คำพูดที่ประทับใจในวัน KM ศูนย์เด็กเล็กชัยภูมิ


ประทับใจ
    

เรียนรู้ความสำเร็จการดำเนินงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  จังหวัดชัยภูมิ

 

เรื่อง       การประชุมในโครงการพัฒนาคุณภาพงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

              ในวันที่  8  มิย. 50   ณ โรงแรมสยามรีเวอร์รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ   

เจ้าภาพ      เป็น งานทันตสาธารณสุข  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด   โดยมีกลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ  ( สสจ. )  ร่วมสนับสนุน   และ เจ้าหน้าที่กองทันตสาธารณสุขเป็นผู้ร่วมกิจกรรม     

ผู้ร่วมสัมมนา     จำนวน 40  คน มาจากหลายหน่วยงาน   ได้แก่

                     กรมพัฒนาชุมชน   กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์   สาธารณสุข    เจ้าหน้าที่ อบต.  และผู้ดูแลเด็ก

กระบวนการ       การบรรยาย   กลุ่มสัมพันธ์   กิจกรรมกลุ่ม   การสังเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จ  และการประเมินสถานภาพของปัจจัยแห่งความสำเร็จ

ประเด็นกลุ่ม     เรื่องเล่าความภูมิใจการทำงานศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

กิจกรรมกลุ่ม

Ø     แบ่งเป็น 5 กลุ่ม  กลุ่มละประมาณ  7 8 คน  รวม ( Facillitator + note taker )

Facillitator :  เป็นผู้ดำเนินการประชุม   note taker :  เลือกจากผู้เข้าสัมมนา

Ø    ให้ทุกคนเล่าเรื่องที่ภูมิใจ คนละ 5 นาที    โดยบอกว่า

       เราไปทำอะไรสำเร็จมา

       ทำอะไรบ้าง  จึงเกิดผลอย่างที่เกริ่นไว้

       คิดยังไงจึงทำให้ทำอย่างนั้น  เจ้าตัวคิดไม่ต้องวิเคราะห์ว่าอะไร คือ ปัจจัยความสำเร็จ

       หลังการเล่าเรื่องของแต่ละคน  กลุ่มร่วมวิเคราะห์ว่า อะไร คือ ปัจจัยความสำเร็จของเรื่องเล่านั้น

Ø     ตัวแทนกลุ่มนำเสนอปัจจัยแห่งความสำเร็จ  และยกตัวอย่าง  2 3 เรื่อง  นำเสนอ 8- 10 นาที

Ø     ตัวแทนรวบรวมปัจจัยแห่งความสำเร็จของทุกกลุ่ม  และสังเคราะห์ รวมกลุ่มปัจจัยความสำเร็จในภาพรวมของจังหวัด   ( ตารางที่ 1  , 2 )

Ø   ประเมินสถานภาพของปัจจัยสำเร็จ  ด้วยการให้คะแนน รายบุคคล  (น้อย ..ปานกลาง ..มาก )

Ø    ผู้จัดประประชุมสรุปผลการประเมิน  และการเลือกผลประเมินในระดับปานกลางหรือน้อยไปพัฒนางาน

เรื่องเล่าดี ๆ

         สิ่งแวดล้อมดีด้วยเหตุผล คุณสุทธิหญิง (นวก.สธ) เล่าว่า จากการตรวจแนะนำ ศพด. พบปัญหาระบบสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ไม่ผ่านเกณฑ์จนถึงแย่มาก ๆ  สิ่งที่ได้ทำ  :  ให้คำแนะนำเรื่องมาตรฐานเกณฑ์  พร้อมคำอธิบายถึงเหตุผลทางวิชาการด้วยว่า เพราะอะไรจึงต้องทำอย่างนั้นทำแล้ว  จะส่งผลต่อเด็กอย่างไร + ศูนย์ อย่างไร เช่น  - ทำไมต้องยกระดับที่ล้างจานให้สูงจากพื้น 60 ซ.ม. - ทำไมต้องให้เด็กใน ศพด. มีแก้วน้ำเฉพาะตัว  ไม่ใช้ร่วมกัน เพื่อป้องการแพร่เชื้อของโรคติดต่อผลสำเร็จ  :  -  ศพด.  ประมาณร้อยละ 70  มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อม  สุขาภิบาลได้มาตรฐาน  ปัจจัยสำเร็จ  :  -  การสร้างความเข้าใจตามหลักวิชาการ (ให้เหตุผล ข้อดีของการปฏิบัติตามเกณฑ์)    

               ประภาพันธ์  พื้นดอนเค็ง  เจ้าพนักงานปกครอง สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด  เล่าเรื่อง  การที่มีส่วนทำให้ครูพี่เลี้ยงมีสวัสดิการที่ดีขึ้น  เนื่องจากส่วนกลางมีนโยบายที่จะให้ครูพี่เลี้ยงได้เรียนต่อ  เพื่อจะได้ปรับจากพนักงานจ้างทั่วไปเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ   และได้เพิ่มเงินเดือนสูงขึ้น  ได้มีการส่งหนังสือแจ้งเรื่องนี้ไปยังองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุกแห่ง   แต่ก็มีครูพี่เลี้ยงบางคนไม่ได้รับการสนับสนุนจาก อบต.  เพราะเข้าใจว่าต้องใช้เงินอบต.ในการส่งให้เรียนต่อ   ตนเองจึงประสานงานกับอบต.   ด้วยการคุยให้เข้าใจมากกว่าการส่งหนังสือ    พยายามคุยให้อบต.เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่จะได้รับประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย  โดยอบต.ได้ทำหน้าที่ตามที่ควรในการส่งเสริมให้ครูพี่เลี้ยงมีการพัฒนา   เมื่อครูพี่เลี้ยงมีสวัสดิการดี  เขาก็จะดูแลเด็กได้ดี  พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นว่าลูกมาอยู่ศูนย์เด็กแล้วดี  ก็จะชอบและเป็นฐานเสียงให้อบต.  ซึ่งผลทำให้เกิดความเข้าใจ  และให้การสนับสนุนผู้ดูแลเด็กได้เรียนต่อ ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ      การสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารท้องถิ่นให้เห็นความสำคัญของผู้ดูแลเด็ก

           ทิพย์วัลย์    กล้าหาญ    เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข โรงพยาบาล ภูเขียว   เล่าเรื่อง   การทำให้เด็กๆในศูนย์ไม่กลัวหมอฟัน   เนื่องจากได้ออกไปให้บริการที่ศูนย์เด็กบ่อยๆ  ไปทีไรก็จะคุยกับเด็กทุกครั้ง   ครั้งแรกที่เจอเด็กจะไม่ทำให้เด็กกลัว   แต่จะพยายามสร้าง สร้างความประทับใจ    เดี๋ยวนี้เด็กๆ ไม่กลัวหมอฟันแล้ว   ทั้งนี้เพราะตัวเองได้ดูแลเด็กๆ ตั้งแต่เล็กๆ    โดยการตรวจฟันให้เด็กในคลินิกเด็กดี ทาฟลูออไรด์วาร์นิชให้เด็ก  เดี๋ยวนี้พ่อแม่ช่วยเหลือการให้บริการกับเด็กอีกด้วย   กลุ่มสรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จ  คือ  การสร้างความคุ้นเคยกับเด็ก

               กรุณา  มานะดี   เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดชัยภูมิ   เรื่อง  ร่วมด้วยช่วยกัน  เป็นเรื่องที่เกิดในช่วงเวลาที่กรมพัฒนาชุมชนรับผิดชอบงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเด็ก  ตนเองได้ไปเยี่ยมศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งที่จังหวัดสมุทรสงคราม พบว่า มีเด็กเพียง 10 คน เท่านั้น   และแนวโน้มศูนย์เด็กแห่งนี้ คงจะต้องเลิกล้มกิจการ   ด้วยความรู้สึกว่าไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น  จึงนำเรื่องมาปรึกษากับคณะกรรมการศูนย์เด็กเล็ก  ผู้ปกครองเด็ก ผู้ดูแลเด็ก   เพื่อหาหาแก้ไข  ซึ่งได้ข้อยุติร่วมกัน  ว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือ  การสำรวจข้อมูลในกลุ่มเด็กอายุ 3 -5 ปี   เพื่อให้ทราบปัญหาที่ผู้ปกครองไม่นำเด็กมาฝากเลี้ยงที่ศูนย์เด็กแห่งนี้     ทำให้ทราบว่าผู้ปกครองไม่พึงพอใจในบริการของศูนย์เด็กเท่าที่ควร   ดังนั้นจึงได้ประสานขอความร่วมมือกับสถานีอนามัยมาให้บริการด้านสุขภาพแก่เด็ก    ให้การอบรมครูพี่เลี้ยง  และสนับสนุนสื่อการสอน    จากนั้นมีการประชาสัมพันธ์การปรับปรุงให้ผู้ปกครองเด็กได้รับทราบ  ทั้งนี้ได้มีการติดตามงานอย่างสม่ำเสมอร่วมกับคณะกรรมการศูนย์  แกนนำชุมชน ทุก  3 สัปดาห์   พบว่าจากการปรับปรุงได้ 3 เดือน  ศูนย์พัฒนาเด็กแห่งนั้นมีเด็กเพิ่มเป็น 30 คน   ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน

        แล้วจะขอเขียนคำพูดที่น่าประทับใจอีกหลาย ๆเรื่องในโอกาสต่อไปนะคะ
หมายเลขบันทึก: 164826เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2008 12:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท