การจากลาแผ่นดินไทยของพ่อ(หม่องละ)...การเดินทางของเรื่องเล่า-2-ปิดท้าย/เพิ่มเติมแล้ว


“เคยคุยกันในครอบครัวว่าถ้ามีเงินก็จะไปจ่ายบ้างเพราะเจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่าจะได้เอาเงินไปช่วยเหลือคนอื่นๆด้วย แต่ก็น้อยใจ พี่ชายก็กลัวเขาถูกขู่บ่อยเพราะเขาอยู่เฝ้าพ่อตลอด”

(ปิดท้าย) 

โดย  ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว  วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551

_________________________________________

         

          แม่น้ำเงา  ที่ใสจนมองเห็นก้อนหินใต้ลำน้ำ ยังอยู่ในความทรงจำเมื่อครั้งที่ไปเยือนบ้านท่าเรือครั้งแรกเมื่อราวปี 2543

 

          หากเริ่มต้นจากเชียงใหม่  เดินทางผ่านเส้นทางสายเชียงใหม่-หางดง-สันป่าตอง-ฮอด-แม่สะเรียงจนถึงสบเมย ใช้ระยะเวลาร่วม 4  ชั่วโมง  จากนั้นก็สามารถเดินทางต่อโดยเรือที่ท่าห่างจากอ.สบเมยประมาณ 16  กิโลเมตรซึ่งติดกับสะพานเขตรอยต่อของสองจังหวัด ฟากหนึ่งของลำน้ำคืออ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ขณะที่อีกฟากฝั่งคือ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยล่องตามลำน้ำเงาราว 40 นาทีก็จะถึงหมู่บ้านท่าเรือที่อยู่ติดริมน้ำ  ค่าเรือโดยสารปัจจุบันอยู่ที่คนละ 80 บาท แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นแล้วต้องเหมาเรือออกมาก็ต้องเสียค่าเหมาเรือกว่า 600-700 บาท เลยทีเดียว

 

           โดยในฤดูหนาวและฤดูร้อนสามารถเดินทางโดยเส้นทางรถ ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงจึงถึงตัวอำเภอ แต่เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีรถ ดังนั้นการฌดินทางโดยรถจะเป็นไปได้เมื่ออาศัยรถชาวบ้านที่ผ่านทาง  เส้นทางเรือจึงเป็นการเดินทางหลักของชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงก็ตาม

 

           บ้านท่าเรือ เป็นชุมชนเล็กๆราว 21 ครอบครัว จำนวน 78 คน เป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านห้วยไชยยงค์  ก่อตั้งมาราว 40 ปี จากเดิมที่เป็นพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ จนปิดเหมืองเมื่อปี 2524 แต่มีคนงานบางส่วนที่ยังตั้งรกรากอยู่ที่นี่ต่อ โดยนายหม่องละเป็นหนึ่งในคนงานเหมืองที่อพยพมาจากพม่าแล้วไม่เดินทางกลับ และเป็นผู้นำชุมชนมาตั้งแต่ปี 2540 จนกระทั่งเสียชีวิต

 

        ข้าพเจ้ายังจดจำปราชญ์ปกากะญอที่พยายามผลักดันให้คนในชุมชนเล็กๆร่วมมือร่วมใจกันไปจนถึงแสดงตัวตนต่อชุมชนภายนอกให้เป็นที่ยอมรับ  ซึ่งทั้งหมดได้ส่งผ่านมาที่ลูกสาวตัวน้อยคือ มึดา ในวันนี้ได้อย่างชัดเจน

 

        เนื่องจากคนที่มาอาศัยอยู่ที่บ้านท่าเรือทั้งที่อพยพมาจากพม่าและมาจากหมู่บ้านในประเทศไทยเองต่างไม่มีเอกสารแสดงตนอะไรเลย และเมื่อมีการสำรวจของทางราชการในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลายรอบ แต่เนื่องจากชุมชนบ้านท่าเรือยังอยู่อาศัยกันกระจัดกระจาย(นายหม่องละมีความพยายามในการให้ชาวบ้านมาอยู่รวมกันเป็นชุมชน)  รวมไปถึงทัศนคติของเจ้าหน้าที่ที่มองว่าเป็นคนอพยพมาจากพม่า ทำให้ชุมชนนี้ไม่เคยได้รับการสำรวจ

         จนการสำรวจบัตรสีเขียวขอบแดง หรือบัตรชุมชนบนพื้นที่สูง เมื่อปี 2542 เป็นครั้งแรกที่ได้รับการสำรวจ แต่ทางอำเภออ้างว่าเอกสารสูญหายทำให้ไม่ได้รับบัตร กระทั่งปี 2546 ชาวบ้านจึงได้รับบัตร แต่ยังมีบางส่วนที่ตกสำรวจ 

         นายหม่องละ ถือบัตรเขียวขอบแดง คือมีสถานะ เป็นคนต่างด้าวได้รับสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว และในปี 2548 ได้ยื่นขอสถานะ คนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมติคณะรัฐมนตรี 28 สิงหาคม 2544 พร้อมกับภรรยา แต่ยังไม่มีความคืบหน้าโดยเรื่องอยู่ที่กรมการปกครอง ซึ่งนายหม่องละไม่ประสบปัญหาความไร้รัฐ แต่ยังประสบปัญหาไร้สัญชาติ หากนายหม่องละได้สถานะที่ยื่นขอแล้วหลังจากนั้นนับไปอีก 5 ปี นายหม่องละก็สามารถยื่นขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ เขาก็จะไม่ประสบปัญหาความไร้สัญชาติอีกต่อไป เพียงแต่นายหม่องละจากลาแผ่นดินไทยไปเสียก่อน

           ส่วนมึดาเองก็ได้ยื่นขอสัญชาติไทย ไปพร้อมกับพ่อแม่ ตามพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับแก้ไข พ.ศ.2535 มตรา 7 ทวิ และมติคณะรัฐมนตรี 28 สิงหาคม 2544 เพราะมึดาเกิดในประเทศไทย แต่การสัญชาตินั้นต้องให้รัฐมนตรีลงนาม ซึ่งคำร้องของมึดาก็อยู่ที่กรมการปกครองกับคำร้องของครอบครัว โดยยังไม่มีคำตอบว่าจะได้รับสัญชาติไทยเมื่อใด 

          ก่อนหน้าที่พ่อจะล้มป่วยในปี 2548 มึดาเล่าว่า ได้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลสบเมยเพื่อขอทำบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าทำได้เฉพาะคนไทย

 

           ในช่วงแรกบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)  เรียกกันง่ายๆว่า 30 บาทรักษาทุกโรค   ได้ออกให้ บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย ด้วย  เช่น ผู้ถือบัตรสำรวจบุคคลบนพื้นที่สูง(บัตรสีฟ้า)  บัตรสำรวจชุมชนบนพื้นที่สูง(บัตรเขียวขอบแดง) เพราะบุคคลเหล่านี้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทร. 13 ซึ่งเป็นทะเบียนบ้านชั่วคราว

 

             เนื่องจากในระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2544 และ ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2544 กำหนดว่า ผู้ที่มีสิทธิ ได้แก่ บุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านในพื้นที่จังหวัดที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ  

 

           แต่ต่อมาได้มีการยกเลิกสิทธิของผู้มีทะเบียนบ้าน ทร. 13 และกำหนดชัดเจนว่าผู้มีสิทธิ ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น  โดยฝ่ายกฏหมาย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ออกหนังสือชี้แจงว่า  บุคคลที่จะมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขตาม มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นั้น หมายถึง บุคคลที่มีสัญชาติไทย”  

 

           ทั้งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 ได้ระบุชัดเจนว่ากรณีสิทธิการได้รับการรักษาพยาบาลตามโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคนั้น ใช้ได้สำหรับผู้ที่ได้รับสัญชาติไทยเท่านั้น สำหรับบุคคลที่ได้รับสถานะอื่นจะต้องชำระค่าบริการยกเว้นกรณีเป็นการให้การ รักษาพยาบาลตามหลักมนุษยธรรม

 

           สิ่งที่ครอบครัวมึดาต้องเผชิญหลังจากพ่อล้มป่วยคือ ต้องขายบ้านไปในราคา 20,000 บาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาจนหมด  นอกจากนี้ด้วยสถานะที่ไม่ใช่คนไทยการเดินทางออกนอกพื้นที่แต่ละครั้งก็สร้างความกังวลใจด้วยความกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม

 

          ที่ผ่านมานายหม่องละ ไม่ได้ถูกปฏิเสธการเข้ารักษาพยาบาล ตั้งแต่เริ่มแรกที่เจ็บป่วย แต่มึดาได้ตั้งคำถามกับการดูแลของแพทย์โดยให้เพียงยาพาราและยาแก้อักเสบนั้นไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับอาการเจ็บป่วยของพ่อ จนพวกเขาตัดสินใจมารักษาตัวโดยยาสมุนไพรเองที่บ้าน ไปจนกระทั่งไปรักษากับหมอ(เถื่อน)   จนกระทั่งเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำลายก็ดูเหมือนว่าอาการหนักหนาจนไม่สามารถรักษาได้แล้ว

 

          เมื่อรวมเบ็ดเสร็จแล้วครอบครัวมึดาต้องทำสัญญาเพื่อผ่อนชำระค่าใช้จ่ายที่ติดหนี้โรงพยาบาลสวนดอกอีก 128,404 บาท เนื่องจากมีความสามารถจ่ายค่ารักษาไปเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยมึดากับพี่ชายและพี่สะใภ้จะถูกเรียกตัวให้ไปทำสัญญา 2-3 วันต่อครั้ง ถึงแม้ว่าในบางครั้งจะถูกเจ้าหน้าที่บางคนที่ข่มขู่ว่าจะถูกฟ้องร้องขึ้นศาลแต่ก็ต้องยอมเพราะไม่มีเงินจ่าย

 

         เคยคุยกันในครอบครัวว่าถ้ามีเงินก็จะไปจ่ายบ้างเพราะเจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่าจะได้เอาเงินไปช่วยเหลือคนอื่นๆด้วย แต่ก็น้อยใจ พี่ชายก็กลัวเขาถูกขู่บ่อยเพราะเขาอยู่เฝ้าพ่อตลอด

          หลังการจากลาของพ่อ(หม่องละ) ตอนนี้แม่ของมึดา(ถือบัตรเขียวขอบแดง)ได้ล้มเจ็บอีกคนจากโรคถุงลมโป่งพอง ต้องเดินทางมาหาหมอที่โรงพยาบาลแม่สะเรียงสัปดาห์ละครั้ง เมื่อรวมค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่ารักษาที่ต้องจ่าย(เท่าที่มี)แล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ________________________________________ 
คำสำคัญ (Tags): #รายงานวิจัย
หมายเลขบันทึก: 165520เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2008 00:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
อันนี้เป็นล้อมกรอบที่จะใส่ปิดท้ายงานมึดาค่ะ
  • เพิ่ม สักหัวข้อ วิเคราะห์สถานะบุคคลของ หม่องละ, ดีไหมแก้ว
    จะรวมถึง เมียและลูก ด้วยหรือไม่ ..ก็แล้วแต่

น่าจะมา update ว่า วันนี้ มึดามีสัญชาติไทยแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท