ตัวชี้วัดการพัฒนาคน(ที่เห็นได้ชัด)บางตัว จากการรวมกลุ่มสัจจะฯ


 

เมื่อ 24  กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมการประชุมเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนกาญจนดิษฐ์ ครั้งที่ 81 (ประชุมใหญ่สามัญประจำปี) ณ. ศาลาเอนกประสงค์บ้านบ่อน้ำร้อน ต.กรูด อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี  มีผู้เข้าร่วมประชุมคือ คณะกรรมการเครือข่ายฯ  จำนวน 17 คน สมาชิกกลุ่ม 17 กลุ่ม    จำนวน 97 คน และรัชนี  สุขศรีวรรณ  โครงการวิจัยและพัฒนาองค์กรการเงินและระบบสวัสดิการชุมชน

          ในการประชุมครั้งนี้มีวาระพิเศษนอกเหนือจากการประชุมเครือข่ายฯคือ การมอบรางวัลกลุ่มดีเยี่ยม  ซึ่งพิจารณาจากหลักเกณฑ์การปฏิบัติของกลุ่มต่อเครือข่าย(ตัวชีวัดการพัฒนาคน) 4 เรื่อง 

1)มีการออมทรัพย์ในกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ

2)ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้

3)ไม่เคยขาดส่งสมาชิกเข้าร่วมประชุมประจำเดือน(ส่งตัวแทนกลุ่มเข้าร่วมประชุมเครือข่ายทุกเดือน)

4)มีบุคคลเข้าร่วมในกิจกรรมกองทุนสวัสดิการผู้นำมากที่สุด

 

ซึ่งหากพิจารณาตามคุณสมบัติของทั้ง 4 เรื่อง  ตนเองคิดว่าเป็นการวัดการมีสัจจะของสมาชิก 

 จากข้อมูลที่ตนเองมี  กลุ่มทั้ง 17 กลุ่มในเครือข่ายฯนี้  บางกลุ่มมีการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2541 ใช้แนวคิดการตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต ตามแนวพระสุบิน  ตนเองลองวิเคราะห์ข้อมูลแสดงการเข้าร่วมกิจกรรม(ตัวชี้วัด)แต่ละข้อเป็นดังนี้

 1)มีการออมทรัพย์ในกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ  ส่วนใหญ่เป็นจำนวน 10 กลุ่ม ชำระค่าหุ้นทุกเดือน   รองลงมาจำนวน 4 กลุ่ม  ชำระค่าหุ้น 8-9 เดือน  จำนวน 2 กลุ่ม ชำระค่าหุ้น 10-11 เดือน  และจำนวน 1 กลุ่ม  ชำระค่าหุ้นเพียง 5 เดือน 

 

2)ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ จากจำนวน 17 กลุ่ม  มีการกู้เงินจากเครือข่ายจำนวน  13 กลุ่ม  ส่วนใหญ่เป็นจำนวน 7 กลุ่ม  ชำระหนี้ทุกเดือน  รองลงมาจำนวน  5 กลุ่ม  ชำระ 8-9 เดือน  และจำนวน 1 กลุ่ม  ชำระ 11 เดือน

 

3)ไม่เคยขาดส่งสมาชิกเข้าร่วมประชุมประจำเดือน(ส่งตัวแทนกลุ่มเข้าร่วมประชุมเครือข่ายทุกเดือน) ส่วนใหญ่เป็นจำนวน 8 กลุ่ม เข้าร่วมประชุมจำนวน 6-9 ครั้ง  รองลงมา  จำนวน 7 กลุ่ม   เข้าร่วมประชุมครบ 12 ครั้ง   จำนวน  1 กลุ่ม  เข้าร่วมประชุมจำนวน 11 ครั้ง  และจำนวน 1 กลุ่ม  เข้าร่วมประชุมเพียง  5 ครั้ง

 

4)มีบุคคลเข้าร่วมในกิจกรรมกองทุนสวัสดิการผู้นำ มีสมาชิกกลุ่มที่เข้าร่วมกองทุนสวัสดิการผู้นำจำนวน  16 กลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นสมาชิก  1-3 คน  จำนวน 7 กลุ่ม   เป็นสมาชิก  4-6 คน  จำนวน 7 กลุ่ม  เป็นสมาชิก  9 -10 คน  จำนวน 2 กลุ่ม 

 

กลุ่มดีเยี่ยมประจำปี 2550 ได้แก่  กลุ่มเครือญาติกำสน  ซึ่งก่อตั้งกลุ่มเมื่อปี 2548  สมาชิกทั้งหมดเป็นญาติกัน(ตามชื่อกลุ่ม)  คุณสมบัติที่ทำให้ได้รับรางวัลคือ มีการออมทรัพย์ในกลุ่มครบทั้ง 12 เดือน   ชำระหนี้ครบ 12 เดือน  ตัวแทนกลุ่มเข้าร่วมประชุมประจำเดือนเครือข่ายครบทั้ง 12 เดือน  และมีสมาชิกร่วมกองทุนสวัสดิการผู้นำของเครือข่ายมากที่สุดเป็นจำนวน 10 คน

   

รางวัลสำหรับกลุ่มดีเยี่ยมประจำปี คือ ใบประกาศเกียรติคุณ  และเงินสดมูลค่า  2,000 บาท   มอบโดยคุณอารี  นพแก้ว   ประธานเครือข่ายฯ 

(อันที่จริงต้องการนำเสนอข้อมูลของเครือข่ายทั้งหมดที่ไปประชุมมา แต่วันนี้มีข้อจำกัดเรื่องเวลา พรุ่งนี้จะเล่าในส่วนของรายละเอียดการประชุมคะ)

หมายเลขบันทึก: 167360เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2008 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เข้ามาเรียนรู้จากน้องรัชอย่างเคยค่ะ
  • คิดว่าเป็นการวัด "สัจจะ" อย่างที่น้องรัชว่า  แต่ไม่ใช่เฉพาะสัจจะกับตัวเอง แต่เป็นสัจจะคือความรับผิดชอบต่อกลุ่มด้วย
  • ที่จริงตัวเองมีประเด็นที่อยากเรียนรู้มาก เพราะถึงที่สุดยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาเชิงลึกในกลุ่มใดๆ  ข้อมูลที่อ่านๆจากงาน พอช. ก็ยัง "ไม่กระจ่างแก่ใจ"  คิดว่ามีหลายมิติซ้อนๆกันอยู่ในงานของกลุ่มชาวบ้าน  จะค่อยๆเก็บเล็กผสมน้อยจากงานของน้องรัช เหมือนต่อภาพจิ๊กซอนะคะ  ปัญหาคือ ตัวเองความจำสั้นค่ะ ได้หน้าลืมหลัง  สงสัยต้องรออ่านรายงานฉบับเต็มอีกที
  • จากประสบการณ์  น้องรัชคิดว่า  แกนนำจำเป็นต้องมีความเข้าใจสถานะทางการเงินของกลุ่มไหมคะ กลุ่มเองให้ความสำคัญกับเรื่องทางบัญชีแค่ไหน  เชื่อว่ากลุ่มจะให้ความสำคัญกับการตรวจสอบ แต่มีการใช้ประโยชน์จากบัญชีมากน้อยแค่ไหน... นี่ถามเพราะอยากรู้จริงๆนะคะ  ... ด้วยความเคารพคนทำงานเสมอ...
  • ขอให้เดินทางโดยปลอดภัย และเจอกันที่ กทม.ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

คิดว่าเป็นตัวชี้วัดที่ดีชุดหนึ่ง ซึ่งเป็น "องค์ประกอบ" ความยั่งยืนของกองทุนฯ    ขออนุญาตนำไปใช้ในงานสังเคราะห์นะคะ

สวัสดีคะอาจารย์ปัท

  • อาจารย์ปัทเป็นลูกค้าประจำของรัชเลย ดีใจมากคะ ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแลกเปลี่ยนทำให้รัชค่อย ๆ คิดและพัฒนาคำถามของตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ
  • คิดว่าแกนนำมีความจำเป็นต้องมีความเข้าใจสถานะทางการเงินของกลุ่มเป็นอย่างมาก  ซึ่งวิธีปฏิบัติของกลุ่มส่วนใหญ่แกนนำต้องมีความรู้เรื่องบัญชี(อาจจะไม่ทุกคน แต่บางกลุ่มสอนให้แกนนำทำบัญชีเป็นทุกคน เพื่อช่วยกันตรวจสอบ) และแกนนำทุกคนต้องรับทราบสถานะทางการเงินของกลุ่ม ซึ่งมีการรายงานทุกเดือนในการประชุมประจำเดือนของกลุ่ม  โดยหลักแล้วการรับทราบนำมาซึ่งการวางแผนการทำงาน  การแก้ปัญหาสมาชิก/กลุ่ม  เป็นฐานข้อมูลยืนยันถึงความโปร่งใสในการทำงาน
  • รักษาสุขภาพด้วยนะคะ เจอกันที่กรุงเทพฯคะ   
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท