แกะรอย นักวิจัยทีม Health for Stateless


หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Coverage: UC) ..จาก 30 บาทรักษาทุกโรคสู่ 30 บาทช่วยคนไทยห่างไกลโรค

-บทนำ- 

ประชากรในสังคมไทยได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Coverage: UC) ภายใต้ชื่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

ในช่วงที่สังคมไทยมีการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ในปีพ.ศ. 2544[1]  ด้วยแนวคิดที่ว่า คนทุกคนไม่ควรต้องกังวลเรื่องเงินทอง เมื่อจะไปใช้บริการทางการแพทย์ เพื่อไม่ให้การเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลเป็นเรื่องของโชคชะตา โอกาส หรือการเลือกปฏิบัติว่าสังกัดหลักประกันชนิดใด มิใช่การสงเคราะห์ หากเป็นสิทธิและความเท่าเทียมกันของทุกคนที่จะได้รับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่จำเป็น หรือ “สุขภาพ” เป็นเรื่องของคนทุกคนและเพื่อทุกคน (All for Health and Health for all)

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองสิทธิในการเข้าถึงและได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง[2]

ประกอบกับการนำนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลชุดทักษิณ ชินวัตรใช้หาเสียงแปรสู่ทางปฏิบัติ

การเข้าถึงและใช้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า “ผู้มีสิทธิ” ได้รับการบริการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน โดยต้องร่วมจ่ายค่าบริการ (Co-Payment) เป็นเงิน 30 บาท ต่อครั้ง”[3]

ณ เวลานั้น แม้หลายคนจะคลางแคลงใจต่อระดับของคุณภาพของบริการสาธารณสุขที่จะได้รับ แต่ไม่มากก็น้อย-“บัตรทอง” หรือ “30 บาท รักษาทุกโรค” ได้เริ่มต้นสร้างความรับรู้และชวนประชากรในสังคมไทยเชื่อถึง หลักประกันทางสุขภาพ 

ช่วงแรกของการดำเนินงาน จนถึงก่อนหน้าปี 2546 ประชากรในรัฐไทยสามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เป็น ผู้ที่ยังไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายหรือระเบียบอื่นๆ ของรัฐอยู่ก่อนแล้ว (ได้แก่ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว ลูกจ้างที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ประกันสังคม ฯลฯ) และมีชื่อในทะเบียนบ้านพื้นที่ที่กำหนด [4]

 อาจกล่าวได้ว่า การเริ่มต้นของบัตในทางปฏิบัติทั้งนี้ด้วยเหตุผลของการบริหารจัดการ แต่อาจกล่าวได้ว่า มันได้เริ่มต้นแนวคิดการผูกติดสิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพหรือการมีบัตรทอง เข้ากับ “ทะเบียนบ้าน” และ/หรือ “เลข 13 หลัก” 

ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้จะไม่ใช่ผู้มีสัญชาติไทย โดยอาจเป็นคนที่อพยพเข้ามาในรัฐไทย (คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย) เด็กหรือคนที่เกิดในอาณาเขตรัฐไทย แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทยเนื่องจากเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายสัญชาติ[5]  หรือเป็นคนไทย แต่ไม่ถูกนับว่าเป็นคนไทย ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ มีชื่อในทะเบียนบ้านคนต่างด้าว (ท.ร.13) และมีบัตรประจำตัว หรือผู้ถือบัตรสีบางกลุ่ม ก็จะได้รับบัตรทองนี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อมีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ตามมาตรา 5  ระบุว่าคนที่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสามารถมีบัตรทองได้ หรือ “ผู้ทรงสิทธิ” ได้แก่  “บุคคล” ซึ่งนำไปสู่การตีความ/สร้างความหมายนิยามทั้งในระหว่างขั้นตอนการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว[6] และหลังจากที่กฎหมายประกาศบังคับใช้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตีความว่า ความหมายครอบคลุมเฉพาะ บุคคลที่เป็นประชาชนชาวไทยเท่านั้น[7] 

นับจากนั้นมา หลายองค์กร-หน่วยงานที่มีโอกาสได้ไปทำงานในพื้นที่ที่มีชนกลุ่มน้อยหรือคนไทยที่ไม่ถูกนับว่าเป็นคนไทยอาศัยและปรากฎตัวอยู่ ต่างก็พบว่าบัตรทองที่ผู้ถือบัตรสีเคยมีไว้ในครอบครองนั้น เริ่มทยอยถูกเรียกคืนอย่างต่อเนื่อง

สถานพยาบาลอย่างน้อย 2 แห่งซึ่งให้บริการด้านสุขภาพแก่คนไข้ที่เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หากแต่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ได้ทำหนังสือหารือถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงแนวทางการดำเนินงานด้านหลักประกันสุขภาพ กล่าวคือ กรณีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ต้องการขอรับเงินชดเชยจากการอนุเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลคนต่างด้าว (ปข. 0027.201.6/8969 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2546) และสถานพยาบาลในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเกิดความไม่ชัดเจนว่าทางสถานพยาบาลจำเป็นต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนและออกบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ “ประชากร” กลุ่มนี้หรือไม่ (มส.0027.005/10838 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2546) สปสช.ตอบหนังสือหารือด้วยสาระใจความเดียวกันว่า

“บุคคลที่จะมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขในมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2544 นั้น หมายถึงบุคคลที่มีสัญชาติไทย ทั้งนี้เพราะพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2544 บัญญัติขึ้นตามมาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งอยู่ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย.. คำว่า “ชนชาวไทย” หมายถึงบุคคลที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ จึงไม่ครอบคลุมถึงคนต่างด้าว” ทางสปสช. จึงไม่สามารถจ่ายค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคนต่างด้าวได้” (สปสช.03/01 ลงวันที่ 5 มกราคม 2547)

และยืนยันว่า

“สิทธิในการรับบริการสาธารณสุขของบุคคลที่ไม่ปรากฎสัญชาติ จึงอยู่นอกเหนือบทบาทอำนาจหน้าที่ของสปสช. ที่จะดำเนินการ” (สปสช.03/518 ลงวันที่ 30 มกราคม 2547)

เดือนกรกฎาคม 2548[8]  รัฐไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศเปลี่ยนโครงการ “จาก 30 บาทรักษาทุกโรคสู่ 30 บาทช่วยคนไทยห่างไกลโรค” อย่างเป็นทางการ

ผู้ถือบัตรทองที่ถูกเรียกคืน, คนอีกจำนวนที่ไม่สามารถเข้าถึงบัตรทองได้อีกต่อไป หรือกลุ่มคนที่ซึ่งมีจำนวนประมาณมากกว่า 1 ล้านคน เป็นคนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาการตีความข้างต้น กล่าวได้ว่าการตีความดังกล่าวมีผลไม่ต่างจากการกีดกัน (exclude) คนจำนวนนี้ออกจากการเข้าถึงและการใช้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

   



[1] ก่อนการปฏิรูประบบสุขภาพในปีพ.ศ.2544 รัฐไทยดำเนินระบบประกันสุขภาพใน 4 ลักษณะต่อคน 4 กลุ่มได้แก่ 1)ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ข้าราชการบำนาญและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งบุคคลในครอบครัว, 2)ระบบประกันสังคมภาคบังคับสำหรับลูกจ้างในสถานประกอบการภาคเอกชน ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 3)ระบบสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมช่วยเหลือเกื้อกูล เช่น โครงการสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) โครงการบัตรประกันสุขภาพ 500 บาท ฯลฯ และ 4)การประกันสุขภาพเฉพาะด้าน เช่น พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2533 ปรากฎว่ามีประชาชนอีกประมาณร้อยละ 30 ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ เลย, ดูคู่มือหลักประกันสุขภาพ สำหรับประชาชน, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2547, หน้า 14-16

[2] http://nutrition.anamai.moph.go.th/1675/new1675/Html/nmenu18/nm1806.html

[3] http://nutrition.anamai.moph.go.th/1675/new1675/Html/nmenu18/nm1804.html

[4] ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2544 และ ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2544 กำหนดว่า “ผู้ที่มีสิทธิ” ได้แก่ บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านในพื้นที่จังหวัดที่ระเบียบนี้ฯ (ข้อ 11) ใช้บังคับ

ในระยะเริ่มต้น เริ่มจาก 6 จังหวัด และระยะที่ 2 อีก 15 จังหวัด รวมเป็น 21 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สระบุรี เพชรบุรี นครสวรรค์ สุโขทัย แพร่ เชียงใหม่ พะเยา นครราชสีมา สุรินทร์ หนองบังลำภู ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สระแก้ว ภูเก็ต นราธิวาส และยะลา และคาดว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2544 – 1 เมษายน 2545 จะดำเนินการในพื้นที่ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดของประเทศ

[5] ไม่ได้สัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิตจากพ่อหรือแม่ที่เป็นคนไทย ตามมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2,3 พ.ศ.2535 และไม่ได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดนเพราะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 7 ทวิ

[6] ดู กิติวรญา รัตมณี, รายงานวิจัยชุดโครงการทบทวนกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิในสุขภาพการจัดหลักประกันทางสุขภาพ (B)

[7] สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. รายงานประจำปี การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2548. นนทบุรี : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ; 2549.

[8] สธ.อัดงบ 8 หมื่นล. พยุงรักษา 30 บาทมุ่งส่งเสริมสุขภาพ,
หมายเลขบันทึก: 165522เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2008 02:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท