ปัญหาการเรียนต่อของชาวสาธารณสุขกับการพัฒนาศักยภาพ


ปัญหาที่สำคัญต่อการเรียนรู้ คือ พื้นฐานความรู้ต่างๆที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงที่เรียนนั่นเอง

หมออนามัยหลายท่านที่ทำงานในตำแหน่ง "เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน" ซึ่งเรียนจบหลักสูตรประกาศนียบัตรสาธารณสุขศาสตร์ จากวิทยาลัยสาธารณสุขนั้น  หลายคนต่างพยายามขวนขวาย เรียนต่อเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานในอนาคต ต่างมุ่งหน้าไปเรียนในหลักสูตรปริญญาตรี ต่อเนื่องอีก 2 ปี เพื่อรับปริญญาตรี สาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ส.บ.) หากมีโอกาสได้เรียนต่อในระดับปริญญาโทได้ ใครล่ะจะไม่อยากไขว่คว้าโอกาสอันดีนี้

 

หมออนามัยเป็น บุคคลที่ทุ่มเทและเสียสละหลายอย่าง ในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ในเขตรับผิดชอบของตนเอง ภาระหน้าที่ในแต่ละวันนั้น ล้นมืออยู่แล้ว แต่ยังพยายามที่จะไขว่คว้าโอกาสในการศึกษาต่ออยู่เสมอ ซึ่งทางสถาบันการศึกษา ได้เปิดโอกาสให้หมออนามัยได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยเปิดหลักสูตรภาคพิเศษ เสาร์-อาทิตย์ นอกเวลาราชการขึ้นมา ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถที่จะแบ่งเวลามาเรียนเพิ่มวุฒิได้
 


เมื่อ ต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย หลายคนแบ่งเวลาได้แต่ก็เครียดกันพอสมควร บางคนบริหารเวลาไม่ลงตัว ทำให้ต้องละทิ้งโอกาสกลางคัน ส่วนคนที่ยังคงมีความมุ่งมั่น ฝ่าฟันต่ออุปสรรคต่างๆต่อไป ต้องอดทนต่ออุปสรรคในหลายๆเรื่องที่เข้ามาบีบรัดอยู่ตลอดช่วงเวลาที่เรียน อยู่ เรียกได้ว่า มีแต่ความท้อแท้ ท้อถอยอยู่ตลอดเวลา

การเรียนภาคพิเศษ - เสาร์ อาทิตย์ ซึ่งมีเวลาจำกัดกว่า การเรียนภาคปกติ ที่มีเวลาในการศึกษาค้นคว้าได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย  ถึงแม้นักศึกษาภาคพิเศษจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง และมีเวลาจำกัดในการเรียน และมีค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงกว่านักศึกษาในภาคปกติ แต่นักศึกษาภาคพิเศษหลายคนก็อยากเรียนรู้อย่างเต็มที่เช่นกัน

ปัญหาอย่างหนึ่งของชาวสาธารณสุขที่มาเรียนต่อในภาคพิเศษ คือ การเข้าถึงแหล่งค้นคว้าข้อมูล คือ ห้องสมุดนั่นเอง

คุณนวลจันทร์ สายวงศ์  เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากศรีสะเกษ ซึ่งเริ่มต้นชีวิตการเรียนจากระดับมัธยมศึกษา แล้วเข้าเรียนต่อหลักสูตรประกาศนียบัตรสาธารณสุขศาสตร์ (สาธารณสุขชุมชน) ที่วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธร จ.อุบลราชธานี และพยายามพากเพียรด้วยความยากลำบาก มาเรียนต่อในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ช่วงที่เธอเรียนปริญญาโท ซึ่งต้องเรียนภาคพิเศษ อาจารย์ผู้สอนได้ให้ความรู้หลากหลาย ซึ่งมีหลายเรื่องเธอไม่เคยมีทักษะการเรียนรู้ในระดับปริญญาตรีมากนัก เช่น การค้นหาข้อมูลต่างๆ การทำวิจัย ซึ่งผู้ที่เรียในระดับปริญญาตรีในภาคปกติ ได้ผ่านการฝึกฝนเรียนรู้ในทักษะเหล่านี้จนชำนาญ กว่าเธอจะค้นหาข้อมูล ทำรายงานส่งอาจารย์ได้ เลือดตาแทบกระเด็นเช่นกัน

โชคยังดีที่กลุ่มเพื่อนที่เรียนด้วยกัน พยายามช่วยเหลือประคับประคองจนสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆมาได้ แต่เธอก็อยากที่จะทำอะไรเป็นมากกว่าเดิม มีโอกาสได้มาเรียนรู้เพิ่มวุฒิแล้ว นอกจากความคิด ทัศนะ มุมมองจะเปลี่ยนไป มองสิ่งต่างๆได้อย่างรอบคอบ มีเหตุมีผลมากขึ้น สมกับที่ได้มาเรียนปริญญาโท เมื่อเธอพูดจากับคนในสถานที่ทำงาน เพื่อนร่วมงานเริ่มมองเธอแปลกๆเหมือนกัน เพราะความคิดของเธอเติบโตขึ้น มองโลกได้กว้างขึ้น แต่เพื่อนร่วมงานยังคงคิดเห็นเช่นเดิม

เมื่อมาเรียนปริญญาโท เธอรู้จักหลายอย่างเพิ่มขึ้น มีโอกาสได้ทำ ได้ฝึกหลายอย่างมากขึ้น แต่ก็ยังทำได้ไม่คล่อง และยังไม่ชำนาญมากนัก ซึ่งเธอก็อยากจะคิด เขียน วางแผนต่างๆได้ดีกว่านี้ อย่างเช่น การทำวิจัย แม้จะมีพื้นฐานจากการเรียนมาบ้าง แต่ก็ยังไม่แน่ใจมากนัก เพราะได้เรียนรู้มาในเวลาที่จำกัดและได้ฝึกฝนน้อยเหลือเกิน

ในปีนี้ หลายมหาวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรภาคพิเศษหลายแห่ง และเปิดวิทยาเขตตามต่างจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สนใจเรียนต่อ ได้มีโอกาสเรียนใกล้บ้าน ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลจากมหาวิทยาลัยแค่ไหนก็ตาม แต่คุณนวลจันทร์ มองว่า แม้จุดนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับชาวสาธารณสุขที่อยากเรียนต่อ แต้ปัญหาและอุปสรรคสำคัญก็คือ ไม่มีห้องสมุดให้ค้นคว้าข้อมูล ซึ่งห้องสมุดจะตั้งอยู่ในวิทยาเขตกลาง หรือที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนั้นๆ

ในช่วงที่ทำวิจัยก่อนถึงกำหนดจบการศึกษา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายคนมีความมุ่งมั่นที่จะทำวิจัยที่จะนำไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ของตนอย่างเต็มที่ แต่เมื่อต้องไปค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม เวลาที่มีจำกัด และห้องสมุดที่อยู่ไกล เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ความตั้งใจที่มีตั้งแต่แรกเริ่ม เริ่มจางหายไป จนในที่สุด งานวิจัยที่ตั้งใจทำ ไม่ว่าจะเป็นวิทยานิพนธ์ ปัญหาพิเศษ การศึกษาอิสระ ก็ต้องลงมือทำไปเท่าที่จะทำได้ งานก็รัดตัว เรื่องเรียนก็ต้องทำอีก

แต่ปัจจุบันนี้ การตั้งวิทยาเขตเพื่อการเปิดโอกาสทางการศึกษา อาจารย์ผู้สอนได้ให้ทางออกได้ว่า ทุกคนสามารถเรียนและค้นคว้าหาความรู้จากที่ใดก็ได้  ซึ่งสามารถค้นคว้าทางอินเทอร์เนตได้ตลอด ทุกที่ทุกเวลา แต่ข้อมูลที่มีมากมายมหาศาล ต้องใช้เวลาในการกลั่นกรองข้อมูลพอสมควร ทำให้หลายคนไม่พบข้อมูลที่ตัวเองต้องการในอินเทอร์เนต

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายคน จึงต้องหาโอกาสมาเข้าห้องสมุดอยู่ดี เพื่อค้นคว้าหาเอกสารเพื่อศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมในหัวข้อที่สนใจ ในประเด็นนี้ หลายคนแย้งว่า หากมีทักษะในการค้นข้อมูลในอินเทอร์เนต ก็จะพบข้อมูลที่ท่านต้องการเช่นกัน แต่ละคนก็มีทักษะความรู้ที่แตกต่างกัน หลายคนไม่ถนัดในการอ่านภาษาอังกฤษ หรือใช้คำค้นที่ให้ผลการค้นหากว้างเกินไปจนได้ ข้อมูลมากมายจากการค้นหา จึงเป็นอุปสรรคสำคัญของชาวสาธารณสุขหลายท่าน

เท่าที่สังเกตจากนักศึกษาที่เรียนภาคปกติ หลายมหาวิทยาลัยได้จัดหลักสูตรอบรม เพื่อเพิ่มทักษะในด้านต่างๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ ภาษา การพูด การเขียน และอื่นๆอีกมากมาย  ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เรียนภาคพิเศษ เมื่อเรียนเสร็จในแต่ละครั้ง ก็จะขับรถกลับบ้าน ไม่มีโอกาสได้เข้าอบรมในหลักสูตรเสริมทักษะที่น่าสนใจ บางคนอาจจะแย้งว่า ในช่วงที่ไม่มีวิชาเรียน หากมีเวลาที่จะเข้าอบรมได้ ก็น่าจะเข้าอบรม

แต่ก็มีน้อยหลักสูตรครับ ที่ทุกคนจะสามารถเข้าอบรมได้ เนื่องจากการที่ต้องทำงานและเรียนไปด้วย แน่นอน ย่อมต้องกลับไปทำงานก่อน

หากมีเวลาได้คลุกคลีกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายท่าน จะพบว่า แต่ละคนมีศักยภาพที่ล้นเหลือ ทุ่มเททำงานดูแลสุขภาพของประชาชนผู้มารับบริการได้ตลอดเวลา แต่ละหน่วยงานได้จัดอบรมเพิ่มทักษะความรู้ต่างๆให้แก่เจ้าหน้าที่อยู่เป็น ประจำ หลายคนก็ได้รับความรู้และกลับมาทำได้ หลายคนก็พอทำได้ แต่นานไป เมื่อไม่ค่อยได้ใช้ก็มักจะลืมเลือนไป

ดังนั้น ปัญหาที่สำคัญต่อการเรียนรู้ คือ พื้นฐานความรู้ต่างๆที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงที่เรียนนั่นเอง หากมีทักษะต่างๆสะสมมาตั้งแต่ช่วงที่เรียน จะทำให้รับรู้สิ่งต่างๆมากขึ้น เมื่อไปอบรมเพิ่มเติม จะต่อยอดความรู้ไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบัน พื้นฐานความรู้ของหลายคนยังไม่ดีนัก เมื่อต้องเรียนรู้และเข้าอบรมหัวข้อใหม่ๆ หลายคนจึงเกิดความงุนงง จับประเด็นได้ไม่หมด ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่จะเข้าใจทุกๆอย่าง

หากในช่วงที่เริ่มเรียน นิสิตนักศึกษา มีเวลาศึกษาค้นคว้า อย่างเต็มที่ มีแหล่งข้อมูล ได้แก่ห้องสมุดที่เข้าถึงได้ง่าย ความรู้ต่างๆจะสะสมพอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแต่ละคน สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆในอนาคตได้ไวขึ้น ไม่ใช่ได้เฉพาะใบปริญญาบัตรและวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้นเท่านั้น
 

หมายเลขบันทึก: 16666เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2006 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นค่ะ (ตัวเองก็อยากจะเรียนต่อ ศึ่กษาหาความรู้เพิ่มเติมเหมือนกันค่ะ แต่ยังไม่มีโอกาส)
     อยากร่วม ลปรร.ด้วยนะครับ เคล็ดลับการเรียนต่อที่ผมและ Dr.Ka-poom ซึ่งเป็นพยาบาล ได้เคยคุยกันและมีส่วนคล้าย ๆ กัน คือการพยายามทำให้ภารกิจที่ต้องทำงานกับการเรียนเป็นเนื้อเดียวกัน จะช่วยลดความหนักอึ้งลงได้ เกินความคาดหมายไปอีกคือจะสนุกทั้งการเรียนและการทำงาน อาจจะไม่เห็นเป็นรูปธรรมนัก แต่เมื่อได้ลองทำดูจะรู้สึกดีขึ้นครับ ลองดูนะผมว่าประสบการณ์จากการทำงานและสิ่งที่ได้จากการเรียน (ศึกษาต่อ) เกื้อหนุนกันในช่วงเวลาเดียวกันอยู่แล้วครับ
เรื่องความแตก ต่างของหลักสูตรครับ....หลักสูตร จพง. กับ หลักสูตร สบ. ไม่มีความต่อเนื่องของรายละเอียด เนื้อหาวิชา ดูเหมือนต้องมาเริ่มใหม่หมด....

การเรียนต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ก็เป็นการดีเปิดโอกาสให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่สำหรับจพ.เภสัชฯและจพ.ทันตฯ กลับไม่มีความก้าวหน้าเลยเนื่องจากว่าถึงจะลงเรียนต่อเนื่องสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิตแล้วแต่ไม่สามารถสอบเป็นนักวิชาการได้(สุรินทร์)   น่าเศร้าใจจัง

วสส.ขอนแก่น Rx 11

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท