ระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา


ระบบสารสนเทศ

                        

   ระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา

                สถานศึกษาที่มีระบบสารสนเทศที่สมบูรณ์     ครบถ้วน    เป็นปัจจุบันเรียกใช้ได้สะดวกและตรงตามความต้องการ  จะช่วยให้สถานศึกษาสามารถดำเนินงานพัฒนาคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ      เป็นการสร้างความมั่นใจที่ตั้งอยู่บนรากฐานของหลักวิชา  หลักฐานข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้ มีกระบวนการวิเคราะห์และประมวลผลที่เป็นวิทยาศาสตร์       หลักตรรกและความสมเหตุสมผล เพราะสารสนเทศทั้งหลายนั้นนอกจากจะใช้ในการวางแผนการดำเนินงานและประกอบการตัดสินใจแล้ว  ยังนำไปสู่การพัฒนาแนวความคิด และสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการดำเนินการต่างๆ         ทั้งนี้สารสนเทศที่มีคุณภาพจะต้องมีคุณภาพ ทั้งในด้านความถูกต้อง  มีความเป็นปัจจุบัน สามารถตอบสนองผู้ใช้ได้ ทันเหตุการณ์  จึงควรคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้

1. มีการตรวจสอบความถูกต้อง (Verifiability)
2. มีความถูกต้องแม่นยำ (Accuracy)
3. มีความสมบูรณ์และครอบคลุม (Comprehensiveness) เพียงพอที่จะใช้ตัดสินใจ
4. มีความชัดเจน (Clarity) ไม่ต้องตีความ แต่มีความกะทัดรัดได้ใจความ
5. มีความเกี่ยวข้องตรงต่อความต้องการของผู้ใช้ (Relevance)
6. มีความยืดหยุ่น (Flexibility) ปรับใช้ได้ในหลายสถานการณ์
7.ใช้ได้ง่าย รวดเร็ว (Accessibility)
8.  สามารถจัดระบบตั้งแต่การเตรียมข้อมูลนำเข้า การประมวลผล และนำผลรายงานในเวลาที่ทันต่อเหตุการณ์ (Timeliness)
 
 สถานศึกษาสามารถจัดระบบสารสนเทศ  โดยจำแนกเป็นระบบย่อยได้ดังนี้
 
1.   ระบบสารสนเทศของสถานศึกษาประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศที่ เกี่ยวข้องกับภาพรวมของสถานศึกษา สภาพเศรษฐกิจ การเมือง   สังคม    ความต้องการของชุมชน สภาพการบริหารและการจัดการตามโครงสร้างและภารกิจ
2. ระบบสารสนเทศเกี่ยวกับผู้เรียน  เป็นระบบสารสนเทศที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ผู้เรียนทั้งหมด
3.  ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารวิชาการ เป็นการจัดระบบสารสนเทศ เกี่ยวกับหลัก สูตรและการเรียนการสอน การวัดและการประเมินผลการพัฒนากิจกรรมแนะแนวและการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
4.ระบบสารสนเทศ เพื่อการบริหารจัดการ    สารสนเทศประเภทนี้ต้องมีการประมวล ผลรวม มีการเปรียบเทียบข้อมูลอย่างถูกต้องและทันสมัยจึงมีความหมายต่อการจัดการและการบริหารงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
เมื่อได้ข้อมูลสารสนเทศครบทั้ง  4  ด้านแล้ว    นำระบบสารสนเทศไปพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาตามระดับการนำไปใช้ดังนี้
 

ผู้ใช้ระบบสารสนเทศ

ระดับการนำไปใช้

 1.  คณะกรรมการสถานศึกษา/ ที่ปรึกษา

วางแผนยุทธศาสตร์

 2.  ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ช่วยผู้บริหาร

วางแผนการบริหารทั้งองค์กร

 3.  หัวหน้ากลุ่มงาน/กลุ่มสาระการเรียนรู้/โครงการ

วางแผนปฏิบัติการ

 4.  ผู้สอน / ผู้สนับสนุนการสอน

วางแผนปฏิบัติการสอน

                ซึ่งผู้ใช้สารสนเทศในระบบสารสนเทศทุกฝ่ายจะต้องศึกษาข้อมูลที่ต้องการแล้วนำมาใช้ในการวางระบบ(P)   เป็นขั้นตอนแรกตามวงจร   PDCA   ของแต่ละกิจกรรมการบริหารของสถานศึกษาตั้งแต่การวางแผนยุทธศาสตร์      การวางแผนการบริหารทั้งองค์กร      การวางแผนปฏิบัติการและการวางแผนปฏิบัติการสอน    กล่าวได้ว่าเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ใช้ข้อมูลในระบบสารสนเทศอย่างจริงจังแล้วย่อมส่งผลให้สถานศึกษามีคุณภาพตามมาตรการศึกษาที่กำหนดไว้

  

              ในปัจจุบันกล่าวได้ว่าอิทธิพลของเทคโนโลยีสมัยใหม่(ระบบสารสนเทศ) ดังกล่าวข้างต้น    ส่งผลให้การจัดการศึกษาเพื่อบรรลุอุดมการณ์ทางการศึกษาตลอดชีวิต(ในระบบ      นอกระบบและตามอัธยาศัย)  ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย  โดยมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.  2542  และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2)  พ.ศ. 2545  ในหมวดที่  9   เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (ดร.สมเดช     สีแสง  2549: 43)  ที่กำหนดให้มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา     ตรวจสอบและประเมินผลการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา   เพื่อให้เกิดการใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทยทั้งการศึกษาในระบบการศึกษา      การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย     โดยภาพรวมแล้ว  การดำเนินการดังกล่าวจะมีความชัดเจน  เด่นชัดในการจัดการศึกษาในระบบการศึกษา(การศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา)     และ การศึกษานอกระบบ(การศึกษานอกโรงเรียน: กศน.)   ส่วนการศึกษาตามอัธยาศัยนั้นยังไม่ปรากฎการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร           กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่มีบทบาทสำคัญในฐานะการเป็นสื่อการเรียนการสอนให้ผู้เรียนทุกระดับได้ใช้ในการสืบค้นหาความรู้   ประเด็นที่สนใจ   ตอบสนองศักยภาพของแต่ละบุคคล   ตลอดจนเป็นสื่อกลางในการจัดการเรียนรู้ระหว่างครู - อาจารย์กับนักเรียน  นิสิต - นักศึกษา  ทำให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาองค์ความรู้      ทักษะกระบวนการและเจคติ  คุณธรรมและจริยธรรมได้(เก่ง    ดี   และมีความสุข)    ส่งผลให้ผู้เรียนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อตนเอง    ครอบครัว  ชุมชน   สังคม  ประเทศชาติและโลกเพื่อการพัฒนาด้านความเป็นอยู่ สังคม   เศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ เกษตรกรรม    อุตสาหกรรม     การเมือง ตลอดจนการวิจัยและการพัฒนาต่าง ๆ   

               

                ดังนั้นการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้นั้นต้องนำระบบสารสนเทศมาบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีคุณภาพ  และต้องคำนึงถึงความหมายของบุคคลแห่งการเรียนรู้ด้วย   กล่าวคือ   หมายถึง     ผู้ที่มีคุณลักษณะนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียน มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความกระตือรือร้น สนใจเสาะแสวงหาความรู้อยู่เสมอ มุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม การเรียนรู้อาจทำได้หลายวิธี เช่น    อ่านหนังสือหรือวารสารที่มีประโยชน์   ดูรายการ  โทรทัศน์หรือฟังวิทยุที่มีสาระ ค้นคว้าหาความรู้โดยผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์    ซักถามข้อมูลจากผู้รู้ รวมทั้งสามารถจับใจความสำคัญเพื่อแยกแยะและเลือกสาระข้อมูลที่ได้มาอย่างมีเหตุผล ทักษะพื้นฐานสำคัญต่อการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ได้แก่

                1. ทักษะการฟัง  ทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการคิดและการพูด
                2. ทักษะการถาม  ทำให้เกิดประบวนการคิด การเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ เนื่องจากคำถามที่ดีทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ตั้งแต่ระดับการจำไปจนถึงระดับวิเคราะห์และประเมินค่า

                3. ทักษะการอ่าน  ทำให้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งนอกจากจะเป็นทักษะการอ่านข้อความ จะรวมถึงการอ่านสถิติ ข้อมูลเชิงคณิคศาสตร์ต่างๆด้วย

               4. ทักษะการคิด  ทำให้บุคคลมองการไกล สามารถควบคุมการกระทำของตนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ การคิดอย่างมีเหตุผลและมีวิจารณญาณ มีผลต่อการเรียนรู้ การตัดสินใจ และการแสดงพฤติกรรม

               5. ทักษะการเขียน  เป็นความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ทัศนคติ และความรู้สึกออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้อื่นเข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อวงการศึกษา(การหาความรู้) เนื่องจากบันทึกเหตุการณ์ ข้อมูล ความจริง ใช้เป็นหลักฐานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป


               6. ทักษะการปฎิบัติ  เป็นการลงมือกระทำจริงอย่างมีระบบเพื่อค้นหาความจริง และสามารถสรุปผลอย่างมีเหตุผลได้ด้วยตนเองเพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหา

               สถานศึกษาจึงต้องบริหารจัดการอย่างเต็มศักยภาพเพื่อพัฒนา  ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้อย่างมีความสุขและเกิดการพัฒนาเต็มตามศักยภาพสู่...การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์(เก่ง   ดีและมีความสุข)

 

คำสำคัญ (Tags): #ระบบสารสนเทศ
หมายเลขบันทึก: 168722เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2008 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท