การออกกำลังกายแบบแอโรบิค ไม่ใช่การเต้นแอโรบิคเพียงอย่างเดียว


เอะ อะ อะไร ก็แอโรบิค

                .... ออกกำลังกายทำไมต้องแอโรบิค ....

      ถ้าได้รับคำแนะนำจากคุณหมอเรื่องการดูแลสุขภาพ    "  คุณควรหาเวลา ออกกำลังกายบ้างนะ "   หลายท่านจะให้คำตอบกับคุณหมอว่า  " คุณหมอครับ ผมทำงานหนักมาก  หาเวลาออกกำลังกายไม่ได้หรอกครับ "  คุณกำลังเข้าใจผิด เพราะจริง ๆ  แล้วการออกกำลังกายอยู่คู่กับการที่เราปฏิบัติกิจกรรมตลอดทั้งวัน   แต่บางท่านอาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะพลังงานที่รับเข้าไปในแต่ละวันอาจถูกใช้ไม่หมดและจะสะสมอยู่บริเวณใต้ผิวหนัง จึงควรต้องหาเวลาออกกำลังกาย  ถ้าจะออกกำลังกายก็ต้องออกกำลังกายแบบ "แอโรบิค"    และถ้าพูดถึงคำว่า " แอโรบิค " สุภาพสตรีหรือสุภาพบุรุษหลายท่านจะหมายถึงการ "เต้นแอโรบิค "  เพียงอย่างเดียว   ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น   คำว่า  "แอโรบิค " มีความหมายมากกว่านี้

 

        "  แอโรบิค "    Aerobic   

           เป็นภาษาลาติน  หมายถึง อากาศ , ก๊าซทาง         ชีววิทยา หรือ การนำออกซิเจนมาใช้ขณะออกกำลังกาย

     การออกกำลังกายมีหลายรูปแบบ

                      ที่นิยมและได้ผลมากที่สุด คือ  " การออกกำลังกายแบบแอโรบิค "

 

       การออกกำลังกายแบบแอโรบิค        

                  " เป็นการออกกำลังกายแบบใดก็ได้ ที่กระตุ้นปอดและหัวใจ ให้ทำงานมากขึ้น  ถึงจุด ๆ หนึ่ง และด้วยระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ "

      ( นายแพทย์เคนเน็ท เอช คูเปอร์ และคณะ หนังสือแอโรบิค 2511 :  ดำรง กิจกุศล 2531 : 40 )

  

    การออกกำลังกายตามหลักของ  " นายแพทย์เคนเน็ท เอช คูเปอร์ และคณะ " หมายความว่า  

        เป็นการออกกำลังกายที่ร่างกายต้องใช้ออกซิเจน  จำนวนมากติดต่อกันนาน มีผลต่อระบบการทำงานของ หัวใจ ปอด หลอดเลือด และระบบไหลเวียนโลหิตทั่วร่างกายแข็งแรงขึ้น  และมีประสิทธิภาพการทำงานดีกว่าเดิมอย่างชัดเจน  เรียกว่า ผลของการฝึก  (  TRAINING EFFECT )

     จากความหมายที่กล่าวมา ท่าน ๆ คงพอสรุปด้วยตนเองได้ว่า   " การออกกำลังกายแบบแอโรบิค " ก็คือ

       การออกกำลังลังกายอะไรก็ได้  ที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และระบบต่าง ๆ ทำงานหนักและนานพอสมควรอย่างต่อเนื่อง  ( ประมาณ 15 - 45 นาที ) และเกิดผล ( ถ้าไม่เกิดผลแสดงว่าไม่ใช่การออกกำลังกายแบบแอโรบิค)   ซึ่งมีกิจกรรมให้เลือกมากมายตามต้องการและความชอบ เช่น  ว่ายน้ำ ,วิ่ง , เดินเร็ว ๆ ,กีฬาที่ชอบและถนัด , หรือ " การเต้นรำแอโรบิค " ที่เป็นที่นิยมในยุคปัจจุบัน

       นอกจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิคแล้ว ยังมีการออกกำลังกายหลายอย่างที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงร่างกายเหมือนกันที่แต่   " เกิดผล"   กับร่างกายน้อยกว่า แต่เราสามารถใช้เป็นทางเลือกได้ในกรณีที่มีเวลาน้อย หรือไม่มีเวลาแต่ใช้เวลาระหว่างทำงานได้ ดังนี้

 

      1. ออกกำลังกายแบบไอโซเมตริก  ( ISOMETRIC )  

            คือ การเกร็งและคลายกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่ง  โดยที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว เช่น การดันกำแพง ยกของต่าง ๆ อยู่ที่ทำงาน    ผลงานวิจัยพบว่า   "  การเกร็งกล้ามเนื้อ 2 ใน 3 ของกำลังสูงสุด 6 นาที ต่อวัน วันละ 1 ครั้ง จะช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นแข็งแรงได้ "

 

      2. ออกกำลังกายแบบไอโซโทนิค  (  ISOTONIC )   

         คือ การออกกำลังกายสู้แรงต้านทาน กล้ามเนื้อจะหดและคลายตัว มีการเคลื่อนไหวของข้อต่อร่วมด้วย เช่น การการยกของขึ้นและวางลง การออกกำลังกายแบบนี้ เป็นการริหารกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ โดยตรง ได้ผลดีกว่าแบบที่ 1 

 

      3. ออกกำลังกายแบบไอโซคิเนติก (  ISOKINETIC ) 

         คือ  เป็นการออกกำลังกายที่ให้ร่างกายต่อสู้แรงต้านทาน ด้วยความเร็วคงที่ เป็นการออกกำลังกายแบบใหม่ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น ลู่วิ่ง ( TREADMILL)

 

      4. การออกกำลังการแบบไม่ใช้ออกซิเจน  (  ANAEROBIC ) 

        เป็นการออกกำลังกายโดยใช้พลังงานจากสารพลังงาน  หรือ ATP ได้แก่การทำงานเบา ๆ วิ่งระยะสั้น ๆ การยกน้ำหนัก เป็นต้น  เป็นการออกกำลังกายที่ไม่ใช้ออกซิเจนเลย ( นักกรีฑา 60 และ 100 ม. บางคนวิ่งโดยไม่หายใจเลยสักครั้ง  )    นักกีฬาเหล่านี้ได้รับการฝึกอย่างหนัก จนร่างกายทนต่อสภาวะ  " การเป็นหนี้ออกซิเจน"  ได้อย่างดี

 

 

          เห็นใหมครับ.. ว่า...การออกกำลังกายท่านไม่จำเป็นต้องมีเวลามาก เพียงแค่ท่านมีใจ   เวลาใหนก็สามารถออกกำลังกายได้   แต่ถ้าจะให้ดี ควรหาเวลาออกกำลังกาย  "แบบแอโรบิค "  เลือกกิจกรรมการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ท่านชอบสักสัปดาห์ละ 2  -  3  ครั้ง  ครั้งละ  15 -  45  นาที  คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง....นะครับ  สำหรับร่างกายที่เกิดมาและดำรงอยู่ได้ถึงทุกวันนี้  ..... 

 

           ....................   ให้รางวัลกับร่างกายตัวเองหน่อยนะครับ    ..........................

     

   

หมายเลขบันทึก: 165036เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2008 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท