เก็บมาเล่า


คำว่า 'จริยธรรมทางการเมือง' ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นกระแสอย่างต่อเนื่องถึงการกระทำของผู้นำประเทศ

 เมื่อ 100 ปีก่อน ในวันที่ 27 พฤษภาคม ปี 2449 ทารกชายคนหนึ่งลืมตาขึ้นมาดูโลกที่หมู่บ้านกลาง ตำบลพุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขามีชื่อว่า เงื่อม พานิช
       
       100 ปีถัดมา คนไทยและคนทั่วโลกรู้จักเด็กชายคนนี้ในนาม 'พุทธทาสภิกขุ' อริยสงฆ์แห่งไชยา ผู้ทุ่มเทศึกษาพระไตรปิฎกและค้นหาแก่นธรรมพุทธศาสนาออกเผยแผ่
       
       
8 กรกฎาคม ปี 2536 พุทธทาสภิกขุมรณภาพด้วยวัย 87 ปี
       
       27 พฤษภาคมนี้จึงถือเป็นวันครบรอบ 100 ปีชาตกาล เป็นวันครบรอบ 100 ปีชาตกาลท่ามกลางกระแสการเมืองที่กำลังตึงเครียด ร้อนแรง และแหลมคม
       
       พร้อมๆ กับคำว่า 'จริยธรรมทางการเมือง' ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นกระแสอย่างต่อเนื่องถึงการกระทำของผู้นำประเทศ
       
       ในห้วงเวลาหนึ่งประมาณปี 2516-2519 อันเป็นช่วงที่มีความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองเข้มข้นระหว่างประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายและคนไทยฆ่าฟันกันเอง พุทธทาสภิกขุได้รจนาและบรรยายธรรมเกี่ยวกับการเมืองการปกครองไว้ไม่น้อย เพื่อหวังจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการผ่อนเบาความบอบช้ำของสังคม
       
       ณ ขณะนี้ คงถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรจะได้หันกลับมาทำความเข้าใจกันอีกรอบเพื่อทำความเข้าใจถึงต้นตอปัญหาที่เกิดขึ้น ร่วมกันหาทางแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ และทบทวนบทบาทของศาสนาพุทธที่ควรจะมีต่อสังคมไทยในอนาคต
       
       *ธัมมิกสังคมนิยม
       

       "ในระยะต้นท่านจะเน้นให้แต่ละคนฝึกฝนตนเองจากคนที่มีกิเลสหนาให้เป็นคนที่มีกิเลสบางหรือไม่มีกิเลสเลย ไม่ให้มีอวิชชา ท่านจึงทุ่มเทศึกษาพระไตรปิฎก ถ้าไปดูในระยะต้นทั้งหมดจะเห็นว่าผลงานของท่านคือการไปศึกษาพระไตรปิฎกอย่างลึกซึ้ง ไปค้นเอาแก่นของธรรมะมาสอนคน
       

       "ข้อสังเกตผมคือหลังจากทำเรื่องนี้ไปได้มากแล้ว มาระยะหลังท่านก็ขยับไปอีกขั้นหนึ่ง คือท่านต้องการให้โลกบรรลุจุดประสงค์สำคัญ 3 ประการ หนึ่ง-คือให้มนุษย์พ้นจากอำนาจของวัตถุนิยม สอง-ให้แต่ละศาสนิกชนเข้าใจในศาสนาของตัวเองอย่างลึกซึ้ง สาม-คือให้ทุกศาสนาสามัคคีกัน จะเห็นได้ว่าท่านพยายามอธิบายเรื่องคริสตธรรมด้วย ท่านต้องการเลิกการฆ่ากันระหว่างมนุษย์ทั้งหมด ฉะนั้น ท่านจึงถอยกลับไปเลยว่าที่จริงศาสนาทุกศาสนาตรงกันหมด"
       
       นายแพทย์เหวง โตจิราการ ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย สานุศิษย์และผู้ศึกษางานของพุทธทาสภิกขุ อธิบายถึงการทำงานของพุทธทาสภิกขุให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า
       
       "ต่อมาท่านมองว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้สังคมของมนุษย์มีสันติภาพเกิดขึ้นได้ ท่านพูดชัดเลยว่าต้องเป็นธัมมิกสังคมนิยม ท่านบอกเลยว่าแรกสุดที่มนุษย์เกิดขึ้นมาในโลกยังไม่มีความเห็นแก่ตัว ยังไม่มีการกอบโกยส่วนเกิน แต่พอมาถึงยุคสมัยหนึ่งเริ่มมีพลังการผลิตที่มากขึ้น เริ่มมีการผลิตอาวุธ เริ่มมีการกอบโกยส่วนเกิน มีความเห็นแก่ตัว ในท้ายที่สุดมนุษย์ต้องไปสู่สิ่งที่เรียกว่า สังคมนิยม คือเป็นการผลิตเพื่อสังคม หมายถึงว่าพลังการผลิตต้องผลิตให้เยอะแต่ทุกคนจะบริโภคเท่าที่ตัวเองจำเป็นโดยไม่ไปเอาส่วนเกิน ส่วนเกินนี้ก็จะถูกสะสมไว้สำหรับเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและเพื่อสร้างสรรค์โลก แต่ว่าสังคมนิยมนี่ต้องมีธรรมะด้วยนะ ต้องเป็นธัมมิกสังคมนิยม ไม่ใช่สังคมนิยมที่ปราศจากธรรมะอย่างเช่นที่เกิดในรัสเซีย เพราะว่านั่นยังเป็นสังคมที่มีความเห็นแก่ตัว ยังกระหายอำนาจ"
       
       นายแพทย์เหวงยกคำพูดของพุทธทาสขึ้นมากล่าวว่า เราต้องมีประชาธิปไตยอย่างที่เป็นธัมมิกสังคมนิยมและต้องเป็นเผด็จการด้วย ให้มันหมดความกำกวมกันเสียที
       
       แปลความได้ว่า ต้องเป็น 'เผด็จการโดยธรรม'
       

       สอดคล้องกับความเห็นของ ว.วชิรเมธี ที่เห็นว่าธัมมิกสังคมนิยมจะเป็นระบอบการปกครองแบบใดก็ได้แม้แต่ระบอบเผด็จการ แต่ต้องมีธรรมะเป็นตัวกำกับเสมอ
       
       "ธัมมิกสังคมนิยม ในความหมายของท่านพุทธทาสหมายถึงการปกครองทุกๆ ระบอบเท่าที่โลกมี ที่มีธรรมะเป็นส่วนผสมอยู่ในนั้น เช่น ถ้าเป็นการปกครองระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์หรือราชาธิปไตย ผู้ปกครองก็ต้องมีธรรมะของผู้ปกครองที่เรียกว่าทศพิธราชธรรมหรือจักรวรรดิวัตร 12 ถ้าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ผู้ปกครองก็ต้องมีหลักธรรมที่เรียกว่าธรรมาธิปไตยหรืออปริหานิยธรรม ซึ่งเป็นหลักการปกครองที่ใกล้เคียงกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยชุดนี้มากที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้
       

       "ดังนั้น เราจะเห็นว่าธัมมิกสังคมนิยม ไม่ได้หมายความว่าต้องสถาปนาระบอบการปกครองขึ้นมาใหม่ชนิดที่เรียกว่าเป็นเอกเทศเลย แต่หมายถึงระบอบการปกครองทุกระบอบเพียงแต่เพิ่มคำว่าธรรมะเข้าไปในระบอบการปกครองให้เป็นการปกครองโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของชนส่วนใหญ่ ใช้คำว่าประโยชน์สุขนะไม่ใช่คำว่าผลประโยชน์นะ เพราะฉะนั้น หัวใจของธัมมิกสังคมนิยมก็คือการปกครองที่มีธรรมะเป็นส่วนผสมอยู่ ถ้าระบอบการปกครองใดเอื้อต่อความเจริญรุ่งเรืองโดยธรรม การปกครองนั้นก็เป็นธัมมิกสังคมนิยมได้ทั้งหมด"
       
       สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตก็คือ เหตุใดจึงต้องมีคำว่า สังคมนิยม แทนที่จะเป็นธัมมิกนิยม ซึ่งตรงนี้ ว.วชิรเมธีแสดงความคิดเห็นว่า พุทธทาสภิกขุคงจะเห็นด้วยในหลักการบางส่วนของระบอบสังคมนิยมซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักการของพระพุทธศาสนา บวกกับสถานการณ์การเมืองช่วงนั้นคำว่าสังคมนิยมกำลังเป็นที่กล่าวถึงอย่างแพร่หลาย
       
       "ท่านพุทธทาสเป็นนักใช้ภาษา ท่านเป็นนักบัญญัติคำทางธรรมะมากมาย 'ตถตา'เอย ตัวกู-ของกูเอย ท่านเอาคำเหล่านี้มาเล่น ภาษาคน-ภาษาธรรม ท่านก็เห็นว่าคนพูดถึงสังคมนิยมกันมาก แต่ว่ามันยังเป็นสังคมนิยมแบบโลกๆ ท่านจึงยืมคำของยุคสมัยมาใช้และสอดใส่ความหมายใหม่ลงไปจึงได้ชื่อว่าธัมมิกสังคมนิยม"
       
       *จริยธรรมกับการเมือง
       

       ผู้หลักผู้ใหญ่และนักวิชาการในบ้านเมืองมีความเห็นว่า ความตื่นตัวทางการเมืองขณะนี้กำลังเป็นการยกระดับการเมืองไทยให้สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะเป็นสัญญาณบอกว่าสังคมไทยยังให้ความใส่ใจต่อสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม มากกว่าความสามารถ ความฉลาดที่ตรวจสอบไม่ได้เพียงอย่างเดียว
       
       นายแพทย์เหวงกล่าวถึงสภาพจริยธรรมกับการเมืองในสังคมไทยปัจจุบันนี้ว่า
       
       "ตอนนี้ผมถือว่าจริยธรรมกับการเมืองของเราตกต่ำอย่างยิ่งเลยครับ มันตกเป็นทาสกิเลส 100 เปอร์เซ็นต์เลย นักการเมืองแต่ละคนอย่างแย่ที่สุดมีเงินไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้าน มีความขัดแย้งแย่งชิงผลประโยชน์กันตลอด เพราะฉะนั้น การเมืองของเราเป็นการเมืองที่บงการโดยกิเลส 100 เปอร์เซ็นต์
       

       "การเมืองที่ถูกต้องต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ถ้าพูดแบบธรรมะก็คือต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ถ้าพูดแบบลัทธิมาร์กซ์ก็ต้องบอกว่าการเมืองต้องเป็นไปเพื่อชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีดหรือเพื่อประชาชนผู้ใช้แรงงานทั้งมวล แต่ในวันนี้การเมืองของเราเป็นการเมืองของความฉ้อฉล ของความสกปรก ของความเห็นแก่ตัว พอมีตรงนี้เป็นที่ตั้งก็จะใช้ความฉลาดทั้งหมดเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การคดโกงของตัวเอง จึงเป็นที่มาของการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย"
       
       นายแพทย์เหวงมองว่าขณะนี้หากคิดจะดึงธรรมะกลับมาสู่การเมืองไทย ทางหนึ่งจะต้องนำสิ่งที่พุทธทาสภิกขุได้ศึกษาไว้ออกมาเผยแพร่ต่อสังคมในวงกว้างโดยเฉพาะเรื่องอิทัปปัจยตา เพื่อให้สังคมรับรู้ว่าสรรพสิ่งเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย เข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีต้นสายปลายเหตุจากไหน และควรจะแก้ไขที่จุดใด
       
       "ถ้าทำตรงนี้ได้สำเร็จ โอกาสที่จะเกิดคณะบุคคลที่ยึดกุมธรรมะได้ ยึดกุมธัมมิกสังคมนิยมก็เป็นไปได้ และในอนาคตถ้าจะมีพรรคการเมืองหรือกลุ่มบุคคลที่มารวมตัวกันก็ควรจะเป็นไปในทำนองนี้คือต้องเป็นธัมมิกสังคมนิยม และสร้างสิ่งนี้ขึ้นในสังคมไทย"
       
       *ศาสนาไม่ควรข้องเกี่ยวกับการเมืองจริงหรือ?
       

       สังคมไทยคุ้นเคยกับคำกล่าวที่ว่า ศาสนาไม่ควรข้องเกี่ยวกับการเมือง แต่เราเคยถามไถ่กันหรือไม่ว่าทำไมศาสนาจึงไม่ควรข้องเกี่ยวกับการเมือง พระราชปัญญาเมธี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อธิบายว่า
       
       "การพูดเช่นนี้เป็นการพูดโดยไม่เข้าใจ มันมีที่มาที่ไปจากสมัยกลางของยุโรปที่ศาสนาเข้าไปมีอิทธิพลมากต่อการเมืองในยุคนั้น จนเมื่อเปลี่ยนผ่านยุคนั้นมาจึงมีความพยายามกีดกันไม่ให้ศาสนาเข้าไปยุ่งกับการเมือง หมายถึงไม่ต้องการให้องค์กรศาสนาคริสต์เข้าไปคุมเขาอย่างเดิม
       
       "แต่เมื่อนำตรงนั้นมาใช้กับพุทธศาสนามันเป็นคนละประเด็น เพราะพระสงฆ์ในพุทธศาสนาไม่มีประสงค์จะมีอำนาจทางการเมือง พระไม่อยากเล่นการเมืองอยู่แล้ว เพราะเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ อำนาจมันห่างไกลกับเรื่องเมตตากรุณา ความบริสุทธิ์สะอาด อำนาจมันนำไปสู่การประหัตประหาร พระไม่ไปยุ่งแน่นอน แต่ความเข้าใจของเราอย่างนี้ถ้าเราปฏิเสธไม่ให้ศาสนาเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมือง มันจะเป็นผลเสียต่อการเมืองเอง"
       

       พระราชปัญญาเมธีอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า อาจเป็นความไม่ไว้วางใจของฝ่ายนักการเมืองที่มองว่า หากพระเข้าใจการเมือง สามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับชาวบ้านได้ ย่อมสามารถกำหนดทิศทางความเป็นไปของการเมืองได้ อาจทำให้ซื้อเสียงไม่ได้ เงินเป็นตัวกำหนดไม่ได้ จึงต้องหาทางกันไม่ให้พระเข้าไปให้การศึกษาแก่ชาวบ้านในเรื่องการเมือง เพราะศาสนาไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมือง การเมืองมันจึงฉ้อฉลเช่นนี้
       
       ด้าน ว.วชิรเมธี ก็มีความเห็นเหมือนกันว่าพุทธศาสนาควรเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างยิ่ง
       
       "ศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนาควรจะเกี่ยวข้องกับการเมือง ในฐานะที่เป็นเข็มทิศให้การเมืองนั้นเป็นการปกครองโดยธรรม แต่ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในฐานะองค์กรที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเกมการแย่งชิงผลประโยชน์-อำนาจ เพราะเหตุที่ศาสนาวางตนอยู่เหนือการเมืองจนกลายเป็นว่าหันหลังให้การเมือง เราจึงมีการเมืองที่ฉ้อฉลอย่างทุกวันนี้ ดังนั้น เราจะเห็นว่าศาสนาพุทธเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ แต่เล่นการเมืองไม่ได้
       
       "เกี่ยวข้องหมายความว่าต้องเข้าไปร่วมรับรู้ รับฟัง รับทราบ จับตาดูความเป็นไปของบ้านเมือง ตรงไหนที่เฉไฉออกนอกทิศทางของธรรมะ ตรงนั้นพระควรจะต้องเข้าไปเป็นสติปัญญาของสังคม แต่ถ้าเกี่ยวข้องถึงขนาดตั้งพรรคการเมือง ให้พระมีสิทธิ์มีเสียงในสภา อย่างนี้ไม่ควรเกี่ยวข้องด้วยประการทั้งปวง เพราะถ้าทำเช่นนั้นพลังทางจริยธรรมของพระสงฆ์จะกลายเป็นพลังที่ขาดความเป็นกลาง ทำไมท่านไม่ให้พระเล่นการเมือง เพราะสังคมต้องการมัชฌิมาปัญญาหรือปัญญาที่เป็นกลางของพระไว้คอยถ่วงดุลให้สังคมนั้นเกิดดุลยภาพทั้งในทางโลกและทางธรรม
       
       "ทุกวันนี้เราพูดว่าพระไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง คำพูดนี้เป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง เป็นการจำกัดบทบาทให้พระไม่รู้ ไม่เห็นเรื่องทางโลก แต่พอนักการเมืองทำอะไรพระได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่าประชาชน จริงๆ ควรจะพูดใหม่ว่าพระไม่ควรเล่นการเมืองในระบบผลประโยชน์ แต่ควรจะเล่นการเมืองในระบบของการสร้างประโยชน์สุขเพื่อมหาชน ถ้าจำกัดความอย่างนี้แล้วไม่มีปัญหาซึ่งท่านพุทธทาสก็เห็นด้วย"
       

       *'มรรคา' ทางออกจากความขัดแย้ง
       

       "สังคมกำลังถูกท้าทาย ถ้าเราอดทนและเรียนรู้มันก็จะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านว่าระบอบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นยังไง มันบกพร่องยังไง ถ้าเรายังมองไม่เห็นความผิดปกติของระบอบทุกวันนี้ ก็อาจเท่ากับเรากำลังลบล้างหลักความเชื่อและพระศาสนาทั้งหมด เพราะเท่ากับเราไม่เห็นศีลธรรมเป็นสิ่งสำคัญ เรากำลังเห็นเงินเป็นสิ่งสำคัญ ความเก่งเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าหากสังคมทนฟังกันนิดหนึ่ง ศึกษากันหน่อยหนึ่ง ตัดผลประโยชน์ส่วนตัวออกไป เราอาจจะเข้าใจอะไรมากขึ้น" พระราชปัญญาเมธีกล่าว
       
       ก่อนที่สังคมไทยจะก้าวไปสู่ความรุนแรง มีสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนี้เป็นไปอย่างสันติคือ
       
       หนึ่ง-สติ ต้องทำการอย่างมีสติ สอง-ขันติ ทำการอย่างมีความอดทน สาม-สันติ ใช้สันติวิธี สี่-อหิงสา อย่าเบียดเบียนกันในทุกๆ รูปแบบ อย่าใช้ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ห้า-การุณยธรรม อย่าคิดว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูของเรา
       
       ว.วชิรเมธีกล่าวทิ้งท้ายว่า "ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากของสังคมไทย ถ้าเราผ่านจุดเปลี่ยนตรงนี้ไปได้อาตมาว่าสังคมไทยอาจจะสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้ เพราะว่าการทะเลาะเพื่อชาติครั้งนี้มันเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้การเมืองการปกครองไทยใหม่ พร้อมๆ กันนั้นก็เป็นการสร้างบรรทัดฐานให้ระบบความคิด ความเชื่อ โลกทัศน์ชุดใหม่ขึ้น
       
       "ฉะนั้น จึงควรขอบคุณคนที่ทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย เพราะถ้าไม่ผิดพลาดเราก็ไม่รู้ว่าเราจะก้าวให้ถูกได้อย่างไร สุดท้ายขอให้ยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทา อย่าให้มันซ้ายเกินไป ขวาเกินไป อย่าใช้เหตุผลมากเกินไป ใช้อารมณ์มากเกินไป แต่ขอให้ใช้ทั้งอารมณ์และสติปัญญาอยู่บนทางสายกลาง"
       

       ................ล้อมกรอบ.....................
       

       รักพ่อต้องทะเลาะกัน...อย่างสร้างสรรค์
       

       ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้ หลายคนอาจกำลังเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ส่งเสียงออกมาว่า "ไม่ไหวแล้ว" พล.ต.ท.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ผู้ช่วยผู้บัญชาตำรวจแห่งชาติ ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาปรองดองและสามัคคีกันโดยยกคำกล่าวของ พระพิศาลธรรมพาที หรือ พระพยอม กัลยาโณ ที่ว่า "รักพ่ออย่าทะเลาะกัน"
       
       แต่ ว.วชิรเมธีกลับมีความเห็นต่างในประเด็นนี้ว่า
       
       "การทะเลาะเพื่อชาติครั้งนี้ อาตมาคิดว่าถ้าเราผ่านได้อย่างสันติ ประเทศไทยมีความหวังมาก เพราะเราจะได้ชำระสะสางการเมืองการปกครองของไทย ที่ทุกวันนี้เป็น Free Market Democracy เป็นประชาธิปไตยแบบการตลาดเสรี แต่จะทำยังไงให้มันเป็นธัมมิกประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่อาตมากำลังสนใจมาก
       
       "สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันนี้แหละคือ การทบทวนรากฐานของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงของสังคมไทย ซึ่งถ้าเราก้าวข้ามตรงนี้ไปได้ไม่เพียงแต่เราจะสามารถปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ แม้แต่ระบบความคิดความเชื่อของสังคมไทยก็จะได้รับการปฏิรูปไปด้วย
       
       "ใครก็ตามที่บอกว่า รักพ่ออย่าทะเลาะกัน อาตมาไม่เห็นด้วยเพราะมันเป็นวาทกรรมที่ฟังดูดีมาก แต่ถ้าเรารักพ่อแล้วเราไม่ทะเลาะกัน ในความหมายที่เป็นการทะเลาะอย่างสร้างสรรค์อย่างทุกวันนี้นะคงไม่ถูกต้อง
       
       "ทุนนิยมเป็นลัทธิที่ไม่เหลียวแลจริยธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าบอกว่ารักพ่ออย่าทะเลาะกันนั่นเท่ากับว่าเรายอมประนีประนอมกับความชั่ว ความเสื่อม กับทุนนิยมเพียงเพื่อขอให้คนอย่าขัดแย้งกัน คำพูดอย่างนี้อาตมาไม่เห็นด้วย อาตมาอยากจะบอกว่ารักพ่อควรทะเลาะกัน เพราะการทะเลาะกันหรือการปะทะสังสรรค์ทางความคิดเห็นที่แตกต่าง เป็นส่วนผสมที่ขาดไม่ได้ของประชาธิปไตย เช่นเดียวกันเป็นส่วนผสมที่ขาดไม่ได้ของธัมมิกสังคมนิยมด้วย ทุกครั้งที่มีการปะทะสังสรรค์ทางปัญญาครั้งใหญ่อาตมาเชื่อว่าจะเกิดสิ่งที่ดีขึ้น
       
       "ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงย่อมมีความเจ็บปวด ถ้าเราไม่ยอมเจ็บปวดเราก็หยุดอยู่กับที่ และไม่มีพัฒนาการ"

หมายเลขบันทึก: 169753เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2008 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท