..ว่าด้วย.. ระเบียบวิธีวิจัย


เมื่อคนอย่าง “ป้าเจรียง” หรือ “น้องออย” ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย คงถึงคราวที่ประเทศไทยควรจะต้องรู้เสียทีว่า ควรจะปฏิบัติกับคนเหล่านั้นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเป็นความผิดพลาดหนที่ 2 ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของมนุษย์ตัวน้อยๆ ในสังคมไทยโดยรัฐไทยเสียเอง ในบริบทของพันธกรณีที่รัฐไทยมีต่อกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้ง 4 ฉบับ

1.      เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย

อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาคำ 4 คำนี้ถูกบันทึกอยู่ในความรับรู้ที่ถูกสะสมมาตั้งแต่วัยเยาว์ว่า เป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต 4 ประการของมนุษย์ หากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งขาดไป การดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุขก็คงแทบจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหนึ่งในสี่ปัจจัยโดยเรียกให้ง่ายจนกลายเป็นคำติดปากว่า ยารักษาโรค นั้น ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในงานวิจัยชิ้นนี้

คำว่า ยารักษาโรคไม่ใช่แค่การตีความตามตัวอักษรว่าเป็นเพียงแค่ตัวยาเท่านั้น แต่หากมีนัยที่สำคัญ หมายความรวมถึง กระบวนการในการรักษาพยาบาลทุกรูปแบบที่ช่วยดูแลรักษาหรือเยียวยาสุขภาพของบุคคลให้ดีขึ้น ซึ่งการได้รับการรักษาพยาบาลนี้ก็เป็นสาระสำคัญในรายละเอียดของ สิทธิในสุขภาพ (The Right to Health)” ที่เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมีเป็นขั้นต่ำหรือขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว

สิทธิในสุขภาพ (The Right to Health)” ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการถกเถียงหรืออภิปรายบ่อยครั้ง มิใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่หากถือได้ว่าเป็นประเด็นสากลที่สมาชิกของประชาคมโลกนี้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ประชาคมระหว่างประเทศทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น องค์การสหประชาชาติ (United Nations) บรรดาองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ (International Non-Governmental Organization: INGO) หรือแม้แต่องค์การที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ อย่าง องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็มักจะมีการนำเรื่องสิทธิในสุขภาพในหลายๆ แง่มุม มาเป็นประเด็นอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการเผยแพร่ข้อมูล การรณรงค์ หรือการสร้างกฎกติการ่วมกัน เป็นต้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันสูงสุดในเจตนารมณ์ของสิทธิดังกล่าว

องค์การระหว่างประเทศที่เป็นตัวแสดงที่สำคัญและเป็นที่รู้จักอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นตัวแสดงมีบทบาทและหน้าที่มากที่สุดในการควบคุมดูแลความเรียบร้อยของประชาคมโลก คือ องค์การสหประชาชาติ ก็ยังมีมาตรการในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพ ซึ่งปรากฏอย่างชัดเจนในกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายต่อหลายฉบับด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR, 1966)” หนึ่งในกติการะหว่างประเทศฉบับที่ใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญที่สุดฉบับหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ[1] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (the International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: CERD, 1965)”, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (the Convention on Elimination of All Forms of Discrimination against Women: CEDAW, 1979)” หรือ อนุสัญญาสิทธิเด็ก (the Convention of the Rights of the Child: CRC, 1989) ก็ปรากฏว่ามีมาตราเฉพาะที่บัญญัติเรื่องพันธกรณีของรัฐภาคี ในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพของ มนุษย์ผู้ทรงสิทธิ ไว้อย่างชัดเจน[2] นอกจากนี้ ใน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights, 1948) ซึ่งเป็นหลักการทางสิทธิมนุษยชนที่มีมาก่อนการร่างกติกาและอนุสัญญาที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ยังปรากฏบทบัญญัติที่ว่าด้วยการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพไว้อย่างชัดเจน เช่นกัน

จะเห็นได้ว่า เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 60 ปี ที่หลักสากลทางด้านสิทธิมนุษยชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร จนกลายมาเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้รัฐทั้งหลายในโลกยึดถือปฏิบัติตามจนกระทั่งทุกวันนี้ สิทธิในสุขภาพเองก็ถูกถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ปรากฏอย่างชัดเจนในทั้งปฏิญญา กติกา และอนุสัญญาดังกล่าว นั่นย่อมหมายความว่า สิทธิในสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุต่างๆ และรัฐเองก็มีหน้าที่ในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งสุขภาพที่ดีด้วย

ในส่วนของกระบวนการในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐตามพันธกรณีที่ระบุไว้ในกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ รัฐภาคีจำเป็นต้องจัดทำรายงานประเทศ (State Reports) เพื่อรายงานการปฏิบัติตามกติกาหรืออนุสัญญานั้นๆ ซึ่งมักจะเป็นการชี้แจงถึงการดำเนินมาตรการของรัฐ เช่น มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางนโยบาย หรือ มาตรการอื่นๆ เพื่อนำกติกาและอนุสัญญามาบังคับใช้ภายในรัฐตน การชี้แจงจะถูกกระทำเป็นรายมาตราไป และแน่นอนที่สุดว่าบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในสุขภาพตามแต่ละกติกาและอนุสัญญาดังกล่าว ก็ย่อมต้องถูกชี้แจงถึงมาตรการที่รัฐภาคีได้ดำเนินการตามบทบัญญัตินั้น และภายหลังที่รัฐภาคีได้ส่งรายงานประเทศของตนไปยังคณะกรรมการที่กำกับดูแลกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศดังกล่าว คณะกรรมการจะพิจารณาและมีความเห็นกลับมา หากคณะกรรมการเห็นว่ารัฐภาคียังไม่มีมาตรการเพื่อมารองรับการปฏิบัติตามพันธกรณี หรือ รัฐภาคีได้ดำเนินมาตรการใดๆ ไปแล้วก็ตามที่ไม่ถูกไม่ควรตามเจตนารมณ์ของกติกาและอนุสัญญานั้นๆ คณะกรรมการก็จะมีประเด็นข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะส่งกลับมาเพื่อให้รัฐภาคีรับทราบ ชี้แจง และนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปปฏิบัติตาม

กระบวนการเหล่านี้เป็นช่องทางหนึ่งที่นักวิจัยใช้ในการศึกษามาตรฐานที่ว่าด้วยการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพของแต่ละประเทศที่เป็นภาคีของกติกาและอนุสัญญาดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่นักวิจัยใช้สำรวจว่า มาตรฐานที่แต่ละประเทศได้วางไว้อย่างแตกต่างกันนั้น สามารถเทียบเคียงกับบรรทัดฐานสากลที่ถูกวางไว้โดยองค์กรผู้ดูแลการปฏิบัติตามกติกาและอนุสัญญาหรือไม่ เพื่อนำมาวิเคราะห์ให้เห็นถึง ความคาดหวัง ของประชาคมระหว่างประเทศต่อประเด็นการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพ

 

2.      ระเบียบวิธีวิจัย

คำตอบของคำถามเหล่านี้ค่อยๆ ถูกค้นพบทีละฉากทีละตอนในระหว่างทาง โดยผ่านการศึกษาเอกสาร (Documentary Research) ซึ่งได้จากการเข้าไปศึกษาและทบทวนถึงการดำเนินการของรัฐไทยในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพ โดยศึกษาจากรายงานประเทศ (State Reports) ของรัฐไทยภายใต้กติกาและอนุสัญญาดังกล่าวที่เป็นพื้นที่ของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีหน้าที่เข้าไปศึกษาและทบทวนแนวทางในการปฏิบัติของรัฐภาคีในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพของประชากรที่อาศัยในรัฐตน โดยศึกษาจากรายงานประเทศ (State Reports) ในเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางนโยบาย หรือมาตรการอื่นๆ ก็ดี เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวอย่างของแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Good Practices) และแนวทางปฏิบัติที่ไม่ดี (Bad Practices) ของรัฐภาคี นอกจากนี้ ประเด็นในเรื่องของ บุคคล ที่จะมีสิทธิดังกล่าวได้ในรัฐภาคีต่างๆ ก็จะถูกนำมาพิจารณาด้วย

ตัวอย่างของตัวชี้วัดที่ผู้วิจัยนำมาใช้ในการเลือกประเทศ เพื่อนำมาศึกษาตัวอย่างของแนวทางปฏิบัติในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ได้แก่

  1. ประเทศที่เป็นภาคีกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้ง 4 ฉบับ
  2. ประเทศที่มีแนวโน้มในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ (Good Practices)
  3. ประเทศที่มีแนวโน้มในการละเมิดสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ (Bad Practices)
  4. ประเทศที่มีความหลากหลายของประชากรที่อาศัยภายในประเทศ

ดังนั้น ประเทศที่นักวิจัยเลือกศึกษาเป็นตัวอย่างของแนวทางปฏิบัติในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ได้แก่

1.      ประเทศอังกฤษ

2.      ประเทศฝรั่งเศส

3.      ประเทศเม็กซิโก

4.      ประเทศญี่ปุ่น

5.      ประเทศจีน

6.      ประเทศฟิลิปปินส์

และในส่วนสุดท้าย งานวิจัยชิ้นนี้จะเข้าไปศึกษาถึงความคิดเห็นของคณะกรรมการที่กำกับดูแลกติกาและอนุสัญญาดังกล่าวต่อการปฏิบัติตามกติกาของรัฐภาคี[3]ในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ (Concluding Observations) เพื่อที่จะทราบว่า ในประเด็นใดบ้างที่คณะกรรมการคาดหวังจะให้เกิดขึ้นในการดำเนินการของรัฐตามพันธกรณีในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพภายใต้กติกาและอนุสัญญาดังกล่าว

จากการศึกษาทบทวนองค์ความรู้จากทั้ง 3 ส่วน[4] จะสามารถทำให้ทราบถึงข้อกังวล ข้อห่วงใย รวมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมการที่กำกับดูแลกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้ง 4 ฉบับ ต่อแนวทางปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐภาคี ในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพ และจากองค์ความรู้นี้เองที่จะทำให้สามารถ ประเมินความคาดหวัง ของประชาคมระหว่างประเทศได้ในที่สุด

นอกจากนี้แล้ว เพื่อให้ข้อค้นพบจากการวิจัยเอกสารได้รับการยืนยันหนักแน่นมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศ[5] ต่อรัฐภาคตามกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ การศึกษาจากประสบการณ์ (Interview) ของผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการประเมินผลการปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าว

 

3.      ผลที่คาดว่าจะได้จากการศึกษาวิจัย

จากการศึกษาทั้งหมดนี้ ผู้วิจัยคาดหวังเหลือเกินว่า ผลจากการประเมินความคาดหวังของประคมระหว่างประเทศต่อมาตรฐานในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพในประเด็นต่างๆ จะทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐภาคีตามกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้ง 4 ฉบับ ได้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติที่ควรกระทำเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณี โดยพิจารณาจากประสบการณ์ในการปฏิบัติของรัฐภาคีอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการที่กำกับดูแลกติกาและอนุสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้ การเรียนรู้จากประสบการณ์ของรัฐภาคีอื่นที่มีแนวทางซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการ ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้รัฐไทยได้ตระหนักถึงแนวทางปฏิบัติที่ไม่ควรกระทำ เช่นกัน

ดังนั้น เมื่อคนอย่าง ป้าเจรียง หรือ น้องออย ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย คงถึงคราวที่ประเทศไทยควรจะต้องรู้เสียทีว่า ควรจะปฏิบัติกับคนเหล่านั้นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเป็นความผิดพลาดหนที่ 2 ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของมนุษย์ตัวน้อยๆ ในสังคมไทยโดยรัฐไทยเสียเอง ในบริบทของพันธกรณีที่รัฐไทยมีต่อกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศทั้ง 4 ฉบับ

และนั่นก็คงจะเป็นความคาดหวังที่ประชาคมระหว่างประเทศมีต่อรัฐภาคีทุกรัฐในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์อันดีในกติกาและอนุสัญญาดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นของการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ตั้งใจหยิบยกขึ้นมาพูดถึงโดยเฉพาะ

แล้วรัฐไทยจะไม่สนใจ ความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศ ได้เชียวหรือ!?!



[1] เนื่องจากต่อมากติกาฉบับนี้ได้กลายมาเป็นจุดกำเนิดของอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับอื่นๆ อีกหลายฉบับ ในประเด็นเรื่องสิทธิที่ปรากฏใน ICESCR แต่ในขอบเขตที่แคบลงและเฉพาะกาลมากขึ้น

[2] ผู้ทรงสิทธิในที่นี้ จะหมายความถึงใครบ้าง ก็ต้องพิจารณากันอีกในรายละเอียดว่ากติกาหรืออนุสัญญาดังกล่าววางกรอบหรือขอบเขตไว้ครอบคลุมบุคคลใดบ้าง

[3] รวมถึงรัฐไทยด้วย

[4] ได้แก่

1.        องค์ความรู้จากการศึกษาแนวทางในการปฏิบัติของรัฐภาคีในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ

2.        องค์ความรู้จากการศึกษาแนวทางในการปฏิบัติของรัฐไทยในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ

3.        องค์ความรู้จากการศึกษาความคิดเห็นของคณะกรรมการที่กำกับดูแลกติกาและอนุสัญญาดังกล่าวต่อการปฏิบัติตามกติกาของรัฐภาคีในการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิในสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ

[5] ในที่นี้ หมายความถึง คณะกรรมการภายใต้กติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

หมายเลขบันทึก: 165822เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2008 00:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท