บันทึก...เรื่อง 30 บาท ของโกโม.. การเดินทางของเรื่องเล่า-1(เพิ่มเติมแล้ว)


ด้วยเหตุผลนานาที่เกิดขึ้นในกรณีของโกโม เป็นภาพสะท้อนหนึ่งที่ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติที่ต้องเสียเงินค่าประกันสุขภาพปีละ 1,300 บาท นั้นยังไม่สามารถเข้าถึงบริการหลักประกันสุขภาพได้จริง

บันทึก...เรื่อง 30 บาท ของโกโม..

โดย พัฒนพันธ์ บูระพันธ์[1] (รวบรวมข้อมูล)  

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว   (เรียบเรียงเรื่องราว)

เขียนวันที่ 31 มกราคม 2551 /เพิ่มเติม 14 กุมภาพันธ์ 2551

......................................................................................................................................................

       โกโม พูดไทยได้เพียงเล็กน้อยต้องมีล่ามทุกครั้งในการสื่อสาร ไม่เข้าใจขั้นตอนการขอรับการรักษาพยาบาล และการส่งต่อ แต่โกโมรับรู้ว่าตำรวจยังจับคนร้ายไม่ได้และหมอยังไม่มีคำตอบว่าจะผ่าตัดให้อาการบาดเจ็บทุเลาเมื่อไหร่"

เรื่องของโกโม

                                                                                        

โกโม(KOMO) ชายหนุ่มชาวพม่า อายุ 25 ปี เกิดและเติบโตที่เมืองพะอาง รัฐมอญ ประเทศพม่า เป็นลูกคนที่เล็กจากทั้งหมดสามคน  โดยพ่อแม่มีอาชีพทำไร่อยู่ที่พม่า

เขาเรียนจบชั้นม.6 แต่เนื่องจากการทำมาหากินในบ้านเกิดไม่มีช่องทาง จึงตัดสินใจเดินทางเข้ามาในเมืองไทยทางด่านอำเภอแม่สอด จ.ตาก เพื่อหางานทำ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยเสียเงินให้นายหน้าราว 13,000 บาท ซึ่งเงินหลักหมื่นกับสภาพเศรษฐกิจที่อัตคัดขัดสนในพม่า นั้นนับว่าเป็นจำนวนที่สูงเลยทีเดียวก็ว่าได้ 

โรงงานทอผ้า ย่านรังสิต-นครนายก มีแรงงานทั้งหมด 100 คน โดยโกโมเป็นหนึ่งในแรงงานพม่าเพียง 20 คนของโรงงาน นอกนั้นเป็นแรงงานไทย โกโมต้องทำงานใช้แรงงานเพื่อแลกค่าแรงโดยที่วุฒิม.6 จากพม่านั้นดูจะไม่มีความหมายอะไร แต่เขายังไม่โชคร้ายนักเมื่อเทียบกับแรงงานข้ามชาติจากพม่าอีกนับไม่ถ้วนที่ถูกกดขี่ค่าแรงซึ่งน้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีก  โดยโกโมได้รับค่าจ้างรายวันวันละ 194 บาท เท่ากับคนงานไทย แต่ถูกเอาเปรียบค่า OT ซึ่งคนงานไทยได้รับชั่วโมงละ 25 บาท แต่คนงานพม่าได้เพียง 12 บาท

สถานภาพทางกฎหมายของโกโมนั้น เขามีบัตรอนุญาตทำงาน โดยเสียเงิน 3,800 บาท เป็นค่าทำบัตรให้กับนายจ้าง แบ่งเป็นค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท ค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาท และขอใบอนุญาตทำงานซึ่งมีค่าใช้จ่ายอีก 1,900 บาท ซึ่งความหมายคือ

 

โกโมจะไม่ถูกจับกุมในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังสามารถไปรับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่ทำประกันสุขภาพไว้ โดยเสียค่าบริการครั้งละ 30 บาท

 

โดยนโยบายล่าสุดตามมติครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2550[1] แรงงานสามสัญชาติ คือ พม่า ลาวและกัมพูชา สามารถขอต่อใบอนุญาตทำงานในช่วงเดือนมี.ค.-มิ.ย. 51 โดยจะสามารถอยู่อาศัยได้ 2 ปี จากเดิมที่อยู่ได้ปีต่อปี

นอกจากนี้ตามมติครม.เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548[2] ที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังมีความพยายามในการปรับเปลี่ยนสถานะ "คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง" ให้เป็น "คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกฎหมาย"  โดยไทยได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU)กับทั้ง 3 ประเทศ ในการพิสูจน์สัญชาติแรงงานกับประเทศต้นทาง

สำหรับโกโม เขาเล่าว่าที่พม่าเขามีบัตรประจำตัวสีชมพูแต่ไม่ได้นำติดตัวมาที่เมืองไทยด้วย  นั่นคือประเทศพม่ายอมรับและบันทึกว่าโกโมเป็นประชาชนของพม่า ซึ่งย่อมทำให้เขาไม่ตกเป็นคน "ไร้รัฐ และไร้สัญชาติ" ดังนั้นเมื่อโกโมต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานกับประเทศพม่าในอนาคต แล้วเขาได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองของพม่าเขาจะได้กลับเข้ามาเมืองไทยอีกครั้งในสถานะ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกฎหมาย หากกระบวนเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ซึ่งในส่วนแรงงานพม่านั้นดูจะยังล่าช้าและไม่มีแนวทางที่ชัดเจนทำให้โกโมยังดูห่างไกลจากการจะได้รับสถานะดังกล่าว

แต่หากว่าเอกสารแสดงตน คือบัตรประจำตัวใบนั้นของโกโมสูญหายไป ซึ่งมีความเป็นไปได้เช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในพม่าที่ยังไม่แน่นอนและการสู้รบในหลายพื้นที่ในพม่าที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถอยู่อาศัยในหมู่บ้านเดิมได้ รวมไปถึงระบบการทะเบียนราษฎรที่ไม่มีประสิทธิภาพ อาจจะส่งผลให้โกโมอาจจะตกอยู่ในสถานะ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ในอนาคต เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติตามมติครม. 20 ธันวาคม 2548 แล้วอาจจะไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นราษฎรของประเทศพม่า

ทางออกที่จะเป็นไปได้คือ โกโมจะถูกนับอยู่ในกลุ่ม ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาส่งกลับ  และหากไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้  ท้ายที่สุดโกโมจะได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยในประเทศไทยชั่วคราวและเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะที่เหมาะสมต่อไป ตาม ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล 18 มกราคม 2548[3]

 

ความโชคร้ายมาเยือน        

                                                                   

ราว  22.30 น. ของคืนวันที่ 28 ธันวาคม 2550 หลังจากงานเลี้ยงรับปีใหม่ของโรงงานยังไม่ทันจะข้ามคืน  ระหว่างที่ โกโมเดินออกจากห้องพักบริเวณหน้าโรงงานเพื่อข้ามถนนเข้าไปหาเพื่อนในโรงงานฝั่งตรงข้ามถนน ได้ถูกรถจักรยานยนต์ที่ขับมาด้วยความเร็วชนเข้าด้านหลัง โดยตัวของโกโมลอยตกห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 10 เมตร และถูกรถจักรยานยนต์คันนั้นทับที่แขนอีกด้วย จนสลบในที่เกิดเหตุ

โกโมรู้สึกตัวอีกทีที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แพทย์ได้ทำการรักษาแผลเบื้องต้น และถ่ายเอกซเรย์กระดูกปรากฎว่า กระดูกแขนท่อนบนด้านซ้ายหัก และกระดูกบริเวณโคนขาหนีบด้านขวา(ใกล้กระดูกก้นกบ)มีรอยร้าวและแตก  จากนั้นแพทย์ให้ออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 29 ธันวาคม 2550 เวลาราว 03.00 น. (ในช่วงเวลาเดียวกันกับวันที่เข้ารักษาตัว) และนัดอีกครั้งในวันที่ 4 มกราคม 2551

วันที่ 4 มกราคม 2551 เขาจึงไปพบแพทย์อีกครั้ง โดยครั้งนี้แพทย์ให้ความเห็นว่าต้องทำการผ่าตัดจะเป็นผลดีในการรักษา ซึ่งข้อมูลที่ทราบจากแพทย์คือ "เห็นว่านายโกโมเป็นต่างด้าวหากทำการผ่าตัดที่นี่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ควรย้ายไปรักษาต่อโรงพยาบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลในระบบประกันสุขภาพ 30 บาทของนายโกโม โดยได้ทำจดหมายส่งตัวให้"

แต่เมื่อโกโมย้ายรักษาตัวที่โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ แพทย์ก็ไม่รับรักษาอาการโดยให้เหตุผลว่า "เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นสถานพยาบาลชุมชน ไม่มีเครื่องมือในการผ่าตัดได้"  จึงทำจดหมายส่งตัวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลปทุมธานี ซึ่งแพทย์ได้ทำการเอกซเรย์และพันเฝือกให้ใหม่ แต่ไม่ได้วินิจฉัยหรือแจ้งให้เขาทราบว่าต้องผ่าตัดหรือไม่ แต่ได้นัดมาพบอีกครั้งวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551

ซึ่ง พัฒนพันธ์ บูระพันธ์ หนึ่งในทีมทนายความจาก อาสาสมัครโครงการ Laws Awareness and Legal Aid for Burrmese Migrant Workers ภายใต้องค์กรคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กรพ.) ที่เข้าไปติดตามให้ความช่วยเหลือเล่าสภาพของโกโมให้ฟังว่า

"ช่วงแรกนั้นอาการค่อนข้างหนัก ต้องมีคนคอยพยุงให้ลุกนั่งเพราะกระดูกหักทั้งที่แขนและที่สะโพก โกโมก็ร้อนใจอยากผ่าตัดตามที่หมอบอก แต่ด้วยการสื่อสารหรืออะไรก็ไม่แน่ชัด โกโมเขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจนป่านนี้หมอยังไม่ผ่าตัดให้ ซึ่งผ่านมาร่วมเดือนแล้วอาการก็เริ่มดีขึ้นพอจะลุกนั่งเองได้ แต่หมอบอกว่าคงทำงานไม่ได้อย่างน้อยอีก 6-8 สัปดาห์"

 

ทุกข์ซ้ำสอง...ของโกโม     

                                                                    

วันที่ 29 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา ก่อนกำหนดนัดที่โรงพยาบาลปทุมธานี 1 เดือน โกโมตัดสินใจไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติอีกครั้งซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ถูกส่งตัวไปในวันเกิดเหตุถึงแม้ว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่เขาใช้สิทธิ 30 บาทไม่ได้ก็ตาม

 

เหตุผลคือ โกโมรู้สึกว่าหมอที่นี่เป็นมิตรกว่าทั้ง 2 โรงพยาบาลที่เขาถูกส่งตัวไปรักษาต่อ ทั้งการวินิจฉัยที่ดูเหมือนจะจริงจังในการรักษามากกว่า ที่สำคัญที่สุดค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวทั้งหมดนับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุนั้นโกโมต้องจ่ายเองทุกบาท โดยไม่สามารถใช้สิทธิ 30 บาทได้ อย่างที่เขาไม่ทราบเหตุผลและไม่มีคำอธิบายจากโรงพยาบาล รวมแล้วกว่า 3,000 บาท

 

ทั้งที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น โกโมควรจะเสียเงินเพียงครั้งละ 30 บาท เท่านั้น แม้แต่ค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติในคืนวันเกิดเหตุ เพราะตาม "ข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิเข้ารับบริการจากสถานบริการอื่น กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ 2548[4]" 

ระบุว่า สามารถเข้ารับบริการจากสถานบริการอื่นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการได้รวมทั้งสถานบริการเอกชน ซึ่งสถานบริการอื่นที่ให้ก่รักษามีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับนี้ 

ซึ่งคงเกินการรับรู้ของโกโมต่อสิทธิที่ว่า โกโมรู้เพียงว่าเขาสามารถใช้สิทธิ 30 บาทแต่เขาใช้ไม่ได้ และเขาไม่ได้รับการผ่าตัดโดยไม่มีคำอธิบายจากแพทย์  ด้วยปัญหาในการสื่อสารของโกโมจึงทำให้การเข้าถึงสิทธิดังกล่าวไม่เป็นจริงโดยเมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปทุมธานีแจ้งว่าไม่สามารถใช้สิทธิได้เพราะไม่ได้เป็นโรงพยาบาลที่ระบุไว้ในบัตรเขาจึงไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ

ทั้งที่ตาม มาตราการและแนวทางการดำเนินงานตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวปี 2550” ซึ่งมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ระบุไว้ถึงการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการรักษาระหว่างสถานพยาบาล อย่างชัดเจนว่า

 กรณีที่สถานพยาบาลที่แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนประกันตนไว้ส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลแห่งอื่นเพื่อการรักษาพยาบาลจะต้องตามจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาพยาบาล

ดังนั้นเมื่อโรงพยาบาลประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่โกโมขึ้นทะเบียนประกันตนไว้ได้ทำจดหมายส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลปทุมธานี ย่อมหมายความว่าโกโมไม่จำเป็นต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง และเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการอธิบายถึงสิทธิดังกล่าว และเอื้ออำนวยให้เขาได้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ แต่โรงพยาบาลทั้งสามแห่งไม่ได้ดำเนินการ

 

ด้วยเหตุผลนานาที่เกิดขึ้นในกรณีของโกโม เป็นภาพสะท้อนหนึ่งที่ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติที่ต้องเสียเงินค่าประกันสุขภาพปีละ 1,300 บาท นั้นยังไม่สามารถเข้าถึงบริการหลักประกันสุขภาพได้จริง

มุมมองจากพี่ ธนู เอกโชติ หนึ่งในทีมทนายความ คือ

"หลายกรณีที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติคือ การไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้จริง เริ่มตั้งแต่ที่โรงพยาบาลรักษาตามสภาพของเงิน เช่น กรณีที่โรงพยาบาลประชาธิปัตย์อ้างว่าโรงพยาบาลไม่พร้อมรักษา ก็ต้องมีกระบวนการส่งต่อไปอย่างเหมาะสมให้ผุ้บาดเจ็บได้รับการรักษาตามความเป็นจริง เพราะพอโกโมถูกส่งไปที่โรงพยาบาลปทุมธานีแล้วโรงพยาบาลก็ไม่ยอมผ่าตัดให้และไม่ได้อธิบายให้ผุ้ป่วยเข้าใจ ซึ่งถ้าในอนาคตเขาต้องพิการแขนงอ แล้วจะไปเรียกร้องกับใครได้ แล้ว 1,300 บาทที่เขาเสียไปก็ใช้ไม่ได้ "

ข้อสังเกตเล็กๆจาก พัฒนพันธ์ บูระพันธ์ ที่ได้เดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลกับโกโมคือ

"หมอที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯส่วนใหญ่เป็นหมอใหม่ อายุน้อย มีมนุษยสัมพันธ์ดี แต่วันนั้นที่ไปหาหมอเราไปกันตั้งแต่ 10 โมง กว่าจะได้ตรวจก็บ่ายโมงกว่า ผมเห็นคนไทยที่เขามาทีหลังได้ตรวจก่อน ส่วนโกโมได้ตรวจเป็นคนท้ายๆ  ผมไม่ได้ถามหมอหรอกว่าทำไมถึงช้า "

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าแบบขำๆ ที่เจ้าตัวต้นเรื่องคงขำไม่ออก ว่า "มีคนงานโทรมาถามผมว่า 30 บาท ใช้ได้เฉพาะวันธรรมดาหรือเปล่า เพราะเขาไปหาหมอวันเสาร์อาทิตย์แล้วโรงพยาบาลบอกว่าใช้ 30 บาทไม่ได้"

 

ผลเอกซเรย์ล่าสุด พอทำให้โกโมใจชื้นคือ กระดูกเริ่มตรงแล้วและแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์วินิจฉัยล่าสุดว่า ไม่ต้องผ่าตัดแล้วเพราะระยะเวลาในการบาดเจ็บล่วงเลยมากว่า 1 เดือนซึ่งการผ่าตัดตอนนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก

ในส่วนคดีความก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการหาผู้กระทำผิด ซึ่งทำให้โกโม ไม่สามารถใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 [5]หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าพ.ร.บ.บุคคลที่ 3 ซึ่งบริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นับแต่ค่ารักษาพยาบาลหรือค่าปลงศพ  กำหนดไว้ไม่เกิน 50,000 บาท/คน ความเสียหายต่อร่างกายหรือนามัย 80,000 บาท/คน และความเสียหายต่อชีวิต สูญเสียอวัยวะหรือทุพลภาพแล้วแต่กรณี อีกด้วย

           โชคร้ายของโกโมจึงไม่เพียงแต่เจ็บตัว ต้องเสียเงินค่ารักษาเองทั้งหมด ระยะเวลาที่เขาต้องพักฟื้นอีกนับเดือนจากนี้ยังหมายถึงรายได้ที่หายไปพร้อมกับรายจ่ายที่เขาต้องแบกรับ__________________________________ 


[1] มติครม. 18 ธันวาคม 2550 เรื่องการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2551   http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=214827&key_word=&owner_dep=&meet_date_dd=18&meet_date_mm=12&meet_date_yyyy=2550&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=
[2] มติครม. 20 ธันวาคม 2548 เรื่องการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ปี 2549   http://www.cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=206201&key_word=&owner_dep=&meet_date_dd=20&meet_date_mm=12&meet_date_yyyy=2548&doc_id1=&doc_id2=&meet_date_dd2=&meet_date_mm2=&meet_date_yyyy2=
[3]ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลบทความโดย คณะทำงานด้านวิชาการของ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรน ฉายแสง, เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2548http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=108&d_id=108 
[4] ข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการใช้สิทธิเข้ารับบริการจากสถานบริการอื่น กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 http://www.ato.moph.go.th/sector/hinso/news/accemergency.htm
[5] พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 http://healthnet.md.chula.ac.th/text/forum1/proftraf/page4.html 

คำสำคัญ (Tags): #รายงานวิจัย
หมายเลขบันทึก: 165404เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2008 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 07:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ขอคำแนะนำเพิ่มเติมด้วยค่ะ
-พิสูจน์อักษร :..เมื่อ 2 ปีที่แล้วทางด่านอ.แม่สอด จ.ตาก—มันคือผ่านด่านนี้..เกลาหน่อยอะ..-พิสูจน์อักษร : อัตคัตเขียนถูกแล้ว-ใช่ไหม-สถานะบุคคล/สถานะตามกฎหมายของโกโม (จะใช้ที่ใช้อยู่ก็ โอฯเหมือนกันนะ) คือ คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยูชั่วคราว >> อธิบายต่อด้วย มติครม. 20 ธค. 48 อ่ะ เพราะฉะนั้น สถานะเข้าเมืองถูกกฎหมายของโกโม เลยยังไม่มี/ไม่ได้/ไม่ได้เป็น...และสามารถทำงานได้ชั่วคราว ซึ่งเป็นไปตามมติครม..(ปีไหน??) , เรื่องสุขภาพฯ โอฯ ค่ะล่าสุด มติครม.ธค.2550 ว่า...-อย่างที่แก้วว่า--- แล้วโกโม ไปต่ออะยัง หรือกำลังไปต่อ..-ย่อหน้าที่ขึ้นว่า โดยนโยบายล่าสุดตามมติ 18 ธค. อ่ะ ... เขียนงง ไปนิดอ่ะ .. แรงงานฯ ต้องมาต่อใบอนุญาตทำงาน . .. “ระยะเวลาตามเงื่อนไขของใบอนุญาตที่หมดอายุ โดยจะ.. แปลว่าอะหยัง -“ทางออกที่เป็นไปได้สำหรับโกโม..”  อาจปรับนิดหน่อย—มันคือสถานะที่โกโม จะต้องเผชิญ หากเขา “ไม่ถูกนับเป็นคนพม่า” ภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ... แก้วต้องโยงกลับไปเรื่องกระบวนการพิสูจน์สัญชาติก่อน ถ้าไม่ผ่าน เขาจะถูก “นับ/พิจารณา” ให้อยู่ในกลุ่มคนที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ.. นา ... (สิทธิในการอยู่อาศัยชั่วคราวของโกโม ขึ้นกับสิทธิในการทำงานตามการขึ้นทะเบียน) ตามยุทธศาสตร์ฯ ถ้าพิสูจน์ไม่ผ่าน จะต้องผ่านกระบวนการเจรจาเพื่อส่งกลับก่อน .. ถ้าไม่ได้อีก ก็..พิจารณาและกำหนดสถานะฯ กันอีกที -“ว่ากันตามหลักการ” หลักการของอะไร... หมายถึง หลักประกันสุขภาพแรงงานที่ได้จ่ายเงินไปแล้ว + ข้อบังคับ..ใช่ไหม—แก้ว ไม่ได้ อ้างข้อบังคับอย่างเดียวใช่ไหม-“มาตรการและแนวทางการดำเนินงานฯ...” มีข้อระบุไหม โค้ดมาด้วยจ้า-รวมแล้วโกโม จ่ายไปเท่าไรหรอแก้ว.. ใช้เวลารักษากี่วัน

โอยยย ขอโทษที เอาใหม่ๆๆ 

  •  พิสูจน์อักษร :..เมื่อ 2 ปีที่แล้วทางด่านอ.แม่สอด จ.ตาก—มันคือผ่านด่านนี้..เกลาหน่อยอะ..
  • พิสูจน์อักษร : อัตคัตเขียนถูกแล้ว-ใช่ไหม
  • สถานะบุคคล/สถานะตามกฎหมายของโกโม (จะใช้ที่ใช้อยู่ก็ โอฯเหมือนกันนะ) คือ คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยูชั่วคราว >> อธิบายต่อด้วย มติครม. 20 ธค. 48 อ่ะ เพราะฉะนั้น สถานะเข้าเมืองถูกกฎหมายของโกโม เลยยังไม่มี/ไม่ได้/ไม่ได้เป็น...

          และสามารถทำงานได้ชั่วคราว ซึ่งเป็นไปตามมติครม..(ปีไหน??) , เรื่องสุขภาพฯ โอฯ ค่ะ

           ล่าสุด มติครม.ธค.2550 ว่า...-อย่างที่แก้วว่า--- แล้วโกโม ไปต่ออะยัง หรือกำลังไปต่อ..

  • ย่อหน้าที่ขึ้นว่า โดยนโยบายล่าสุดตามมติ 18 ธค. อ่ะ ... เขียนงง ไปนิดอ่ะ .. แรงงานฯ ต้องมาต่อใบอนุญาตทำงาน . .. “ระยะเวลาตามเงื่อนไขของใบอนุญาตที่หมดอายุ โดยจะ.. แปลว่าอะหยัง
  • “ทางออกที่เป็นไปได้สำหรับโกโม..”  อาจปรับนิดหน่อย—มันคือสถานะที่โกโม จะต้องเผชิญ หากเขา “ไม่ถูกนับเป็นคนพม่า” ภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ... แก้วต้องโยงกลับไปเรื่องกระบวนการพิสูจน์สัญชาติก่อน ถ้าไม่ผ่าน เขาจะถูก “นับ/พิจารณา” ให้อยู่ในกลุ่มคนที่ไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ.. นา ... (สิทธิในการอยู่อาศัยชั่วคราวของโกโม ขึ้นกับสิทธิในการทำงานตามการขึ้นทะเบียน) ตามยุทธศาสตร์ฯ ถ้าพิสูจน์ไม่ผ่าน จะต้องผ่านกระบวนการเจรจาเพื่อส่งกลับก่อน .. ถ้าไม่ได้อีก ก็..พิจารณาและกำหนดสถานะฯ กันอีกที
  • “ว่ากันตามหลักการ” หลักการของอะไร... หมายถึง หลักประกันสุขภาพแรงงานที่ได้จ่ายเงินไปแล้ว + ข้อบังคับ..ใช่ไหม—แก้ว ไม่ได้ อ้างข้อบังคับอย่างเดียวใช่ไหม
  • “มาตรการและแนวทางการดำเนินงานฯ...” มีข้อระบุไหม โค้ดมาด้วยจ้า
  • รวมแล้วโกโม จ่ายไปเท่าไรหรอแก้ว.. ใช้เวลารักษากี่วัน
ลองเติมๆ ตามข้อท้วงติงแล้วจ้า
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท