ว่าด้วยนิยาม/ความหมายในงานวิจัย Health For Stateless


-ยังไม่หมด-

          ว่าด้วย ‘คน

  • “คนไร้รัฐ” หมายถึง ใครก็ตามที่ไม่มีรัฐหนึ่งรัฐใดบนโลกใบนี้ยอมรับ และ/หรือถูกรัฐปฎิเสธความเป็นราษฎรหรือพลเมือง เมื่อการได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติจะทำให้บุคคลได้รับเอกสารทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวที่ระบุเลขประจำตัว 13 หลัก ดังนั้น คนไร้รัฐจึงอาจถูกรู้จักในอีกนิยามหนึ่งว่า “คนไม่มีเลข 13 หลัก”
  • “คนไร้สัญชาติ” หมายถึง ใครก็ตามที่ไม่มีรัฐหนึ่งรัฐใดบนโลกนี้ยอมรับว่ามีสัญชาติแห่งรัฐนั้น
  • “แรงงานต่างด้าว” นอกจากจะหมายถึง แรงงานจากประเทศพม่า กัมพูชาและลาว ซึ่งรัฐไทยกำหนดให้แรงงาน  3 สัญชาตินี้ สามารถมาขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานได้ชั่วคราวแล้ว โดยคนกลุ่มนี้จะมีสถานะบุคคลเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยในเมืองไทยได้เป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาการอนุญาตทำงาน (แรงงานที่ขึ้นทะเบียนโดยถูกต้องจะได้รับบัตรประจำตัว ในบัตรดังกล่าวจะได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก โดยขึ้นต้นด้วยเลข 00) ยังหมายรวมถึงแรงงานที่ปรากฎตัวอยู่จริงในรัฐไทย แต่ไม่ได้มาขึ้นทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานด้วย หรือแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย
  • “ผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว” หมายถึง ครอบครัวหรือญาติของแรงงานต่างด้าวผู้ขึ้นทะเบียน
  • “คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล” หมายถึง ใครก็ได้ที่ไม่มีเอกสารหรือหลักฐานแสดงตนประเภทใดเลย
  • “คนไร้สถานะทางทะเบียน”  สังคมไทยเริ่มรู้จักคนกลุ่มนี้ในปี 2548 นับจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ “ยุทธศาสตร์จัดการปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ” ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การออกระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.2548 ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วได้แก่ คนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวภายใต้ระเบียบฯ ดังกล่าว       ภายใต้ระเบียบฯ ดังกล่าว คนไร้สถานะทางทะเบียน ถูกนิยามว่า “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” โดยให้ความหมายว่าหมายถึง “บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแต่ไม่มีรายการในทะเบียนบ้าน (ท.ร.13 และ ท.ร.14) เนื่องจากไม่ปรากฎหลักฐานยืนยันถิ่นกำเนิ หรือประวัติของบุคคล หรือมีหลักฐานไม่เพียงพอที่นายทะเบียนจะพิจารณาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ไม่อยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือรัฐไม่มีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ” ในทางปฏิบัติ คนกลุ่มนี้รู้จักกันในอีกนิยามว่า “คนถือบัตรเลข 0” เนื่องจากเลขประจำตัวตัว 13 หลักที่ปรากฎบนบัตรของคนกลุ่มนี้ เลขหลักแรกขึ้นต้นด้วยเลข 0

         ว่าด้วย หลักฐานทางทะเบียนราษฎร'

  •  “เอกสารทางทะเบียนราษฎร” ได้แก่เอกสารที่รัฐออกให้แก่ประชาชนเพื่อรับรองหรือแสดงข้อมูล 2 ประเภท คือ เอกสารทางทะเบียนราษฎรที่รับรองหรือแสดงข้อมูลถิ่นที่อยู่หรือภูมิลำเนาของบุคคล ได้แก่ ทะเบียนบ้าน ซึ่งประกอบไปด้วยทะเบียนบ้านสำหรับคนที่มีสัญชาติไทย รวมถึงคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ถาวร (ท.ร.14) และทะเบียนสำหรับคนต่างด้าวที่ไม่มีสัญชาติไทย และมีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว (ท.ร.13) กับเอกสารทางทะเบียนราษฎรที่รับรองหรือแสดงข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ใบเกิดหรือสูติบัตร ซึ่งมี 2 ประเภทคือ ท.ร.1 และ 2 สำหรับคนผู้มีสัญชาติไทย, ท.ร.3 สำหรับคนผู้ไม่มีสัญชาติไทย, ฯลฯ เอกสารเหล่านี้อาจถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็น “เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล”
  •  “เลข 13 หลัก” หมายถึง เลขชุดหนึ่งที่ระบบคอมพิวเตอร์ของฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรกำหนดให้กับประชาชนทุกคน เรียกว่า “เลขประจำตัวประชาชน” (Personal Individual Digit หรือ PID) โดยความหายของเลข 13 หลัก นั้นประกอบไปด้วย 5 ส่วน คือ

           0  0000  00000  00  0
   
-ส่วนที่ 1        มี 1-2 หลัก หมายถึง ประเภทบุคคลซึ่งมี 11 กลุ่ม
          -
ส่วนที่ 2        มี 4 หลัก หมายถึง สำนักทะเบียนที่ออกเลขบัตรประจำตัว
          -
ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4    รวมกันมี 7 หลัก หมายถึง ลำดับที่ของบุคคลในแต่ละประเภทของแต่ละสำนักทะเบียน
           -
ส่วนที่ 5       มี 1 หลัก หมายถึงเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขประจำตัวประชาชนทั้งหมด

           รายละเอียดของแต่ละส่วน
          
0  0000  00000  00  0


   
กลุ่มเลขตัวแรก ขึ้นต้นต่างกัน หมายถึงคนกลุ่มที่ต่างกัน

  • ขึ้นต้นด้วยเลข 0   คือบุคคลตามยุทธศาสตร์จัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล 18 มกราคม 2548
  • เลข 00  คือ แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา
  • เลข 1   คนสัญชาติไทยโดยการเกิด แจ้งเกิดภายในกำหนด (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2527)
  • เลข 2   คนสัญชาติไทยโดยการเกิด แจ้งเกิดเกินกำหนด (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2527)
  • เลข 3   คนสัญชาติไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งมีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2527
  • เลข 4   คนสัญชาติไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และได้มีการย้ายเข้ามาในทะเบียนบ้าน ขณะยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชน (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2527)
  • เลข 5  คนไทยที่ได้รับออนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านกรณีตกสำรวจ หรือกรณีอื่น
  • เลข 6  คนเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับการผ่อนผันให้สิทธิอาศัยชั่วคราว
  • เลข 7  บุตรของคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายซึ่งได้รับการผ่อนผันให้สิทธิอาศัยชั่วคราว 
  • เลข 8  คนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมายมีถิ่นที่อยู่ถาวร (มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว) , คนที่ได้รับสัญชาติตามกฎหมาย ภายหลังการเกิด (การแปลงสัญชาติเป็นไทย)

           0  0000  00000  00  0
  
ส่วนที่ 2     ประกอบไปด้วยเลข 4 หลัก โดยเลข 2 ตัวแรก เป็นเลขจังหวัด อาทิ กทม. คือ 10, ชลบุรี คือ 20 ส่วนเลข 2 ตัวหลัง เป็นเลขของสำนักทะเบียนอำเภอ เขต หรือเทศบาล เริ่มที่ 01 คืออำเภอเมืองแล้วเรียงลำดับไปจนครบทุกอำเภอ/กิ่งอำเภอ เช่น จังหวัดยะลา อำเภอเมือง คือ 9501, อำเภอรามันคือ 9506

           0  0000  00000  00  0
   
ส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4  รวมกันมี 7 หลัก หมายถึงลำดับที่ของบุคคลในแต่ละประเภทของแต่ละสำนักทะเบียน  เลขส่วนที่ 3 มี 5 หลัก เป็นกลุ่มเลขกำกับลำดับของประชาชนแต่ละประเภท, ส่วนที่ 4 มี 2 หลัก เริ่มที่ 00-99 เป็นกลุ่มเลขกำกับลำดับของประชาชนแต่ละประเภท จำนวน 100 คน
         
แต่ถ้าเป็นคนประเภทที่ 6 (คนต่างด้าว) เลข 2 หลักแรกของกลุ่มจะเป็นตัวกำหนดกลุ่มให้กับกลุ่มชาติพันธุ์หรือประเภทของผู้ทำบัตร เช่น 50xxx เป็นกลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูงตามจำนวนลำดับที่มีชื่ออยู่ในสำนักทะเบียนนั้น

           0  0000  00000  00  0
   
ส่วนหลักที่ 5 มี 1 หลัก หมายถึงเลขทีใช้ตรวจสอบความถูกต้องของเลขประจำตัวประชาชนทั้งหมดที่ระบบคอมพิวเตอร์ออกให้           ว่าด้วย ‘สิทธิในสุขภาพ 
  • “บริการสาธารณสุข” ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หมายถึง บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคการตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ทั้งนี้ให้รวมถึงการบริการการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ
  • “บริการสุขภาพ” เป็นคำที่ใช้เรียกบริการสาธารณสุข ในความหมายที่กว้างกว่าคำว่าบริการสาธารณสุข (อำพล จินดาวัฒนะ ใช้คำว่า “บริการสาธารณสุข” ในความหมายเดียวกับ “บริการสุขภาพ” แต่ ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย แบ่งบริการสุขภาพ เป็นบริการรายบุคคล (UC) และบริการสาธารณสุข (Non UC)

          -ยังไม่หมด-

หมายเลขบันทึก: 165641เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2008 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท