พลิกชี้ฟ้า


ตลกบริโภค ... ขนานแท้

ผมลองประเมินสถานการณ์ระบบสุขภาพจากคนทำงานในโรงพยาบาลอย่างไม่เป็นทางการ พบว่า มีประเด็นที่ชวนให้ ทึ่ง อึ้ง เสียว แทนคนปฎิบัติงาน ที่เสี่ยงโดนฟ้อง

 

เป็นการประเมินจากท่าทีที่สังคมแสดงอาการ "ดุมาก" ต่อเรื่องต่อไปนี้ (ดูจากความบ่อยของข่าวฟ้องร้อง ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ)

  1. มีอาการแพ้ยาเป็นครั้งแรก หรือแพ้โดยไม่ทราบสาเหตุ แล้วมาลงที่สถานบริการสุขภาพล่าสุดที่ไปใช้บริการ
  2. แพ้ยาข้ามกลุ่ม แต่เป็นคนละตัวกับที่เคยแพ้
  3. ทานอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมีที่ไม่ใช่ปุ๋ยตามปรกติ
  4. การใช้สารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง ใส่ในผลิตภัณฑ์อาหารตามธรรมชาติ

ที่ทำให้ ทึ่ง และ อึ้ง คือ ข้อ 1 เป็นความซวยตามธรรมชาติ ที่ไม่มีใครห้ามได้ และไม่มีทางรู้ล่วงหน้า แต่เดี๋ยวนี้ ก็มีการหยิบมาเอาเรื่องกันแบบถึงตายกันด้วย

การแพ้ยา ตามปรกติแล้ว ครั้งแรก เราไม่มีรู้หรอกว่าเราจะแพ้อะไร และถ้าเป็นครั้งแรกที่รับยา ร่างกายยังไม่รู้จัก ก็จะไม่มีอาการอะไร แต่พอผ่านไปหลาย ๆ วัน (ไม่เกิน 2 สัปดาห์) ร่างกายก็จะเตรียมพร้อมที่จะแพ้ และอยู่ในภาวะเตรียมพร้อมไปได้นานมาก ๆ หากได้รับยานั้นอีก ก็จะเกิดการแพ้ขึ้น (ซึ่งเรียกว่า แพ้ครั้งแรก)  

สมมติใครกินอาหารที่เกษตรกรเลี้ยงและใส่ยาปฎิชีวนะ และเป็นยาที่คนกินจะแพ้ ตอนกินอาหารปนเปื้อน ก็ไม่มีอะไร แต่เกิดไปรับยามา (ไม่เคยมีประวัติ) เป็นผื่นแพ้ยา ช็อคตาย จะมีใครรู้ไหม ว่าตายจากอะไร ? เป็นไปได้สูงว่า คนที่เกี่ยวข้องคนสุดท้ายในวงจรสุขภาพ จะเป็นแพะบูชายัญ ทั้งที่เป็นการแพ้อย่างเป็นทางการครั้งแรก (แต่โดนกระตุ้นจากที่ปนเปื้อนมาในอาหาร)

 

ข้อสอง ก็เป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจ เพราะคนที่รักษา เขาก็ต้องพยายามปรับสมดุลระหว่าง ประโยชน์ที่จะทำให้รักษาได้ กับ โทษ คือ อาจเสี่ยงกว่าเดิม (บางกรณี ไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้) แต่ข้อนี้ ก็ต้องดูเงื่อนไขแวดล้อมด้วย ฟันธงผิดถูกล่วงหน้าไม่ได้ ต้องว่าเป็นราย ๆ ว่าประมาทหรือเปล่า หรือตัดสินใจดีแล้ว แต่ถึงคราวซวย

ตัวอย่างเช่น สมมติว่า ผมแพ้ยาแก้ปวดลดอักเสบตัวหนึ่ง ก็จะมีความเป็นไปได้อยู่นิดหน่อย ที่ผมจะแพ้ยาแก้ปวดตัวอื่นชนิดอื่นด้วย

คำว่า "นิดหน่อย" นี่แหละ ที่สำคัญ ว่า สังคมจะทำยังไงกับ "นิดหน่อย"นี้

คือถ้าเพ่งโทษว่า นิดหน่อยก็ไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดการรักษาแบบ เน้นป้องกันตัว(ผู้ให้บริการ) แต่ไม่เน้นเหตุผลการตัดสินใจอย่างเป็นกลาง

สมัยหนึ่ง มีกรณีประเภท รถอารี รับคนป่วยอุบัติเหตุข้างทางไปส่งโรงพยาบาล แล้วโดนข้อหาชนคน เล่นเอาคนทั้งสังคมอารีขยาด เวลาผ่านไปเจอผู้ประสพเหตุข้างทางแบบนี้ ก็จะ "ปล่อยมันตายข้างทางไปเถอะ" - อย่างน้อยตัวเองไม่ต้องโดนข้อหาอะไร อย่างมากก็ฝันร้ายซักไม่กี่คืน...

สมมติว่าผมเจ็บป่วย ต้องใช้ยาแก้ปวดลดอักเสบขึ้นมา โดยยาแก้ปวด(ที่ไม่ลดอักเสบ)อื่นไม่ได้ผล

ในบรรยากาศที่ไม่ดุ คนรักษา ก็อาจตัดสินใจให้ยาแก้ปวดลดอักเสบตัวอื่น คือชั่งสมดุลว่า จะปล่อยให้อักเสบ และปวดอยู่ยังงั้น หรือใช้ยา เพื่อลดอักเสบ จะได้ไม่ปวด

แต่ในบรรยากาศที่ดุ ปล่อยให้ปวดไปเถอะ (คนอื่น)ปวดจากโรค ดีกว่าตัวเองถูกฟ้องจากคนอื่นแพ้ยา

ก็จะกลายเป็นการตัดโอกาสได้รับการรักษาที่สมดุล เกิดการรักษาที่ไม่สมดุล คือ ช่วยให้คนไข้หนีปวด ไม่รักษาการอักเสบ ด้วยการทำให้หลับตลอด (จนกลายเป็นคนติดยาโดยไม่จำเป็น) หรือใช้ยาแก้ปวดที่เสพติด ทั้งที่สิ่งที่ตรงไปตรงมากว่า ก็มี เพียงแต่ "เฮ้ย มีโอกาสแพ้เหมือนกันนิดหน่อยนะ" ก็เลย "..ไม่ดีกว่า เดี๋ยวโดนฟ้องตายXXX"

 

แต่ข้อ 3 ถ้าหากเจอเข้าจัง ๆ สารพิษที่รับเข้าไป จะมีมาก (เรากินยา ครั้งนึง ไม่ค่อยเกินหนึ่งกรัม แต่กินผลไม้ทีละครึ่งโล ปีนึงกี่ครั้ง สะสมแล้ว ต่างกันไม่รู้กี่ร้อยเท่า) แต่ดู ๆ แล้ว สังคมเฉยชา เพราะเห็นเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่พ้น ทั้งที่สถิติคนเป็นมะเร็งในรอบไม่กี่ปีนี้ แซงพรวดทุกโรคมาอยู่หัวแถวสุด

 

 

ส่วนข้อ 4 ก็ยังมีทำกันโครม ๆ ทำไม่ได้ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า "คุณเป็นฆาตกรโรคจิตหรือเปล่า วันนี้จะฆ่าคนอีกกี่ศพ" กันเท่าไหร่

 

หลายปีก่อน ผมเคยเจอแตงโมกลิ่นฟอร์มาลีนในงานเลี้ยงที่จัดหรูในโรงแรม และไม่กี่วันก่อน เจอกับตัวเอง กลิ่นสารเคมีแน่ ไม่ผิด  แต่จมูกยังวิวัฒนาการไปไม่ถึงขั้นใช้แทนเครื่อง GC-MS ยังไม่สามารถบอกโครงสร้างทางเคมี ก็ต้องส่งให้ผู้เกี่ยวข้องไปตรวจต่อไป

 

ถ้านำแนวคิดเรื่องการวิเคราะห์ความเสี่ยงมาจับ สิ่งที่น่าหัวเราะที่สุดก็คือ เรื่องที่สำคัญที่สุด พบบ่อยที่สุด และ ผลกระทบแรงที่สุด  คือ เรียงจากข้อ 4 ไป 3 ไป 2 ไป 1

 

แต่สังคมจะดุมาก เรียงจาก 1 ไป 2 ไป 3 ไป 4

 

 

ทีคนที่พยายามช่วยเรา เราไปดุใส่เขา จ้องจับผิดเขา

แต่กับคนที่พยายามมาฆ่าเรา เราเฉย ๆ เผลอ ๆ ไปซื้อของเขามา ยังต่อรองราคาเป็นที่สนุกสนาน

 

 

 

แบบนี้ เป็นวิธีคิดแบบ "เอาเท้าชี้ฟ้า แล้วเอาหัวเดิน" หรือเปล่า ?

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สังคม#สุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 166632เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2008 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ อ.วิบุล

เอ๋ ! วันนี้อาจารย์มาแนวดุ....แต่เบิร์ดเห็นด้วยว่าอาหารที่เราทานๆกันทุกวันน่ะอันตราย ! ทั้งยาปฏิชีวนะ ทั้งสารเร่งเนื้อแดง ทั้งฮอร์โมนต่างๆ แถมยาฆ่าแมลงอีก..ถ้าทานโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่  สะสมกันเข้าไปทุกวันๆ่โอกาสเดี้ยงจากสารเคมีในอาหารมีสูงมากเลยล่ะค่ะ  แถมยังส่งผลต่อยาตัวอื่นๆที่ได้รับจากการรักษาได้ด้วย

เวลาเราตายต่อไปคงไม่ต้องฉีดฟอร์มาลีนแล้วมั้งคะอาจารย์?

ความเข้าใจในเรื่องนี้คงต้องบอกกล่าวกันต่อๆไปให้ชัดเจนน่ะค่ะ เบิร์ดดีใจที่อาจารย์ " ลงมือ " นะคะ  ...แต่แหม ! นึกถึงคำกล่าวว่า เพียงประดาบก็เลือดเดือดขึ้นมาตะหงิดๆเชียวล่ะค่ะ แหะ แหะ

ตอนที่เบิร์ดออกนิเทศติดตามการดำเนินงานอาหารปลอดภัยที่ รพ.แม่สาย เบิร์ดพบว่า พรพ.แนะนำให้ฝ่ายโภชนาการที่นั่นแช่ไข่ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 6 % ( ที่ใช้ล้างแผล ในรพ.น่ะค่ะ ) 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำเปล่า 15 - 20 ลิตร แช่ไข่ทิ้งไว้ ประมาณ 5 นาที..เพื่อป้องกันไข้หวัดนก !?! 

เบิร์ดเรียนถามอาจารย์ตรงๆเลยค่ะว่ามีผลต่ออาหารมั้ยคะ ? เพราะเปลือกไข่มีรูพรุน ..และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นั้น เป็นกลุ่มของสารฟอกขาว ( ไฮโดรเจนซัลไฟต์์ ) หรือเปล่าคะ ?..ที่ติดใจเพราะเบิร์ดรู้สึกว่าไม่เหมาะสม อะไรก็ตามที่ใช้กับอาหารควรเป็นเกรดสำหรับอาหารนี่คะ  และถ้าเป็นไข่ที่มาจากฟาร์มมาตรฐานก็ถือว่าค่อนข้างปลอดภัย ที่ รพ.เบิร์ดยังไม่เคยได้รับการแนะนำจากพรพ.ให้ล้างไข่ด้วยวิธีนี้เลยค่ะ ที่เราผ่าน HA มาก็ไม่เห็นว่าอะไรนี่คะ เราล้างไข่ด้วยการผ่านน้ำธรรมดาด้วยซ้ำไปค่ะ

 

คุณเบิร์ด

  • ผมไม่ดุ จริง ๆ แล้ว ใจเย็นมาก เพียงแต่เป็นตั้งคำถามที่จริงใจ จนผ่าซากไปหน่อย ทำให้ดูว่าดุดัน แต่จริง ๆ แล้ว เป็นการแสดงออกซึ่งความอ่อนหวานจริงใจเป็นที่ตั้ง
  • ที่เขียน เพราะเห็นเป็นประเด็นสืบเนื่องจาก ก้าว(ย่าง อย่าง)ไทย » บาป(กุศล)กรรมของบุคคล เป็นกรรมร่วมของสังคม มีหลายมุมมอง ที่ผมมองว่า น่าคิดมาก คุณ เบิร์ด ลองไปอ่านดูสิครับ

  • สังคมไทยไม่ค่อยรู้ตัวว่า กำลังผลักไสงานบริการคุณภาพสูงให้ต้องหนีไปอยู่ภาคเอกชนหมด ด้วยการเพ่งโทษแบบเข้มข้น วิบากนี้ จะส่งให้ ต่อไปภายหน้า หากหวังได้รับบริการคุณภาพสูง ต้องไปโรงพยาบาลเอกชน

  • คนรวยไม่เดือดร้อนหรอกครับ แต่คนที่จน กว่าจะตาสว่าง ก็คงอีกนู่นเลย หลายปีให้หลัง ตอนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปถึงจุดเกินเยียวยา หรือถอยหลังกลับ ของระบบสาธารณสุขไทย

  • เพราะสังคมอยู่ดุมาก คนที่เขาตั้งใจทำงาน เขามองว่า อยู่ภาครัฐก็โดน อยู่ภาคเอกชนก็โดน แต่ภาคเอกชนจะมีเบาะรองที่หนากว่า มีระบบที่ปกป้องได้ดีกว่า บรรยากาศทำงานเครียดอาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ (ถูกคนไข้บัตรทองดุเอา ไม่ได้เงิน กับถูกเศรษฐีดุเอา แต่ได้เงิน แถมงานก็อาจไม่หนักเท่า  ถ้าด้านลบพอ ๆ กันแล้ว แต่ด้านบวก ต่างกันเยอะ ไม่ไปก็โง่แล้ว)

  • ลองดูสิครับ เดี๋ยวนี้ โรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะขนาดใหญ่ บุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เหลืออยู่เพียงกี่เปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับเมื่อหลายปีก่อน ?

ตบท้าย...

  • ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ไม่มีการตกค้าง เพราะสลายตัวเปลี่ยนไปเป็นน้ำกับออกซิเจน เป็นตัวที่ปลอดภัยในการใช้แช่ไข่ ใช้แล้วไม่ทำให้ต้องกังวลเรื่องความเป็นพิษ แต่จะได้ผลดีแค่ไหน คงต้องอิงผลการวิจัย (ถ้ามี) ซึ่งผมไม่ทราบข้อมูลเหมือนกันแฮะครับ

หมายเหตุ....

ขอนอกเรื่องครับ ผมตามมาบอกว่ากำลังรื้อระบบเมนูใหม่ (อีกแระ) คราวนี้เพื่อผู้ใช้ IE 5.5 โดยเฉพาะครับ : )

ถูกคนไข้บัตรทองดุเอา ไม่ได้เงิน กับถูกเศรษฐีดุเอา แต่ได้เงิน แถมงานก็อาจไม่หนักเท่า ถ้าด้านลบพอ ๆ กันแล้ว แต่ด้านบวก ต่างกันเยอะ ไม่ไปก็โง่แล้ว..

โง่มานาน ยังโง่อยู่ และคงโง่ต่อไป

โอย ขำ ๆ ๆ ๆ ชีวิตตัวเอง

เลือกอยู่เพราะที่ดินผืนเล็กจิ๋วที่เรารักของเรา เรียกของเราว่า"สวนจิ๋ว"

  • คนที่น่ารัก ต้องมีด้านที่โง่งมอยู่ครับ
  • คนที่ฉลาดอย่างเดียวไปทุกเรื่อง มักจะเป็นคนน่ากลัว...

มาเผยตัวเพราะ...คนที่น่ารัก ต้องมีด้านที่โง่งมอยู่ครับ ...ชอบคำ(ปลอบ)ชมนี้จัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท