ลูกชายต่างสายเลือดชื่อ “สาละวิน”...การเดินทางของเรื่องเล่า-4


เจ้าหน้าที่ฝ่ายสังคมสงเคราะห์โรงพยาบาลพม่าสอดเคยพูดถึงปัญหาสุขภาพของทารกสัญชาติพม่าให้ฟังว่า “ลูกแรงงานพม่าที่ป่วยหนักส่วนใหญ่จะไม่รอด”

ลูกชายต่างสายเลือดชื่อ สาละวิน

โดย วันดี สันติวุฒิเมธี    วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2551

_______________________________________________________________________ 

เอาลูกแรงงานพม่ามาเลี้ยง เดี๋ยวมันโตขึ้น มันก็ฆ่าเราเหมือนกับแรงงานพม่าฆ่านายจ้างที่เป็นข่าวหรอก   

 

นั่นเป็นความคิดเห็นของญาติผู้พี่คนหนึ่งหลังจากได้ข่าวว่าฉันพาเด็กชายไร้สัญชาติซึ่งฉันตั้งชื่อจริงให้ว่า สาละวิน  หรือ น้องวิน วัย 11 เดือนมาเลี้ยงเป็นลูก  ฉันไม่รู้สึกแปลกใจในคำพูดของญาติและใครอีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้  เพราะคนไทยส่วนใหญ่มักยังเชื่อในสุภาษิตโบราณว่า เอาลูกเค้ามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเค้ามาอม เป็นเรื่องไม่สมควร และยิ่งหากเป็นลูกของแรงงานพม่าด้วยแล้ว  อคติที่มีดูจะเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นทวีคูณ 

ทว่า คำพูดเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ฉันท้อแท้ใจเลยสักนิดเดียว ตรงกันข้ามกลับทำให้ฉันรู้สึกเข้มแข็งและอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ความรักระหว่างแม่ลูกต่างสายเลือดสามารถเกิดขึ้นได้ และไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดมาจากสายเลือดของใคร สัญชาติอะไร เขาก็สามารถเติบโตเป็นเด็กดีมีความสามารถไม่แพ้เด็กที่มีสัญชาติ  ฉันจะต้องทำให้ญาติพี่น้องและคนรอบข้างรักเค้าให้ได้

จนถึงขณะนี้เวลาผ่านไปเกือบสองปีแล้ว  ฉันสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ไม่มีญาติคนไหนไม่รักเค้าสักคน และดูเหมือนทุกคนจะลืมไปแล้วว่า เค้าเป็นลูกชายต่างสายเลือดเพราะความรักที่เราแม่ลูกมอบให้กันไม่ได้น้อยไปกว่าแม่ลูกสายเลือดเดียวกันคู่ไหนเลย 

 

ของขวัญจากชายแดนตะวันตก

          ปลายเดือนพฤษภาคม 2548 ขณะที่ฉันเดินทางจากเชียงใหม่ไปยังอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อเขียนสารคดีเรื่อง แม่ตาวคลินิก  ให้กับวารสารสาละวินโพสต์ซึ่งฉันทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการและนักเขียนประจำ   เจ้าหน้าที่ประจำแม่ตาวคลินิก ซึ่งให้บริการผู้ป่วยแรงงานพม่าที่เข้าทำงานในเมืองไทยแจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้มีเด็กชายลูกแรงงานพม่าคนหนึ่งถูกทอดทิ้งอยู่ที่โรงพยาบาลแม่สอดและต้องการให้ทางแม่ตาวคลินิกรับเด็กไปดูแลต่อ เนื่องจากเด็กมีปัญหาสุขภาพหลายด้าน  

เด็กชายผู้นี้เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2548  มีชื่อในใบรับรองการเกิด ทร. 1/1 ว่า ลูกชายนางซ่วยซิน เป็นเด็กชายฝาแฝดซึ่งคลอดก่อนกำหนดด้วยน้ำหนักตัวเพียง 2.2 กิโลกรัม และมีปัญหาสุขภาพหลายอย่างนับตั้งแต่เริ่มลืมตาดูโลก   ที่หนักหนาสุด คือ ปัญหาหลอดอาหารและหลอดลมเชื่อมต่อกัน  ทำให้เด็กไม่สามารถกินนมแม่ทางปาก เมื่อกินแล้วจะเกิดอาการสำลักออกทางจมูก นอกจากนี้ยังมีปัญหาหัวใจมีรูรั่วขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร และปัญหาปอดอักเสบ

          อันที่จริง ทารกน้อยมีโอกาสอยู่บนโลกใบนี้ได้ไม่นานหากไม่ได้รับ การผ่าตัดแยกหลอดอาหารออกจากหลอดลม เพราะจะไม่สามารถกินอาหารทางปากได้เหมือนเด็กทั่วไป และค่าใช้จ่ายจากการผ่าตัดก็เป็นจำนวนที่มากเกินกว่าพ่อแม่แรงงานข้ามชาติค่าแรงวันละไม่กี่บาทจะหามาจ่ายได้  นอกจากนี้ โรงพยาบาลแม่สอดยังไม่มีความพร้อมทางด้านบุคลากรและเครื่องมือแพทย์สำหรับทำการผ่าตัดผู้ป่วยแรกเกิดในกรณีแบบนี้  เจ้าหน้าที่ฝ่ายสังคมสงเคราะห์โรงพยาบาลพม่าสอดเคยพูดถึงปัญหาสุขภาพของทารกสัญชาติพม่าให้ฟังว่า

ลูกแรงงานพม่าที่ป่วยหนักส่วนใหญ่จะไม่รอด 

 

ทว่า ปาฎิหารย์ครั้งแรกในชีวิตของทารกน้อยก็เกิดขึ้น เมื่อโรงพยาบาลแม่สอดตัดสินใจช่วยชีวิตเด็กน้อยด้วยการส่งไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หรือ โรงพยาบาลสวนดอก ในวันรุ่งขึ้นหลังจากลืมตาดูโลกเพียงไม่กี่ชั่วโมง   คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการผ่าตัดแยกหลอดอาหารออกจากหลอดลมจนสำเร็จ ทารกน้อยต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลสวนดอกเพื่อติดตามผลหลังการผ่าตัดเป็นเวลา 8 เดือนโดยไม่มีพ่อแม่ให้ความรักความอบอุ่น เนื่องจากพ่อแม่เป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีบัตรอนุญาตทำงาน จึงไม่สามารถเดินทางจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มาเยี่ยมลูกในจังหวัดเชียงใหม่ได้ 

          หลังจากผ่าตัด เด็กชายยังไม่สามารถกินอาหารทางปากได้ เนื่องจากต้องใช้เวลาฝึกกระตุ้นความอยากอาหาร  จึงจำเป็นต้องให้อาหารด้วยสายยางทางหน้าท้องไปจนกว่าเด็กสามารถกินอาหารได้เอง  ทางโรงพยาบาลสวนดอกได้ให้การดูแลเด็กน้อยเป็นอย่างดี โดยฝ่ายสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลได้นำเงินบริจาคจาก มูลนิธิราชสมาธรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 731,326 บาท มาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาเด็กชายผู้นี้  

          โรงพยาบาลสวนดอกได้ส่งเด็กกลับไปให้พ่อแม่เป็นผู้ดูแลเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549    เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถกินนมแม่ได้ พ่อแม่จำเป็นต้องซื้อนมผงมาชงให้  แต่ด้วยความยากจนพ่อแม่จึงไม่มีเงินซื้อนมผงมาให้ลูกเพียงพอกับความต้องการทำให้เด็กผอมแห้งและมีอาการขาดสารอาหาร  นอกจากนี้ การให้นมทางสายยางหน้าท้องยังเต็มไปด้วยความยุ่งยากเนื่องจากจะต้องให้นมทุก 4 ชั่วโมง และต้องต้มกระบอกฉีดยาหรือสลิงค์ให้สะอาดมิฉะนั้นเด็กจะติดเชื้อหรืออาจท้องเสียหากมีนมตกค้างอยู่ในท่อสายยาง  หลังจากดูแลลูกได้เพียงหนึ่งเดือน วันที่ 14 มิถุนายน 2549   พ่อแม่จึงนำเด็กมารักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด โดยหลังจากมาเยี่ยมลูกได้เพียงไม่กี่วัน พ่อแม่ของเด็กก็หายหน้าไปและไม่กลับมาอีกเลย  มีเพียงเพื่อนแรงงานพม่ามาเยี่ยมและบอกข่าวกับเจ้าหน้าที่ว่าพ่อแม่ของเด็กได้พาลูกชายคนโตหรือแฝดผู้พี่อพยพกลับไปอยู่ในฝั่งประเทศพม่าแล้ว มีเพียงป้าของเด็กยังทำงานรับจ้างในอำเภอแม่สอด ซึ่งไม่สามารถรับหลานชายที่มีปัญหาสุขภาพไปดูแลได้

          หลังจากฉันได้ยินเรื่องราวจากเจ้าหน้าที่แม่ตาวคลินิก ฉันเริ่มสนใจติดตามไปเก็บข้อมูลเพื่อเขียนสารคดีโดยไม่ได้คิดมาก่อนว่า อีกหนึ่งเดือนต่อมา เขาจะกลายมาเป็น ลูกชายต่างสายเลือดที่เป็นเหมือนแก้วตาดวงใจของฉันมาจนถึงนาทีนี้

           ฉันยังจดจำภาพแรกที่เห็นลูกกำลังหัดดูดนมจากขวดได้เป็นอย่างดี  วันนั้นพยาบาลเพิ่งหัดให้ดูดนมทางปากได้เพียงไม่กี่วัน  และลูกเพิ่งเริ่มกินนมได้ไม่ถึงครั้งละ 2 ออนซ์ ส่วนที่เหลือต้องให้ทางเครื่องอัตโนมัติ  แม้ว่าลูกจะอายุ 11 เดือนแล้ว แต่ลูกยังมีน้ำหนักเพียงแค่ 6 กิโลกรัมเท่านั้น  ขณะที่เด็กในวัยเดียวกันกำลังหัดเดินและพูดคุย  ลูกชายต่างสายเลือดของฉันกลับยังไม่เคยหัดคว่ำและคลานเนื่องจากมีสายยางให้อาหารติดอยู่บริเวณหน้าท้อง แม้แต่ลุกนั่งด้วยตนเองลูกก็ยังทำไม่ได้เลยด้วยซ้ำ               

          ในวินาทีแรกที่ฉันได้เห็นหน้าเด็กชายตัวเล็กนอนในกระบะเด็กแรกเกิด  ฉันรู้สึกเอ็นดูเด็กชายคนนี้อย่างประหลาด  คืนนั้น ฉันกลับไปนอนที่โรงแรมในแม่สอดและน้ำตาไหลเมื่อคิดถึงเด็กน้อย  เย็นวันรุ่งขึ้น  หลังจากเก็บข้อมูลที่อื่นเสร็จ ฉันชวนออย  เพื่อนรุ่นน้องที่เดินทางไปทำงานด้วยกันไปเยี่ยมเด็กชายคนนี้ที่โรงพยาบาล ซึ่งออยก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะถูกชะตาเด็กน้อยเช่นเดียวกันฉัน

          วันนั้น ขณะที่ฉันกำลังเดินเข้าไปเยี่ยม  เด็กชายกำลังร้องไห้อยู่ในกระบะเด็กแรกเกิดโดยไม่มีพยาบาลคนไหนว่างมาอุ้มปลอบใจ  ฉันรีบเข้าไปอุ้มจนเลิกร้องไห้ และเห็นรอยยิ้มปรากฏขึ้น  ฉันรู้สึกเชื่อมั่นว่า หากเด็กชายคนนี้ได้รับความรักอย่างพอเพียง  เขาจะต้องกลับมากินอาหารทางปากได้เหมือนเด็กทั่วไปในเร็ววัน  นาทีนั้น ฉันเริ่มคิดอยากพาเด็กคนนี้กลับไปอยู่เชียงใหม่กับฉันด้วย  ฉันและออยมีความคิดตรงกันว่า เราอยากดูแลเด็กคนนี้ และจะช่วยกันดูแลเขาจนกว่าจะหายเป็นปรกติ    

          ฉันปรึกษากับเจ้าหน้าที่แม่ตาวคลินิกว่า ต้องการพาเด็กคนนี้ไปดูแลจนกว่าจะหาย  เจ้าหน้าที่ให้เวลาฉันกลับไปเชียงใหม่เพื่อคิดทบทวนถึงภาระอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ให้รอบคอบ  และหากยังยืนยันว่าจะดูแลเด็กคนนี้ ค่อยกลับมาที่นี่อีกครั้งเพื่อรับตัวเด็กน้อยไปดูแล   

 

          หนึ่งเดือนหลังจากนั้น วันที่ 23 มิถุนายน 2549  ฉันและออยขับรถมุ่งหน้าไปยังอำเภอแม่สอด จังหวัดตากเพื่อรับตัวลูกชายต่างสายเลือดมาดูแล  เราสองคนช่วยกันตั้งชื่อให้ว่า สาละวิน แม่น้ำที่ไหลผ่านชายแดนตะวันตก และชื่อเล่นว่า วิน (win) เพื่อให้เขาชนะโรคร้ายและชนะใจทุกคนที่ได้เจอ

           นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ฉันก็กลายเป็นคุณแม่ผู้ไม่ต้องตั้งครรภ์และมีลูกชายอายุ 11 เดือนผู้เป็นเสมือนของขวัญจากฟากฟ้าที่ส่งมาให้ฉันบนชายแดนตะวันตกแห่งนี้ 

ต่างสายเลือดแต่หัวใจเดียวกัน  

          หากลูกเจ็บ แม่เจ็บยิ่งกว่า

ประโยคนี้ฉันมักได้ยินแม่พูดให้ฟังอยู่เสมอ  และแม่มักร้องไห้เวลาฉันหรือลูก ๆ คนอื่นไม่สบาย   ฉันเพิ่งเข้าใจประโยคนี้เมื่อเห็นลูกชายต้องเจ็บไข้ได้ป่วย  ฉันมักร้องไห้ทุกครั้งที่เห็นลูกไม่สบาย โดยเฉพาะเมื่อป่วยหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล

 

          เนื่องจากน้องวินมีปัญหาสุขภาพมากกว่าเด็กทั่วไป  การดูแลน้องวินจึงไม่ง่ายนัก  เริ่มจากการกินอาหารทางสายยาง ซึ่งต้องต้มสลิงค์ให้สะอาดทุกครั้ง  และเนื่องจากน้องวินยังไม่รู้จักความรู้สึกหิว จึงต้องคอยตั้งนาฬิกาให้นมทางสายยางทุก 4 ชั่วโมงตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน  นอกจากนี้  น้องวินยังมีปัญหาด้านปอด ซึ่งทำให้หายใจไม่สะดวกและต้องคอยสังเกตว่าหากมีเสมหะมากเกินไปจะต้องพาไปดูดที่โรงพยาบาล  ฉันและออยจึงต้องช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด  โดยในช่วงแรก ออยได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านของฉันเพื่อช่วยกันดูแลน้องวิน หลังจากนั้นจึงผลัดกันเลี้ยงที่บ้านของแต่ละคนตอนกลางคืน ส่วนกลางวันเลี้ยงที่สำนักงาน โดยมีน้อง ๆ คนอื่น ๆ ผลัดกันช่วยดูแล

          ในตอนแรกที่ฉันและออยตัดสินใจพาน้องวินมาดูแล  ไม่มีใครรู้ว่า อีกนานเท่าไหร่น้องวินจะสามารถกินอาหารทางปากและหายเป็นปรกติ  ทว่า นับตั้งแต่คืนแรกที่มาอยู่กับฉัน น้องวินก็เริ่มกินนมทางปากเพิ่มจาก 2 ออนซ์เป็น 6 ออนซ์ต่อครั้ง  และเริ่มกินอาหารอ่อน ๆ ทางปากได้ในอีกไม่กี่วันต่อมา 

 

หลังจากนั้นเพียงสองสัปดาห์ปาฎิหารย์ครั้งที่สองในชีวิตของลูกก็เกิดขึ้น   

          วันนั้น  สายยางให้อาหารหลุดออกมาจากหน้าท้องทำให้นมที่กินเข้าไปไหลออกมา  ฉันรีบพาไปโรงพยาบาล หมอบอกว่า สายยางด้านในมีรอยขาดทำให้หลุดออกมา หากน้องวินยังกินอาหารทางปากไม่ได้ หมอจะต้องผ่าตัดเพื่อใส่สายยางเชื่อมต่อไปยังกระเพาะอีกครั้ง  นาทีนั้น ฉันเริ่มใจไม่ดีเพราะกลัวลูกจะต้องเจ็บตัวอีก  แต่หลังจากหมอทราบว่า น้องวินเริ่มหัดกินอาหารทางปากได้บ้างแล้ว หมอจึงดึงสายยางออกทั้งหมดและทำการปิดแผลด้วยผ้าก็อซ  หมอบอกว่า  ถ้าน้องวินยังคงกินอาหารทางปากได้ดีก็ไม่จำเป็นต้องกลับมาผ่าตัดใส่สายยางที่หน้าท้องอีก  ฉันยังจำได้ดีว่า ลูกยิ้มและหัวเราะอย่างมีความสุขเมื่อหมอนำสายยางออกไปจากหน้าท้อง  เมื่อไร้ซึ่งพันธนาการที่หน้าท้อง  ไม่นานนัก ลูกก็สามารถคว่ำ คลาน ยืน เดิน และวิ่งอย่างคล่องแคล่วในปัจจุบัน

          นอกจากลูกจะกินอาหารทางปากในเวลารวดเร็วกว่าที่คิด ปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ก็ค่อย ๆ หายไป  ทั้งรูรั่วในหัวใจซึ่งมีขนาดเล็กไม่เกิน 5 มิลลิเมตรก็ปิดตัวไปเองโดยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด   และปัญหาเสมหะก็ค่อย ๆ ลดลงจนหายไปเอง  

          ปัญหาสุขภาพที่ยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิด คือ ระมัดระวังไม่ให้ลูกกินอาหารชิ้นใหญ่ หรือห้ามกินอาหารที่สามารถพองตัวมากขึ้นเมื่อเจอน้ำลายในปาก  เนื่องจากหลอดอาหารจะมีรอยต่อหลังการผ่าตัดทำให้บริเวณนั้นยึดหยุ่นไม่ดี หากกินอาหารชิ้นใหญ่เกินไปกล้ามเนื้อบริเวณรอยต่อจะยึดหยุ่นไม่ดีทำให้ลูกอาเจียนออกมา  ปัญหานี้จะหมดไปก็ต่อเมื่อลูกโตขึ้น  เพราะหลอดอาหารจะขยายตามขนาดตัว และลูกเริ่มรู้จักเคี้ยวอาหารให้ละเอียด  ด้วยเหตุนี้ ลูกจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในช่วงวัยเด็ก  

          ตลอดเวลาเกือบสองปี  ลูกเคยเข้านอนโรงพยาบาลสามครั้ง  ครั้งแรก เป็นไข้ตัวร้อนจัด นอนโรงพยาบาลเอกชนสามวัน เสียค่าใช้จ่ายหมื่นกว่าบาท  ครั้งที่สอง เนื่องจากกล้วยน้ำว้าติดคอ  ขณะนั้นอายุได้ประมาณปีกว่า  ลูกแอบกัดกล้วยน้ำว้าที่อาม่า (แม่ของฉัน) ถืออยู่ในมือเข้าไปคำใหญ่ขนาดเกือบเท่านิ้วก้อยผู้ใหญ่  กล้วยชิ้นนี้ลงไปติดบริเวณรอยต่อที่ผ่าตัด  ลูกจึงกินน้ำ นม หรืออาหารอื่น ๆ ตามลงไปไม่ได้  ส่งผลให้ลูกต้องเข้าไปนอนโรงพยาบาลถึงห้าวัน เพราะต้องเข้าห้องผ่าตัด ดมยาสลบ และคีบกล้วยออกมาจากทางลำคอ  เสียค่าใช้จ่าย ประมาณเจ็ดพันบาท และครั้งที่สาม เนื่องจากเป็นหวัดลงปอด นอนโรงพยาบาลเกือบหนึ่งอาทิตย์  เสียค่าใช้จ่ายประมาณเจ็ดพันบาท  

          สิ่งที่ทำให้ฉันทุกข์ใจมากกว่าการเสียเงินค่ารักษา คือ ความเจ็บปวดที่ลูกได้รับระหว่างการรักษา โดยเฉพาะเมื่อต้องเจาะหาเส้นเลือดเพื่อให้น้ำเกลือ  เนื่องจากลูกต้องผ่าตัดตั้งแต่ยังเป็นทารกน้อยและนอนโรงพยาบาลนานเกือบปี  เส้นเลือดของลูกจึงเปราะบางและถูกเจาะให้น้ำเกลือจนพรุนไปหมด เมื่อลูกต้องเข้าโรงพยาบาลอีก พยาบาลจึงเจาะหาเส้นเลือดสำหรับให้น้ำเกลือยากมาก  บางครั้งต้องเจาะที่ใต้ฝ่าเท้า ใต้ฝ่ามือซึ่งเป็นเนื้อที่บางทำให้เจ็บมาก  หนักที่สุด คือ เจาะบนหัว   ภาพเหล่านี้ทำให้ฉันร้องไห้จนตาบวม ยิ่งได้ยินเสียงลูกร้องลั่นเวลาถูกเข็มฉีดยาเจาะไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย  ฉันต้องกอดลูกไว้แล้วร้องไห้ไปพร้อมกับลูก  ไม่เพียงแค่ฉัน    อาม่า (แม่ของฉัน) ก็มักจะร้องไห้ตามเมื่อเห็นหลานชายต่างสายเลือดต้องเจ็บตัว เพราะอาม่ารักน้องวินมากเหมือนกับหลานในไส้  และมักร้องไห้ให้ได้ยินทางโทรศัพท์ทุกครั้งที่รู้ว่า น้องวินไม่สบายมาก   

สิ่งที่ฉันกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพของลูก คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งฉันไม่สามารถทำบัตรประกันสุขภาพ หรือซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันทั่วไปให้ลูกได้  เพราะน้องวินเป็นเด็กไร้สัญชาติและมีปัญหาด้านสุขภาพมาตั้งแต่แรกเกิด 

ทุกครั้งที่ลูกป่วย ไม่ว่าจะเข้ารักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน  ฉันจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาทั้งหมด ซึ่งหากสามารถทำบัตรประกันสุขภาพได้ก็คงจะช่วยลดความกังวลใจลงไปได้บ้าง เพราะโอกาสที่ลูกเจ็บป่วยมีมากกว่าเด็กทั่วไป   

 

ปัจจุบัน น้องวินอายุสองขวบครึ่งและเข้าเรียนที่ชั้นเตรียมอนุบาล 1 ที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่  สุขภาพของลูกแข็งแรงขึ้นมาก แต่ยังคงเจ็บป่วยตามฤดูกาลเหมือนกับเด็ก ๆ ทั่วไป น้ำหนักของน้องวินปัจจุบันอยู่ที่ 10 กิโลกรัมกว่า ๆ  เมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นแล้วเรียกว่าค่อนข้างน้อย  แต่หากเทียบกับตัวของลูกเมื่อตอนอายุ  11 เดือนเพียง  6 กิโลกรัม  เรียกว่าโตขึ้นมากทีเดียว    

ด้วยความรักจากผู้คนรอบข้างทำให้ลูกเติบโตมาเป็นเด็กอารมณ์ดีและเป็นที่รักของทุกคนในวันนี้   สิ่งที่น่าตลกก็คือ วันที่ฉันพาลูกมาจากโรงพยาบาลแม่สอด  พยาบาลได้สอนฉันถึงวิธีนวดเหงือกเพื่อกระตุ้นต่อมน้ำลายให้ลูกรู้สึกอยากอาหารและกินทางปากได้ดี  แต่จนถึงวันนี้  ฉันยังไม่เคยมีโอกาสใช้วิธีดังกล่าวเลย  เพราะลูกกินเก่งมากจนทุกคนที่เห็นไม่อยากเชื่อว่า ลูกมีปัญหากินทางปากไม่ได้มาก่อน

เรื่องตลกอีกเรื่องหนึ่งก็คือ น้องวินเป็นเด็กที่กินยาเก่งมาก  ขณะที่เด็กส่วนใหญ่ร้องไห้กระจองอแงเวลาต้องกินยา  แต่ลูกชายของฉันกลับวิ่งเข้าหาฉัน แล้วคุกเข่าอ้อมวอนกอดขาฉันข้างหนึ่งเพื่อขอกินยาเพิ่มหลังจากกินจนครบทุกขวดไปแล้ว !  ฉันหัวเราะจนน้ำตาไหลเพราะไม่เคยเห็นเด็กคนไหนชอบกินยาเท่ากับลูกชายของฉันมาก่อน

          จวบจนวันนี้เป็นเวลาเกือบสองปีแล้วที่ฉันเลี้ยงดูลูกชายต่างสายเลือดคนนี้  ความรักความผูกพันระหว่างเรามีมากมาย จนฉันสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า สายเลือดที่แตกต่างไม่ได้ทำให้ความผูกพันระหว่างเราลดน้อยลงเลย  ตรงกันข้ามมันกลับทำให้ฉันยิ่งรักลูกมากขึ้น และอยากทำให้ลูกเชื่อมั่นว่า แม่ที่ไม่ได้อุ้มท้องและคลอดเขาออกมาสามารถให้ความรักเขาได้ไม่น้อยไปกว่าแม่คนไหน ๆ ในโลกใบนี้ 

...................................................................................    

คำสำคัญ (Tags): #รายงานวิจัย
หมายเลขบันทึก: 165691เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2008 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท