บท "ว่าด้วยระเบียบวิธีวิจัย"(เพิ่มเติมแล้ว)


เมื่อการเดินทางของ “เรื่องเล่า” นี้ถูกส่งผ่านสู่ท่านและคนอื่นๆ นั่นคือ การเดินทางของเรื่องราวชีวิตผู้คนเหล่านั้นจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

การปรากฎตัวของเรื่องราว สู่ “เรื่องเล่า 

ตัวแทนของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ทั้ง 10 เรื่องที่จะปรากฎต่อทุกท่านจากนี้ เป็นเรื่องจริงของผู้คนที่ประสบปัญหาความไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่ปรากฎตัวในพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย

เรื่องราวที่ทีมวิจัยพยายามจะนำมาบอกเล่าคือจากการตกอยู่ในสถานะบุคคลดังกล่าวนั้น  ส่งผลต่อเงื่อนไขสำคัญในการการดำเนินชีวิตของพวกเขาอย่างไร  เนื่องจากสถานะบุคคล[1]หรือ ตัวตน ที่หลากหลายในเรื่องเล่านี้ แต่ละคนก็มีช่องทางใน หลักประกันสุขภาพ ที่แตกต่างกัน

เราจึงต้องการฉายภาพให้เห็นว่าเมื่อเจ็บป่วยถูกโรคภัยรุมเร้านั้นเขามีความพยายามที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างไร  แล้วเข้าถึงได้หรือไม่  ความยากลำบากที่พวกเขาต้องประสบนั้นเป็นอย่างไร  มีเงื่อนไขปัจจัยอะไรบ้างที่เอื้ออำนวยให้ทุกข์ที่เขาเผชิญคลี่คลาย หรือกระทั่งไปตอกย้ำชะตากรรมให้เลวร้ายไปอีก

           นอกจากนี้เรายังต้องการสะท้อนถึงความคิด ความต้องการของพวกเขา คนใกล้ชิดที่ต้องเผชิญชะตากรรมร่วมกัน ซึ่งเราเชื่อว่าจะส่งผลให้ แนวทางการสร้างหลักประกันสุขภาพ ให้ทุกผู้คนได้มี หลักประกันชีวิตที่ดี ที่เราต่างกำลังมองหานั้น จะสามารถตอบสนองความต่อต้องการที่แท้จริง ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นจริงของชีวิตพวกเขาซึ่งเป็นมูลเหตุปัจจัยหนึ่งที่เราไม่อาจละเลย 

สำหรับเรา

 

          เรื่องราวจากนี้เป็นการใช้ ประสบการณ์นิยม ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทีมวิจัยของเรา ส่วนหนึ่งคือ ผู้ใกล้ชิดเจ้าของปัญหา คนหนึ่งคือ ลูกสาวที่บอกเล่าความทรงจำในการพยายามต่อสู้กับความเจ็บป่วยของพ่อในทุกวิถีทาง สิ่งที่เธอและครอบครัวต้องเผชิญในระหว่างทางเพื่อให้ผ่านพ้นและพ่อได้รับการดูแล จนกระทั่งพ่ายแพ้และสูญเสีย   อีกคนคือ แม่บุญธรรม ที่กังวลใจต่ออนาคตของลูกชายตัวน้อยที่ยังไร้สัญชาติและร่างกายไม่แข็งแรงนัก พวกเขาจะทำให้เราเห็นและเข้าใจรายละเอียดที่ไม่อาจมองผ่านของชีวิตเหล่านั้น ว่าพวกเขากล้าหาญเพียงใด  

อีกส่วนคือ นักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ  ที่มี่ทั้งนักพัฒนาที่เคยเป็นอดีตคนไร้สัญชาติ  จนกระทั่งผันตัวแทนมาช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบชะตากรรมร่วมกัน ไปจนถึงนักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการที่ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จากการสัมผัสแง่มุมชีวิต  และองค์ความรู้ที่ก่อเกิดระหว่างการทำงาน

นอกจากนี้เรื่องราวที่ถ่ายทอดนี้ ได้มีผู้ที่สนใจและศึกษาและเผยแพร่เรื่องราวของพวกเขามาก่อนไม่ว่าจะเป็นทางสื่อสิ่งพิมพ์ นำเสนอผ่านงานวิจัย เวบไซต์  รวมถึงพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บน blog ต่างๆ ซึ่งเราได้ใช้เป็น การวิจัยเอกสาร(Documentary Research) เพื่อศึกษาข้อมูลเบื้องต้นในการมองต่อ

เพื่อภาพต่อที่ชัดเจน ในการรวบรวมเรื่องราว  ทีมวิจัยได้มีการพูดคุย สัมภาษณ์ เจ้าของปัญหาและผู้ใกล้ชิด เพื่อสื่อสารเพิ่มเติมข้อมูลเน้นหนักไปในเรื่องของสุขภาพ ความเจ็บป่วย   ซึ่งเครื่องมือคือสิ่งสำคัญที่จะนำเราไปสู่คำตอบที่เราต้องการ  คือที่รวมของนานาคำถาม? ที่เราต้องพยายามนำนานาคำตอบ เอามาเรียงร้อยจนเป็นภาพใหญ่ที่ชัดเจน สำหรับการรวบรวมเรื่องราวนี้ เราได้ออกแบบเครื่องมือคือ "แบบสอบถามเพื่อสำรวจปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย"

ข้อสรุปหนึ่งที่ค้นพบในการค้นหาข้อเท็จจริงที่นักวิจัยต้องตระหนักคือ  เครื่องมือที่ดี ย่อมเกิดจากความเข้าใจอันลึกซึ้ง อันจะนำมาซึ่งคำตอบที่ดีและสมบูรณ์ เพราะการที่มีแบบสอบถามที่ดี แต่ผู้ใช้ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็ใช่ว่าจะนำมาซึ่งคำตอบที่ต้องการ ใช่หรือไม่?  จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือแล้วเรามองเห็นอะไรบ้าง?

หนึ่ง เรามองเห็น "ตัวตน" ของเจ้าของแบบสอบถาม ผ่านข้อมูลประวัติส่วนตัว  ข้อมูลนับตั้งแต่ชื่อ วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด หลักฐานการเกิด พยานที่รู้เห็น ข้อมูลเรื่องบัตร หรือเลขประจำตัว  ข้อมูลพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย ข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นมูลเหตุในการนิยามว่าเขาคือ "ใคร" และควรจะเป็น "ใคร" ในประเทศไทย  ซึ่งมีไม่น้อยที่  คนสัญชาติไทย  ถูกกระทำโดยระบบทะเบียนราษฎร จนกลายเป็น คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

พูดง่ายๆคือ คนเก็บข้อมูล ควรจะเข้าใจว่าข้อมูลที่หายไป การ เว้นไว้ ไม่สนใจ ไม่พยายามที่จะแสวงหาคำตอบ ทำให้ตัวตนของเจ้าของปัญหาไม่ชัดเจนไปด้วย

เรามองเห็น "เงื่อนไข - ปัจจัย" ที่ทำให้ตัวตนของเขาบิดเบี้ยว หรือกลายเป็นคนไม่มีตัวตน กลายเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ จากข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการด้านสถานะบุคคล  ซึ่งเป็นจิกซอร์ที่เราต้องพยายามดึงภาพต่อที่บิดเบี้ยวเหล่านั้นออกมาแสดง เพื่อที่จะหาวิถีทางเยียวยาได้ถูกวิธี  

สอง เรามองเห็นมนุษย์ที่ถูกเพิกเฉย ถูกปฏิเสธ ละเลยในการที่จะมีชีวิตมีสุขภาพที่ดี รวมถึงถูกกระทำอย่างไร้มนุษยธรรม  ในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นภาพชีวิตอันยากลำบากยิ่งนัก จากการถูกซ้ำเติมจนราวกับว่าความเจ็บป่วยนั้นสาหัสเกินกว่าความเป็นจริง?

และท้ายสุด เราจะได้มองเห็นเรื่องราวของความพยายามในการดูแล เยียวยาคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติของเจ้าหน้าที่ในแวดวงสาธารณสุข  ความเป็นมนุษย์ที่สะท้อนออกมาภายใต้เงื่อนไข ข้อจำกัดต่างๆ  ที่รายล้อมอยู่ 

อย่างไรก็ดีสำหรับเรื่องราวที่เรานำมาถ่ายทอดนี้ เป็นเพียง ตัวแทน ของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ในพื้นที่มี่เราสามารถเข้าถึงเรื่องราวของพวกเขา ภายใต้เงื่อนไขของระยะเวลาอันจำกัด และศักยภาพในการเข้าถึงของทีมนักวิจัยเท่านั้น เราเชื่อว่าอาจจะยังมีความจริงที่ซุกซ่อนอยู่ ที่มีความน่าสนใจ และมีความหลากหลายซึ่งในอนาคตหากยังมีกระบวนการและมีเงื่อนไขที่จะสามารถนำเสนอตัวตนของเขาเหล่านั้นได้ก็น่าจะเป็นผลดีอย่างยิ่ง

           ในระหว่างทางเพื่อแสวงหาคำตอบ  การสื่อสารกับพวกเขานั้น เราในทีมวิจัยเองหวังว่าได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เป็น ห้องเรียนทางสังคม(Social Lab)”  ที่จะทำให้เกิดองค์ความรู้สำหรับ เจ้าของปัญหา  อันจะทำให้เขาสามารถเผชิญและผ่านพ้นกับปัญหาได้เองในอนาคต ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์สูงสุดที่ไม่อาจละเลย ในการที่เขาจะได้รับรู้สิทธิ เรียกร้องสิทธิ ไปจนถึงปกป้องสิทธิอันพึงมีของเขา  ในขณะที่ นักวิจัยเองก็หวังว่าจะได้พัฒนาองค์ความรู้ และประสบการณ์สู่ผู้อื่นต่อไป

สำหรับท่าน

          เมื่อการเดินทางของ เรื่องเล่า  นี้ถูกส่งผ่านสู่ท่านและคนอื่นๆ  นั่นคือ การเดินทางของเรื่องราวชีวิตผู้คนเหล่านั้นจะเกิดขึ้นอีกครั้ง 

          เราหวังอย่างยิ่งว่า ท่านและคนอื่นๆ จะได้รับรู้ เข้าใจ ไปจนถึงเรียนรู้ความทรงจำ ประสบการณ์เหล่านี้  ซึ่งมีทั้ง เรื่องราวที่เป็นภาพสะท้อนของความเป็นมนุษย์ในแวดวงสาธารณสุข[2]ที่ช่วยดูแลเยียวยาคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้ผ่านพ้นความเจ็บป่วย  (Best Story)  ไปจนถึงความจริงที่เจ็บปวดและเลวร้าย ที่ในความเป็นมนุษย์นั้นไม่ควรถูกกระทำหรือถูกปล่อยให้เผชิญชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยว(Bad & Sad Story) 

           ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ต่างมุ่งหวังชีวิตที่อยู่ดีมีสุข แล้ว   การสร้างหลักประกันที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งมีสุขภาพที่ดี  เพื่อชีวิตที่เป็นสุขนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นไปได้...ใช่หรือไม่? ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆมากมายของกฎหมาย นโยบาย ความเป็นอมนุษนิยมของผู้คนที่เกี่ยวข้อง  เขา  เรา และท่าน น่าจะได้เห็นถึงภาพของ  หลักประกันชีวิตที่ดี ที่จะเกิดขึ้นได้   


[1] แล้วรัฐไทยยอมรับที่จะให้  หลักประกันสุขภาพ กับคนที่ไม่ใช่คนสัญชาติไทยหรือไม่ภายใต้ระบบกฎหมายไทย ดูที่  รายงานการสำรวจสถานการณ์ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับ"ผู้ทรงสิทธิ"ตามกฎหมายและนโยบายว่าด้วยสิทธิในหลักประกันสุขภาพ โดย กิติวรญา รัตนมณี http://gotoknow.org/blog/health4stateless-b
[2] แล้ว กองทุนในโรงพยาบาล เป็นคำตอบและเป็นไปได้จริงหรือไม่สำหรับหลักประกันสุขภาพ กับคนที่ไม่ใช่คนสัญชาติไทยหรือไม่    ดูที่  รายงานการวิจัยเพื่อสำรวจสถานการณ์การดำเนินการของโรงพยาบาล เพื่อการเข้าถึงสุขภาพเเละการสร้างหลักประกันสุขภาพ ทางเลือกสำหรับคนไร้รัฐ (A-2) ใน ชุดโครงการวิจัยเพื่อสิทธิในสุขภาพของคนไร้รัฐในประเทศไทย   โดย จุฑิมาศ สุกใส http://gotoknow.org/blog/report-health4stateless-a2
คำสำคัญ (Tags): #รายงานวิจัย
หมายเลขบันทึก: 165397เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2008 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ถ้าให้สรุปสั้นๆ โจทย์วิจัยของ A-1 คือ.....?

แก้ไขเพิ่มเติมตามคำติชมของ อ.แหววแล้วค่ะ

อือ โจทย์ A1 คือ  คนไร้รัฐไร้สัญชาติเจอปัญหาสุขภาพอะไร แล้วเขาทำอย่างไร

มาอ่านอีกหนนะ งานวิจัยของเธอนะ งดงามจริงๆ  มันเป็นการเขียนงานจากชีวิตจริง และใช้ผู้ช่วยวิจัยที่มีสายสัมพันธ์กับเจ้าของปัญหา งดงามมาก ...ชื่นใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท