ทำความเข้าใจกับ Best Practices


  

   Best Practices ( BP)  เป็นวิธีการทำงานหรือวิธีปฏิบัติงานที่ส่งผลต่อ ผลงานที่มีคุณภาพ หรือส่งผลต่องานที่ประสบผลสำเร็จ แนวคิดพื้นฐานที่มีส่วนสำคัญในการนำแนวคิด เรื่อง Best Practices มาใช้การพัฒนางาน ประกอบด้วย               

     1. ความต้องการในการแสวง หาข้อมูลหรือความรู้เพื่อนำสู่การพัฒนางานให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือการนำความรู้ไปใช้เพื่อการสร้างประโยชน์ ( Knowledge  Application )               

     2. ความเชื่อว่าความรู้ หรือแหล่งข้อมูลไม่มีเฉพาะในเอกสาร ในตำรา หรือจากการเรียนรู้ตามรูปแบบเดิม เช่นการอบรมโดยฟังจากวิทยาการเท่านั้น หากแต่ข้อมูลหรือความรู้ อยู่ในตัวบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการทำงานหรือการใช้ชีวิต หรือในองค์กรที่ปฏิบัติงานที่ประสบผลสำเร็จ ( Knowledge Generation )               

    3. ความเชื่อในวิธีการเรียนรู้ ที่เป็นกระบวนการจัดการกับความรู้ (Knowledge Management หรือKnowledge Integration  ) 

     มีผู้ที่นำเสนอความหมายของ Best Practices ที่น่าสนใจ เป็นต้นว่า  American  Productivity  and Quality Center ได้ให้คำจำกัดความ  Best Practices  ว่า  เป็นปฏิบัติการทั้งหลายที่สามารถก่อให้เกิดผลที่เป็นเลิศหรือการปฏิบัติที่ทำให้องค์กรก้าวสู่ความเป็นเลิศ  (อ้างถึงในบุญดี บุญญากิจ และกมลวรรณ สิริพานิช  2545) สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ ได้กล่าวถึง Best Practices  ว่า เป็นวิธีการใหม่ๆที่สถานศึกษา เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ตอบสนองความคาดหวังของชุมชน ผู้ปกครองและเป้าหมายของสถานศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สถานศึกษาพัฒนาคุณภาพจนประสบความสำเร็จและก้าวสู่ความเป็นเลิศ (สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา 2549.)

     นอกจากนี้อาจพิจารณาความหมายได้  2  ลักษณะคือ  

    1) วีธีการหรือวิธีปฏิบัติที่องค์กรได้ทดลองนำไปใช้จนประสบความสำเร็จ  

    2.) วิธีการหรือวิธีปฏิบัติที่ส่งผลต่อการดำเนินการที่ดีขึ้นขององค์กร  มีนวัตกรรม มีกระบวนการที่เป็นระบบยอมรับได้ (จากการตรวจสอบประเมิน หรือรางวัล ฯลฯ)และทดลองนำไปใช้จนประสบความสำเร็จ ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้รับบริการ ( การบรรยาย Best Practices โดย รศ.รัชต์วรรณ กาญจนปัญญาคม ในการประชุมสัมมนา Roving team โครงการโรงเรียนในฝัน วันที่ 17-19 พ.ย. 2550 ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต จ.ปทุมธานี ) จากความหมาย Best Practices ที่กล่าวข้างต้นและจากการนำแนวคิดสู่ปฏิบัติการศึกษากรณีตัวอย่าง  พบว่า Best Practices มีลักษณะสำคัญคือ เป็นกระบวนการ ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานทีมีระบบ  มีการบูรณาการและมีความเชื่อมโยงกัน  ( Systematic Integrate and Linkage ) และในกระบวนการที่กล่าวถึงอาจมี  นวัตกรรม วีธีการเฉพาะกรณี หรือคุณลักษณะเฉพาะ (บางคนบอกว่ามีเทคนิค) และหรือสื่อเป็นส่วนประกอบแต่ต้องเป็นส่วนที่มีความสำคัญในการสนับสนุนและส่งผลเป็นเลิศหรือผลสำเร็จ                                           

      การจัดทำ Best Practices มีจุดประสงค์สำคัญคือ

     1)เพื่อเป็นการนำเสนอกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ                  

     2) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการกับความรู้

     3) เพื่อเป็นต้นแบบ และหรือแรงบันดาลใจให้กับบุคคล  องค์กรอื่นที่มีเป้าหมายคล้ายคลึงกัน หรืออยู่ในวงการเดียวกัน และ

    4)เป็นการสร้างบรรยากาศการแข่งขันเพื่อ สร้างคุณภาพงานหรืองานที่มีความเป็นเลิศ                

    จากจุดประสงค์ในการแสวงหาหรือการทำ Best Practices ที่กล่าวข้างต้นจะพบว่า Best Practices เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนา หรือเป็นบทเรียนหรือ Lessons Learned ดังนั้นกระบวนการที่สืบเนื่องต่อจาก Best Practices คือการเทียบเคียงหรือBenchmarking เพื่อการพัฒนางาน ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานขั้นต่อไป  สำหรับการจัดทำ Best Practices  จากการได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยตัวเอง ในการศึกษากรณีตัวอย่าง พบว่าการจัดทำและนำเสนอ Best Practices มีแนวทางดำเนินการดังนี้               

       1. การเตรียมการ  หมายถึงการกำหนดกรอบหรือแนวทางในการศึกษา  การกำหนดเกฑ์ในการวิเคราะห์ผลงานหรือแหล่งข้อมูลที่จะจัดทำ Best Practices  การกำหนดรูปแบบหรือกรอบการเขียน Case รวมถึงรูปแบบการนำเสนอ ตลอดจนการเตรียมทีมงานซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าทีม ผู้เขียน case ผู้ถ่ายภาพตัดต่อภาพและบรรณาธิการ เป็นต้น                 

      2. การเลือกรณีศึกษา หมายถึงการพิจารณาเลือกหน่วยงาน หรือผู้ที่มีผลงานที่เป็นเลิศ หรือมีผลงานประสบผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับ การศึกษาผลงานจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ยืนยันความสำเร็จอย่างน่าเชื่อถิอ  เช่นผ่านการประเมินตามระบบของโครงการนั้นๆ (ในกรณีที่เป็นงาน หรือโรงเรียนในโครงการเฉพาะ) ได้รับรางวัลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ผ่านการประเมิน มีความภาคภูมิใจ เป็นผลงานที่ทำให้ก้าวสู่เป้าหมายของชีวิตที่สูงขึ้นหรือเป้าหมายสูงสุดในเวลา

     3. การจัดทำแผนการจัดทำ Best Practices ซึ่งประกอบด้วย วิธีการเก็บข้อมูล เครื่องมือในการเก็บข้อมูลระยะเวลา การประสานงาน  การวิเคราะห์ข้อมูล การจัดทำเอกสาร การนำเสนอ Best Practices (ควรมีการนำเสนอที่หลากหลายเช่น นำเสนอโดยเอกสารที่หลากหลายรูปแบบ นำเสนอผ่าน web site เป็นต้น)  

      เมื่อการจัดทำ Best Practices จบลงจำเป็นต้องมีการตรวสอบและควรตรวจสอบก่อนนำเสนอการตรวจสอบ Best Practices  มีแนวทางพิจารณาดังนี้  

      1) วิธีการ หรือ Best Practices นั้นๆส่งผลต่อหรือสอดคล้องกับผล หรือเป้าหมายงานอย่างน่าเชื่อถือ มีข้อมูลยืนยันได้ รวมถึงผ่านกระบวนการ ที่น่าเชื่อถือเช่นกระบวนการวิจัย  

     2 ) Best Practices นั้นๆ สามารถตอบได้ว่า ทำอะไร? (what) ทำอย่างไร? (how) ทำทำไม? (why) และ

     3) Best Practices นั้นๆ สามารถสรุปและนำไปเป็นบทเรียน ( Lesson Learn ) หรือนำสู่การพัฒนาต่อยอด หรือถอดเป็นบทเรียน (Lesson Learn)

หมายเลขบันทึก: 168968เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2008 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะเล่าBest Practices แลกเปลี่ยนบ้างก็ได้นะคะ

1.เริ่มที่ระบุงานที่ท่านภูมิใจ

2.บรรยายคุณภาพของงาน มีอะไรยืนยันความสำเร็จ  หรือความ ภาคภูมิใจบ้าง

3 เล่าว่าทำอย่างไรบ้าง

4.วิเคราะห์หา Best Practices

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท