ตอนที่ 1 ว่าด้วย "ตำราว่าน"


เรื่องราวความเป็นมาของตำราว่าน นับจากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

                  

                     ผู้เขียนมักจะรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้ง เมื่อพบเจอว่ามีผู้นำเอาภาพว่านชนิดใดชนิดหนึ่งออกมาเผยแพร่ และแนะนำให้บุคคลทั่วๆ ไปได้รู้จักโดยผ่านทางสื่อต่างๆ แต่พอได้เห็นภาพนั้นๆ แล้วก็จะนึกรู้ได้ทันทีว่ามันไม่ใช่ ไม่ถูกต้องตรงกันกับที่ตำราว่านได้บันทึกเอาไว้ ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าผู้นั้นกำลังจะทำให้ความรู้ที่ผิดพลาดเหล่านี้ ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

                     แต่จะไปโทษคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ เพราะร้อยทั้งร้อยล้วนแต่ทำไปโดยไม่ได้เจตนาทั้งนั้น ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าผู้ที่ชอบเอาพืชชนิดใดชนิดหนึ่งออกมาเผยแพร่ แล้วกล่าวแอบอ้างว่าเป็นว่านอย่างนั้น ว่านอย่างนี้ ทั้งที่ชื่อซึ่งได้กล่าวออกมานั้น ยังไม่เคยมีปรากฎอยู่ในสารบบว่าน หรือตำราว่านเล่มใดๆ มาก่อนเลย คนประเภทหลังนี่แหละที่ควรได้รับคำตำหนิ เพราะล้วนแล้วแต่ทำไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนทั้งสิ้น

                     ไม่ว่าที่ไหนๆ พอมีคำว่าผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ดีๆ ก็อาจจะกลับกลายเป็นเรื่องที่เลวร้ายไปได้เสมอ

                                      ............................................................

 

                     แรกเริ่มเดิมทีนั้น คำว่าว่านน่าจะมีการจดบันทึกแทรกอยู่ตามตำรับตำรายาโบราณรุ่นเก่าๆ ของไทย เช่น สมุดใบลาน สมุดดำ สมุดไท และสมุดข่อย แต่ก็คงจะมีบันทึกไว้เพียงแห่งละนิดละหน่อย และน่าจะอยู่อย่างกระจัดกระจายกันออกไปหลายที่หลายแห่ง ส่วนที่สามารถพบเห็นเป็นหลักฐานแน่นอนจากการค้นคว้าของอาจารย์วิชัย อภัยสุวรรณ ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือ "ธรรมชาติศึกษา" ฉบับ พืชที่เรียกว่าน รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.2524 นั้นกล่าวว่า พบมีบันทึกคำว่าว่านอยู่ในหนังสือที่ตีพิมพ์ในยุคแรกๆ 2 เล่มด้วยกัน คือ
              
                     1) หนังสือ "แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์" พระยาพิศประสาทเวช เป็นผู้รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.2452 
                     2) หนังสือ "แพทย์ตำบล เล่ม1" พระยาแพทย์พงศา วิศุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) เป็นผู้รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.2464

                                         
                
                   ในหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ จะพบว่ามีว่านอยู่เพียง 5 ชนิดเท่านั้น คือ ว่านกีบแรด ว่านนางคำ ว่านหางช้าง ว่านน้ำ และว่านเปราะ ซึ่งล้วนแต่เป็นว่านยาที่ใช้ประโยชน์ในทางสมุนไพร

                
                    และต่อไปนี้คือรายชื่อ "ตำราว่าน" ทั้งหมด เท่าที่เคยมีการจัดพิมพ์กันขึ้นมา ในยุคก่อน พ.ศ.2520

                    1) ตำราว่านเล่มแรกของไทย และของโลกจริงๆ นั้นชื่อ "ลักษณะว่าน" นายชิต วัฒนะ เป็นผู้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2473
                
                    2) เล่มที่สองชื่อ "ตำหรับ กระบิลว่าน" หลวงประพัฒสรรพากร รวบรวมพิมพ์(ในงานปลงศพสนองคุณ นางเอี่ยม กาญจนโภคิน) โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2475 และ พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์โท พระวิจิตรเลขการ โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2476
                    ตำราเล่มนี้แหละที่นักเล่นว่านรุ่นเก่าล้วนยอมรับนับถือกันว่าเป็นตำราว่านที่สมบูรณ์ที่สุดของยุคนั้น (ยังมีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ)
                 
                    3) เล่มสามชื่อ "ตำราพันธุ์ว่านยา 108 อย่าง" ศ.ส. (นามแฝง) รวบรวมพิมพ์ โรงพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2480 (ยังมีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ)
                 
                    4) เล่มที่สี่ "คู่มือนักเล่นว่าน" ล.มหาจันทร์ รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.2480
                 
                    5) เล่มที่ห้า "ตำราสรรพคุณยาไทย ว่าด้วยลักษณะกบิลว่าน" นายไพทูรย์ ศรีเพ็ญ รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.2484 เล่มนี้นับเป็นตำราเล่มสุดท้ายในยุคก่อน พ.ศ.2500 พอตำราเล่มนี้พิมพ์ออกมาได้ไม่นานนัก ประเทศไทยก็ตกอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2

                     6) ทิ้งช่วงมานานหลายปีจึงมาถึงเล่มที่หกชื่อ "ตำราดูว่านและพระเครื่องพระบรมธาตุ" ชัยมงคล อุดมทรัพย์ รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.2503 เล่มนี้มีชื่อว่านบันทึกอยู่ 112 ชนิด

                                      
                  
                      7) เล่มที่เจ็ด "ตำรากบิลว่าน" พยอม วิไลรัตน์ รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.2504 ตำราเล่มนี้มีว่านบันทึกไว้ 233 ชนิด (แต่ว่านจำพวกเศรษฐี 8 ชนิด ท่านนับรวมเป็น 1 ชนิดเท่านั้น) และยังมีพืชที่เรียกว่า "ต้นยาวิเศษนานาชนิด" อีก 47 ชนิดบันทึกไว้ รวมเป็นทั้งหมด 280 ชนิด

                                     
                  
                      8) เล่มที่แปด "ตำราปลูกและดูลักษณะว่าน" อุตะมะ สิริจิตโต รวบรวมพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2505 ในตำราเล่มนี้มีว่านอยู่ 166 ชนิด (มีซ้ำ 1 ชนิด) เป็นตำราเล่มแรกที่มีภาพประกอบอยู่ด้วย แต่เป็นภาพขาวดำที่ไม่ค่อยชัดนัก และมีเพียง 16 ภาพเท่านั้น

                                      
                  
                     9) เล่มที่เก้า "ตำราว่านวิเศษอันศักดิ์สิทธิ์" อาจารย์ชั้น หาวิธี รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.2506 ในเล่มนี้มีว่าน 197 ชนิด (พิมพ์ซ้ำ 5 ชนิด) และมีต้นยาพิเศษอีก 8 ชนิด รวมเป็น 205 ชนิด

                                      
                     สำหรับอาจารย์ชั้นนี่ เมื่อก่อนท่านมีแผงขายว่านอยู่ที่สนามหลวง ภายหลังจึงย้ายเข้าไปขายในตลาดวัดมหาธาตุ ผู้เขียนเองก็เคยเหมาว่านของท่านมาปลูกอยู่หลายสิบชนิด
                  
                     10) เล่มที่สิบ "ตำราคุณลักษณะว่าน และ วิธีปลูกว่าน" นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ รวบรวมพิมพ์ในนามของสมาคมพฤษชาติแห่งประเทศไทย พ.ศ.2506 ตำราเล่มนี้ได้รวบรวมชื่อว่านเข้าไว้ถึง 301 ชนิด รวมกับต้นยาอีก 1 ชนิด เป็น 302 ชนิด แต่มีที่ซ้ำแยะมากเพราะเป็นตำราที่รวบรวมและเรียบเรียงขึ้นมาจากตำราทั้ง 9 เล่มข้างต้นรวมเอาเข้ามาไว้ในเล่มนี้เล่มเดียว (ว่านบางอย่างมีหลายชื่อและยังมีหลายชนิด เมื่อรวบรวมมาจากตำราอีกหลายๆ เล่มย่อมต้องมีซ้ำๆ กันมากเป็นของธรรมดา) ในตำราเล่มนี้มีภาพขาวดำประกอบอยู่ 16 ภาพ

                                          
                      ตำราว่านเล่มนี้แหละ ที่นักเลงว่านตัวจริงในยุคกลางตลอดมาจนถึงยุคหลัง ต่างก็ใช้เป็นคู่มือและใช้เป็นหลักอ้างอิงในการเล่นว่านมาจนกระทั่งทุกวันนี้ และต่างก็ยอมรับนับถือกันว่าเป็นตำราว่านที่สมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะได้รวบรวมรายละเอียดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับว่านเอาไว้ทั้งหมด เป็นต้นว่า กำเนิดว่าน พระตำหรับว่าน อิทธิฤทธิ์ของว่าน ฤกษ์ในการปลูกว่านหรือกู้ว่าน วิธีปลูกว่าน พิธีกู้ว่าน ตลอดจนคาถาที่ใช้ในการเสกน้ำรดว่านเพื่อให้คงความเข้มขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังเป็นตำราว่านเล่มแรกและเล่มเดียวที่มีการจำแนก และบอกชื่อว่านเป็นชี่อทาง พฤกษ์ศาสตร์ ถึงแม้จะไม่ครบทั้งหมดแต่ก็สามารถแยกไว้ได้ถึง 34 วงศ์ (Family) 512 สกุล (Genus) 1,715 พันธุ์ (Species)  

                      11) เล่มที่สิบเอ็ด "ตำรากบิลว่านฉบับสมบูรณ์" ร.ต.สวิง กวีสุทธิ์ ร.น. รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.2508 ตำราเล่มนี้รวบรวมว่านไว้ 217 ชนิด (มีซ้ำ 1 ชนิด) และมีภาพขาวดำประกอบอยู่ 36 ภาพ

                                          
                      ตำราเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่มีการเปิดตัวบรรดาว่าน ที่มีชื่อ"กวัก"นำหน้าเอาไว้ถึง 9 ชนิด ได้แก่ กวักพุทธเจ้าหลวง กวักนางพญาใหญ่ กวักนางพญาเล็ก กวักนาวมาควดี (ภายหลังเล่นกันในนามว่านมหาโชค) กวักหงษาวดี (ภายหลังเล่นกันในนามว่านมหาลาภ) กวักทองใบ กวักแม่จันทร์ กวักโพธิ์เงิน และกวักเงินกวักทอง ให้นักเลงว่านได้รู้จักและเริ่มเสาะแสวงหามาเล่นกัน

                      12) เล่มสุดท้ายชื่อ "กบิลว่าน 108" สมาน คัมภีร์ และ ทัศนา ทัศนมิตร รวบรวมพิมพ์ พ.ศ.2516 ตำราเล่มนี้เกิดขึ้นจากการที่อาจารย์ทัศนา ทัศนมิตร ได้นำเรื่องว่านไปลงเผยแพร่ในนิตยสาร "นพเก้า" ก่อน แล้วค่อยรวบรวมพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มในภายหลัง จึงมีภาพประกอบอยู่มากจนดูคล้ายกับตำราว่านในยุคหลังๆ แต่ที่จัดเข้าไว้ในยุคแรกก็เพราะช่วงที่จัดพิมพ์ตำรานี้ ว่านยังไม่เป็นที่นิยมฮือฮากันมากนัก ตำราเล่มนี้จึงพอเชื่อถือได้เพราะจุดประสงค์ในการจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อการเผยแพร่ มิได้มุ่งหรือหวังผลทางการค้า

                                           
                   
                     นักเล่นว่านทั่วไป ต่างก็ยอมรับกันว่ารายชื่อว่านที่ได้บันทึกอยู่ในตำราทั้ง 12 เล่มข้างต้นนี้แหละ คือ "ว่าน" ที่แท้จริง  เพราะเป็นการค้นคว้ารวบรวมเอามาจากบรรดาครูอาจารย์และผู้รู้ที่เชื่อถือได้ในรุ่นก่อนๆ บ้างคัดลอกมาจากตำหรับตำราเก่าแก่บ้าง โดยมิได้มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือตั้งชื่อกันเอาเองเหมือนดังเช่นตำราว่านในยุคหลังๆ นี่เลย
                                 
                                 ..................................................................        

                      ในช่วงระยะเวลา 6-7 ปี (พ.ศ.2520 - 2526) ที่ว่านได้รับความนิยมอย่างสูงนั้น มีตำราว่านพิมพ์ออกมาขายแยะมาก ซึ่งตำรายุคใหม่นี้จะคัดลอกคำบรรยายลักษณะว่านแต่ละชนิดมาจากตำราเล่มที่ 10 ของอาจารย์เลื่อน แล้วจึงค่อยหาถาพถ่ายมาประกอบเอาเอง ตรงนี้แหละจึงเป็นที่มาของความผิดพลาดในหลายๆ ประการของตำรารุ่นใหม่ๆ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

                      ในเมื่อตำราเองมันยังผิดเสียแล้ว ก็ลองนึกดูสิว่านักเล่นว่านในยุคหลังๆ จะพากันเข้ารกเข้าพงขนาดไหน และนี่เองคือสาเหตุที่ผู้เขียนจำต้องลุกขึ้นมาร้องบอกว่า "เล่นว่านให้ถูกต้องตรงตามตำรา" แน่นอนตำราในที่นี้ย่อมหมายถึงตำรารุ่นเก่าซึ่งเคยเป็นที่ยอมรับนับถือกันมาช้านาน ไม่ใช่ตำราที่เขียนขึ้นมาเพียงเพื่อจะ(หลอก)ขายว่าน(ตั้งเอง)ของตัว หรือเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าอย่างเดียวโดยไม่เคยคิดที่จะรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมเลยแม้สักนิด

 

 

หมายเลขบันทึก: 167432เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2008 01:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

น่าสนใจมากครับ จะติดตามอ่านนะครับ

อยากให้มีตำราที่รวบรวมมาอย่างถูกต้องเพื่อคนรุ่นหลังมากๆ ครับ เสียดายมากๆ เรื่องสมุนไพร ว่านมงคล ที่เริ่มบิดเบือนไปอย่างมาก เพราะคนสมัยนี้เริ่มมีความเห็นแก่ตัวมากยิ่งขึ้น บางครั้งลงทุนบิดเบือนเพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์ก็มี ผมก็พยายามหัดปลูกอยู่หลังจากได้รับต้นว่านนี้มา รู้สึกว่า มันมีความหมายมากๆ ที่ได้รับไม้มงคลจากผู้ใหญ่ ^^ คิดว่าจะเริ่มปลูกหลายๆ อย่าง แต่ก็กลัวว่า จะโดนย้อมแมวมากๆ ครับ ว่าแต่ลุงเชยพอจะมีแหล่งว่านที่เค้าพอจะรู้เรื่อง่านจริงๆ บ้างหรือเปล่าครับ ถ้าอยู่ในกรุงเทพ ผมจะได้แวะไปหามาปลูกอีก ขอบคุณที่นำความรู้มาแบ่งปันกันครับ

ผมเป็นคนนึงที่ปลูกว่านและอยากให้กลับมานิยมเหมือนเดิมครับ...ว่านที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นตระกูลหัวหอมครับ..และที่ปลูกไว้พอควรคือกวักพุทธเจ้าหลวง เพราะลองไปหาตามตลาดต้นไม้แล้ว หายากมาก ส่วนจำพวกอื่นก้อเช่น แม่ทองใบ นางพญาใหญ่ เศรษฐีนางกวัก ใบพาย..เป็นต้น..โดยเฉพาะตระกูลแม่ทองใบนี่..มีหลายลักษณะครับ..ต้องยอมรับว่ายังชี้ไม่ขาดว่าชื่ออะไรบ้าง...เสาะหาตำราก้อหายากมาก..ตามปกติผมจะไปหาตามแผงจตุจักรครับ...แต่ก้อหายากและราคาแพงมาก..ล่าสุดที่เห็นคือเรื่องว่านของคุณณรงศักดิ์ครับ..สำนักพิมพ์อมรินทร์ เปิดผ่านๆครับ..แต่ไม่แน่ใจว่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน

คิดถึงว่าสมัยนี้ไม่มีการประกวดว่านกันแล้ว..ทำให้ไม่รู้ว่าจะศึกษาว่านจากแหล่งใดดี

ก้อได้แต่รวบรวม อ่านจากหนังสือที่รวบรวมได้ ผิดบ้างถูกบ้าง...เชื่อว่าไม่นานคงมีคนรู้เรื่องว่านจริงๆจังๆน้อยลงหรืออาจหมดไปเลยก็ได้..น่าเศร้าครับ...

อ่านแล้วมีประโยชน์มากต้องขอขอบคุณ คุณชาน มากครับ แต่ผมอยากทราบว่ามีพระวัดใหนท่ชอบปลูกว่านไว้บ้าง(มากกว่า100ต้น)เพราะอยากจะศึกษาเรื่องว่านจริงๆๆๆที่อยากรู้จักพระเพราะผมเคยเป็นเด็กวัดมาก่อนครับ......

ผมมีเล่มที่ 10 ด้วยแหละครับ แต่ปลวกกินขอบไปส่วนหนึ่งตอนย้ายหอพัก

ผมเคย ไปบ้านคุณ ณรงค์ศักดิ์ คนที่เขียนหนังสือของบ้านและสวน เขาเลี้ยงว่านไว้ เกือบห้าร้อยชนิด รู้จักชื่อแน่ ๆ ประมาณ สามร้อย ที่เหลือมีแต่ชื่อท้องถิ่น ดูกันตาลาย พี่เขาใจดีมาก เสียแต่รับแขกแค่ วันเสาร์ แปดโมงถึง สิบโมงเท่านั้น เห็นว่าเผยแพร่เป็นวิทยาทาน บางทีก็ ไปกันหลายคน แย่งกันถามเลยไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไร ตอนกลับขอซื้อว่านบางตัวด้วยความอยากได้ แกก็ แบ่งขายราคาน่าตกใจ แกคิดร้อยเดียว

มีบอร์ดว่านเปิดใหม่ครับ ลองอ่านกันดู ข้อมูลแยะเลย

http://www.sardno8.com/index.php?showforum=30

กระผมเพิ่งจะเล่นว่าน ขอคำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งซื้อด้วยครับ

ขอความรู้หน่อยครับ

ผมเพิ่งได้ปลูกเสน่ห์จันทร์ขาวเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา ต่อมาสังเกตว่าใบเริ่มมีจุดเป็นสีเหลืองทั่วใบ ตอนแรกเป็นแค่ใบเดียว ตอนนี้ลามไปทุกใบเลยครับ ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร

ข้อมูลมีดังนี้

กระถางดิน ๑๒ นิ้ว(มีถาดรองน้ำ

ดินปลูกผสมด้วย ใบก้ามปูนิดหน่อย ปุ๋ยคอก มะพร้าวสับ แกลบดำกับข้าวเปลือกก้นกระถางรองด้วยอิฐหัก

ตั้งในที่ร่มตลอดเวลาเพราะกลัวโดนโขมย

รดน้ำเฉพาะเวลาน้ำในถาดเกือบแห้ง(สามวันครั้งนะครับ)

จึงอยากทราบว่าเค้าเป็นโรคอะไรและมีวิธีรักษาเค้าอย่างไร ขอบคุณครับ

นาย ณรงค์ งามขำ (นักเรียนมัธยม)

สวัสดีครับ ผมได้ดูหนังสือเรื่องว่านเก่าๆแล้ว ผมจึงอยากจะขอถามว่าหนังสือเหล่านี้ยังมีขายอยู่ไหมครับ และจะหาซื้อได้ที่ไหนบ้างครับ ผมก็เป็นคนชอบเล่นว่านเหมือนกัน ผมก็เลยอยากจะมีคู่มือไว้ศึกษาบ้างครับ ขอขอบคุณมากครับ

อยากจะเล่นว่านอยู่เหมือนกันครับแต่ไม่มีแหล่งข้อมูล  และเหล่งตัวอย่างที่พอจะหาซื้อได้  ถ้าใครพอทราบช่วยบอกด้วยนะครับ

 

สวัสดีคะคนชอบว่านเหมือนกัน เชิญเข้าเยี่ยมชมได้ที่และแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องว่าน ได้ที่

http://saimherbal.blogspot.com/

คุณ kull เสน่ห์จันทร์ขาวเขาไม่ชอบน้ำนะครับ อย่าเอาไปแช่ไว้ในถาด แนะนำว่าปลูกว่านครั้งแรกให้ผสมดิน ดินจริงๆนะครับ ไม่ใช่ไปซื้อมา ผสมเยอะหน่อย อย่าผสมมูลสัตว์ ไม่ต้องใช้ขุยมะพร้าว แต่แนะนำให้ใช้ใบก้ามปูแห้งหรือใบไม้แห้งผสมแทน เสร็จแล้วในหน้าแล้งให้ใช้ใบไม้คลุมโคนอีกครั้ง หน้าฝนเอาออก ว่านจากประสบการณ์ที่เลี้ยงว่านมา 8 เกือบ 9 ปี ว่านเป็นต้นไม้ที่ชอบดินแท้ๆ ดินสะอาด ไม่ชอบดินผสมที่เขาขายกันเพราะเนื้อดินจริงๆมีน้อยมาก อีกทั้งบางครั้งมีโรคติดมาด้วยอีก

หนังสือว่านรุ่นเก่า น่าสนใจและเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีมากครับ สมควรเอามาเผยแพร่เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้อ้างอิงส่งต่อข้อมูลทีถูกต้องออกไป ผมว่าน่าจะเอามาทำเป็นไฟล์ดิจิตอลออนไลน์ไว้ให้คนได้มาเยี่ยมชม คล้ายๆห้องสมุดว่านออนไลน์

เพราะตอนนี้นักเล่นว่านยุคเก่ากับยุคใหม่กำลังสับสนวุ่นวาย แย้งกันไปแย้งกันมาเพราะใช้หนังสือ และแหล่งอ้างอิงคนละเล่ม คนละคน แตกต่างไม่เหมือนกัน จนบางครั้งผมก็เหนื่อยใจ บางครั้งมีบางเว็บบางบอร์ดต้นไม้ต้นเดียวกันใช้ชื่อต่างกันซะงั้น บางคนก็ copy ข้อความคนอื่นมาโดยไม่ได้ดูเลยว่าข้อมูลถูกผิดประการใด ใส่ภาพถูกหรือไม่ ทำให้เลอะเลือนกันไปใหญ่

อีกทั้งเหล่านักผสมไม้พันธุ์ใหม่ นักปรับปรุงพันธุ์ทั้งหลายก็เอาชื่อว่านไปตั้งปนกันมั่วไปหมด ตามใจกูว่างั้น เช่นว่านขันหมาก ก้มีไม้ผสมหลายต้นออกมา มาถามเราว่าใช่ว่านขันหมากหรือไม่ เราบอกว่าไม่ใช่ (ว่านขันหมากแท้แต่เป็นขันหมากกลาย) เขาก็ไม่ชเื่อ อ้างบอกว่าดูในเว็บแล้ว ภาพมันถูกชื่อถูก แม่ค้าบอกเลยเชื่อ อืม มันก็ใช่สมัยนี้หนังสือว่านหายาก ที่ข้อมูลแน่นๆหน่อยแต่ก้ยังไม่สมบูรณ์ก็ยังมีข้อมูลที่ขาดหายภาพไม่ชัดเจนบ้างซ้ำราคาแพง (แต่ขอบคุณเขามากที่รวบรวมข้อมูลมาส่งต่อให้ได้รู้ได้อ้างอิง) ส่วนเล่มที่ราคาถูกพอซื้อหาได้ก็ใส่ภาพผิดข้อมูลผิดยิ่งมั่วกันไปใหญ่ อาศัย copy เข้าว่า เขาเลยเชื่อภาพในเว็บ เชื่อชื่อและภาพในบอร์ดมากกว่า เฮ้อ !

โดยส่วนตัวผมเอง ผมไม่ได้ยึดหนังสือเป็นหลักไม่ได้ยึดบุคคลเป็นหลัก แต่ก็ให้ความเคารพเสมือนครูบาอาจารย์ แต่ผมรักว่านจริงๆจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น จะสนใจหาต้นจริงมาประกอบนำมาเลี้ยงดูและทดสอบคุณสมบัติที่ว่าด้วยตัวเอง และจะหาข้อมูลจากหลายที่จากหลายคน โดยเฉพาะคนที่เขาเลี้ยงดูกันมา ส่งต่อตกทอดกันมา ย่าเลี้ยงมา ตกมาถึงหลาน จะถามเหตุผลว่าทำไมถึงยังเลี้ยง มันดียังไง (ไม่ใช่ไปถามร้านค้านะครับ) บางคนตั้งไว้หน้าบ้านแห้งเหี่ยวหัวโตจะตายแต่ไม่ตายแปลกมาก พอผมไปถาม ไปขอแบ่งซื้อ กลับหวงซะงั้น นั่นเพราะคำตอบที่ได้ คือ ได้มาจากบ้านยาย บ้านแม่ บางคนบอกแม่เอามาฝากนานแล้ว ฯ ไม่รู้ว่าต้นอะไรแต่ออกดอกทีไรมีโชคทุกที ถามว่าทำไมไม่เอามาเลี้ยงมาเก็บไว้ดีๆ อ่อไม่มีเวลาคะ แต่เขาก้ไม่ตายนะคะ (ขี้บุหรี่เพียบ 555) งั้นผมขอได้ไหม มองหน้ากันไปมา ...................อ่อ แฟนหวงคะเดี๋ยวเขาจะว่า งง ! งั้นขอแบ่งซื้อละกันครับเอาไปทำพันธุ์ อ่อ คะแต่ดินมันแข็งมากเลยนะคะ ไม่รู้ว่าจะได้รึเปล่า (หวง)นี้คือประสบการณ์บางส่วนช่วงที่ผมสะสมว่านใหม่ๆ

ครับนอกจากผมเก็บข้อมูลจากผู้รู้และเหล่าเจ้าของว่านผู้ที่ได้ครอบครองแล้ว (อายุแต่ละคนไม่ต่ำกว่า สี่สิบซักคน ) ผมก็หาดูจากหนังสือหลายๆเล่ม หนังสือว่านรุ่นใหม่ผมมีทุกเล่ม หนังสือว่านรุ่นเก่าผมมีห้าเล่ม ตกทอดมาจากผู้แก่ วิธีการผมจะเอาภาพว่าน และเอาว่านต้นจริงมาประกอบมาเทียบกัน ดูภาพเหมือน รายละเอียดได้บ้างก็ยอมรับถ้าไม่ตรงก็เอาไว้ก่อนหาต่อเผื่อมีที่ตรงกว่านี้ แต่หลายครั้งที่ บางทีคนเขียนก็บรรยายไปทั่ว copy เขามาโดยไม่ได้ใ่ส่ใจรายละเอียดต้นจริงเลย ครับผมทำขนาดนั้นจึงปักใจเชื่อ ทำขนาดนั้น ก็ยังมีผิดพลาด ไฉนเลยนักเล่นว่านรุ่นใหม่ที่เล่นตามกระแส เล่นเพราะว่าเขาเล่ามา ว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้แต่ไม่ได้รักจริงจังจริงใจแล้ว จึงทำให้โดนหลอกโดนลวงได้ง่ายเพราะตัวเองไม่มีข้อมูลสะสมในตัว

ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะผิด ว่า หากคนเรายึดคำสอนหรือความเชื่อจากหนังสือ จากคนโบราณ จากบทบัญญัติใดๆมากเกินไป มันก็คงไม่มีใครรู้ว่าจริงๆแล้วโลกมันกลม แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าคนเราไม่มีความเชื่อแต่โบราณ ไม่มีบรรทัดฐานของคนเก่าเต่าหลังไว้บ้าง มันก็คงจะวุ่นวายยุ่งเหยิงและปนเปนกันมั่วไปหมดเช่นกัน ที่สำคัญถ้าไม่มีหนังสือเก่า หรือคนเก่าคนแก่ คนสมัยนี้ก็คงไม่รู้จักคำว่าว่านและสมุนไพรเช่นกัน ครับถ้าไม่มีคำว่าโลกแบนก่อนมันก็คงไม่มีคำว่าโลกกลมเช่นกัน ยังไงก็ขอให้นักเล่นว่านทั้งหลาย ยึดเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับหลักเหตุผลไว้อย่างชัดเจนในกาลามสูตร ๑๐ ประการ ดังนี้ ๑. อย่าเชื่อเพราะได้รับฟังสืบทอดต่อกันมา ๒. อย่าเชื่อเพราะถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ๓. อย่าเชื่อข่าวลือ (โดยที่ยังมิได้พิสูจน์ ) ๔. อย่าเชื่อเพราะตำรากล่าวไว้ว่าอย่างนั้น ๕. อย่าเชื่อโดยการอนุมานคาดเดาเอาเอง ๖. อย่าเชื่อเพราะสามารถนิยามความหมายได้หลายนัย ๗. อย่าเชื่ออาการปรากฏให้เป็นอย่างนั้น ๘. อย่าเชื่อเพราะตรงกับความคิดเห็นของตนเอง ๙. อย่าเชื่อเพราะผู้พูดน่าเคารพเชื่อถือ ๑๐. อย่าเชื่อโดยเหตุที่ว่าผู้นั้นเป็นครูบาอาจารย์

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา จากการลองผิดลองถูก จากการค้นหาข้อมูล จากการเลี้ยงดูและสัมผัสต้นจริง อ่านหนังสือมาหลายเล่ม ทำให้ผมสังเกตุว่า หนังสือว่านบางเล่ม อาจจะมีหรือไม่มีข้อมูลหรือไม่ได้กล่าวถึงว่านบางชนิด ซึ่งผมคิดว่า บางครั้งว่านบางว่านมันก็เป็นความเชื่อของแต่ละถิ่นแต่ละภาค เช่น ภาคเหนือเขาก็มีความเชื่อ มีสมุนไพรของเขาตามสภาพแวดล้อมที่เหมาะเจาะและแหล่งที่อยู่ที่เหมาะสม การที่เขาไม่กล่าวถึงในบางเล่ม ผมเข้าใจว่ามันนั่นอาจเป็นเพราะ เขาเองไม่มีภาพว่านชนิดนั้นอยู่ ไม่มีว่านต้นนั้นเป็นของตัวเอง ไม่แน่ใจ หรือ ลืม จึงไม่ได้ตีพิมพ์ อีกอย่างหนังสือว่านสมัยเก่า บางเล่มก็ยังมีผิดพลาดเช่นกัน ซึ่งเป็นธรรมดาของโลก ที่น้อยยิ่งนักจะมีความสมบูรณ์แบบ แต่ที่เห็นมาน่าแปลกตรงที่ หนังสือว่านสมัยเก่า เขาจะมีข้อผิดพลาดน้อยมาก ไม่เหมือนสมัยนี้ ซึ่งไม่ค่อยใส่ใจอะไรเลย

ดังนั้น จากเหตุผลดังกล่าว สมัยก่อนถ้าจะเขียนกันจริงๆ ว่านที่สำคัญๆ ก็หายากเอาการ ถ้าต้องเดินทางไกลมันก็คงได้เจ็บป่วยตายบ้างละนับว่าเสี่ยงมากพอสมควรเพราะสมัยนั้น ยังไม่มีรถราไม่มีถนนสะดวกสบายเช่นนี้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุว่าทำไมบางเล่มมีกล่าวถึง บางเล่มไม่มีกล่าวถึง และทำไมหนังสือว่านสมัยใหม่ จึงมีชื่อว่านเพิ่มเข้ามา( ต้นไม้ที่เป็นความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น) แบบนั้นผมยอมรับได้ครับระดับหนึ่งเพราะบางว่านผมก็พิสูจนืมาแล้วว่าเขาดีจริง แต่ที่ยอมรับไม่ได้คือ พวกว่าน ต้นเหมือน ว่านชื่อเหมือน ว่านกลายทั้งหลายแหล่ที่ใช้คำว่าว่านเข้าไปร่วมด้วย แถมมีบางส่วนบางคำของชื่อว่านเข้าไปผสมอีก ช่างไม่คิดถึงผลที่จะตามมา อย่างน้อยๆก็อยากให้มีจิตสำนึกและขอบเขตไว้บ้างในคนรุ่นใหม่ ในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลาย อย่ายึดเอาแต่รายได้หรือผลประโยชน์เลยครับ ช่วยกันอนุรักษ์ดีกว่า ของเก่าก็ว่าเก่า ของแท้ก็ว่าแท้ ของใหม่ก็ว่าใหม่ ครับ

เสริมอย่าเชื่อครับ

11. อย่าเชื่อคนขายหนังสือว่าน ทั้งที่ยังไม่เห็นเป็นรูปเล่ม อาจโดนหลอกเสียเงินฟรีได้

คำพูดสวยหรูใครๆก็พูดได้ (ของปลอม)

คุณสามารถหาอ่านความรู้ที่เกี่ยวกับว่านเพิ่มเติม รวมทั้งสามารถโหลดตำราหลักที่หายากๆ มาอ่านได้ฟรี พร้อมซักถามปัญหาและปรึกษาพูดคุยในทุกเรื่องของว่านได้ที่..

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=tachaiy

https://www.facebook.com/profile.php?id=100010577946064

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท