ประเด็นใหม่ในพรบ.การทำงานของคนต่างด้าวฉบับใหม่


พรบ.การทำงานคนต่างด้าวฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ และมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะพบว่าพรบ. ฉบับใหม่จะมีลักษณะที่แตกต่างจากเดิมตามประเด็นที่พอสังเกตได้ดังนี้

 ประเด็นใหม่ในพรบ.การทำงานของคนต่างด้าวฉบับใหม่

          พรบ.การทำงานคนต่างด้าวฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ และมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะพบว่าพรบ. ฉบับใหม่จะมีลักษณะที่แตกต่างจากเดิมตามประเด็นที่พอสังเกตได้ดังนี้

๑. ลักษณะของการกำหนดอาชีพที่อนุญาตให้ทำงานได้จากเดิม "ทำได้ทุกอาชีพยกเว้นบางอาชีพที่จะประกาศไม่ให้ทำ" เป็น "ไม่สามารถทำงานได้เลย ยกเว้นที่จะประกาศอนุญาตให้ทำได้บางประเภท"[1]

"มาตรา ๗  งานใดที่คนต่างด้าวอาจทำได้ในท้องที่ใด เมื่อใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติ โอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย  และความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ  ทั้งนี้  จะกำหนดให้แตกต่างกันระหว่างคนต่างด้าวทั่วไปกับคนต่างด้าวตามมาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ ก็ได้

                   ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับการทำงานของคนต่างด้าวตามมาตรา ๑๒"

 

ตามมาตรา ๗ นี้เองจะเปลี่ยนรูปแบบการกำหนดงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำ โดยแต่เดิมจะมีการกำหนดอาชีพต้องห้ามที่ไม่ให้คนต่างด้าวทำ แต่ในพรบ.ฉบับนี้ จะเปลี่ยนรูปแบบใหม่ให้กลายเป็นการกำหนดอาชีพที่คนต่างด้าวสามารถทำได้

 

๒. มีมาตรการจำกัดแรงงานข้ามชาติที่ไม่ใช่แรงงานฝีมือ

โดยการเพิ่ม หรือกำหนดค่าธรรมเนียมการจ้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ใช่เป็นแรงงานฝีมือได้เป็นการเฉพาะ โดยใช้มติครม. และมีบทลงโทษของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามโดยเสียเงินเพิ่มเป็นอีกหนึ่งเท่า (ม.๘)

 

"มาตรา ๘  เพื่อประโยชน์ในการจำกัดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งมิใช่ช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการที่จะเข้ามาทำงานบางประเภทหรือบางลักษณะในราชอาณาจักร รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจะกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจ้างคนต่างด้าวซึ่งมิใช่ช่างฝีมือหรือผู้ชำนาญการที่จะเข้ามาทำงานตามประเภทหรือลักษณะที่กำหนดในราชอาณาจักรก็ได้

ผู้ใดประสงค์จะจ้างคนต่างด้าวตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามแบบ

ที่อธิบดีกำหนดและชำระค่าธรรมเนียมก่อนทำสัญญาจ้างไม่น้อยกว่าสามวันทำการ

                   ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในวรรคสอง ต้องเสียเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าของค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระ"

 

๓. เพิ่มการอนุญาตให้จ้างแรงงานข้ามชาติแบบไป-กลับหรืองานตามฤดูกาลในพื้นที่ชายแดนหรือพื้นที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ชายแดนได้

พรบ.ฉบับนี้อนุญาตให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยสามารถขออนุญาตทำงานในลักษณะไป-กลับ หรืองานตามฤดูกาล โดยใช้เอกสารแทนหนังสือเดินทาง (อาจจะเป็นหนังสือข้ามแดน - Border Pass) และขอรับใบอนุญาตทำงาน โดยให้มีมติคณะรัฐมนตรีอนุญาต (ม.๑๔)

                        "มาตรา ๑๔  คนต่างด้าวซึ่งมีภูมิลำเนาและเป็นคนสัญชาติของประเทศที่มีชายแดน

ติดกับประเทศไทย ถ้าได้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางตามกฎหมาย

ว่าด้วยคนเข้าเมือง อาจได้รับอนุญาตให้ทำงานบางประเภทหรือลักษณะงานในราชอาณาจักร

เป็นการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลที่กำหนดได้  ทั้งนี้ เฉพาะการทำงานภายในท้องที่

ที่อยู่ติดกับชายแดนหรือท้องที่ต่อเนื่องกับท้องที่ดังกล่าว             

คนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะทำงานตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน

ชั่วคราวพร้อมกับแสดงเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางต่อนายทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียม

ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

                   ในการออกใบอนุญาต ให้นายทะเบียนระบุท้องที่หรือสถานที่ที่อนุญาตให้ทำงาน

ระยะเวลาที่อนุญาตให้ทำงาน ประเภทหรือลักษณะงาน และนายจ้างที่คนต่างด้าวนั้นจะไปทำงานด้วย

ทั้งนี้ ตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

                   ความในมาตรานี้จะใช้บังคับกับท้องที่ใด สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติใด เพื่อทำงาน

ประเภทหรือลักษณะใด ในช่วงระยะเวลาหรือฤดูกาลใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใด ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา"

 

๔. มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร (ตามหมวด ๒)

โดยจะให้นายจ้างหักเงินค่าจ้างจากลูกจ้างและนำส่งเข้ากองทุน โดยจำนวนเงิน วิธีการ หลักเกณฑ์และระยะเวลาให้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (ม. ๑๕- ๒๐) ซึ่งเท่ากับว่าจะค่าใช้จ่ายที่ระบุชัดเจนว่าแรงงานข้ามชาติ จะต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนเป็นเงินเท่าไหร่ โดยแรงงานที่เดินทางกลับบประเทศด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองก็จะสามารถขอรบัเงินกองทุนนี้คืน พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยจะได้รับคืนภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ยื่นขอรับเงินกองทุนคืน โดยต้องยื่นภายในเวลาสองปี

โดยการบริหารกองทุนดังกล่าวจะมีกรรมการกองทุน (ม.๓๒) เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนดังกล่าว

 

๕. กำหนดอายุของใบอนุญาตทำงานใหม่

โดยให้ใบอนุญาตทำงานมีอายุไม่เกินสองปี (ม.๒๑) และอนุญาตให้ต่อไปอนุญาตทำงานไม่เกินครั้งละ ๒ ปีตามความจำเป็นเพื่อป้องกันการตั้งถิ่นฐาน ส่วนแรงงานกลุ่มที่ถูกเนรเทศแต่อนุญาตให้ทำงานชั่วคราว และแรงงานหลบหนีเข้าเมืองแต่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน จะมีระยะเวลาในการทำงานรวมแล้วต้องไม่เกิน ๔ ปี เว้นแต่จะมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นอย่างอื่น (ม.๒๓)

 

๖. แรงงานข้ามชาติสามารถเปลี่ยนย้ายงาน นายจ้าง และสถานที่ทำงานได้

ในพรบ.ฉบับนี้แรงงานสามารถเปลี่ยนงาน นายจ้าง ท้องที่หรือสถานที่ทำงาน หรือเงื่อนไขการทำงาน โดยต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน (ม.๒๖) ซึ่งแต่เดิม แรงงานสามารถเปลี่ยนได้เฉพาะท้องที่ สถานที่ และประเภทงานเท่านั้น

"มาตรา ๒๖  ผู้รับใบอนุญาตต้องทำงานตามประเภทหรือลักษณะงาน  และกับนายจ้าง ณ ท้องที่หรือสถานที่และเงื่อนไขตามที่ได้รับอนุญาต

                   ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะเปลี่ยนหรือเพิ่มประเภทหรือลักษณะงาน นายจ้าง

ท้องที่หรือสถานที่ทำงาน หรือเงื่อนไข ต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

                   การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด

ในกฎกระทรวง"

 

๗. มีการจัดตั้งกรรมการขึ้นมาใหม่สองชุด เพื่อให้สอดคล้องกับการพิจารณาการจ้างแรงงาน คือ

คณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว (ตามหมวด ๓) โดยทำหน้าที่ในเชิงการกำหนดนโยบายเรื่องการทำงานของคนต่างด้าว และเสนอแนะให้รัฐบาลออกประกาศ กฎกระทรวงระเบียบตามพรบ.นี้ นอกจากนั้นแล้วยังทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของกรมการจัดหางานตามพรบ.นี้ และติดตามการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าวตามนโยบายของรัฐบาล

คณะกรรมการพิจารณอุทธรณ์การทำงานของคนต่างด้าว (ตามหมวด ๔) ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณาคำอุธรณ์กรณีที่แรงงานข้ามชาติร้องเรียนในเรื่องที่เจ้าหน้าที่ ไม่อนุญาตให้ทำงาน ไม่ต่อใบอนุญาตทำงาน หรือเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน

โดยทั้งสองชุดมีตัวแทนขององค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างเข้าไปเป็นคณะกรรมการด้วย[2]

 

๘. เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้อธิบดี นายทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเพิ่มขึ้น ในสองประเด็น คือ

  • การเข้าไปในสถานที่ใดที่เชื่อได้มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อตรวจสอบในช่วงเวลากลางวัน (ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงเวลาพระอาทิตย์ตก) โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายศาล ตามมาตรา ๔๘ (๒)
  • พนักเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตโดยไม่ต้องมีหมายจับ (ใช้บทบัญญัติมาตรา ๘๑ มาตรา ๘๑/๑ มาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ มาตรา ๘๔ มาตรา ๘๕ และมาตรา ๘๖ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับกับการจับตามมาตรานี้โดยอนุโลม) หากแรงงานต่างด้าวผู้นั้นไม่ยินยอม หรือจะหลบหนี เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งไปรายงานตัวยังสถานีตำรวจพร้อมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ (ม.๕๐)

๙. เพิ่มบทลงโทษต่อนายจ้างและแรงงานข้ามชาติที่ทำผิดหรือไม่ปฏิบัติตามพรบ.นี้เพิ่มมากขึ้น หรือมีวิธีปฏิบัติที่ต่างจากเดิม

  • สามารถส่งแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้รับอนุญาตกลับได้เลย หากแรงงานยินยอมเดินทางกลับภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 30 วัน โดยจะปรับแล้วส่งกลับก็ได้ หรือจะดำเนินการลงโทษจำคุกหรือปรับตามกฎหมายนี้ก็ได้ (มาตรา ๕๑)[3]
  • เพิ่มโทษปรับในกรณีทำงานนอกจากงานที่ได้รับอนุญาต (ม.๙) งานที่ครม.อนุญาต (ม.๑๓) งานที่ได้รับอนุญาตให้ทำในบริเวณพื้นที่ชายแดน (ม.๑๔)และเปลี่ยนนายจ้าง งาน และสถานที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต (ม.๒๖) โดยเพิ่มโทษปรับเป็นไม่เกินสองหมื่นบาท (ม.๕๒)
  • แรงงานข้ามชาติที่ไม่แจ้งตามมาตรา ๒๒ เรื่องการขยายเวลาการขออนุญาตทำงาน และไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๔ เรื่องการถือบัตรไว้กับตัว โดยเพิ่มโทษปรับเป็นหนึ่งหมื่นบาท (ซึ่งแต่เดิมปรับเพียงหนึ่งพันบาท) (ม.๕๓)
  • ไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ รับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานนอกจากที่ขออนุญาตไว้ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่ถ้าไม่มีใบอนุญาตทำงานปรับตั้งแต่หนึ่งหมืนถึงหนึ่งแสนบาทต่อแรงงานข้ามชาติหนึ่งคน (แต่เดิมจำคุก ๓ ปี ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท) (ม.๕๔)
  • ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือไม่ส่งเอกสาร ไม่ให้ข้อเท็จจริงแก่พนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร มีโทษปรับ ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท (แต่เดิมไม่เกินสามพันบาท) (ม.๕๕)

 

 


[1] คุณสุรพงษ์ กองจันทึก ช่วยแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นนี้ให้ ช่วยทำให้เห็นความแตกต่างของประเด็นระหว่างพรบ.ฉบับเดิมกับฉบับใหม่ให้ชัดเจนมากขึ้น ต้องขอขอบคุณคุณสุรพงษ์อย่างมากเลยครับ

[2] ข้อสังเกตนี้เป็นความเห็นเพิ่มเติมจากคุณสุรพงษ์ กองจันทึก เช่นเดียวกัน แต่เดิมคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว ไม่มีตัวแทนของทั้งสองส่วนที่ระบุชัดเจนในกฎหมาย แต่กฎหมายใหม่ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องมีตัวแทนจากสององค์กรนี้

[3] ข้อนี้หลายท่านที่ติดตามเรื่องการทำงานของคนต่างด้าว โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า ลาว และกัมพูชาอาจจะสงสัยในปัจจุบันก็มีการดำเนินการตามนี้อยู่แล้ว (ใหม่ตรงไหน?) ขอชี้แจง (ตามความเข้าใจ) ว่า ข้อปฏิบัติที่ใช้ในปัจจุบันนั้น เป็นการให้อำนาจเจ้าพนักงานตามพรบ.คนเข้าเมือง ไม่ใช่ตามพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว แต่ในฉบับระบุชัดให้สามารถใช้อำนาจนี้ตามพรบ.การทำงานของคนต่างด้าวได้เลย (คำชี้แจงเพิ่มเติมประเด็นนี้ก็เกิดจากการตั้งข้อสังเกตของคุณสุรพงษ์ อีกครั้ง)

* แต่เดิมผมตั้งใจทำเอกสารชุดนี้เพื่อชี้ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดของความแตกต่าง และสิ่งใหม่ของพรบ.การทำงานของคนต่างด้าวฉบับใหม่ เพื่อให้เพื่อนมิตรที่ทำงานด้วยกันได้เห็นถึงข้อแตกต่าง แต่เมื่อเข้ามาดูใน Gotoknow ก็เห็นว่าหลายท่านสนใจเรื่องนี้ จึงนำมาเสนอใน blog ของตนเอง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตนี้เป็นเพียงข้อสังเกตของผมที่มีมุมมองค่อนข้างจะจำกัด คือมองแต่กลุ่มที่เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่ได้มองไปถึงแรงงานฝีมือจากประเทศอื่นๆ และไม่ได้ตั้งข้อสังเกตุล่วงไปเลยไปยังกลุ่มคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยมากนัก จึงคิดว่าเป็นการดีที่มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมกัน

ต้องขอขอบคุณ อาจารย์แหววที่ช่วยทำให้ผมได้มีมุมมองทางด้านกฎหมาย แต่ผมกับซึมซับได้เพียงน้อยนิดจากอาจารย์ ทุกท่านสามารถเข้าไปดู พรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ได้จากบันทึกของอาจารย์แหววที่ http://gotoknow.org/file/archanwell/view/154279

ขอบคุณคุณ จุฬาวุฒิ ที่ตั้งประเด็นจุดประกายให้ผมได้นำข้อเขียนนี้มาเผยแพร่ต่อ จากบันทึก http://gotoknow.org/blog/foreigner-working-law/167744

 

หมายเลขบันทึก: 168797เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2008 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับ ผมได้นำไปเปนเอกสารอ้างอิงการบ้านของผม มีประโยชน์มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท