สรุปการสัมมนาวิชาการ เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพ


นักสื่อสารสุขภาพจะเป็นผู้เปิดช่องทางการสื่อสารในแนวนอน (Horizontal Communication) ซึ่งสามารถเป็นผู้ประสาน (Liaisons) และตัวเชื่อม (Bridges) ทำให้สื่อด้านสุขภาพเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวาง เน้นการสื่อสารสองทาง (Two way communication) เพื่อให้การสื่อสารเป็นเครื่องมือที่จะผลักพลังทางสังคมจนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของประชาชนระดับมหภาค

สรุปการสัมมนาวิชาการ เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพ

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 เวลา 09.00-14.00 น.

แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบสื่อสารสุขภาพสู่ประชาชน

ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

นายโคทม อารียา ประธานแผนงานวิจัยและพัฒนาระบบสื่อสารสุขภาพสู่ประชาชน (รสส.)

ได้กล่าวแนะนำพัฒนากลไกและความเป็นวิชาชีพของการสื่อสารสุขภาพ เพื่อให้ประชาชน เข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องได้โดยง่าย อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง ทางด้านสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น

ระบบสื่อสารสุขภาพสู่ประชาชน คือ ระบบสื่อสารที่มีลักษณะการสื่อสารแบบไปมาหาสู่กัน ซื่งเป็นการสื่อสารสองทาง ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสุขภาพได้ง่ายและทั่วถึง ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงศักยภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน        


            มีแนวคิดที่เชื่อว่า นักสื่อสารสุขภาพจะเป็นผู้เปิดช่องทางการสื่อสารในแนวนอน (Horizontal Communication) ซึ่งสามารถเป็นผู้ประสาน (Liaisons) และตัวเชื่อม (Bridges)  ทำให้สื่อด้านสุขภาพเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวาง เน้นการสื่อสารสองทาง (Two way communication) เพื่อให้การสื่อสารเป็นเครื่องมือที่จะผลักพลังทางสังคมจนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของประชาชนระดับมหภาค

ยุทธศาสตร์แผนงานวิจัย รสส.

1.      เสริมสร้างองค์ความรู้  เพื่อพัฒนากลไก เชื่อมโยงประสานเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาพ สร้างอัตลักษณ์ และการยอมรับของสังคม

2.      พัฒนากลไก ความเป็นวิชาชีพ และวิชาการของนักสื่อสารสุขภาพ

3.      เสริมสร้างการเรียมรู้เท่าทันสื่อเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องโดยง่าย

 

ทั้งนี้นายโคดม ยังกล่าวว่าการสัมมนาในครั้งนี้ ได้จัดทำทำเนียบสถาบันที่เข้าร่วมในการสัมมนาวิชาการ

หลักสูตรสื่อสารสุขภาพ (เล่มสีเหลือง) เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือจัดหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพในระดับต่างๆ ร่วมกัน

รองศาตราจารย์มาลี  บุญศิริพันธ์ คณบดีวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และคณะนักวิจัย นำเสนอเรื่อง การพัฒนาหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการวิจัย เรื่อง การศึกษาเชิงนโยบายการสร้างนักสื่อสารสุขภาพ และระบบการสื่อสารสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ.2549 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ รวมทั้งความเห็นจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิชาชีพในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารสุขภาพ แล้วได้ทำการจัดระบบ วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้อย่างรอบด้าน แล้วจึงดำเนินการร่างหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพสำหรับการผลิตนักสื่อสารสุขภาพในระดับต่างๆ จากผลการวิจัย พบว่ารูปแบบการพัฒนานักสื่อสารสุขภาพที่ยั่งยืน  คือการให้ความรู้ ความเข้าใจในองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์และศิลป์ทางด้านสาธารณสุขการแพทย์ และการสื่อสารทุกระดับ 

คณะผู้วิจัยนำเสนอร่างหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

1.    ร่างหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพระดับปริญญาตรี

2.    ร่างหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพระดับการต่อยอดจากหลักสูตรเดิม

3.    ร่างหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพระดับการฝึกอบรม

ทั้งนี้ ร่างหลักสูตรที่นำเสนอนี้ เป็นเพียงข้อเสนอสำหรับเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ให้สนองกับเป้าหมายและหรือปรัชญาการเรียนการสอนของแต่ละสถาบัน ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้หลักสูตรสามารถประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบท  วัตถุประสงค์ และเจตนารมณ์การให้การศึกษาของแต่ละสถาบันเป็นสำคัญ   (ดังเอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ เล่มสีชมพู)

รองศาสตราจารย์ ดร. พนา  ทองมีอาคม  คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้นำเสนอร่างหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต  สาขาวิชาการสื่อสารสุขภาพ (Graduate diploma in Health communication) ซึ่งมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ  เตรียมที่จะเปิดสอน ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2551 นี้ โดยเป็นหลักสูตรใช้ระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากมีการเรียนการสอน เฉพาะวันเสาร์ และอาทิตย์  โดยกล่าวว่า บุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีความรู้ด้านสุขภาพที่ต้องทำหน้าที่หลักในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการแพทย์ และสาธารณสุขโดยการผลิตสื่อ  การเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อมวลชน การจัดรายการทางวิทยุกระจายเสียง หรือเขียนบทสำหรับการออกอากาศทางโทรทัศน์ ซึ่งหากพิจารณาในด้านประสิทธิภาพในการสื่อสาร พบว่ายังประสบปัญหาอยู่มากเนื่องจากขาดความรู้ทางด้านนิเทศศาสตร์อย่างเพียงพอที่จะเข้าใจกระบวนการสื่อสาร การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย การเลือกใช้สื่อและภาษาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและความเชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร

            บัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลหลักสูตร ซึ่งมีคณะผู้สอนจาก คณะนิเทศศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์  คณะสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม คณะเภสัชศาสตร์ คณะการแพทย์แผนจีน คณะกายภาพบำบัด และคณะเทคนิคการแพทย์  รวมถึงอาจารย์พิเศษจากเครือข่ายสื่อสาร จาก รสส. และบุคลากรด้านสุขภาพและสื่อสารสายสุขภาพ   โดยหลักสูตรเปิดให้เป็น 2 แผน คือ แผน ก. ให้สำหรับ ผู้ที่มีพื้นฐานด้านสุขภาพ  และแผน ข. สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานด้านการสื่อสาร โดยจะมีการลงทะเบียนเน้นหนักในรายวิชาที่แตกต่างกัน แต่มีหน่วยกิต ไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต เท่ากัน

            ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่มาจากสถาบันการศึกษาทางการพยาบาล  จึงมีผู้เข้าร่วมประชุมซักถามเกี่ยวกับ ความเป็นไปได้ในการที่จะบรรจุหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพ ในระดับการฝึกอบรม เช่น หลักสูตรประกาศนียบัตร ไว้ที่สภาการพยาบาล เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถได้รับหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่อง (CNEU)

รศ.มาลี ได้ชี้แจงให้เห็นความแตกต่างระหว่างวิชาชีพ ของนักสุขศึกษา และนักสื่อสารสุขภาพ สรุปได้ดังนี้

นักสุขศึกษา

นักสื่อสารสุขภาพ

-ผู้จบการศึกษาในวิชาชีพนี้ ขาด career path ที่ชัดเจน

-มุ่งให้ข้อมูล หรือความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน ระดับบุคคล กลุ่มบุคคล

-เป็นการสื่อสารจากบนลงล่าง

-เป็นการสื่อสารทางเดียว

-ขาดความรู้เรื่องการใช้สื่อ

-Health Education

-มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้สื่อที่แตกต่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

-เป็นการสื่อสารแนวนอน

-เป็นการสื่อสารสองทาง

-เน้นการสื่อสารเพื่อผลักดันเชิงนโยบายสุขภาพ

-เป็นการสื่อสารระดับชุมชน สังคม  เพื่อปรับวัฒนธรรมทางสังคมด้านสุขภาพ                                        

-Health Communication

 

            ประเด็นปัญหาที่ยังไม่มีข้อสรุปในการประชุมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ คือ ตลาดแรงงานวิชาชีพที่จะมารองรับบัณฑิตที่จบออกมาจากหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพในระดับปริญญาตรี   รวมถึงข้อกำหนดผู้เข้าศึกษาว่าควรมีแผนการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในสายวิทย์หรือสายศิลป์  เนื่องจากหลักสูตรนี้จะเป็นการผสานบูรณาการทั้งองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการสื่อสารมวลชน  แต่ทั้งนี้คณะผู้ร่วมประชุมต่างแสดงความเห็นพ้องในความจำเป็นในระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งมีนโยบายที่ชัดเจน เน้นสร้างนำซ่อม จึงควรมีการเปิดหลักสูตรสื่อสารสุขภาพเพื่อนำร่องในหลักสูตรการสื่อสารสุขภาพระดับใดระดับหนึ่ง  แต่ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของประเทศ จึงควรเน้นให้มีการจัดอบรมระยะสั้น ให้แก่บุคลากรทางสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ให้สามารถเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการสื่อสารสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ  เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมของผู้รับสารให้มากขึ้น ซึ่งบุคลากรในทีมสุขภาพเหล่านี้เป็นผู้ที่ให้บริการด้านสุขภาพอย่างใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการที่ต้องการได้รับสื่อข้อมูลทางสุขภาพที่ถูกต้อง ชัดเจนอยู่เสมอ  หรือแนวทางการแก้ไขเร่งด่วนอาจเพิ่มรายวิชาการสื่อสารสุขภาพในระดับปริญญาตรีของหลักสูตรต่างๆ สายสุขภาพ เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารสุขภาพลงแก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการสาธารณสุข

หมายเลขบันทึก: 167805เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2008 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจมากๆ  ที่มาพบเครือข่ายนสส. ตนเองเป็นนสส..แพร่  (โครงการของรศ.ดวงพร  จากม.มหิดล  จ้า ) ใช่เลย  ค่ะ  การสื่อสารสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมากๆ  ที่จะช่วยให้ผู้รับผลลงานของเรา เกิดแนวทางการปฏิบัติ  เพราะจริงๆ  แล้ว A=Attitudeสำคัญมากๆ   จะส่งผลให้เกิดPractice  เพราะบางทีตั;knowledge  มากๆ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท