพ่อท่าน ปาน วัดคลองเรียน เมืองหาดใหญ่ อีกทอด

"ตอนนั้นหมาขบพี่ชาย เป็นหมาหมีด้วยคือลักษณะตัวสีดำจะมีพิษมากกว่าหมาอื่น แต่ถ้าตัวดำท้องขาว ตีนขาว ใต้คางขาว ไม่ใช่  หมาหมีจะแรงกว่าอะไรทั้งหมด  พิษมันแรง ปราบยาก  มาขบนายชุม พี่ชาย   พ่อไปหายากับอีกคนที่ถูกกัดด้วยกัน เขาก็ไม่มียา พ่อรู้ว่าที่วัดคลองเรียน มีพระที่รู้เรื่องนี้ ก็เลยเดินไปวัดคลองเรียน คิดดูว่าจากรัตภูมิเดินไปวัดคลองเรียนไปแล้วไม่พบ เพราะท่านไปธุดงค์ที่นาสีทองก็เดินกลับวกมาอีก   ใช้เวลา 7 วัน ได้ยาแล้วท่านว่าค่อยกลับวันพรุ่งเพราะค่ำ คืนนั้นท่านบอกพ่อหมด คาถาปัด  แบบไหน"

นายไข่พ่อของปู่พ่วงกลับมาถึงบ้านพบว่าคนที่ถูกกัดพร้อมนายชุมไปหาหมอ รักษาไม่ได้ตายเสียแล้ว ส่วนนายชุมพี่ชายออกอาการเห่าหอน จึงเริ่มรักษาประคับประคอง อาการดีขึ้นจนหาย แต่การใช้ยาโปะทำให้เกิดแผลเป็นติดตัว ริมฝีปาก จนคนทั่วไปเรียกว่า 'ชุมแหว่ง'

สมัยนั้นหมาบ้าเพิ่มมากจนคนกลัว มีคนบ้า ตายจริง  นายไข่ได้รักษาคนไปทั่วปู่พ่วงเล่าสมัยก่อนพ่อไม่ได้ต้มยา แต่ใช้วิธี ตำใส่ขวด คนไข้ไปละลายน้ำร้อนกิน

"คนหนึ่งพ่อเล่าว่า คนเฒ่าแล้วหมาขบคนพามาที่วัดเขาตกน้ำ ก็มาหาพ่อ  พ่อดูแล้วน่าจะไม่รอด ทำอะไรไม่ได้แล้ว ไม่รู้ทำไง  ก็ลองดู  พ่อบอกว่าลองยา นะ รักษาได้ไม่ได้ไม่รู้พี่น้องก็อย่าโทษกัน พี่น้องเขาก็ไม่รู้ไปไหน ก็ว่าลองก็ลอง  พ่อฝนยาให้กิน พอยาตกท้องสิ้นใจ  เพราะว่า โดนมาหลายวันหมดแรงมาแล้ว"

นายไข่ถ่ายทอดความรู้ให้ลูกชายที่ชื่อนายพัน น้องชายปู่พ่วง

ปู่พ่วง ไม่ได้รับโดยตรงเนื่องจากในเวลานั้นต้องไปราชการทหาร แต่เมื่อเสร็จจากการติดทหารกลับบ้านแล้ว นายพันบอกว่าเขาไม่ถนัดในการรักษาคนป่วย เพราะชอบทำสวนมากกว่าจึงได้ถ่ายทอดให้พี่ชาย ผู้มีอัธยาศัยทางด้านนี้มากกว่า  
 
นับแต่อดีตมีผู้เดือดร้องเนื่องจากถูกสุนัขบ้ากัดไปหาบ่อยมาก  บางครั้งทำนาอยู่ก็ต้องไปช่วยโดยด่วน ทั้งๆที่เงินค่ารักษาก็ไม่ได้มีมากมายนัก  แต่บางคนเกินวิสัยที่จะยื้อชีวิต

ผู้ป่วยจากนิคมรัตภูมิมาต้มยา ถามปู่พ่วงว่าอาการพิษหมาเป็นแบบไหน พอเล่าว่าขั้นแรกจะปลิวๆ หายๆ เหมือนกับแมลง มาไต่แล้วหายไป วันสองวัน จะค่อยหนักขึ้นตึกๆขึ้นหัวใจ แล้วหาย แล้วหลายวันจะหนักขึ้น หิวน้ำ หน้าก็ขึ้นผิดสี ตัวร้อน แต่เจ้าตัวรู้สึกเย็น พอฟังแบบนั้นเขาตกใจ เพราะเคยเกิดกับลูกเขาอีกคนแต่เขาไม่รู้เรื่อง ลูกคนนั้นเป็นเด็กนักเรียนหญิงจึงตายไปก่อนแล้วโดยไม่ทราบสาเหตุ  เพิ่งมาคนนี้จึงคิดต้มยา

กรณีคนถูกหมากัดมาจากทุ่งยาว  ปู่พ่วงเล่าว่าคนถูกกัดเป็นเด็กสาว รายนั้นอยู่ใกล้แต่ไม่รีบมาต้มยา ปล่อยให้อาการหนักแล้ว

"มาหาตอนเย็น ยายอุ้มหลานตัวใหญ่มาหา น่าสงสาร บอกว่าให้ช่วยรักษา บอกว่าถ้าหายจะยกให้   ตอนอุ้มแล้วมันกัดยายด้วย  อุ้มๆก็กัด ฉันไปนั่งแลแล้ว เห็นว่ารักษายากแล้ว ทั้งกระชั้นชิดเวลาเพราะเย็น มืดค่ำแล้ว เตรียมของไม่ทันก็บอกว่าค่อยมาอีกวัน จะทำอะไรได้ต้มยาต้มอะไร ยังไม่ได้หา ยาฝนก็ไม่มี  ค่ำนั้นตาย แต่ยายที่ถูกหลานกัดไม่เป็นไร"

สองรายที่ตาย เพราะไปกินของแสลง รายแรกข้างบ้านมีงานล้มวัว แม่ไปงานเอาแกงวัวกลับมาบ้านไม่ทันดูว่าลูกที่ถูกหมากัดและกินยาอยู่แอบกินแกงวัวตอนไหน อีกรายกินเนื้อวัวก็ตายเหมือนกัน

คนป่วยจากนาทวี เป็นคนไม่มีเมีย กินเหล้าเก่ง  หมากัดยังเมาไม่หยุด ดื้อ ไม่ยอมไปโรงพยาบาล  จนพิษหมาขึ้นเต็มที่ถูกพามาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อาการหนักมากสุดท้ายก็เลยพามาหาปู่พ่วง นอนคว่ำคล้ายหมาแล้ว น้ำลายไหลไม่หยุด

"ถามว่ากี่วัน บอกว่าเป็นมา 6-7 วันก็บอกว่า เอากลับบ้านเถอะ อาการเต็มที่แล้ว  แต่ก็ต้มยาให้ เพราะเขามาไกล เกรงใจเขา   แต่ต้มเอาไปกินโรงพยาบาลก็ไม่ได้ เอากลับบ้านก็ตาย"

"อีกคนติดหมาก พอดีคืนนั้นขาดหมาก  หมากอยู่ข้างล่างบ้าง มันมืดลงไปงม พบว่าหมาบ้านอนอยู่แล้ว มันก็กัดเอา แล้วยังไปกัดวัวลูกอ่อน เขาเดินมาต้มยาเอง มาต้ม 2 หม้อ  ฉันบอกของแสลง วิธีปฏิบัติตัว เขายังพูดอีกว่า ต้องทำงานเพราะไม่รู้ใช้ใคร  ทำอะไร เป็นคนเดินมากใช้กำลังมาก ไปกลางนาเอาข้าวห่อให้ลูกกลางวัน  เอาจอบไปทำชายนา ลูกขนุน จำปาดะ ยังขึ้นไปใส่ครุ พอพิษขึ้น นั่งแล้วร้อง ข่วนไปทั่วไป ไม่รู้ตัว ครวญ  เอาหมากมาเคี้ยวไม่ทันแหลก ญาติพาไปเรียกพิษที่หมอแขกอีก  หมอนั้นบอกว่าไม่มีทางแล้ว ก็กลับมาตาย คือถ้าพิษขึ้นแล้วยาก ต้องพยายามรักษาตอนเจ็บ"

รายผู้ป่วยแถวบ้านชายคลองเป็นพ่อหม้าย  ฤดูเดือนสิบ สมัยก่อน มีนวดข้าว ทิ่มข้าว ทิ่มแป้ง ทอดขนม เขาทำเองหมด พิษหมาขึ้น 7 วันมาต้มยากับปู่พ่วง แกบอกว่า ถ้าไม่ต้มก็เกรงใจ เพราะเป็นญาติแม้ ใจสงสัยว่าคงไม่ไหว  ตอนเย็นเขาเอายาไปไ ม่รู้ว่าทันได้กินหรือไม่ ก็รู้ข่าวว่าตายเสียแล้ว

"บางคนตั้งใจมารักษา ร้องร่ำ บอกว่าสงสารเขาเถอะ ช่วย บอกว่าไม่ต้องตกใจ บางคนลูกถูกกัด พาลูกมานั่งร้องไห้   บอกว่าฉันช่วยได้ แต่ตัวก็ต้องช่วยลูกตัวมั่ง  ของแหลง ของต้องห้ามทั้งหลาย”

ผู้ป่วยจำนวนมากรักษาหาย และเคยส่งยานี้ไปให้ถึง กทม. ผู้ป่วยเป็นพระที่ถูกหมากัด ติดต่อผ่านพระผู้ใหญ่ในวัดแถวรัตภูมิ  

ปู่พ่วงเล่าว่าคนละแวกใกล้เคียงคนหนึ่ง ตอนยังเด็กอยู่ ป. 4 หมากัดไปฉีดยาอยู่เป็นปี แล้วคืนหนึ่งกำเริบ เขาไม่รู้ว่าอะไร พาไปหาหมอ เขาไม่รับ หาว่าติดยา พาไปรักษาที่โรงพยาบาลต่อในหาดใหญ่ ระหว่างนั่งรถกระบะเขาปูเบาะให้นั่งในรถ ก็กัดเบาะขาดหมด  ต้องช่วยกันจับตัวไว้  คิดว่าอาการหนักใกล้ตายแล้ว จึงกลับมาบ้าน พอดีครูหมอจับลง และบอกว่าเกี่ยวกับของมีพิษ นึกออกว่าเคยถูกหมากัด ก็มาเรียกปู่พ่วง กลางคืนราว ตี 3 ก็เตรียมของให้ ไปปัดไปต้มยา ก็หาย

"ทุกวันนี้เป็นทหารอยู่" ปู่พ่วงเล่า

ยานี้ใช้กับสัตว์ที่ถูกหมาบ้านกัด อย่างวัว หมู ก็ได้ผลดี  ใส่ขวดกรอกให้กิน บริเวณแผลจะเอามีดไปเขี่ยดึงออกตรงรอยเขี้ยว ต้มหายหลายตัว แต่ที่ตายเพราะผิดข้อห้ามอย่าง เจ้าของวัวรีบไปใช้งานหนักเกินไป

ยาขนานเดียวกัน ใช้ป้องกันพิษแมวและ พิษงูได้  แกเล่าว่าคนถูกแมวกัดปล่อยไว้ตายก็เคยมีมาแล้ว ถึงไม่บ้าเห่าหอน แต่แสดงกริยาเหมือนแมวแผล เปื่อย เหม็น

สำหรับคนงูกัด  ปู่พ่วงจำได้ว่ารักษามุสลิมคนหนึ่ง  ที่พิษงูเข้าข้อทำให้เข็ดเมื่อยไม่หาย  แต่ผู้ป่วยบอกว่าเอายาไปกิน แล้วไม่ถูกกันกับโรคทำให้ขึ้นเม็ด ก็เลิกรักษา

รายที่หาย จากงูเป็นญาติลูกพี่ลูกน้อง ถูกงูกัดตอนออกฟันไม้ในป่าด้วยกัน  กำลังเข้าไปหามกลับบ้าน เกิดเหยียบงู ก็โดนงูกัด  ช่วยหามกันมาจากป่า ปู่ต้มยา รักษา ปัด จนหาย เพราะเจ้าตัวไม่มีลูกเมียดูแล

การรักษาพิษแมวกับพิษงู ต้องใช้ยาฝนกับเหล้า เครื่องประกอบ เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมี  เขี้ยวจระเข้ กระดูกงูเหลือม หวายตะคล้า  ไม้แดง   ยาที่ออกมาจะสีแดง  ฝนแล้วต้องกินหมดเลย ไม่กินซ้ำ
ปู่พ่วงบอกว่า ทุกวันนี้ ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าน้อยลง ทั้งหมาบ้าน้อยลงและ คนรู้อาการหมาบ้า

"โรงพยาบาลอยู่ใกล้ ถ้ามาต้มยา ลำบาก ห้ามงานหนัก 3 เดือน ของแสลง 3 เดือน คนทำวันนี้ทำงานโรงงาน หยุดงานไม่ได้ หยุดงานจะกินอะไร บางคนต้มแล้ว 1-2 วันก็ว่าไม่ได้ ไปฉีดยาดีกว่าไม่กินแล้ว"
        
อาจารย์ชัย เหล่าสิงห์ เล่าว่า หมอพื้นบ้านทั่วไปคือรับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ พ่อแม่  ในเครือญาติ ที่นี้ บางเรื่องราว ลูกๆหลานๆ ไม่สนใจที่จะเก็บหรือรับ สืบต่อ ไม่สนใจ เพราะการเรียนคนละรูปแบบ คนรุ่นหลังสนใจวิชาสามัญทั่วไป พอมาถึงวิชา ของหมอพื้นบ้านภูมิปัญญาชาวบ้านมักเข้าไม่ถึงแล้วก็ไม่สนใจ บางคนหายไปเลยพาตาย เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก

"ถ้าเรามองให้ลึกแล้วการรักษาแบบนี้ เป็นหารสัมผัส ใกล้ชิด ใช้ระบบ สัมผัส การสัมผัสที่ให้รู้สึกอบอุ่น ใกล้ชิด แหมอไปจับไปต้องนี่ คนไข้เกือบจะหายเสียแล้วบางที ไม่ต้องรักษามาก กำลังใจมาเป็นอันดับหนึ่ง ต่างกับแพทย์แผนปัจจุบัน บางทีเขามตรวจเล็กน้อยแล้วให้นางพยาบาลดูแล  หมอบ้านจะใช้ความใกล้ชิด เครือญาติ ผูกพันกับคนไข้ไม่มีเวลาจำกัด ที่สำคัญคือไม่มีอัตราค่ารักษาที่ชัดเจนแล้วแต่ ความพึงพอใจผู้ป่วยที่มีน้ำใจให้  คนจนรักษาได้ ไม่มีสนนราคาที่ ไม่ต้องกังวลใจว่าถ้าเราลำบากแล้วไปหาหมอไม่ได้  นี่ส่วนดีของหมอชาวบ้าน"

อย่างไรก็ตามอาจารย์ชัยกล่าวว่า บางคนยังไม่มีลูกศิษย์ทายาท แม้ไม่ใช่เรื่องยากแต่ผู้ตั้งใจมาศึกษาตรงนี้นับว่าน่าเสียดาย  อยากให้คนสนใจหวนกลับมาคิดสืบทอด เรียนรู้ไม่อยากให้วิชาความรู้พวกนี้ หายตายไปกับคนที่เป็นหมอ ที่หลายคนอายุมากแล้ว
    
หมายเหตุ
1. คาถาดึงสาการ มีดังนี้  “ อัตถิ อิมัส์มิง กาเย เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ  มังสัง นะหารู อัฏฐี อัฏฐิมิญชัง  วักกัง  หะทะยัง ยะกะนัง กิโลมะกัง ปิหะนัง ปัปผาสัง อันตัง  อันตะคุณัง อุทะริยัง  กะรีสัง ปิตตัง  เสมหัง ปุพโพ  โลหิตัง  เสโท เมโท อัสสุ  วะสา เขโฬ  สิงฆาณิกา  ละสิกา มุตตัง มัตถะเก  มัตถะลุงคันติ”

2. คาถาสักกัตวา มีดังนี้

"สักกัตวา พุทธะระตะนัง โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง
หิตัง เทวะมะนุสสานัง     พุทธะเตเชนะ โสตถินา
นัสสันตุปัททวา สัพเพ  ทุกขา วูปะสะเมนตุ เตฯ

สักกัตวา ธัมมะระตะนัง   โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง
ปะริฬาหูปะสะมะนัง    ธัมมะเตเชนะ โสตถินา
นัสสันตุปัททวา สัพเพ   ภะยา วูปะสะเมนตุ เตฯ

สักกัตวา สังฆะระตะนัง  โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง
อาหุเนยยัง ปาหุเนยยัง  สังฆะเตเชนะ โสตถินา
นัสสันตุปัททวา สัพเพ    โรคา วูปะสะเมนตุ เตฯ"

 

ที่มา เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา

หมายเลขบันทึก: 170172เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2008 19:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ปู่เก่งมาก มาก .....บ้านเลขที่ 77 ม.14 ไม่ใช่ 77 ม.4

รักปู่

หลานคนแรก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท