เพ็ญเดือนสาม คือ วันมาฆบูชา นี้ ที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนาเพราะมีเหตุการณ์ที่เรียกว่า จตุรงคสันนิบาต ซึ่งคำนี้นิยมแปลกันว่า การประชุมมีองค์ ๔ การประชุมประกอบด้วยองค์ ๔ หรือ การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔
สำหรับองค์ ๔ ที่ว่าก็คือ...
- วันปูรณมี (วันเพ็ญ มีพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนมาฆะ)
- มีภิกษุจำนวน ๑๒๕๐ รูป มาประชุมกัน โดยมิได้นัดหมาย
- ภิกษุทุกรูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ มีอภิญญา ๖
- ภิกษุทุกรูปจัดเป็น เอหิภิกขูปสัมปทา (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง)
และเมื่อครบองค์ ๔ ทำนองนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสโอวาทปาฏิโมกข์
............
คำว่า จตุรงคสันนิบาต แยกศัพท์ได้ดัังนี้
- จตุ + องคะ + สันนิบาต = จตุรังคสันนิบาต
จตุ แปลว่า ๔
องคะ แปลว่า กำหนด (แต่เรานิยมนำมาใช้ทับศัพท์ว่า องค์)
สันนิบาต แปลว่า ประชุม
อนึ่ง จตุรังคสันนิบาต จะเห็นได้ว่า มี ร.เรือ เพิ่มเข้ามา ซึ่ง ร.เรือ ตัวนี้ เรียกกันว่า อาคม
อาคม ตามหลักสนธิของไวยากรณ์บาลี มี ๘ ตัว คือ ย, ว, ม, ท, น, ต, ร, ฬ (ตอนแรกเรียนไวยากรณ์บาลี นิยมจำกันว่า ยวม ทน ตะระฬะ) โดยจะนำมาใช้เชื่อมคำศัพท์ในบางโอกาสตามสมควร... เฉพาะในคำว่า จตุรังคสันนิบาต นั้น ใช้ ร.เรือ อาคม... เป็นตัวเชื่อม ระหว่าง จตุ + องคะ = จตุรงคะ (สันนิบาต)
.............
ในภาษาไทย คำทั้งสามนี้ ( จตุ , องคะ และ สันนิบาต ) มีใช้ทับศัพท์อยู่บ้าง เช่น จตุสดมภ์ องค์ประชุม สโมสรสันนิบาต ฯลฯ ซึ่งคนไทยที่สนใจด้านภาษาอยู่บ้างก็พอจะแปลได้...
และเฉพาะคำว่า สันนิบาต ซึ่งเราแปลกันว่า ประชุม ผู้เขียนจะเล่าเพิ่มเติมนิดหน่อย...
สันนิบาต เขียนเป็นบาลีเดิมได้ว่า่ สันนิปาตะ โดยแยกศัพท์ได้ว่า...
- สํ + นิ + ปต + ณ = สันนิปาต
สํ เป็นอุปสัค แปลว่า พร้อม, กับ, ดี
นิ เป็นอุปสัค แปลว่า เข้า,ลง
ปต เป็นรากศัพท์ แปลว่า ตก
ณ เป็นปัจจัย ไม่มีคำแปล ใช้ลงเพื่อทำการปรุงศัพท์หลังจากการวิเคราะห์แล้ว
ดังนั้น สันนิปาต อาจแปลตามตัวได้ว่า ตก + ลง + พร้อม = ตกลงพร้อม(กัน) ซึ่งในสำนวนไทยแปลรวบความว่า ประชุม
โดยคำนี้ ตั้งวิเคราะห์ว่า...
- สนฺนิปตนฺติ ตตฺถาติ สนฺนิปาโต (โอกาโส)
- อันว่าภิกษุทั้งหลาย ย่อมตกลงพร้อมกัน ในโอกาสนั้น ดังนั้น อันว่าโอกาสนั้น ชื่อว่า สันนิปาต (เป็นที่ตกลงพร้อมกัน)
- (หรือ) อันว่าภิกษุทั้งหลาย ย่อมประชุมกัน ในโอกาสนั้น ดังนั้น อันว่าโอกาสนั้น ชื่อว่า สันนิปาต (เป็นที่ประชุมกัน)