ความสำคัญของน้ำ


ทรัพยากรน้ำเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า โปรดช่วยกันใช้อย่างชาญฉลาด

ในโลกของเรามีน้ำอยู่ประมาณ 1,400 ล้าน ลูกบาศก์กิโลเมตร แบ่งออกเป็นน้ำเค็มในท้องทะเลและมหาสมุทรประมาณ 97.4 เปอร์เซ็นต์ อีก 2 เปอร์เซนต์เป็นภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ตามขั้วโลก ที่เหลือเพียง 0.6 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่เป็นน้ำจืด หรือประมาณ 8.4 ล้าน ลูกบาศก์กิโลเมตร

ซึ่งในจำนวนนี้ 8.0 ล้าน ลูกบาศก์กิโลเมตรคือน้ำบาดาลหรือน้ำที่อยู่ใต้ดิน ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพพจน์คร่าวๆคือถ้าเราเปรียบเทียบน้ำในโลกของเราว่ามีทั้งหมดประมาณ 1 แกลลอน (ประมาณ 4 ลิตร) ปริมาณน้ำจืดที่เราสามารถนำมาใช้ได้ มีเพียงแค่ 1 ช้อนชาเท่านั้นเอง ทีนี้พอจะเห็นภาพคร่าวๆแล้วใช่ไหมครับว่าน้ำจืดนั้นมีปริมาณจำกัดจริงๆ



เมื่อไม่นานมานี้นักวิชาการทางด้านทรัพยากรน้ำจากหลายๆองค์กรทั่วโลกได้ออกมาเตือนว่าทุกวันนี้โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทางด้านแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงปัญหามลพิษในแหล่งน้ำ

และสหประชาชาติเองก็ได้ส่งสัญญาณเตือนว่าภายในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่จะมาถึงนี้อาจจะเกิดสงครามเพื่อแย่งชิงแหล่งน้ำขึ้น เหตุใดสหประชาชาติถึงได้ออกมาเตือนเช่นนี้

ทั้งนี้อาจเพราะว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญต่อทุกสรรพสิ่งที่มีชีวิตบนโลกใบนี้ นอกจากนี้นักวิชาการชารอิสราเอลได้ให้ความเห็นว่าความกระหายน้ำเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงและความก้าวร้าวของมนุษย์ ซึ่งเขาได้ยกตัวอย่างจากหลายประเทศในตะวันออกกลางที่ถือว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ที่มีค่าที่สุดสำหรับพวกเขา

ดังนั้นที่ผ่านมาในอดีตการทำสงครามเพื่อที่จะได้ครอบครองลุ่มน้ำที่สำคัญต่างๆจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยชาติที่มีกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุดก็จะได้ดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำไปครอบครอง



ทีนี้เราลองหันมามองประเทศไทยของเรากันบ้าง ถึงแม้ว่าประเทศไทยของเราจะอุดมสมบูรณ์ดังคำกล่าวที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” แต่กระนั้นประโยคนี้ก็ได้กล่าวเอาไว้ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง แห่งกรุงสุโขทัยเมื่อสมัย 700 กว่าปีมาแล้ว

ในปัจจุบันประเทศไทยของเรากำลังเผชิญปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเป็นประจำทุกปี รวมทั้งอัตราการขยายตัวของชุมชนเมืองก็เป็นไปอย่างก้าวกระโดด สิ่งปลูกสร้างต่างๆไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โรงแรม คอนโดมิเนี่ยม โรงงานอุตสาหกรรมก็ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราการใช้น้ำอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้



สมัยก่อนประเทศไทยมีประชากรอยู่ไม่มาก เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วประชากรของประเทศไทยมีอยู่ราว 6 ล้านคนทั่วประเทศแต่ในปัจจุบันประชากรในประเทศไทยมีถึง 64 ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมนักท่องเที่ยว นักธุรกิจจากทั่วทุกสารทิศที่เข้ามาประเทศไทย ดังนั้นอัตราการใช้น้ำจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ถามว่าเคยมีการบันทึกสถิติการใช้น้ำของประเทศทั้งหมดในแต่ละปีหรือไม่ อันนี้ไม่ทราบจริงๆครับว่าได้มีการบันทึกเอาไว้หรือเปล่า

แต่ถ้าเทียบเกณฑ์เฉลี่ยของการใช้น้ำอย่างคร่าวๆว่า คนหนึ่งต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือนประมาณ 15 ลิตรต่อวัน ดังนั้นภายในหนึ่งปีคนไทยทั้งประเทศต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือนประมาณ 345,600 ล้านลิตร ซึ่งตัวเลขนี้บ่งบอกว่าประเทศของเรากำลังผลาญทรัพยากรน้ำไปเรื่อยๆและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี

ถามว่าถ้าเรายังต้องการใช้น้ำอยู่อย่างนี้ทุกปี แหล่งน้ำในประเทศไทยจะหมดไปหรือไม่ แน่นอนครับว่ามันจะต้องหมดอย่างแน่ๆ และกำลังจะหมดไปในอีกไม่ช้านี้ ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวได้อ้างถึงเฉพาะปริมาณน้ำที่ต้องการในภาคครัวเรือนเท่านั้น ซึ่งยังไม่นับรวมถึงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ



ปัจจุบันประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อเมริกา สหภาพยุโรป ได้ย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศแม่ของตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากการใช้น้ำภายในประเทศของตัวเอง รวมไปถึงปัญหามลพิษที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมลพิษด้านอากาศ ดิน และแหล่งน้ำ

ดังนั้นหลายๆบริษัทได้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาอยู่ในประเทศไทยของเราก็เพราะว่าประเทศไทยของเรามีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ แต่เรากลับหารู้ไม่ว่าภัยร้ายกำลังคุกคามเข้ามาใกล้ตัวเราอยู่ทุกขณะ เพราะทุกๆชั่วโมงโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ดูดเอาทรัพยากรน้ำของเรา (ซึ่งมันเป็นทรัพยากรของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของผู้หนึ่งผู้ใด) ไปใช้อย่างเมามันแถมมิหนำซ้ำยังยังปล่อยน้ำเสียจากการผลิตลงสู่แหล่งน้ำต่างๆรวมไปถึงแหล่งน้ำบาดาลด้วย

ซึ่งก็จะทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมาคือนอกจากจะทำให้ปริมาณน้ำที่เรามีอยู่อย่างจำกัดลดลงไปแล้ว ยังทำให้คุณภาพน้ำของเราบางส่วนที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมเลวร้ายลงไปด้วย และถ้าหากยังคงเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แหล่งน้ำตามธรรมชาติคงจะหมดไปอย่างแน่นอน


ถ้าน้ำมันหมดรถคุณก็แค่ไม่วิ่ง แต่ถ้าน้ำหมดทุกชีวิตก็จะตาย และเมื่อวันนั้นมาถึงจริงๆ สงครามแย่งชิงแหล่งน้ำคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


คำสำคัญ (Tags): #ทรัพยากรน้ำ
หมายเลขบันทึก: 164761เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2008 07:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้อความอาจน้อยไปนิจ ไม่ตรงกับที่ต้องการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท