หมอบ้านนอกไปนอก(52): จินตนาการ


เมื่อจิตใจสงบ เบาสบาย จินตนาการจะเกิดได้และความรู้ใหม่ก็จะผุดบังเกิดขึ้นมาในใจได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์อยู่อย่างเรียบง่ายทางวัตถุแต่ลุ่มลึกทางปัญญา

    ก้าวเข้าสู่สัปดาห์ที่ 22 อากาศเริ่มอุ่นขึ้น อุณหภูมิสูงกว่า 5 องศา วันเสาร์ใช้เวลาทั้งวันพยายามเขียนโครงร่างวิทยานิพนธ์ส่งอาจารย์ แต่ก็เขียนไม่ได้ ต่อสไกป์คุยกับครอบครัวก็ไม่ได้ ช่วงหลังๆมานี่ สไกป์มีปัญหาค่อนข้างมาก พยายามนั่งคิด รวบรวมความรู้เพื่อจะเขียนเท่าไหร่ก็เขียนไม่ได้ รุ้สึกไม่มีอารมณ์ที่จะเขียน อาจารย์บอกว่าให้เขียนแค่ 1-2 หน้าก็พอ เป็นการสรุปเส้นทางงานวิจัยให้เห็นภาพจากไหนไปไหน ต้องการอะไร สุดท้ายเลยตัดสินใจออกไปปั่นจักรยานรอบๆเมืองเกือบสองชั่วโมง กลับมาอาบน้ำกินข้าวแล้วก็ดูหนังที่พี่ต้อย (สุดาวรรณ สุขเจริญ) พี่สาวที่สนิทกันให้มาเพื่อฝึกฟังภาษาอังกฤษเรื่องสวีทนัก รักเราไม่เก่าเลย รู้สึกสนุกดีมาก ผ่อนคลาย ให้ความรู้สึกที่ดี หนังจบเกือบห้าทุ่มกว่า ปรากฏว่าสามารถคิดแนวหรือพล็อตของวิทยานิพนธ์ได้ สุนทรียทางอารมณ์ช่วยทำให้เกิดจินตนาการได้ง่ายทำให้คิดออกในเวลาอันสั้น ทำให้นึกถึงการทำงานของนักเขียน นักศิลปะ นักคอมพิวเตอร์หรือนักออกแบบ ที่ทำงานเวลาไม่แน่นอน จะมายึดเวลาเข้าทำงานแปดโมงเช้าเลิกสี่โมงเย็นแบบงานประจำทั่วๆไป มักไม่ได้ผลงานที่ดีนักเพราะเวลาจะคิดงานไม่ใช่มานั่งในห้องสี่เหลี่ยมแล้วก็คิดได้เลย มันต้องมีอารมณ์ร่วมในการทำด้วย

ผมนึกถึงพี่ออด (อภิชาติ รอดแสวง) ผู้รับผิดชอบงานสารสนเทศของโรงพยาบาล ที่พยายามเรียนรู้ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยตนเองจนสามารถรู้เรื่องเหล่านี้ได้ดี เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซ่อม ประกอบ ตรวจสอบ ติดตั้งระบบแลน เขียนเว็บไซต์รวมทั้งระบบซอฟท์แวร์ เวลางานในเวลาปกติจะหมดไปกับการตามเช็คและซ่อมเครื่องและระบบต่างๆในโรงพยาบาลที่มีคอมพิวเตอร์อยู่เกือบสี่สิบเครื่อง รวมทั้งระบบเสียงตามสาย เคเบิลทีวี โทรศัพท์ เวลาในการคิดเขียน ทำระบบต่างๆจึงต้องใช้นอกเวลาราชการเป็นหลัก อีกอย่างหนึ่งก็คือด้วยปัจจัยเรื่องอารมณ์และจินตนาการด้วย ความวุ่นวายของงานในช่วงเวลาราชการทำให้จินตนาการเกิดได้ยาก ผมเองเวลาคิดงาน ลงนามเอกสารก็ต้องใช้นอกเวลาราชการเช่นกัน ผมจึงเข้าใจพี่ออดและให้มาทำนอกเวลาราชการ ช่วงกลางคืน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาคอยเช็คว่าขึ้นมาหรือไม่มาเพราะผลงานที่ผมได้กลับมาเป็นเครื่องตรวจสอบได้อยู่แล้ว แต่ผมก็รู้อยู่แล้วว่าขึ้นมาทำงานทุกคืนเพราะผมก็ขึ้นมาทำงานในห้องผู้อำนวยการเกือบทุกคืนเช่นกัน บ่อยครั้งที่ผมเลิกงานกลับบ้านห้าทุ่มกว่าแล้ว พี่ออดก็ยังง่วนอยู่กับงานในห้องคอมพิวเตอร์อยู่ การเข้าใจสภาพงานและคนทำงานทำให้เราได้งานมากกว่าการมานั่งตรวจสอบเวลางานว่าขึ้นมาหรือไม่มาเสียอีก คำนวณดูแล้วเวลาที่ทำงานมากกว่าโอทีที่จ่ายให้มากเลย

เวลาอยู่ในห้องเรียนทำกิจกรรมกลุ่ม สมาชิกกลุ่มต่างถกเถียงกันด้วยความรู้ เพื่อหาแนวทางต่างๆผมมักคิดไม่ค่อยออก ผิดกับเวลาทำงานจริง ที่ผมมีเวลาส่วนตัวเงียบๆ มีสมาธิ ในความรู้สึกสบายๆ จึงสามารถเอาความรู้ทางทฤษฎีหรือในตำราหรือจากการดูงานจากที่อื่นๆมาคิดงานหรืออกแบบรูปแบบกิจกรรมต่างๆออกมาได้ การออกแบบกิจกรรมต่างๆในโรงพยาบาลบ้านตากที่ผ่านมาจึงมีความหลากหลาย เหมาะกับกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องและสามารถสร้างผลงานได้ดีในระดับหนึ่งและที่สำคัญคือการออกแบบกิจกรรมเหล่านั้นมีฐานหรือขาเหยียบอยู่บนความจริงของเหตุการณ์ สิ่งแวดล้อม ไม่ได้ล่องลอยถกเถียงกันอยู่ในความฝันหรือเอกสารอ้างอิงตามตำราของแวดวงวิชาการแบบในห้องเรียน ทำให้ผมมีข้อเสียคือไม่ชอบเข้าประชุมหรือทำกิจกรรมกลุ่มเชิงวิชาการ แต่ชอบเข้าร่วมกลุ่มเพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติจริงมากกว่า

ชาวพุทธได้เรียนรู้การใช้ปัญญาจินตนาการถึงความรู้เชิงปฏิบัติอันยิ่งใหญ่จากพระพุทธเจ้า ที่ได้ลองผิดลองถูกโดยการบำเพ็ญทุกริยาเพื่อหาทางพ้นทุกข์ แต่ก็ทำไม่ได้เพราะใจไม่สุข แต่พอมาทำให้ใจสุข ถือสายกลางก็เกิดจินตนาการ เกิดปัญญาสามารถตรัสรู้ความจริงของมนุษย์ 4 ประการหรืออริยสัจ 4 คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ออกมาได้ และพระองค์ทรงเป็นตัวอย่างของนักจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นมากว่า 2500 ปีแล้ว โดยการปฏิบัติจริงด้วยตนเอง เรียนรู้จากความผิดพลาด เรียนรู้จากความล้มเหลวและเรียนรู้จากความสำเร็จ ประมวลความรู้ สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ใหม่ ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และรวบรวมจนได้คลังความรู้เป็นความรู้ที่อยู่ในพระไตรปิฎกถึง 84,000 พระธรรมขันธ์

ผมเคยร่วมงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติปีที่แล้ว ได้เข้าฟังบรรยายของอาจารย์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เจ้าของโรงเรียนสัตยาไสย ท่านเล่าให้ผู้เข้าร่วมฟังบรรยายฟังว่า ท่านใช้เวลาอยู่นานมากในห้องทดลองที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ แหล่งสนับสนุนความรู้เพื่อออกแบบขาของยานอวกาศที่จะส่งไปลงบนดวงจันทร์ แต่พยายามเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก จนสุดท้ายท่านขอปลีกวิเวกไปนั่งสมาธิบนภูเขา เพียงไม่นานท่านก็สามารถคิดได้และออกแบบขายานอวกาศเพื่อลงบนดวงจันทร์ได้เป็นคนแรก เมื่อจิตใจสงบ เบาสบาย จินตนาการจะเกิดได้และความรู้ใหม่ก็จะผุดบังเกิดขึ้นมาในใจได้ง่าย ดังกับคำกล่าวของไอน์สไตน์ นักคิดนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงของโลกที่ไม่เคยเข้าห้องทดลองเลยในการคิดทฤษฎีสัมพันธภาพ ได้สูตร E = mc2 เป็นความรู้ที่ได้จากการทดลองและนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังๆได้นำมาทดลองพิสูจน์ว่าเป็นจริง ไอน์สไตน์กล่าวไว้ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความรู้: Imagination is more important than knowledge”

วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2551 ไม่ได้ออกไปไหน นั่งอ่านหนังสือและเขียนโครงร่างวิจัยอยู่ในห้องพัก ตอนบ่ายต่อสไกป์คุยกับลูกและภรรยาสองชั่วโมงกว่าได้คุยกับน้องแคน พยายามสอนลูกให้คิด ให้เขามีความรับผิดชอบ โดยเป็นการสอนแบบสนทนากันหรือคุยกันแบบยกตัวอย่างประกอบให้ลูกคิดตามหรือตีความเอง น้องแคนไม่ชอบอ่านหนังสือเรียน ครูบอกว่าชอบเหม่อในห้องเรียน สนใจแค่บางวิชา ถ้าวิชาไหนสนใจก็จะทำได้ดี ผมเองก็ไม่เคยบังคับลูกเรื่องเรียน ปล่อยให้เขาคิดเองและผลการเรียนก็ไม่ดี แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเขา แต่ก็พยายามกระตุ้นพลังทางบวกที่ซ่อนอยู่ในตัวเขาออกมาและก็อดทนรอ รอจนกว่าลูกจะคิดได้ จนบางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าเราสอนลูกไม่เป็นหรือเปล่า ผิดทางไปหรือเปล่า

พอคุยกับลูกเสร็จก็ออกปั่นจักรยานเที่ยวรอบเมืองสองชั่วโมงถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจแล้วได้ออกกำลังกายไปด้วย กลับมาทานอาหารเย็นแล้วก็เขียนโครงร่างวิทยานิพนธ์ต่อจนเสร็จได้ 1 หน้าพอดี ผมคิดว่าเขียนให้ได้รู้เรื่องหนึ่งหน้านี่ยากกว่าเขียนหลายหน้าเสียอีก ก่อนนอนยังคิดแนวการเขียนรวมทั้งประเด็นในการเขียนงานวิจัยR2Rเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่โรงพยาบาลบ้านตากด้วย

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 ช่วงเช้าสี่ชั่วโมงเรียนเรื่องการเจรจาต่อรองกับอาจารย์ฌอง เมอร์เต็น (Jean Maertens) ช่วงบ่ายว่างกับมาต่อสไกป์คุยกับภรรยา ปรากฎว่าสไกป์มีปัญหาไม่ได้ยินเสียงต้องติดต่อกันด้วยการเขียน หลังจากนั้นได้ต่อสไกป์คุยกับหมอก้อง (พงศธร พอกเพิ่มดี) ที่มาช่วยงานที่สำนักงานผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ดร. มาร์กาเร็ต ชาน) อยู่ที่เจนีวา สวิส สามารถคุยสื่อสารกันได้ชัดเจนดี แม้ไอซีทีจะมีประโยชน์มากแต่บางครั้งก็เอาแน่เอานอนไม่ได้เช่นกัน เวลาทำอะไรกับไอทีจึงต้องมีระบบสำรองเสมอ

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นการเริ่มเรียนวิชาวิธีการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพ (MAHP: Methods analysis of health problem) ช่วงเช้าเรียนกับอาจารย์กี (Guy Kegels) ที่ชำนาญทางด้านโรคหัด ในหัวข้อการวิเคราะห์แนวดิ่ง (Vertical analysis) ช่วงบ่ายเรียนกับอาจารย์แพทริก (Patrick Kolsteren) ที่ชำนาญทางด้านโภชนาการในหัวข้อการวิเคราะห์เชิงเหตุและผล (Causal analysis) เสร็จแล้วกลับมาต่อสไกป์คุยกับภรรยา แล้วก็นั่งเขียนเรียบเรียงงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลโปรแกรมการดูแลผู้สูงอายุที่เขียนร่วมกับเอ้ กิตติพัทธ์และน้อย (วราพร คุ้มอรุณรัตนกุล) ผู้บุกเบิกงานด้านการพยาบาลผู้สูงอายุของโรงพยาบาลบ้านตาก เขียนจนเสร็จ เป็นการเขียนวิจัยที่ใช้เวลานานมากสำหรับผมเกือบสี่เดือนที่ได้ข้อมูลและการเขียนเบื้องต้นมาจากน้อย ต้องค้นคว้าจากงานวิจัยอื่นๆเพิ่มเติมอีกมาก

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ช่วงเช้าเรียนกับอาจารย์กีในหัวข้อการวิเคราะห์การปฏิบัติการ (Operational analysis) ช่วงบ่ายแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพโดยอาจารย์ให้เลือกปัญหาที่ตนเองสนใจมี 8 หัวข้อคือหัด ไข้เลือดออก อหิวาตกโรค พยาธิใบไม้ในเลือด ทุพโภชนาการ เบาหวาน ตับอักเสบบีและมะเร็งปากมดลูก ผมเลือกกลุ่มไข้เลือดออก ส่วนพี่เกษมอยู่กลุ่มตับอักเสบบี เป็นการวิเคราะห์แนวดิ่งภาคแรก การเรียนวิชานี้เรียนร่วมกันทั้งสองหลักสูตรคือการบริหารสาธารณสุข (HSMP) และการควบคุมโรค (MDC) ทำให้ได้เพื่อนเพิ่มอีก 19 คน กลุ่มผมมีสมาชิก 8 คนคือสุวรรณริด (กัมพูชา) กัดดัม (อินเดีย) ประชันธ์ (อินเดีย) ทุ้ย (เวียดนาม) ลอร่า (อิตาลี่) กัดจู (เนปาล)และลาริสซ่า (เปรู)

อาจารย์กีชี้แจงแล้วให้เอกสารประกอบการทำกลุ่มเป็นงานวิจัยหลักๆเกี่ยวกับไข้เลือดออก มีอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่ม (Coach) ให้ 2 คนคืออาจารย์แมริแอน (Marjan Pirard) เป็นโค้ชด้านกระบวนการกับอาจารย์วีเริล (Veerle Van Lerberghe) เป็นโค้ชด้านเทคนิค ทุกกลุ่มมีห้องเรียนให้เป็นการเฉพาะ มีที่ปรึกษา 2 คน มีเวลาหนึ่งสัปดาห์ในการวิเคราะห์ภาคแรก นำเสนอในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ กลุ่มละ 15 นาทีและอภิปรายอีก 25 นาที เราแยกย้ายกันไปอ่านเอกสารที่ได้รับแล้วนัดทำความเข้าใจร่วมกันวันรุ่งขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นการทำงานกลุ่ม สรุปประเด็น แล้วช่วยกันค้นคว้างานวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับไข้เลือดออก ที่ปรึกษาด้านกระบวนการมาช่วยไกด์ให้ เราต้องเข้าห้องสมุดและค้นจากอินเตอร์เน็ตแล้วสรุปประเด็น จัดทำร่างการนำเสนอ ทุกประเด็นต้องมีตัวเลขและเอกสารอ้างอิง บ่ายสี่โมงเย็นเป็นชั่วโมงแนะแนว อาจารย์วาลาเรียเข้าแจ้งข่าวดีเรื่องสถาบันจัดไปดูงานที่สก็อตแลนด์ช่วง 2-9 มิถุนายน ก่อนสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ เดิมจะได้ไปเนเธอร์แลนด์ แต่พวกเราอยากไปสก๊อตแลนด์มากกว่า

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 ช่วงเช้าเรียนเรื่องเครื่องมือสำหรับการตัดสินใจ (Tools for decision making) บ่ายทำงานกลุ่มต่อและพบกับโค้ชด้านเทคนิคเพื่อให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับตัวแบบการเกิดโรคไข้เลือดออก อภิปรายกันในกลุ่ม ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม บ่ายสี่โมงครึ่งเป็นการนำเสนอประเทศอาร์เซอร์ไบจัน ดินแดนแห่งไฟ (Land of fire) ของนาร์มีน ประเทศเล็กๆที่แตกมาจากสหภาพโซเวียต อุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซใต้ดิน กับภูมิประเทศแถบเทืกเขาคอเคซัส แล้วรีบกลับบ้านเพื่อมาเตรียมงานเลี้ยงตรุษจีนที่ตอนแรกจะจัดกันกลุ่มเล็กๆ ต่อมาขยายเป็นกลุ่มอาเซียนจัดให้เพื่อนๆทั้งชั้น

ผมจัดเตรียมสถานที่เพราะใช้อพาร์ทเมนต์ของผมเป็นสถานทีจัด บูโคลา (ไนจีเรีย) ช่วยเตรียมเรื่องจาน ช้อน เกลนด้า (ฟิลิปปินส์) ช่วยเตรียมเรื่องเครื่องดื่มแต่เราเตรียมไม่มากเพราะเพื่อนๆที่มาเราขอให้นำเครื่องดื่มมาด้วย ริดกับริด้า (กัมพูชา) ทำข้าวต้มไก่กับไก่ผัดขิง โนริ (ญี่ปุ่น) ทำปอเปี๊ยะสดเวียดนาม ฟ่ง (จีน) กับแครอล (ไต้หวัน) ทำปอเปี๊ยะทอด เกรซ (ฟิลิปปินส์) ทำข้าวผัด พี่เกษม ทำต้มข่าไก่กับต้มจับฉ่าย เยเน็ทกับอามีน (บังกลาเทศ) ทำขนมหวาน (Payesh) เราต้องทำอาหารแยกของกลุ่มมัสวิรัติด้วย ส่วนผมทำน้ำพริกหนุ่มกับช่วยพี่เกษมทำน้ำพริกนรกทรงเครื่องและเกลนด้าเจียวไข่

พอหนึ่งทุ่มเพื่อนๆทยอยมากันแล้ว แต่กว่าอาหารจะเสร็จก็ทุ่มครึ่ง เพื่อนๆมาร่วมงานกันเกือบครบ ขาดไปแค่สองคน อาจารย์วาลาเรียมากับลูกสาว (อะมันดา) อาจารย์วิมมากับภรรยาและอาจารย์ทอม รวมแล้วสี่สิบห้าคนบรรยากาศสนุกสนานเป็นกันเองมาก ผมทำหน้าที่แนะนำอาหารให้เพื่อนๆรู้จัก เพื่อนๆได้ชิมอาหารหลากหลายและชอบกันมาก พอทานอาหารได้สักพักออลันโดก็มาเล่นกีตาร์ร้องเพลงTake me to your heart ที่มีเพลงจีนด้วยกับฟ่ง แครอลและพี่เกษม ต่อด้วยแคลิฟอร์เนียจากประชันธ์กับออลันโด ต่อมาผมเล่นกีตาร์ให้พี่เกษมร้องเพลงสาวเชียงใหม่และผมเล่นและร้องมนต์เพลงคาราบาว อาจารย์วาลาเรียเข้ามาคุยกับผมบอกว่าทึ่งมากคุณทำอะไรๆได้หลายอย่างและเล่าให้ฟังว่าเข้าไปค้นKMในกูเกิลแล้วเจอชื่อผมเยอะเลยอยากนัดแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการจัดการความรู้กัน

สี่ทุ่มกว่าๆงานก็เลิกโดยโจเซฟิน (เนเธอร์แลนด์) กล่าวขอบคุณพวกเราชาวเอเซียที่จัดงานเลี้ยงให้เพื่อนๆ แล้วก็ทยอยกันกลับด้วยมิตรภาพอันดีของพวกเราในรุ่น ก่อนกลับก็ช่วยกันเก็บของเคลียร์บ้าน บูโคลา โนริ นาร์มีน เกลนด้า ช่วยล้างจาน คนอื่นๆช่วยกันเก็บกวาด แต่ผมกับพี่เกษมก็เคลียร์กันอยู่จนเที่ยงคืนกว่าจะได้นอน เหนื่อยแต่ก็มีความสุข

วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2551 ตื่นเช้ารีบมานั่งทำโมเดลไข้เลือดออกส่งให้เพื่อนๆในกลุ่มแล้ว แปดโมงสิบห้ารีบไปขึ้นรถเพื่อไปดูพิพิธภัณฑ์ทุ่งฟลานเดอร์ (In Flanders Field Museum) ที่จัดแสดงเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพที่เมืองอีเปอร์ (Ieper, Ypres) เมืองเล็กๆในเขตฟลานเดอร์ ผ่านไปทางบรูจจ์อยู่ใกล้ชายแดนฝรั่งเศสและเยอรมัน นั่งรถสองชั่วโมงกว่า ลักษณะของเมืองอีเปอร์คล้ายๆกับเมืองอื่นๆ แต่อาคารบ้านเรือนสร้างใหม่เพราะถูกทำลายไปมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งช่วงปี ค.ศ. 1914-1918 ที่เป็นสมรภูมิรบของทหารเยอรมันกับทหารเบลเยียม ฝรั่งเศสกับอังกฤษ มีการใช้ก๊าซพิษทำให้คนตายไปหลายล้านคน ในเมืองจึงมีสุสานที่ระลึกถึงทหารที่เสียชีวิตในสงครามหลายแห่ง ในพิพิธภัณฑ์มีอุปกรณ์ ที่ใช้ในสงคราม ภาพถ่ายเก่าๆ วีดีโอเรื่องราวต่างๆช่วงสงคราม ภาพจำลองซากปรักหักพังของเมืองรวมทั้งบันทึกของทหารในสมรภูมิ ผมดูด้วยความรู้สึกเศร้าๆ สงครามไม่มีผู้ชนะที่แท้จริง มีแต่ผู้แพ้ บาดเจ็บ ล้มตายที่ทิ้งไว้กับบาดแผลในใจของคนอีกหลายชีวิตกับซากหักพังที่หดหู่  ผมเคยไปดูพิพิธภัณฑ์สงครามที่ฮานอย เวียดนามก็รู้สึกคล้ายๆกัน ตอนออกมาทานอาหารได้คุยกับคนขาย เขาบอกว่า เขาเกิดที่นี่ อยู่ที่นี่แต่เขาไม่เข้าไปดูในพิพิธภัณฑ์เลยเพราะรู้สึกปวดร้าวและหดหู่มาก เมืองนี้เป็นที่รู้จักกันมากดพราะบทกวีIn Flander Field ที่เขียนขึ้นในทุ่งดอกป๊อปปี้นอกเมืองระหว่างสงครามโลกครั้งที่1 และดอกป๊อปปี้ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของทหารผ่านศึกตั้งแต่นั้นมา หลังจากนั้นก็เดินดูเมืองสักพักก็ขึ้นรถเพื่อไปชมโรงงานเบียร์ต่อ

โรงงานเบียร์บริวเวอรี่ (Brewery) เป็นโรงงานขนาดเล็กเหมือนอุตสาหกรรมในครัวเรือน แต่ผลิตเบียร์หลายยี่ห้อที่มีชื่อของเบลเยียม ในโรงงานมีส่วนที่เป็นร้านเบียร์ด้วย เจ้าของและผู้นำชมเป็นหญิงชราวัยเกือบเจ็ดสิบปีที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดีพร้อมกับความสมาร์ท คล่องแคล่วทะมัดทะแมง พาเราเดินชมโรงงานพร้อมทั้งคำอธิบายอย่างสนุกสนานมีมุขตลกให้ฟังตลอดเวลา เบียร์ที่ผลิตจากที่นี่เช่นอูร์เบียร์ (oerbier)  อาระเบีย คริสต์มาสเบียร์ ที่มีระดับอัลกอฮอล์ ไม่เท่ากัน ผลิตจากข้าวบาร์เลย์จากเยอรมัน น้ำตาลและยีสต์ ในโรงงานมีส่วนเตรียมวัตถุดิบ ส่วนหมักเบียร์และส่วนกลั่นก่อนบรรจุลงขวดและมีส่วนควบคุมคุณภาพด้วย เสร็จแล้วมีเบียร์ให้ชิมก่อนกลับ พร้อมคำถามที่ว่า อะไรคือความแตกต่างระหว่างคนทำเบียร์กับคนดื่มเบียร์ ซึ่งคุณป้าบอกว่า คนผลิตเบียร์ทำเบียร์จากน้ำ แต่นักดื่มเบียร์ทำน้ำจากเบียร์ ผมหวนคิดถึงวัยเด็ก แม่ก็เคยต้มเหล้าเองที่ห้างไร่เพื่อใช้ในงานเลี้ยงสำคัญๆของครอบครัว เช่นบวชนาค แต่งงาน ผมยังทึ่งอยู่ว่าแม่ไม่เคยเรียนทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่แม่ทำได้ เสียดายเหล้าที่ชาวบ้านต้มกันเองกลายเป็นของเถื่อน ส่วนที่นายทุนทำเป็นเหล้าถูกกฎหมาย ภูมิปัญญาชาวบ้านหลายๆอย่างจึงสูญหายไป  กลับถึงบ้านพักหกโมงครึ่ง

ตอนค่ำไปผมกับพี่เกษมไปร่วมงานเลี้ยงปีใหม่เวียดนามที่บ้านทุ้ยซึ่งก็คือตรุษจีนนั่นเอง ทุ้ยทำอาหารเวียดนามและไปซื้อเป็ดย่างจากบรัสเซลส์มาเลี้ยงเพื่อนๆประมาณ 10 คน ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนสนิททุ้ยในหลักสูตรการควบคุมโรค นอกนั้นก็มีผม ริด พี่เกษม บุญพัน ได้เจอกับบุญพันที่เป็นคนลาวแต่มาอยู่เบลเยียมได้ยี่สิบกว่าปีแล้ว เราคุยภาษาไทยกันอย่างถูกคอ บุญพันมีภรรยาเป็นคนเวียดนาม บรรยากาศเป็นแบบสบายๆ พาลลี (กัมพูชา) ร้องเพลงไพเราะหลายเพลงมาก ทุกคนร้องกันคนละเพลง สักสี่ทุ่มครึ่งก็เลิก ก่อนกลับแวะคุยกับประชันธ์และโนริที่บ้านใกล้ๆกัน ได้เล่นกีตาร์ด้วยกัน กว่าจะกลับถึงบ้านพักก็เที่ยงคืน

ทรัพยากรบนโลกมนุษย์มีจำกัด ขณะที่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด แต่ก็โชคดีที่ธรรมชาติก็ทำให้ความสามารถของมนุษย์มีไม่จำกัดเช่นกัน ทำให้มนุษย์รู้จักใช้ความจริงจากธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในการมีชีวิตรอดอยู่ได้ ธรรมชาติให้จินตนาการมากับมนุษย์ ทำให้ช่างสังเกตแล้วคิด ทำไมนกถึงบินได้ ไม่ใช่คำตอบแค่เพราะมันเป็นนก จินตนาการสอนให้คนหาความจริงที่อยู่เบื้องหลัง จนสร้างเครื่องบินได้ จนเกิดเป็นทฤษฎี หลักการ ตัวแบบ เทคโนโลยีมากมาย โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์อยู่อย่างเรียบง่ายทางวัตถุแต่ลุ่มลึกทางปัญญา จึงพบว่ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในต่างประเทศตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ ไม่วุ่นวาย หรือบางทีอยู่บนภูเขา คงต้องการให้นักศึกษาได้มีบรรยากาศที่สามารถหลบหลีกจากความวุ่นวายเพื่อใช้เวลากับการจินตนาการก็เป็นได้ เหมือนกับละครสมัยโบราณที่พระเอกต้องไปเรียนวิชากับพระอาจารย์ในป่า

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

12 กุมภาพันธ์ 2551, 21.07 น. (03.07 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 164955เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2008 03:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับคุณหมอพิเชษฐ์

คุณหมอคงสบายดีนะครับ   แม้อากาศจะหนาวซักหน่อย

Antwerpen ผมเคยไปครั้งหนึ่ง  จำได้ว่าผมไปพักโรงแรมแถวๆใกล้ๆ Banhhof  แต่จำชื่อโรงแรมไม่ได้แล้ว     แต่ที่จำได้แม่น  คือ museum  ผมได้ไปชม Silver Museum Sterckshof   หน้าตาอาคารคล้ายปราสาทเก่า  

คุณหมอโชคดีนะครับได้ไปอยู่ที่เมืองนี้   เมืองสวยครับ  เป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย   และไม่ไกลจากชายแดนเยอรมัน  กับ ฮอลแลนด์  คุณหมอคงได้ข้ามไปเที่ยวมาแล้วใช่ไหมครับ

ครอบครัวคงสบายดีทุกคนนะครับ 

แวะมาทักทายครับ

ธวัช

สวัสดีครับอาจารย์ธวัช

ขอบคุณมากที่แวะมาทักทายกัน อาจารย์ธวัช น้องอ้อ น้องอ้อมและทีมงานของ สคส.สบายดีนะครับ

 ผมยังไม่ได้ไปเที่ยวฮอลแลนด์กับเยอรมันเลยครับ กะไว้เดือนพฤษภาคม จะไปชมเทศกาลไม้ดอกที่ฮอลแลนด์ครับ

สวัสดีเจ้าค่ะ คุณน้าหมอ

             สบายดีหรือเปล่าเจ้าค่ะ  รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ น้องจิแวะมาเป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ คิคิ

             ขอให้เดินทางไปทั่วโลกด้วยความสวัสดิภาพนะเจ้าค่ะ --------> น้องจิ ^_^

สวัสดีครับ พี่พิเชษฐ์ครับ

ผมแทนครับ ที่เรียนที่ออสเตรเลีย เคยไป รพ.บ้านตาก กับทางพี่ วิทย์ ครั้งหนึ่งครับ หลายปีแล้ว ได้ติดตามอ่าน Blog แล้วชื่นชมมากเลยครับ

หวังว่าคงได้แรกเรียนรู้กับพี่บ้างครับ

 แทนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท