นิติกาญจน์


ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของรัฐ

 

ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของรัฐ

ข้อที่ต้องพิจารณาและหลักการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายใน

1.  ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในในแง่ทฤษฎี

1.1 ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในจะมีความสัมพันธ์กันเพียงใดนั้น มีทฤษฎีอยู่ 2  ทฤษฎี คือ

  ทฤษฎีทวินิยม  (Dualism)  ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศแตกต่างกัน  และแยกจากกันได้โดยเด็ดขาด  โดยมีเหตุผลดังนี้

มีบ่อเกิดแตกต่างกัน    กฎหมายภายในมาจากจารีตประเพณีภายในประเทศ  และจากข้อบังคับที่ออกใช้ภายในประเทศ  ส่วนกฎหมายระหว่างประเทศมีบ่อเกิดมาจากจารีตประเพณีระหว่างรัฐและสนธิสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างรัฐ

มีการบังคับใช้แตกต่างกัน    กฎหมายภายในใช้บังคับแก่ความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน  หรือกับเอกชนกับรัฐภายในอาณาเขตของรัฐหนึ่ง  แต่กฎหมายระหว่างประเทศนั้นใช้บังคับแก่รัฐซึ่งมีอธิปไตยเท่าเทียมกัน

  ทฤษฎีเอกนิยม  (Monism)  ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเอกภาพ  (Unity)  หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ซึ่งทฤษฎีนี้ได้มีความคิดเห็นที่แยกออกเป็น  2  ฝ่าย  คือ

ฝ่ายแรก  ถือว่ากฎหมายภายในมีคำบังคับเหนือกว่ากฎหมายระหว่างประเทศ  โดยถือหลักว่ารัฐมีอำนาจอธิปไตยเด็ดขาดและไม่อาจมีผู้ใดมาบังคับได้นอกจากรัฐเอง  รัฐอยู่เหนือกฎหมายระหว่างประเทศ  การที่กฎหมายระหว่างประเทศมีผลใช้บังคับแก่รัฐก็เพราะโดยมีเจตนาหรือความยินยอมของรัฐนั่นเอง

ฝ่ายที่สอง  ถือว่ากฎหมายระหว่างประเทศมีค่าบังคับเหนือกว่ากฎหมายภายใน  เนื่องมาจากแนวคิดที่ว่ารัฐต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ย่อมมีฐานะเสมอกันในทัศนะของกฎหมาย  กฎหมายระหว่างประเทศเป็นระเบียบที่วางกฎเกณฑ์ไว้ใช้แก่ทุกรัฐ  และไม่มีรัฐใดจะมีสิทธิในทางกฎหมายดีกว่ารัฐอื่น  ซึ่งแนวความคิดนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทศมีลักษณะบังคับในตัวเอง  มิได้ขึ้นอยู่กับเจตนาหรือความยินยอมของรัฐ  ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ  หลักเรื่องการเคารพต่อสนธิสัญญา เป็นหลักการที่มีอยู่ก่อนที่รัฐจะทำสัญญา  หลักการดังกล่าวนี้มีอยู่ก่อนแล้ว  มิได้เกิดจากตัวบทสนธิสัญญา

กฎหมายระหว่างประเทศอยู่บนพื้นฐานของ Pacta Sunt Servanda กับการยอมรับของนานาชาติในฐานะผู้สร้างและผู้ใช้กฎหมายและเป็นผู้อยู่ใต้บังคับกฎหมาย Subject of International Law  แต่กฎหมายภายในมาจากรัฐาธิปัตย์มิได้อยู่ที่การยอมรับของผู้อยู่ใต้กฎหมาย

2.  ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในในแง่การปฏิบัติของศาลภายในประเทศ

ศาลระบบคอมมอนลอว์

ความหมายของระบบคอมมอนลอว์ (Common Law)  เป็นผลของการที่ผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่ของตน  กล่าวคือการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณี  จะเห็นได้ชัดว่าหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่มีขึ้นนั้นเป็นการหาทางแก้ข้อพิพาท  ในคดีซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าที่จะเป็นการวางหลักเกณฑ์ไว้เพื่อใช้ในอนาคต หลักเกณฑ์เหล่านี้จึงไม่ยากที่จะเข้าใจเหมือนของสกุลโรมาโน-

เยอรมานิค  ถ้าได้ศึกษาจากคดีที่ทำให้เกิดหลักอันหนึ่งอันใดทางคอมมอนลอว์ถือว่าหลักเกณฑ์นั้นมีอยู่แล้ว ผู้พิพากษาเพียงแต่มีหน้าที่ค้นให้พบแล้วเอามาใช้  ส่วนพวกโรมาโน-เยอรมานิกนั้นเป็นนักคิดที่จะต้องวางหลักทฤษฎีจากการสร้างแนวคิดขึ้น

                คอมมอนลอว์ เกิดและวิวัฒนาการขึ้นในประเทศอังกฤษและเชื่อว่ามีรากเหง้ามาจากลัทธิศักดินา (Feudalism)  ซึ่งกระจายอยู่เป็นกลุ่มๆ ทั่วประเทศแต่ละท้องถิ่นมีจารีตประเพณีของตนเอง การตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทก็อาศัยจารีตประเพณีนี้เป็นหลัก  ต่อมากษัตริย์เริ่มมีอำนาจมากขึ้นประกอบกับเป็นศูนย์กลางแห่งการสร้างความสงบและยุติธรรมได้ส่งผู้พิพากษาออกไปนั่งชี้ขาดคดีในท้องถิ่นต่างๆ เมื่อมีการพิจารณาในเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้วก็เกิดเป็นหลักการขึ้น ซึ่งในคดีต่อมาหลังๆ ไม่ว่าจะท้องถิ่นใดเมื่อมีเรื่องคล้ายคลึงกันก็ต้องใช้หลักคำพิพากษาในคดีแรกเป็นบรรทัดฐานของศาล  ในการตัดสินคดี จึงเกิดเป็นรากฐานในรูปลักษณะเดียวกันขึ้นสำหรับใช้ทั่วประเทศ

                ในอีกทัศนะหนึ่ง  คอมมอนลอว์จึงถือเสมือนผลสำเร็จของความพยายามที่จะให้มีกฎหมายอันเดียวที่ใช้ได้สำหรับชุมชนที่กระจัดกระจายอยู่ในอาณาจักรอันเดียวกัน

                ในปัจจุบัน ระบบกฎหมายนี้มีใช้อยู่ในประเทศอังกฤษ  สหรัฐอเมริกา (ยกเว้นรัฐหลุยส์เซียนา) และประเทศทั้งหลายในเครือจักรภพ  หลักกฎหมายเหล่านี้มีความสำคัญ เพราะหลักกฎหมายระบบนี้เป็นที่มาสำคัญของกฎหมายลายลักษณ์อักษรในประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย เช่น หลักกฎหมายละเมิด หุ้นส่วน บริษัท ตั๋วเงิน เป็นต้น   ระบบนี้ได้พัฒนามาอย่างยาวนานที่เป็นเช่นนี้เพราะได้พัฒนามาอย่างเป็นระเบียบมั่นคง  โดยมีศาลเป็นผู้พัฒนากฎหมายดังกล่าวคอยรักษาบรรทัดฐานมิให้เสื่อมคลาย และการวางหลักเกณฑ์ก็ทำอย่างมีเหตุผลซึ่งอาจเกิดจากการศึกษาเทียบเคียงกับกฎหมายในระบบโรมาโน-เยอรมานิคด้วยก็ได้

เมื่อได้ทราบความเป็นมาโดยย่อแล้ว  ต่อไปจะวิเคราะห์ถึงฐานะของกฎหมายระหว่างประเทศ ในศาลของระบบคอมมอนลอว์โดยจะหยิบยกเอาประเทศที่สำคัญ คือ

1.  ประเทศอังกฤษ  กฎหมายระหว่างประเทศของประเทศอังกฤษมีรากฐานของกฎหมายมาจากกฎหมายจารีตปะเพณีระหว่างประเทศและสนธิสัญญา

1.1  กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ  ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงทางกฎหมาย เช่น Lord Talbot Lord Mansfield มีความเห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทศนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอังกฤษ  ดังนั้นในกรณีที่อังกฤษไม่มีกฎหมายภายในก็สามารถจะนำเอากฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศเข้ามาได้เลยโดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเรียกว่าการผนวก  แต่ถ้าหากกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศเกิดขัดกับกฎหมายภายในซึ่งไม่ว่ากฎหมายอันเกิดจากคำพิพากษาในคดีก่อนๆ หรือกฎหมายที่ออกมาจากรัฐสภาก็ตาม ศาลจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายใน  ทั้งนี้เพราะศาลอังกฤษจำต้องอยู่ภายใต้แนวทางของบรรทัดฐานคำพิพากษาในคดีก่อน  จึงถูกจำกัดอำนาจโดยศาลจะต้องคำนึงถึงคำพิพากษาก่อนๆ  นอกจากนี้อังกฤษถือว่ารัฐสภามีอำนาจสูงสุดประกอบกับหลักที่ว่ากฎหมายที่ออกจากรัฐสภานั้นเป็นกฎหมายพิเศษมีอำนาจยกเว้นกฎหมายจารีตประเพณีซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป  ดังนั้นกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องที่เป็นกฎหมายจารีตประเพณีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอังกฤษจึงต้องอยู่ในอันดับรองและมีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราออกใช้

1.2  สนธิสัญญา  การปฏิบัติของสหราชอาณาจักรในส่วนที่เกี่ยวกับสนธิสัญญานั้น  ถูกกำหนดโดยหลักการของรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและรัฐสภา นั้นคือฝ่ายบริหารมีอำนาจและหน้าที่ในเรื่องการเจรจา  การลงนาม  และการให้สัตยาบันสนธิสัญญา  แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากบทบัญญัติสนธิสัญญาซึ่งฝ่ายบริหารได้กระทำไปนั้นจะมีผลใช้บังคับโดยอัตโนมัติ  โดยปราศจากการผนวกเข้าเป็นกฎหมายภายในโดยเฉพาะ  ก็เท่ากับว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในของอังกฤษหรือมิฉะนั้นก็เป็นการกระทำเรื่องสำคัญโดยมิได้ปรึกษาหารือหรือได้รับความยินยอมจากรัฐสภา  ซึ่งตามระบบอังกฤษถือว่ารัฐสภานั้นมีอำนาจสูงสุดมากกว่าฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ  ดังนั้นจึงมีหลักเกิดขึ้นว่า  สนธิสัญญาที่ฝ่ายบริหารได้กระทำไปนั้น ถ้าจะให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายภายในได้ต้องได้รับวามยินยอมจากรัฐสภาเสียก่อน  ส่วนการให้ความยินยอมจะทำอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะและความสำคัญของสนธิสัญญานั้นๆ ถ้ามีความสำคัญมากการให้ความยินยอมก็จะต้องตรากฎหมายแม่บทให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ  ถ้ามีความสำคัญรองลงไปก็อาจทำเพียงแต่การให้ความเห็นชอบ  โดยการออกเป็นมติ  สนธิสัญญาบางประเภทที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายใน  ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเลยก็ได้

ถ้าปรากฏว่ากฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ออกมาภายหลังมีข้อความไม่สอดคล้องกับสนธิสัญญาที่ทำมาแต่ก่อนๆ โดยชัดแจ้งศาลก็มีหน้าที่ต้องถือตามรัฐบัญญัติ  แต่ถ้ารัฐบัญญัติเป็นผลอันเนื่องมาจากสนธิสัญญาและมีบทบัญญัติกำกวม ศาลมีอำนาจที่จะตรวจดูและตีความได้จากสนธิสัญญาโดยตรง

สำหรับรัฐบัญญัติที่ออกมาถูกต้อง  และตราขึ้นเพื่อให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับนั้นสภาขุนนางได้ชี้ขาดว่ามีอำนาจสูงกว่ากฎหมายลายลักษณ์อักษรด้วยกันเองซึ่งออกมาก่อนหน้านั้น

2.  ประเทศสหรัฐอเมริกา  กฎหมายระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกามีที่มาจากกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและสนธิสัญญา

2.1  กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ  สหรัฐอเมริกาแม้จะใช้คอมมอนลอว์เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร  แต่ก็มีข้อที่แตกต่างกันไปในแง่การเน้นอำนาจ  สำหรับสหรัฐอเมริกาอำนาจสูงสุดนั้นอยู่ที่ศาลสูง (The Supreme Court of The United States)  ศาลดังกล่าวเป็นผู้ตีความรัฐบัญญัติต่างๆ และสามารถชี้ขาดได้ว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดหรือไม่  แม้การกระทำของประธานาธิบดีอันเป็นประมุขของประเทศและผู้นำฝ่ายบริหารก็อยู่ภายใต้การตีความของศาลเช่นกัน

การปฏิบัติของสหรัฐอเมริกาในเรื่องกฎหมายจารีตประเพณีคล้ายกับของอังกฤษอยู่บ้างในแง่ที่ถือว่ากฎหมายจารีตประเพณีเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอเมริกัน  สภาคองเกรสส์ (Congress) จะไม่ออกกฎหมายมาขัดกับกฎหมายจารีตประเพณี และศาลจะพยายามแปลกฎหมายไม่ให้ขัดกับกฎหมายจารีตประเพณี  เพราะศาลเห็นว่าผู้ที่ออกรัฐบัญญัติคงไม่มีเจตนาที่จะละเมิดพันธกรณีของอเมริกันอันมีต่อนานาประเทศ  อันจะขัดกับหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ

อาจสรุปฐานะของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศตามทัศนะของศาลอเมริกันได้ดังนี้

1.  กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายแผ่นดินของอเมริกัน

2.  ศาลจะพยายามตีความรัฐบัญญัติมิให้ขัดกับกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ  อย่างไรก็ตามถ้าเป็นเจตนารมณ์โดยชัดแจ้งรัฐบัญญัติ แม้จะขัดกับกฎหมายจารีตประเพณี ศาลก็จะต้องถือตามรัฐบัญญัติ

3.  ศาลมีอำนาจที่จะตีความของหลักเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศโดยการอ้างตำรากฎหมายหรือการปฏิบัติของรัฐต่างๆ ได้

2.2  สนธิสัญญา  ในเรื่องของสนธิสัญญาของสหรัฐอเมริกามีแนวทางที่ต่างไปจากสหราชอาณาจักรคือ สหรัฐอเมริกาถือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก  ซึ่งในมาตรา 6 วรรค 2 บัญญัติความตอนหนึ่งว่า  "สนธิสัญญาทั้งหลายที่ได้กระทำแล้วหรือซึ่งจะกระทำโดยฝ่ายมีอำนาจ(ที่จะทำสัญญาได้) ของสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน และผู้พิพากษาของทุกๆ มลรัฐผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตาม" 

แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้เช่นนี้  แต่ในทางปฏิบัติคงจะมีปัญหาเกิดขึ้น  ทั้งนี้เพราะสหรัฐอเมริกามีลักษณะเป็นสหพันธรัฐอันประกอบเป็นมลรัฐจำนวนมากแต่ละมลรัฐมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายของตัวเอง  ดังนั้นจึงไม่ใช้เรื่องแปลกที่รัฐบาลของสหพันธ์อาจจะไปทำสนธิสัญญากับต่างประเทศอันมีผลให้เกิดความขัดแย้งกับกฎหมายของมลรัฐต่างๆ ได้

ศาลสูงจึงหาวิธีแก้ปัญหาโดยวางหลักไว้ว่าสนธิสัญญานั้นอาจแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ

1.  สนธิสัญญาซึ่งไม่อาจมีผลบังคับโดยตนเอง  ได้แก่  สนธิสัญญาซึ่งมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการเมือง  ซึ่งการใช้และการตีความบทบัญญัติควรปล่อยให้อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร  เช่น  เรื่องพิกัดอัตรา  การจัดสรร(เงิน)  การผนวกและการโอนอาณาเขต(ดินแดน)  และการทหาร

  2.  สนธิสัญญาซึ่งมีผลบังคับโดยตนเอง  ได้แก่  สนธิสัญญาซึ่งไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายให้มีผลบังคับ  ทั้งนี้โดยพิจารณาจากเจตนารมณ์ของภาคีประกอบกับพฤติการณ์แวดล้อมในเนื้อเรื่องของสนธิสัญญานั้นๆ

 

ศาลระบบกฎหมายโรมาโน-เยอรมานิค  หลักเกณฑ์ต่างๆ ของกฎหมายสกุลนี้เกิดจากข้อบังคับความประพฤติซึ่งเกี่ยวกับความคิดทางด้านความยุติธรรมและศีลธรรม  ปรัชญาเมธีของสกุลนี้สนใจทางด้านการสร้างทฤษฎีมากกว่าจะคำนึงถึงกระบวนการบริหารหรือการนำกฎหมายมาให้ในแง่ปฏิบัติ

กฎหมายโรมาโน-เยอรมานิค  ถือกำเนิดขึ้นในทวีปยุโรปราวคริตส์ศตวรรษที่ 12  โดยผลของการศึกษาค้นคว้ากฎหมายโรมัน  โยเฉพาะอย่างยิ่งประมวลกฎหมายของจัสตีเนียน

ประกอบกับความคิดที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่จะแยกทางโลกออกจากทางศาสนา  ซึ่งทาง

ศาสนจักรเองก็ยอมรับรู้อยู่บ้างโดยสร้างหลักเกณฑ์ของตนขึ้นเช่นกันที่เรียกว่า  แคนนอนลอว์ (Cannon Law)  สำหรับสาเหตุที่ขนามนามว่าโรมาโน-เยอรมานิค  นี้ก็เพื่อการระลึกถึงความพยายามโดยมหาวิทยาลัยหลายแห่งในกลุ่มประเทศในยุโรปที่ใช้ภาษาละตินได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของโรมัน  โดยเฉพาะประเทศอิตาลีและเยอรมันนีที่ได้ร่วมกันพัฒนาให้เกิดเป็นระบบขึ้นอย่างจริงจัง  ประเทศที่สังกัดอยู่ในกลุ่มสกุลนี้ เช่น อิตาลี  เยอรมันนี  สวิตเซอร์แลนด์  ฝรั่งเศส  และประเทศทางตะวันตกที่ได้รับอิทธิพลเข้ามาในกฎหมายของตน เช่น ไทย  ญี่ปุ่น

                กฎหมายสกุลนี้ได้พัฒนามาเป็นระบบประมวลกฎหมายซึ่งใช้อยู่อย่างแพร่หลายในประเทศดังกล่าวข้างต้นในเวลาต่อมา  ลักษณะพิเศษของสกุลกฎหมายนี้มีดังนี้คือ

                1.  ระบบกฎหมายนี้  ถือว่ากฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรมีความสำคัญกว่าอย่างยิ่ง

                2.  ระบบกฎหมายนี้  คำพิพากษาของศาลไม่ใช่ที่มาของกฎหมาย  แต่เป็นบรรทัดฐานแบบอย่างของการตีความหรือการใช้กฎหมายเท่านั้น

                3.  ในการศึกษากฎหมาย  ต้องเริ่มต้นจากตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ  จะถือเอาคำพิพากษาศาล หรือความเห็นของนักกฎหมายเป็นหลักไม่ได้

                4.  ระบบกฎหมายนี้ถือว่ากฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนเป็นคนละส่วนกัน

                สำหรับตัวอย่างที่จะพิจารณาต่อไปจะขอหยิบยกบางประเทศคือ

                1.  ประเทศฝรั่งเศส  กฎหมายระหว่างประเทศของประเทศฝรั่งเศสมีรากฐานมาจากกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและสนธิสัญญา

                1.1  กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศทัศนคติของศาลฝรั่งเศสอันมีต่อกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศนั้นอาจพอวางหลักได้จากการพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ห้า ค.ศ. 1958  ซึ่งระบุไว้ในตอนต้นว่า " ยืนยันและเชื่อมั่นที่จะถือปฏิบัติประกอบกับอารัมภบทแห่งรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1946 "  ด้วยเหตุนี้ศาลจึงนำหลักเกณฑ์แห่งจารีตประเพณีของกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้กับกฎหมายภายในถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ได้บังคับให้ปฏิบัติเช่นนั้น  คำตัดสินของศาลในระยะแรกๆ ได้แสดงให้เห็นว่าเอกสิทธิ์และความคุ้มกันขององค์อธิปัตย์และของเจ้าหน้าที่ทางการทูต เป็นกฎแห่งระเบียบสูงสุดทางด้านมหาชนซึ่งอยู่เหนือกฎหมายเอกชน

1.2  สนธิสัญญา  การมีผลบังคับใช้ของสนธิสัญญาในประเทศฝรั่งเศสขึ้นอยู่กับบทบัญญัติสำคัญสองมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ห้า ค.ศ. 1958 ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 53 และมาตรา 55

โดยมาตรา 53 กำหนดไว้ว่าสนธิสัญญาประเภทใดบ้าง  ซึ่งจะต้องมีการให้สัตยาบันโดยการออกกฎหมาย ซึ่งทำให้เป็นที่เข้าใจได้ว่าการออกกฎหมายเป็นเงื่อนสำคัญที่จะทำให้สนธิสัญญานั้นมีผลบังคับทั้งภายนอกในฐานที่เป็นสนธิสัญญากับประเทศฝรั่งเศสและมีผลบังคับภายในในฐานที่ศาลจำต้องปฏิบัติตามเสมือนเป็นกฎหมายภายใน

ส่วนมาตรา 55 ได้บัญญัติไว้ประการหนึ่งคือ สนธิสัญญานั้นหลังจากที่มีการให้สัตยาบันหรือมีการให้ความเห็นชอบแล้วจำเป็นต้องมีการพิมพ์โฆษณาจึงจะมีผลใช้บังคับผูกพันให้ศาลปฏิบัติตาม

อนึ่ง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสนั้นมีอำนาจที่จะให้สัตยาบันกับสนธิสัญญาบางประเภท อันมีผลทำให้สนธิสัญญาเหล่านั้นใช้บังคับเป็นกฎหมายภายในได้  นอกจากนั้นข้อตกลงของฝ่ายบริหารก็อยู่ในอำนาจของประธานาธิบดีเช่นเดียวกันอันจะทำให้มีผลบังคับเป็นกฎหมายภายในได้

อย่างไรก็ตาม  ถ้าสนธิสัญญาเกิดขัดกับกฎหมายภายใน และถ้าจะให้สนธิสัญญานั้นมีอำนาจบังคับเหนือกฎหมายภายในได้  สนธิสัญญานั้นจำเป็นต้องได้รับการให้สัตยาบันโดยการออกกฎหมายเท่านั้น

2.  ประเทษเยอรมันนีตะวันตก  รัฐธรรมนูญของเยอรมันนี  ลงวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 มาตรา 25 บัญญัติว่า "หลักเกณฑ์ทั้งหลายของกฎหมายระหว่างประเทศประกอบเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของกฎหมายแห่งสหพันธ์มีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่ตราโดยสภา  และก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่โดยตรงต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตของสหพันธ์" 

2.1  กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ  จากถ้อยคำของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ระบุไว้ตรงๆ ถึงฐานะของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ  จึงต้องอาศัยการตีความในตอนต้นของมาตรา 25 ซึ่งระบุว่า "หลักเกณฑ์ทั่วไปทั้งหลาย"  นั้นหมายถึงกฎหมายจารีตประเพณีและหลักกฎหมายทั่วไปด้วย

เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้หลักเกณฑ์ทั่วไปทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายสหพันธ์ก็ย่อมจะตีความต่อไปว่าศาลมีอำนาจที่จะหยิบยก และใช้กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ได้เสมือนเป็นกฎหมายแห่งสหพันธ์

ในกรณีเกิดการขัดแย้งระหว่างกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในขึ้นนั้น  ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ได้ตัดสินว่า "หลักเกณฑ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศ" มิได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ  จึงสรุปได้ว่ากฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศมีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายภายในแต่ไม่สูงกว่ารัฐธรรมนูญ

2.2  สนธิสัญญา  การทำสนธิสัญญาอยู่ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเยอรมันนีมาตรา 59 ซึ่งระบุให้ต้องออกเป็นกฎหมาย อันเป็นการถือตามแนวทางของนักนิติศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ  ทรีเปอล์  ผู้คิดทฤษฎีทวินิยม  ดังนั้นสนธิสัญญาต่างๆ จึงน่าจะต้องผ่านการแปลงรูปเป็นกฎหมายภายในเสียก่อนจึงจะมีผลบังคับ

ถ้าบทบัญญัติในสัญญาเกิดขัดกับกฎหมายภายในจะถือว่าสิ่งใดมีค่าสูงกว่ากัน คงจะต้องดูจากสนธิสัญญานั้นเอง  ซึ่งอาจแบ่งออกเป็นสองทางคือ

1. ถ้าสนธิสัญญานั้นเป็นประเภทกฎหมายอันเป็นการวางหลักเกณฑ์ ซึ่งถือว่าเป็นหลักทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ  น่าจะต้องถือว่ามีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายภายใน  ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 25 ประกอบ

2.  ถ้าเป็นสนธิสัญญาประเภทสัญญา  การอันเป็นการตั้งเงื่อนไขที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติต่อกัน  สนธิสัญญาประเภทนี้จะมีสภาพเป็นกฎหมายได้ก็ตามที่มาตรา 59 ได้บัญญัติไว้ ดังนั้นจึงมีฐานะเท่ากับกฎหมายภายในเมื่อเป็นเช่นนี้จึงน่าจะอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ว่ากฎหมายใดที่เกิดขึ้นภายหลังย่อมล้มเลิกกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นมาก่อน  ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นสนธิสัญญาหรือกฎหมายภายในก็ตาม  สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังย่อมมีอำนาจบังคับสูงกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อน แนวความคิดนี้ได้รับการยืนยันโดยคำพิพากษาของศาล

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 168750เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2008 00:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ้างอิงด้วยนะคะ

และควรบันทึกแบบมีชีวิจจิตใจหน่อยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท