แล้วความตายเก่าอันแสนเศร้าก็มาเยี่ยมเยือน...…บันทึกชีวิตบนผืนน้ำของมอแกนเกาะช้าง การเดินทางของเรื่องเล่า-8( 2 พฤษภาคม 51)


" ไปดำปลิง มีแต่โชคร้ายกับโชคร้ายที่สุด คือ ถ้าไม่โดนจับ ไม่พิการหรือ ถูกโกงก็ ตาย "

แล้วความตายเก่าอันแสนเศร้าก็มาเยี่ยมเยือน

บันทึกชีวิตบนผืนน้ำของมอแกนเกาะช้าง

โดย  ปราโมทย์ แสนสวาสดิ์ เขียน /ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว เรียบเรียง  มีนาคม 2551

 

การปล่อยตัวมอแกนจาก เกาะเหลา และเกาะช้าง ทั้งหมด 19 คน ที่ถูกทางการอินเดียจับกุมข้อหาลักลอบจับสัตว์น้ำโดยมิได้รับอนุญาตเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น   น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับครอบครัวของผู้เดือดร้อนจากเหตุการณ์ครั้งนี้และญาติสนิทมิตรสหาย   ตลอดจนผู้ผลักดันให้ความช่วยเหลือทั้งจาก หน่วยงานภาครัฐและ เอกชนทั้งหลาย

กระนั้นในความยินดี ยังมีความเศร้า เป็นความเศร้าของครอบครัวที่เพิ่งให้กำเนิดลูกชายเพียงสองเดือน และ เป็นความเศร้าของหัวอก พ่อและแม่  กับความหวังในตัวลูกชายเพียงคนเดียวที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักจุนเจือครอบครัวไม่ต่ำกว่า 4-5 ชีวิต แน่นอน

ในโลกนี้มีเรื่องเศร้าให้พานพบกันทุกวัน  เช่นกันโลกก็หมุนไปตามวัฏจักรของมันอย่างเที่ยงแท้  ใครเป็นใครตายอย่างไร โลกรับรู้หรือไม่  คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากเรายอมรับในสัจธรรมว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย  เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  ความป่วยไข้นั้นอาจจะสำคัญกับคนหรือสังคมหนึ่งอย่างมากมายมหาศาล  ขณะบางคนซึ่งเป็นคนเล็กๆในสังคม ความตาย การสูญเสีย  หรือป่วยไข้อาจไม่มีความหมายอันใดเลย  ยิ่งสำหรับ คนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ  คนล่างที่สุดของสังคม เปลือยเปล่าหนาวเหน็บกว่าคนปกติ  ในความหมายการให้คุณค่าก็ยิ่งลดน้อยถอยลงเพียงฝุ่นผงธุลีดิน

 

นายอาลิ่ม ประมงกิจ  อายุ 18 ปี หนึ่งในมอแกนจากเกาะช้างที่ถูกจับกุม ซึ่งเป็นพ่อของลูกที่เพิ่งลืมตามาดูโลกได้พียงสองเดือน เป็นสามีของภรรยาวัยอ่อน เป็นลูกของแม่ที่พิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  เป็นลูกชายของพ่อที่แก่เฒ่า เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง สำหรับมอแกนแล้วการได้บุตรชายนับเป็นของขวัญอันวิเศษ  เพราะนั่นคือแรงงานหลักของครอบครัว  ในสังคมที่ยังยึดถือในวิถีดั้งเดิมนั้นผู้ชายจะออกไปทำงานนอกบ้าน ขณะที่ผู้หญิงมีหน้าที่จัดการรายละเอียดในครอบครัว

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน พฤษภาคม 2550 อันเป็นเดือนที่มอแกน ทั้ง 19 คน ถูกจับกุม นาย อาลิ่ม ประมงกิจ  คือ ผู้โชคร้ายสองชั้น เพราะนอกจากจะถูกจับกุมแล้ว ยังถูก น้ำช็อตจากการลงไปดำปลิงลึกกว่า 30 เมตร  ที่มีเพียงหน้ากากพลาสติกเก่าๆกับสายลมเท่านั้นที่เป็นเครื่องรับประกันชีวิต  แม้ในขณะนั้นเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันจะช่วยเหลือทุกวิถีทาง กล่าวคือเมื่อเกิดอาการชาตอนขึ้นมาบนบกจากการถูกช็อต  จะถูกโยนลงในน้ำอีกครั้งเพื่อปรับสภาพร่างกายก่อนจะซ้อมอย่างหนักเพื่อเรียกสภาพปกติกลับคืนมา  แต่การปฏิบัติแบบนั้นก็เพียงช่วยให้ผ่อนหนักเป็นเบาเท่านั้น  เพราะใครที่โดนสภาพดังกล่าวนั้นร่างกายจะไม่กลับมาเหมือนปกติ คือไม่พิการก็เดินกะโพลกกะเพลก  

มีคนเคยเปรียบเปรย กรณีการไปดำปลิงของมอแกนว่า 

ไปดำปลิง มีแต่โชคร้ายกับโชคร้ายที่สุด คือ ถ้าไม่โดนจับ ไม่พิการ หรือถูกโกงก็ ตาย  

ซึ่งกรณี  นายอาลิ่ม ประมงกิจ นั้นเข้าข่ายโชคร้ายธรรมดา นั่นคือ พิการครึ่งตัว !

 

บิดาและมารดา คือนายสีดิษ ประมงกิจ และนางยาว ประมงกิจ เกิดที่ฝั่งพม่าส่วนอาลิ่ม ประมงกิจ เกิดที่หมู่ 2 เกาะช้าง ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยมีพยานรู้เห็นการเกิด แต่เนื่องจากความไม่รู้ ความไม่สะดวกในการเดินทาง ตลอดจนความไม่คุ้นชินกับหน่วยงานราชการทำให้นายอาลิ่ม ตลอดจนมอแกนส่วนนั้นไม่มีการแจ้งเกิด และไม่มีเอกสารการเกิดใดๆ ของทางราชการ

ต่อมาทางอำเภอได้สำรวจข้อมูลตามแบบ 89 ตามยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิและสถานะบุคคล ภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548 ทำให้นายอาลิ่มไม่ต้องตกเป็น คนไร้รัฐ เนื่องจากเขาได้รับการบันทึกตัวตนโดยรัฐไทย แต่เนื่องต้องมารักษาอาการเจ็บป่วยที่กรุงเทพฯ จึงทำให้ไม่ได้ไปถ่ายบัตร บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ขึ้นต้นด้วยเลข 0)”

อย่างไรก็ดี ภายใต้พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4 พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา  โดยผลของมาตรา 23 อาลิ่มจะได้รับสัญชาติไทย เพียงแต่เขาไปแสดงตนที่อำเภอเมือง จังหวัดระนอง[1]  นั่นหมายความว่าอาลิ่มจะไม่ตกเป็น คนไร้สัญชาติ อีกต่อไป และเขาก็จะได้รับสิทธิในหลักประกันสุขภาพเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป

 

แต่ในระหว่างทางที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยนั้น องค์กรชาวบ้านที่รวมกันเป็นเครือข่ายมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดในการผลักดันจนได้รับการแก้ปัญหา ไล่ตั้งแต่การยื่นเรื่องกับอดีตนายกพลเอก สุรยุทธ์ จุลลานนท์ ที่กระบี่ หรือการเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เพื่อขอหลักฐานยืนยันว่า 19 คนดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ระนองจริง จนเกิดการเซ็นเอกสารรับรองจากนายอำเภอ ทำให้มอแกนทั้ง 19 คน ได้รับการปล่อยตัวจากทางการอินเดีย

และเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากภาครัฐ องค์กร ภาคีร่วมต่างๆที่ทำงานในพื้นที่ โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการณีของอาลิ่มส่งผลในด้านจิตใจต่อสังคมโดยรวมมาก จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งในขณะนี้พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนพรัตน์ ในความดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ภายใต้นโยบาย อยู่ดี มีสุข  สังคมไม่ทอดทิ้งกัน แต่ใครจะรับประกันได้ว่าจะยั่งยืน  เมื่อข่าวไม่ลง ทุกอย่างก็เงียบ  เพราะสังคมก็ยังมีเรื่องใหม่เกิดขึ้นทุกวัน

ในขณะที่ข้อเท็จจริงในพื้นที่นั้น ด้วยสถานะบุคคลของมอแกนโดยส่วนใหญ่ที่ไม่มีเอกสารแสดงตน ทำให้ทางเลือกในการประกอบอาชีพมีน้อย โดยเฉพาะอาชีพดำปลิงซึ่งเพิ่งเริ่มเมื่อปีที่แล้วเอง เพราะปลิงทะเลตอนนี้เป็นที่นิยมของตลาดเอเชียค่อนข้างสูง โดยเฉพาะจากคนใต้หวันและฮ่องกงที่มีความเชื่อว่าเป็นยาบำรุงกำลัง กินแล้วจะกระชุ่มกระชวย  จึงไม่แปลกที่ไปถามราคาปลิงอบแห้งแถวเยาวราชในขณะนี้ ราคาจะตกอยู่ถึงกิโลละ 3,000 บาทเลยทีเดียว มิพักหากขึ้นตามภัตคารแล้วราคาจะถีบตัวสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย  เมื่อลองเทียบกับราคาจริงที่มอแกนได้รับจากนายทุน ตัวละ 6 บาท หรือหากได้มากกว่านั้นก็จะถูกกดทับให้ต่ำลง

มอแกนไม่กินปลิงทะเลหรอกครับ พอเห็นตัวมันแล้วกินไม่ลง แต่ตอนนี้ราคาดี พวกผมจึงต้องไปจับ เมื่อก่อนพวกผมจะไประเบิดปลา  ชีวิตมันไม่มีทางเลือกนี่ครับ  บางคนบอกว่าทำไมไม่ไปวางอวน  เค้าไม่เข้าใจหรอกว่าตอนนี้ในทะเลมีแต่ขยะ  นายแตลอย  แกนนำชาวบ้านกล่าว

ซึ่งทำให้ต้องมีชีวิตอยู่กับความเสี่ยงที่จะพิการหรือตายได้อย่างง่ายดาย ซ้ำยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ  มอแกนไม่มีความรู้เรื่องสุขภาพ ยังกินยาไม่เป็น ไม่ไปโรงพยาบาลเพราะทัศนคติด้านลบของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล  ชาวบ้านจึงไปคลินิกแทน ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นและจะได้รับการดูแลเช่นกรณีของอาลิ่มนั้นก็ดูจะเป็นไปได้ยาก

 

แม้วันนี้  นายอาลิ่ม ประมงกิจ จะมีหน่วยงานจากภาครัฐ และเอกชนดูแลช่วยเหลือจนได้กลับยังประเทศไทยแล้ว และยังได้รับการช่วยเหลือดูแลรักษาพยาบาลอยู่ก็ตาม  แต่ครอบครัวซึ่งขาดกำลังหลักกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัส   เมียคนดียวที่ต้องดูแลลูกน้อยเพียงลำพังกับชีวิตที่ไร้ทางออก ไหนจะแม่ที่พิการเดินไม่ได้  อาศัยเพียงผู้ใหญ่บ้านสิดิษ ที่รับจ้างไปวันๆ คงไม่เพียงพอ กับอีกหลายปากที่รออยู่ 

นายสีดิษ ประมงกิจ  ผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ครั้งนี้มากสุด เพราะ ลูกชายคนเดียวมาพิการ  แม้หลานอีกสองคน และลูกเขยอีกสองคน จะได้รับการปล่อยตัวมาแล้วก็ตาม แต่ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

ในวันที่พวกถูกจับจากอินเดียกลับมาถึงบ้านนั้น  ผมถามหาลูกชายผม  เค้าบอกว่า ยังอยู่ที่อินเดียเพราะเดินไม่ได้ ถูกน้ำช็อต   นายสีดิษ   ผู้พ่อ กล่าวด้วยน้ำตานองหน้า

ทุกๆเช้าที่ตื่นมองรอบๆตัวก็ไม่มีใคร ผมเดินไปที่หน้าเกาะร้องไห้คนเดียวทุกวัน ไม่มีใครรู้หรอก ถึงแม้ผมจะเป็นผู้นำหมู่บ้าน แต่ทุกคร้งที่รู้ว่าลูกชายพิการ น้ำตามันก็ไหลมาเอง

ชายใบหน้าปรุดำกร้านโลก  แบบฉบับมอแกนดั้งเดิม พูดจาติดขัด ไม่คล่องแคล่ว เป็นที่เข้าใจยากของคนรอบข้าง  แต่อีกบทบาท ตะแกคือผู้นำทางธรรมชาติของมอแกนเกาะเหลา ผู้เดินทางไปประชุมนำเสนอปัญหาของตนเองตามเวทีต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสัญชาต กระทั่งเป็นแกนหลักสำคัญในการผลักดันกรณีการช่วยเหลือมอแกนที่โดนจับจนได้รับอิสรภาพ

ผมไปหมดครับ  พบทั้งนายก  ทั้งรองนายก  ทั้งผู้ว่าระนอง เป็นปากเป็นเสียงให้พี่น้องมอแกน  ที่ไปเพราะอยากให้ลูกหลานมอแกนต่อไปในอนาคตมีความเป็นอยู่ที่กว่านี้  อยากให้เรียนหนังสือได้สูงๆ  เดินทางไปไหนก็ไม่โดนจับ  ไม่ต้องถูกเอาเปรียบจากคนปกติ นั่นคือบทบาทหนึ่งที่ผู้ใหญ่ สีดิษ ทำหน้าที่

 

บทความชิ้นนี้เพียงแค่ต้องตีแผ่เรื่องราวเล็กๆ ของคนที่ไร้ซึ่งสิทธิ ให้กับสังคมไทยได้รับรู้  ว่ายังมีกลุ่มคนเหล่านี้จริงๆในสังคมเทคโนโลยีก้าวไกล   หากเราจะไม่นับรวม มอแกน เป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกเดียวกันของประเทศไทย อย่างที่รัฐกระทำอยู่ทุกวันนี้แล้ว   ก็เพียงหวังให้มองในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ที่ตั้งแต่ครรถ์มารดาจนถึงหลุมฝังศพ ไม่มีสิทธิอันใดเลย  มอแกนไม่มีงานวันเกิดเพราะจำวันเกิดไม่ได้   รู้แต่วันตาย มอแกนไม่มีชื่อที่ฟังดูแล้วน่าเกรงขามเป็นสิริมงคล  มีแต่ความจริงแบบวันต่อวันในชีวิตเท่านั้น ไม่ซับซ้อนวุ่นวาย

เพื่อนผู้ซึ่งถูกจับไปด้วยกันกับ นาย อาลิ่ม  กล่าวว่า

ในช่วงเวลาที่รู้ว่าจะอัมพาตนั้น  สิ่งเดียวที่เค้าคิดคือ  ลูกที่อยู่ในท้อง  ลูกซึ่งเค้าไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าเมื่อตอนแรกเกิด  จะมีชีวิตเป็นแบบเค้าไหม  จะเป็นอย่างไรในอนาคต   วันนี้ชีวิตเค้าคงนับเวลาถอยหลังแล้ว  เพียงอย่างเดียวที่หวัง คือ ลูกที่กำลังเติบใหญ่อย่าได้เจอชะตากรรมแบบผู้เป็นพ่ออีกเลย    

 

วันนี้ "ยิปซีแห่งท้องทะเล" ได้หยุดเร่ร่อนแล้ว พวกเขาไม่ต้องหวาดกลัวและเผชิญกับคลื่นลมโหมกระหน่ำในท้องทะเล แต่ชะตาชีวิตที่เปลี่ยนผันสู่ผืนดินนั้นกำลังถูกซัดกระหน่ำอย่างหนักจากคลื่นลมที่โหดร้ายยิ่งกว่าอย่างไม่มีทางเลือก

 

 

 



[1] มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4 พ.ศ.2551

คำสำคัญ (Tags): #รายงานวิจัย
หมายเลขบันทึก: 167790เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2008 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 05:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

กำลังรอเพิ่มเติมข้อมูลค่ะ

-เรื่องสถานะบุคคล เพิ่มรายละเอียดว่าสถานะตอนนี้อาลิ่มเป็นยังไง โดยประวัติและข้อมูลแล้ว ณ วันนี้เขาควรมีสถานะอะไร ยังไง มีช่องทางไหนบ้าง (เช่น ยุทธศาสตร์ ) เพื่อจะมาโยงกับหลักประกันสุขภาพที่เขาควรจะได้รับ

-เรื่องการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ในบทความบอกว่าเขาได้รับการดูแลจากกระทรวงฯเรื่องการรักษาพยาบาล เติมรายละเอียดว่าทำไมถึงได้รับการดูแล โอกาสที่มอแกนคนอื่นๆเมื่อประสบกับอาการเจ็บป่วยลักษณะนี้มีมากมั้ย แล้วโอกาสที่จะได้รับการดูแล การรักษาพยาบาลจะเป็นอย่างไร อยากให้เห็นภาพว่าอาลิ่มอาจจะโชคดี แต่คนอื่นๆละ อยากให้มองเผื่อคนอื่นๆที่มีสถานะไม่ต่างกันตอนนี้

-ชื่อเรื่อง ที่อ่านแล้วรู้สึกว่าชื่อเรื่องเพราะดี แต่มันไม่เข้าใจความหมาย อยากให้ปรับหน่อย "ความตายเก่า" มันคืออะไร ไม่เข้าใจ หมายถึงเรื่องแบบนี้มันเกิดอีกแล้วเหรอ แต่มันไม่ใช่การตายไง อาลิ่มยังไม่ตาย

กำลังประสานกับน้องที่เขียนอยู่ค่ะ/หรืออาจจะเติมให้

เพิ่มเติมข้อมูลแล้วค่ะ

เมื่อวานคุณใหญ่ถามว่า การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิทธิในหกลักประกันสุขภาพเจะเห็นในงานไหน อ.แหววก็ตอบว่า ก็ควรจะต้องเห็นในงาน A1

เมื่อวานนี้ จะเห็นว่า ด๋าวเองก็มิได้สรุปการพูดคุยเป็นข้อๆ ออกมา ซึ่งควรทำมาก จะถ่ายทอดสิ่งที่ควรทำให้อีก ๕ คน

มาเห็นงานเกี่ยวกับอาลิ่ม ทำให้นึกได้ว่า จะต้องบอกแก้วว่า จะต้องสรุปในแต่ละเคสให้ได้ว่า การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลหรือการเข้าสู่สิทธิทางสาธารณสุขของแต่ละเคสเป็นอย่างไร

อย่างอาลิ่มเป็นคนมอแกน ซึ่งฟังจากนักมานุษยวิทยา ก็คือเป็นคนดั้งเดิม ซึ่งก็แปลว่า เป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด ดังนั้น ทางแก้ ก็คือ การพิสูจน์สัญชาติไทยในสถานะคนท้องถิ่นดั้งเดิมให้เขา ซึ่งถ้าพิสูจน์ผ่าน ก็ทำให้แก้ไขปัญหาหลักประกันสุขภาพได้ด้วย

บทความนี้ไม่ได้แสดงถึงข้อเท็จจริงว่า เขาเป็นคนดั้งเดิมของประเทศไทยที่ตกสำรวจทางทะเบียนราษฎร ไม่บอกแม้ปีเกิดของอาลิ่ม หรือสถานที่เกิดที่ชัดเจนของอาลิ่ม ขอเสนอให้แก้วใช้โทรศัพท์แสวงหาตรงนี้ ขอให้ด๋าวลงพื้นที่คราวนี้ ไปบ้านอาลิ่มให้ได้

จากที่คิดออกเช้านี้ เลยคิดว่า ควรมีตารางเกี่ยวกับเคสทั้งหมด โดยตีตารางเป็น ๖ ช่องทางนอน

(๑) ชื่อเคส

(๒) สาเหตุของความไร้สถานะบุคคล

(๓) ความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล

(๔) ความคืบหน้าหรืออุปสรรคในการแก้ปัญหาสถานะ

(๕) ปัญหาสุขภาพที่ประสบ

(๖) ความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ

(๗) ความคืบหน้าหรืออุปสรรคหรือความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ

ลองทำให้ดูหน่อยเอาสัก ๒ คนเท่าที่ทำได้ มาดูเป็นตัวอย่าง ไม่เข้าใจ โทรคุยกัน

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท