เมื่อคืนนี้ผู้วิจัยขึ้นรถจากจังหวัดลำปางช่วง 20.00น.
กว่าจะมาถึงบ้านพักก็เกือบ 06.00น.
หลังจากนั้นนอนพักนิดหน่อย แล้วก็เดินทางไปร่วมงานสัมมนา
“สรุปโครงการ CDP-SP II” (CDP-SP II Closing Workshop)
ที่ห้องประชุมวอเตอร์เกท บอลรูม B,C ชั้น 6
โรงแรม อมารีวอเตอร์เกท ประตูน้ำ
กรุงเทพฯ (ต้องขอขอบพระคุณคุณสุวัฒนา ศรีภิรมย์
ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องหนังสือเชิญประชุมให้กับผู้วิจัยและอาจารย์พิมพ์ค่ะ)
มางานวันนี้ได้รับความรู้มากมาย
แม้ว่าบางเรื่องจะฟังไม่ค่อยเข้าใจเพราะ
ไม่ได้ศึกษาด้านนี้มาก่อน แต่ก็ไม่เป็นไรค่ะ
เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นประโยชน์กับผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์มาก
สงสัยว่าเปิดเทอมหน้าคงไม่ต้องเตรียมสอนมาก
(โดยเฉพาะอาจารย์พิมพ์)
เนื่องจากการฟังในวันนี้เป็นสิ่งที่สามารถเอาไปสอนนักศึกษาได้เลย
ข้อมูลแม้จะไม่ละเอียดมาก (เพราะ เป็นการสรุป)
แต่พวกเราก็พอจะรู้เรื่อง ยอมรับว่าตอนเดินเข้าไปในงาน
ผู้วิจัยงงเลย เพราะ
ตอนแรกคิดว่าคงมีคนเข้าร่วมไม่มาก
ที่ไหนได้คนเข้าร่วมเต็มเลยค่ะ แถมยังหน้าไม่คุ้นอีกด้วย
ตั้งแต่ไปร่วมงานประชุม สัมมนามา
ไม่มีงานไหนเลยที่ผู้วิจัยจะรู้สึกเอ๋อเช่นนี้
มองไปทางไหน มีแต่คนที่ไม่รู้จัก
พยายามมองหาคุณสุวัฒนาอยู่นาน แต่มองยังไงก็ไม่พบ
ทราบภายหลัง (ตอนรับประทานอาหารเที่ยง)
ว่าคุณสุวัฒนาไปราชการต่างประเทศ
(บังเอิญอาจารย์พิมพ์ได้พบคุณแจ๊ด ซึ่งทำงานกับคุณสุวัฒนา
ก็เลยได้ทราบจากคุณแจ๊ดว่าคุณสุวัฒนาไปไหน)
สำหรับเนื้อหาของการสัมมนาถ้ามีเวลาว่าง
(ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะว่างเมื่อไหร่) จะเอามาเล่าให้ฟังนะคะ
ตามที่สัญญากับตัวเองและผู้เข้ามาอ่านบันทึกว่าจะศึกษาเอกสาร
หนังสือเกี่ยวกับการจัดการความรู้ทุกวัน
แล้วจะเอามาเล่าให้ฟัง ในอาทิตย์นี้ผู้วิจัยได้หนังสือดีมา 1
เล่ม มีชื่อว่า “Systems Thinking วิธีคิดกระบวนระบบ”
ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้หรือเปล่า
(ตอนนี้อ่านมาได้ 3-4 วันแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเกี่ยวหรือเปล่า
แต่ผู้วิจัยรู้สึกว่าเกี่ยว) แค่เห็นชื่อหนังสือก็อยากอ่านแล้ว
(แต่ตั้งแต่อ่านมาก็ยังใม่ค่อยเข้าใจเลย
รู้สึกว่าเป็นหนังสือที่อ่านยากเล่มหนึ่ง
ความจริงอาจอ่านมายากก็ได้
แต่ผู้วิจัยเป็นคนเข้าใจอะไรยาก ก็เลยรู้สึกว่ายาก)
ความจริงตั้งใจจะเล่าให้ฟังตั้งแต่วันจันทร์แล้ว
แต่โอกาสไม่อำนวยสักที
บอกกับตัวเองว่าวันนี้เมื่อกลับจากสัมมนาแล้วจะเริ่มต้นเล่าให้ฟัง
แต่ก็มีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้
เหตุที่ว่านั้นก็คือ
วันนี้ในการสัมมนาได้เชิญอาจารย์ไพบูลย์
วัฒนศิริธรรมมาด้วย ท่านได้อภิปรายในเรื่อง
“สวัสดิการชุมชนพึ่งตนเอง”
ซึ่งเป็นหัวข้อที่เกี่ยวกับโครงการวิจัยจัดการความรู้
ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็เลยอยากเล่าให้ฟังค่ะ
ยังไงก็ขอยกยอดเนื้อหาในหนังสือไปเล่าให้ฟังในวันพรุ่งนี้ก็แล้วกันนะคะ
สวัสดิการชุมชนพึ่งตนเอง
ย้อนอดีตสวัสดิการฐานปัจจัยสี่
และการเกื้อกูล
ในอดีต “สวัสดิการสังคม”
ของสังคมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงช่วงก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่
1 พ.ศ.2504 อยู่ในลักษณะสวัสดิการที่ไม่ใช่ของรัฐ
แต่เป็นประชาสวัสดิการหรือสวัสดิการชุมชน
ปรากฎในรูปของฐานปัจจัยสี่ คือ อาหาร
เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
นอกจากระบบสวัสดิการโดยชุมชนที่กล่าวมาแล้ว
แนวคิดสวัสดิการในประเทศไทยยังแสดงออกมาในลักษณะของแนวคิด
“บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของพระราชาผู้มีทศพิศราชธรรม
ศาสนาก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อสวัสดิการในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นคำสอนจากศาสนาหรือสถาบันศาสนา
ทั้งศาสนาพุทธ อิสลาม หรือคริสต์
การปรับเปลี่ยนสู่การจัดสวัสดิการโดยหน่วยงานรัฐ
เมื่อถึงยุคที่มีการแพร่อิทธิพลจากตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5
ได้มีระบบสวัสดิการสังคมรูปแบบใหม่ขึ้น โดยในปี 2436
ได้มีการตั้งองค์กรสังคมสงเคราะห์ขึ้นมาเป็นแห่งแรก คือ
“สภาอุณาโลมแดง”
เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลทหารที่บาดเจ็บจากการทำสงครามกับฝรั่งเศสกรณีพิพาทดินแดนอินโดจีน
ซี่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “สภากาชาดไทย” หลังจากนั้น
แนวคิดด้านสวัสดิการสังคมที่มีลักษณะครอบคลุมทุกกลุ่มชนและชนชั้น
เริ่มขึ้นในยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร
ซึ่งมีลักษระคล้ายๆกับสวัสดิการในกลุ่มประเทศสังคมนิยมซึ่งรัฐจะเป็นผู้จัดสวัสดิการให้ทั้งหมด
แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้เนื่องจากผู้มีอำนาจในยุคนั้นๆหลายคนคัดค้าน
ด้วยเห็นว่ามีเนื้อหาเป็น “สังคมนิยม”
จากนั้นแนวคิดสวัสดิการในสังคมไทยก็แคบลง
และหนักไปทางด้านประชาสงเคราะห์แก่บุคคลผู้ด้อยโอกาส
ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบว่าด้อยโอกาสจริงจึงจะได้รับการสงเคราะห์
ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการสงเคราะห์ คือ
1.เด็กและเยาวชนที่มีปัญหาขาดที่พึ่ง
2.สตรีที่มีปัญหา
3.ครอบครัวที่แตกแยกพึ่งตนเองไม่ได้
4.คนชราไร้ญาติขาดมิตร
5.คนพิการ
6.ผู้ประสบสาธารณภัย
7.ผู้พ้นโทษที่ไร้ที่พึ่ง
8.ผู้มีปัญหาทางจิตใจ
9.ผู้เสพยาเสพติด
10.ผู้ไม่มีที่อยู่อาศัย
11.ชนกลุ่มน้อย
12.ผู้อพยพจากประเทศอื่น
13.ผู้ป่วยทางจิตที่มีอาการทุเลาแล้ว
14.ผู้ประสบเคราะห์กรรมอื่นๆที่ได้รับการช่วยเหลือ
15.ผู้เจ็บป่วยที่ขาดความช่วยเหลือ
ลักษณะการจัดสวัสดิการสำหรับผู้ด้อยโอกาสที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้ปรับเปลี่ยนจากวิถีเดิมของสังคมไทยที่ชุมชนและสถาบันทางศาสนาเป็นผู้ดูแลช่วยเหลือมาเป็นการดูแลโดยรัฐ
ซึ่งมีหน่วยงานหลักในการดูแล คือ กรมประชาสงเคราะห์
(ปัจจุบัน คือ กรมสวัสดิการสังคม
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
โดยแนวทางการจัดการส่วนหนึ่งมีฐานมาจากสังคมตะวันตก
ในส่วนของงบประมาณในการจัดสวัสดิการของรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม
ในแวดวงวิชาการด้านสวัสดิการสังคมก็มีความพยายามที่จะทำให้การขยายงานด้านสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมกว้างขวางตามลักษณะของปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้งานสวัสดิการสังคมครอบคลุม
3 ด้าน คือ การสังคมสงเคราะห์ การประกันสังคม
และการบริการสังคม
โดยในด้านการประกันสังคมนั้นใช้เวลาผลักดันกฎหมายยาวนานถึง 30
ปี จนกระทั่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม มีผลบังคับใช้ในช่วง 10
กว่าปีที่ผ่านมา
ในส่วนของการบริการสังคมก็ได้มีความพยายามผลักดัน
พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ
รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลยุคปัจจุบัน คือ
“สามสิบบาทรักษาทุกโรค”
ซึ่งเป็นแนวนโยบายด้านสวัสดิการสังคมที่ไม่แยกเฉพาะผู้ด้อยโอกาส
โดยในด้านการจัดการนั้น
หน่วยงานรัฐบาลเป็นผู้จัดการเกือบทั้งหมด
แต่ก็ได้มีหลายส่วนที่ได้พัฒนาแนวคิดและวิธีการดำเนินงานตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสำหรับทุกคน
การทำงานเชิงรุก
การปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานและหน่วยงานรัฐส่วนกลางเริ่มถ่ายโอนงานด้านสวัสดิการสังคมแก่ท้องถิ่น
เช่น เบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ เป็นต้น
ยังไม่จบค่ะ
แต่ผู้วิจัยขอเล่าแค่นี้ก่อน
เพราะอีกไม่กี่นาทีจะขึ้นวันใหม่แล้ว
ผู้วิจัยยังไม่ได้ทำกิจวัตรส่วนตัวเลย
แล้วจะมาเล่าต่อนะคะ