คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดหุ้น


การขายชอร์ต  (selling short หรือ short sell)
การขายหลักทรัพย์ที่ไม่มีอยู่ในครอบครอง เนื่องจากคาดว่าราคาหลักทรัพย์จะลดลง จึงขายไปก่อนที่ราคาปัจจุบัน และจะไปซื้อคืนในภายหลัง โดยผู้ขายชอร์ตต้องยืมหลักทรัพย์จากบุคคลอื่นเพื่อส่งมอบไปก่อน และไปซื้อคืนในภายหลัง เพื่อเอาหลักทรัพย์ไปคืนแก่เจ้าของเดิม สำหรับกำไรหรือขาดทุนจะเกิดตอนซื้อคืน ขึ้นอยู่กับว่าซื้อคืนในราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาตอนที่ขายหลังจากหักค่านายหน้าและค่าธรรมเนียม
การซื้อขายรายใหญ่ (big lot)
การซื้อขายหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่ง (อาจเป็นหุ้นหรือตราสารหนี้ก็ได้) จำนวนเดียวโดยไม่แบ่งย่อย และมีปริมาณหรือมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ หรือสูงกว่าปริมาณหรือมูลค่าที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์กำหนดว่า การซื้อขายคราวละตั้งแต่ 1 ล้านหุ้น หรือมูลค่า 3 ล้านบาทขึ้นไป ถือเป็นการซื้อขายรายใหญ่ (big lot) ตลาดหลักทรัพย์จัด big-lot board (กระดานซื้อขายรายใหญ่) ไว้รองรับการซื้อขายเช่นนี้
การจัดการความเสี่ยง  (risk management)
กระบวนการในการระบุ วิเคราะห์ ประเมิน ดูแล ตรวจสอบ และควบคุมความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับกิจกรรม หน้าที่ และกระบวนการทำงาน เพื่อให้องค์กรสามารถขจัดหรือลดความเสียหายจากความเสี่ยงต่างๆ ให้ได้มากที่สุด
การตรวจสอบภาวะตลาด  (SURVEILLANCE)
การเฝ้าดูภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์หากพบภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ใดผิดไปจาก สภาพปกติที่ผ่านมา ก็จะทำการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าความผิดปกติดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎการซื้อขาย หลักทรัพย์หรือไม่ เช่น Insider Trading หรือ Price Manipulation เป็นต้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีส่วนงานหนึ่งในฝ่าย ห้องค้าและกำกับการซื้อขาย รับผิดชอบงานด้านนี้และมีระบบคอมพิวเตอร์ ชื่อ ATOMS ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิ ภาพงานด้านนี้
การวิเคราะห์ทางเทคนิค  (technical analysis)
วิธีการวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยใช้ระดับราคาหลักทรัพย์และปริมาณการซื้อขายเป็นข้อมูลแสดงเป็นแผนภูมิ (รูป กราฟ) ชนิดต่าง ๆ ให้ทราบถึงรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ในอดีต เพื่อจะใช้กำหนดหรือคาดหมายแนวโน้มของ ราคาในอนาคตของหลักทรัพย์นั้น โดยทั่วไปการวิเคราะห์ทางเทคนิคจะใช้วิเคราะห์เพื่อคาดหมายแนวโน้มในระยะสั้นหรือระยะ ปานกลาง เพื่อใช้ตัดสินใจเลือกจังหวะเวลาในการเข้าซื้อหรือขายหลักทรัพย์ แต่ก็อาจใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อดูการเคลื่อนไหวที่เป็นวัฏจักรระยะยาว (Long-Term Cycle) ได้ด้วย การวิเคราะห์ทางเทคนิคจะต่างจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ตรงที่ไม่ได้ใช้ข้อมูลฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ออกหุ้นมาประกอบการวิเคราะห์
การกระจายหุ้น  (SHARE DISTRIBUTIION)
การกระจายหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่งไปยังผู้ถือหุ้น โดยบริษัทที่มีการกระจายหุ้นที่ดี การขายหุ้นออกจำนวนมากของผู้ถือหุ้นบางราย มักจะไม่กระทบราคาของหุ้นมากนัก
การเรียกหลักประกันเพิ่ม  (MARGIN CALL)
การที่บริษัทหลักทรัพย์เรียกให้ลูกค้านำเงินสดมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติม เพื่อให้มูลค่าหลักประกันของลูกค้า เทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ใน Margin Account ของลูกค้านั้นคิดเป็นอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า Maintenance Margin Rate ที่ถือเป็น เกณฑ์ Margin Call สมมุติว่า Maintenance Margin Rate ที่เป็นเกณฑ์ Margin Call เท่ากับ 35% สำหรับการกู้เงินซื้อหลักทรัพย์ หากว่านายก. ได้ซื้อหุ้นมูลค่า 100,000 บาท โดยวางหลักประกัน 50,000 บาท ไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ หากว่าราคาหลักทรัพย์ ที่ซื้อไว้ได้ตกต่ำลงเหลือ 75,000 บาท เป็นเหตุให้หลักประกันของลูกค้ามีมูลค่าเหลือ 25,000 บาท [คือ 50,000 - (100,000-75,000)] เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ปัจจุบัน 75,000 บาท คิดเป็นเท่ากับ 33.33% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ Margin Call ในกรณี นี้บริษัทหลักทรัพย์จะต้องเรียกให้ นาย ก. นำเงินมาวางมาร์จินเพิ่มเพื่อให้มูลค่าหลักประกันเทียบกับยอดมูลค่าหลักทรัพย์ ปัจจุบันแล้วมีอัตราไม่ต่ำกว่า 35% ซึ่งในกรณี นี้มูลค่าหลักประกันโดยรวมจะต้องสูงกว่า 26,250 บาท (หรือ 35% ของ 75,000 บาท) ดังนั้นนายก. ต้องนำเงินมาวางเพิ่มไม่ ต่ำกว่า 1,250 บาท (หรือ26,250-25,000 บาท) เป็นต้น หลักเกณฑ์นี้ได้นำมาใช้กับลูกค้า Short Sell ด้วย คือถ้าราคาหลักทรัพย์ที่ลูกค้าขายชอร์ตไว้เกิดสูงขึ้น เกิดผลขาดทุนจนมูลค่าหลักประกันเทียบกับมูลค่าหุ้นที่ขายชอร์ตไว้คิดเป็นอัตราที่ต่ำลงมาถึงระดับที่เป็นเกณฑ์ Margin Call แล้ว ก็ต้องมีการ เรียกหลักประกันเพิ่มเช่นเดียวกัน
กระดานต่างประเทศ (foreign board)
เป็นส่วนของระบบซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ASSET) ที่ใช้รองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างผู้ลงทุนชาวต่างประเทศด้วยกัน ทั้งนี้หลักทรัพย์ที่มาขายผ่านกระดานต่างประเทศจะต้องเป็นหลักทรัพย์ที่มีชื่อชาวต่างประเทศเป็นเจ้าของ การที่ตลาดหลักทรัพย์จัดให้มี foreign board ขึ้นมา เนื่องจากหลักทรัพย์ของบางบริษัทได้มีชาวต่างประเทศเข้าลงทุนถือครองจนครบตามเกณฑ์ระดับที่ให้ชาวต่างชาติถือครองแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ลงทุนชาวต่างชาติต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวอยู่อีก เมื่อสั่งซื้อผ่านกระดานหลัก (main board) แล้วก็จะประสบปัญหาไม่อาจโอนรับหุ้นได้เพราะจะทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติเกินจากเกณฑ์ที่จำกัดไว้ ดังนั้นเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนชาวต่างประเทศตลาดหลักทรัพย์จึงจัดให้มี foreign board ขึ้นมา เพื่อให้ชาวต่างประเทศผู้ซื้อมั่นใจว่าจะสามารถรับโอนหุ้นเป็นของตนได้ เพราะเป็นการรับโอนจากชาวต่างประเทศด้วยกัน ไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนการถือครองหุ้นของชาวต่างประเทศรวมแต่ประการใด วิธีซื้อขายผ่านกระดานต่างประเทศกระทำได้ 2 วิธี คือ วิธี automatching และวิธี put thorugh แล้วแต่จะเลือกตามความเหมาะสม การซื้อขายบนกระดานต่างประเทศนี้ไม่ว่าจะใช้วิธีซื้อขายแบบใด ระดับราคาซื้อขายจะเป็นเท่าใดก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดเรื่อง floor price กับ ceiling price
กระดานซื้อขายรายใหญ่ (big-lot board)
เป็นกระดานการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์มีเพื่อรองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิชนิดต่างๆ หน่วยลงทุน และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว (Thai Trust Fund) ซึ่งมีปริมาณการซื้อขายตั้งแต่ 1 ล้านหลักทรัพย์ขึ้นไป หรือมีมูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป การซื้อขายบนกระดาน big-lot board ใช้วิธี put through ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายจะตกลงราคากันเอง โดยการซื้อขายบนกระดานนี้จะไม่มีข้อจำกัดเรื่องการขึ้นลงของราคา (ceiling and floor)
กระดานหลัก  (main board)
เป็นส่วนสำคัญที่สุดของระบบ ASSET ซึ่งเป็นระบบซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนที่เป็นmain board นี้ เป็นส่วนที่ใช้สำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนที่เป็นหน่วยซื้อขาย (board lot) คือ ปริมาณหุ้นที่สั่งซื้อหรือสั่งขาย จะต้องเป็น 1 board lot (1 หน่วยซื้อขาย) หรือมากกว่าโดยเป็นจำนวนที่เป็นทวีคูณของ 1 board lot เช่น 2, 3, 4......board lots เป็นต้น การซื้อขายหลักทรัพย์บน main board ของระบบ ASSET ใช้วิธี automatching (วิธีซื้อขายแบบจับคู่อัตโนมัติ) ให้เกิดการซื้อขาย นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของราคาซื้อขายบน main board จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับเรื่อง price spread (ช่วงราคา) รวมถึงข้อกำหนด เรื่อง ceiling price และ floor price ด้วย หลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้รวมทั้งหุ้นกู้แปลงสภาพไม่ให้มีการซื้อขายบน main board แต่ให้ไปซื้อขายบน special board
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (fundamental analysis)
เป็นวิธีการวิเคราะห์หลักทรัพย์แบบหนึ่ง การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมุ่งจะประเมินมูลค่าของหลักทรัพย์ในปัจจุบัน โดยพิจารณาถึงผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับและราคาหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะขายได้ในอนาคต ผลจากการวิเคราะห์นี้จะใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจคือ จะซื้อหลักทรัพย์นั้นหากพบว่าราคาตลาดของหลักทรัพย์ดังกล่าวต่ำกว่ามูลค่าตามพื้นฐานที่คำนวณได้ และจะขายหลักทรัพย์นั้นหากพบว่าราคาตลาดของหลักทรัพย์ดังกล่าวสูงกว่ามูลค่าตามพื้นฐาน ในการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจะวิเคราะห์ถึงภาวะเศรษฐกิจ ภาวะการเมือง ภาวะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และผลการดำเนินงาน รวมทั้งฐานะทางเงินของบริษัทผู้ออกหุ้น วิธีวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานจะแตกต่างจากการวิเคราะห์ทางเทคนิค (technical analysis) ซึ่งมุ่งวิเคราะห์ลักษณะการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ และปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสำคัญ เพื่อคาดหมายแนวโน้มของราคาหลักทรัพย์
การซื้อขายหลักทรัพย์โดยบุคคลภายใน (insider trading)
การที่บุคคลภายในทราบข้อมูลภายในของบริษัทที่ยังไม่ได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณชน และใช้ข้อมูลนั้นเพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ได้มีข้อกำหนดห้ามมิให้บุคคลภายในใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์และกำหนดโทษไว้ด้วย
การซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์  (over-the-counter : OTC)
การซื้อขายหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นนอกตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ การซื้อขายหุ้นนอกตลาด โดยทั่วไปจะมีขนาดหรือปริมาณการค้าน้อย มีสภาพคล่องต่ำ และมีการคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนน้อยกว่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีทางการกำกับดูแล
การปั่นหุ้น (manipulation)
การซื้อขายหลักทรัพย์ใด ๆ โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อสร้างสภาพการซื้อขายให้ผิดไปจากภาวะที่เป็นจริงโดยเจตนาให้ผู้อื่นซื้อหรือขายหลักทรัพย์ด้วยความเข้าใจผิด       การกระทำดังกล่าวนี้ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีบทกำหนดโทษไว้ด้วย
การชำระค่าซื้อขายแบบยอดสุทธิ (net settlement)
การชำระราคาหลักทรัพย์ในลักษณะที่บริษัทหลักทรัพย์นำค่าซื้อและค่าขายหลักทรัพย์ตัวเดียวกันในวันเดียวกันของผู้ลงทุนรายเดียวกันมาหักลบกันเพื่อหายอดสุทธิ และเมื่อถึงวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันชำระบัญชีซื้อขายหุ้น ผู้ลงทุนก็เพียงแต่ชำระเงินส่วนต่างที่มูลค่าซื้อมากกว่ามูลค่าขายเท่านั้น หากมูลค่าขายมากกว่ามูลค่าซื้อผู้ลงทุนก็ได้รับเงินในส่วนต่างสุทธิดังกล่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ การชำระค่าซื้อขายแบบยอดสุทธิช่วยให้ผู้ลงทุนไม่ต้องชำระเงินเต็มจำนวนยอดที่ซื้อทุกครั้ง ทำให้ผู้ลงทุนมีสภาพคล่องมากขึ้น
การชำระบัญชีแบบยอดสุทธิ  (net clearing)
ตลาดหลักทรัพย์ใช้หลักการชำระบัญชีแบบยอดสุทธิในการชำระราคาและส่งมอบหุ้นที่ซื้อขายระหว่างบริษัทสมาชิก สมาชิกที่มียอดซื้อสุทธิจะชำระเงิน โดยส่งมอบเช็คเพียง 1 ใบ แก่ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และสมาชิกที่มียอดขายสุทธิ จะได้รับชำระเงินค่าหุ้นจากบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ด้วยเช็ค 1 ใบในการส่งมอบหุ้น บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ จะหักจำนวนหุ้นในบัญชีฝากหุ้นของสมาชิกฝ่ายขายตามยอดขายสุทธิ และโอนหุ้นเข้าบัญชีฝากหุ้นของสมาชิกฝ่ายซื้อตาม ยอดซื้อสุทธิ
การขายหุ้นแบบเจาะจง (private placement)
การที่บริษัทออกหุ้นขายให้แก่ผู้ซื้อรายหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งโดยเจาะจงโดยที่ผู้ซื้อรับซื้อไว้เพื่อลงทุน มิใช่รับซื้อมาเพื่อนำออกจัดจำหน่าย  การออกหุ้นขายแบบ private placement บริษัทผู้ออกหุ้นไม่ต้องจัดทำข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณา แต่วิธี private placement จะต้องเข้าเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดโดย ก.ล.ต.
การเสนอขายหลักทรัพย์แบบ greenshoe option   
คือการที่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จะเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนในจำนวนที่มากกว่าบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์เสนอขายอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งหลักทรัพย์ที่เกินนั้น ผู้จัดจำหน่ายจะไปทำ option กับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ เพื่อออกหุ้นส่วนที่ผู้จัดจำหน่ายขายเกิน ในกรณีที่หลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และมีราคาตลาดสูงกว่าราคาเสนอขาย และในกรณีที่หลักทรัพย์ดังกล่าวเมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วมีราคาต่ำกว่าราคาเสนอขาย ผู้จัดจำหน่ายจะเข้าไปซื้อหลักทรัพย์ในจำนวนที่เกินดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์ วิธีดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการระดมทุนในตลาดทุน เนื่องจากมีส่วนป้องกันไม่ให้ราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่เสนอขายในช่วงระยะเวลา แรกที่เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนมาก เพราะการเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าว จะมีลักษณะของการรักษาระดับราคาของหลักทรัพย์ที่เสนอขาย (stabilization) ซึ่งมีส่วนช่วยให้การเสนอขายหลักทรัพย์สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การเสนอซื้อขาย ณ ราคาตลาด  (market price order)
เป็นคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์แบบไม่ระบุราคา (Non-Limit Price Order) เป็นคำสั่งซื้อหรือขายหุ้น ณ ราคาที่ดีที่สุดในเวลาที่สั่ง บริษัทหลักทรัพย์จะขายหุ้น ณ ราคาที่สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในเวลานั้น หรือจะซื้อหุ้น ณ ราคาต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในเวลานั้นให้กับลูกค้า
การแตกหุ้น  (split)
การแตกหุ้นของบริษัทหนึ่งที่ออกจำหน่ายแล้วให้มีจำนวนมากขึ้น มักจะเกิดขึ้นในกรณีที่ราคาหุ้นขอบริษัทที่ซื้อขายกันในตลาดมีราคาสูง ประกอบกับบริษัทต้องการเงินทุนเพิ่มเพื่อการขยายกิจการ บริษัทจะทำการแตกหุ้น ซึ่งส่วนมากควรจะมีผลให้ราคาตลาดของหุ้นลดลง การซื้อขายจะคล่องตัวขึ้น และเมื่อบริษัทออกหุ้นใหม่เพื่อการเพิ่มทุนก็จะทำได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ การแตกหุ้นจะไม่ทำให้มูลค่ารวมของทุนจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนเฉพาะจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายและราคาตามบัญชีหุ้นเท่านั้น โดยไม่ทำให้สัดส่วนความเป็นเจ้าของของผู้ถือหุ้นเดิมเปลี่ยนไปแต่อย่างใด เช่น บริษัทที่มีหุ้นสามัญ 1,000,000 หุ้น ต้องการจะแบ่งหุ้นในสัดส่วน 3 ต่อ 1 ฉะนั้นจะมีจำนวนหุ้นเปลี่ยนเป็น 3,000,000 หุ้น เป็นต้น
การจ่ายหุ้นปันผล  (stock dividend)
เป็นวิธีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นสามัญอีกแบบหนึ่ง ส่วนมากจะกำหนดเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าหุ้นสามัญ เช่น จ่ายหุ้นปันผล 10 % หมายความว่าผู้ถือหุ้นเดิมแต่ละคนจะได้รับหุ้นเพิ่ม 10 หุ้นจากหุ้นเดิมที่ถืออยู่ 100 หุ้น ดังนั้นถ้ามีหุ้นสามัญอยู่ทั้งหมด 30 ล้านหุ้น หลังการจ่ายหุ้นปันผล บริษัทจะมีหุ้นสามัญทั้งสิ้น33 ล้านหุ้น การออกหุ้นปันผลไม่มีส่วนกระทบต่อสัดส่วนความเป็นเจ้าของกิจการแต่อย่างใด บริษัทที่จ่ายหุ้นปันผล มักจะมีจุดมุ่งหมายที่จะเก็บเงินสดไว้เพื่อการลงทุน เช่น การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ใช้ในโรงงานหรือลงทุนในสินค้าคงเหลือและลูกหนี้ เพื่อการขยายตัวของธุรกิจตามแผนที่กำหนดไว้ บริษัทที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมักจะใช้เงินที่ได้จากกำไรสุทธิเพื่อเป็นเงินทุน บริษัทในลักษณะนี้จะไม่จ่ายปันผลเป็นเงินสด แต่จะจ่ายเป็นหุ้นโดยออกหุ้นใหม่ซึ่งมีจำนวนเท่ากับเงินปันผลทั้งสิ้นที่จะจ่าย ผลจากการออกหุ้นใหม่เพื่อมาจ่ายปันผลก็คือ ทำให้จำนวนหุ้นสามัญที่อยู่ในมือผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น แต่ไม่ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงมีการโอนเงินจากบัญชีกำไรสะสมตามราคาตลาดในเวลานั้นไปเข้าบัญชีทุนหุ้นสามัญและส่วนเกินทุน ส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ยังคงเดิม ในกรณีเช่นนี้ ถึงแม้บริษัทจะไม่จ่ายเงินปันผลก็ตาม แต่ว่าเงินส่วนนี้ได้ถูกเก็บไว้เพื่อการลงทุนซึ่งก่อให้เกิดรายได้ต่อไป ผลประโยชน์ที่ได้รับก็คือ ถ้าบริษัทสามารถขยายตัวได้ตามแผน กำไรต่อหุ้นจะสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทในอนาคตสูงขึ้น
การถือหุ้นไขว้  (cross holding)
การที่บริษัทตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไปถือหุ้นซึ่งกันและกัน วิธีการถือหุ้นไขว้มักจะถูกนำมาใช้เพื่อการเกาะกลุ่มทางธุรกิจ หรือเพื่อสร้างโครงสร้างของกลุ่มบริษัท โดยเฉพาะโครงสร้างในลักษณะของบริษัทโฮลดิ้งที่มีบริษัทหนึ่งทำหน้าที่ควบคุมนโยบายการบริหาร การเงิน การจัดการ ตลอดจนดูแลการถือหุ้นของบริษัทในเครือให้มีบุคคลนอกกลุ่มเข้ามาครอบงำกิจการได้ นอกจากนี้การถือหุ้นไขว้ก็อาจจะเป็นโอกาสและช่องทางให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายจัดการบริษัทนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ได้ เช่น นำวิธีการถือหุ้นไขว้มาใช้เพื่อสร้างภาพ สถานะทางการเงินของบริษัทให้ดูดีโดยบิดเบือนจากความเป็นจริง หรือนำมาใช้เพื่อรักษาอำนาจในการควบคุมบริษัทของฝ่ายจัดการเองโดยให้บริษัทในเครือซึ่งตนเป็นผู้ควบคุมอยู่เข้าแย่งการครอบงำกิจการจากการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น หรือนำมาใช้เพื่ออำพรางการเป็นเจ้าของบริษัทในเครือ ซึ่งทำให้ยากแก่การตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทในเครือ เป็นต้น โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้กำหนดห้ามมิให้บริษัทที่ขออนุญาตเสนอขายหุ้นของตนเองต่อประชาชน เสนอขายหุ้นของตนเองให้แก่บริษัทในเครือ แต่การห้ามนี้ก็เป็นการห้ามเฉพาะบริษัทมหาชนที่ขออนุญาตเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเท่านั้น  ดังนั้น ถ้าเป็นบริษัทจำกัดที่แม้จะมีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก หรือบริษัทมหาชนที่ไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นต่อประชาชนจะไม่ตกอยู่ภายใต้เกณฑ์นี้
กำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gain)
ผลกำไรที่เกิดจากการขายหุ้นได้ในราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อมา ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ของกำไรจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์
กำไรต่อหุ้น (earning per share : EPS )
ส่วนของกำไรสุทธิที่แบ่งเฉลี่ยแก่หุ้นสามัญแต่ละหุ้น มีสูตรคำนวณดังนี้
                   กำไรต่อหุ้น =  กำไรสุทธิของบริษัท
                                       จำนวนหุ้นสามัญที่เรียกชำระแล้วของบริษัท
มูลค่าตามบัญชี (book value)
เป็นมูลค่าของหุ้นสามัญ 1 หุ้นที่ได้จากการประเมินค่าสินทรัพย์สุทธิ (net asset value) ต่อหุ้นตามงบดุลล่าสุดของบริษัทผู้ออกหุ้นซึ่งหมายความว่าหากบริษัทนี้เลิกกิจการและสามารถนำสินทรัพย์รวมถึงหนี้สินต่าง ๆ ไปแปรเป็นเงินสดได้ตามมูลค่าที่ระบุในงบดุลนั้นแล้วผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินคืนในจำนวนเท่ากับมูลค่าตามบัญชีต่อการถือหุ้น 1 หุ้น
มูลค่าตามบัญชี = สินทรัพย์รวม หนี้สินรวม / จำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทออกเรียกชำระเงินค่าหุ้นแล้ว
มูลค่าตามราคาตลาด (market capitalization)
มูลค่าโดยรวมของหุ้นสามัญของบริษัทใด ๆ ที่คำนวณขึ้นโดยใช้ราคาตลาดของหุ้นนั้นคูณกับจำนวนหุ้นสามัญจดทะเบียนทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว
มูลค่าตามหน้าตราสาร (มูลค่าที่ตราไว้) (face value หรือ par value)
มูลค่าของหลักทรัพย์ที่กำหนดระบุไว้บนใบตราสารซึ่งจะเป็นไปตามข้อกำหนดในหนังสือบริคณห์สนธิของแต่ละบริษัท มูลค่าที่ตราไว้เป็นข้อมูลที่แสดงให้ทราบถึงมูลค่าเงินลงทุนเริ่มแรกสำหรับหุ้นแต่ละหน่วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ทางบัญชี และใช้แสดงให้ทราบถึงทุนจดทะเบียนตามกฎหมาย เช่น ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แบ่งเป็น 10 ล้านหุ้น มูลค่าตราไว้หุ้นละ 10 บาท เป็นต้น มูลค่าที่ตราไว้มีประโยชน์ในการกำหนดอัตราผลตอบแทนสำหรับผู้ถือหุ้นกู้ พันธบัตร และหุ้นบุริมสิทธิ เพราะดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ พันธบัตร รวมถึงเงินปันผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะกำหนดเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าที่ตราไว้
มูลค่าที่ตราไว้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับราคาตลาดที่ตกลงซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ ราคาตลาดจะถูกกำหนดขึ้นโดยภาวะอุปสงค์และอุปทานในตลาด ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์นั้น ๆ และสภาวะการซื้อขายในตลาด par value อาจเรียก face value (มูลค่าตามหน้าตราสาร) หรือ nominal value (มูลค่าที่กำหนดไว้)
มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (net asset value หรือ NAV)
ทรัพย์สินของกองทุนรวมตามราคาตลาดในขณะใดขณะหนึ่งหักด้วยหนี้สินของกองทุนรวมนั้น สำหรับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยลงทุนหมายถึงมูลค่าสินทรัพย์สุทธิหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น มูลค่าสินทรัพย์ สุทธิต่อหน่วยลงทุนถือเป็นมูลค่าจริงของหน่วยลงทุน ณ วันที่ทำการคำนวณ การคำนวณดังกล่าวจะต้องได้รับการตรวจสอบ และให้ความเห็นชอบโดยผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมนั้น
Net Asset Value = Book Value ในกรณีของหุ้นสามัญ
รอบการซื้อขาย (trading session หรือ session)
ช่วงเวลานับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์เปิดให้มีการซื้อขายจนกระทั่งหยุดการซื้อขาย 1 รอบ ในปัจจุบันนี้ตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดให้มีการซื้อขาย 2 รอบใน 1 วัน คือ รอบการซื้อขายช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 12.30 น. และรอบการซื้อขายช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา14.30 น. - 16.30 น.
ราคาเสนอซื้อสูงสุด (bid)
ราคาเสนอซื้อสูงสุดของหลักทรัพย์หนึ่ง ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งเวลานั้นอาจมีราคาเสนอซื้อเข้ามาหลายราคา แต่ระบบซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์จะแสดงราคาเสนอซื้อที่สูงสุดไว้ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ว่า ผู้เสนอซื้อที่ให้ราคาสูงกว่าควรได้สิทธิซื้อก่อนรายอื่น ๆ
ราคาเพดาน (ceiling price)
ระดับสูงสุดที่ราคาหุ้นจะขึ้นไปได้ในแต่ละวันทำการ ปัจจุบันนี้ตลาดหลักทรัพย์กำหนดว่าการสูงขึ้นของราคาหุ้นในแต่ละวันจะเกินกว่าร้อยละ 30 ของราคาปิดวันก่อนไม่ได้ เช่น หุ้น A มีราคาปิดวันก่อนที่ 100 บาท ราคาเพดานในวันนี้จะเท่ากับ 130 บาท หมายถึงว่าวันนี้การซื้อขายหุ้น A จะกระทำที่ราคาสูงกว่า 130 บาท (ราคาเพดาน) ไม่ได้ (ดู floor price และ daily price limit) ข้อกำหนดเรื่องราคาเพดานไม่บังคับใช้กับการซื้อขายบน foreign board และบน big-lot board ในกรณีที่รายการซื้อขายมีปริมาณเท่ากับหรือเกินกว่า 10% ของทุนจดทะเบียน
ราคาปิด (close หรือ closing price)
ราคาของหลักทรัพย์ใด ๆ ที่เกิดจากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นรายการสุดท้ายของแต่ละวัน
ราคาพื้น (floor price)
ระดับราคาต่ำสุดของแต่ละหลักทรัพย์ที่จะซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้สำหรับวันทำการหนึ่ง ๆ ซึ่งคำนวณขึ้นจาก daily price limit ของตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันระดับที่เป็น floor price คือระดับราคาที่ต่ำลง 30% จากราคาปิดของวันก่อน เช่น วันก่อนปิดที่ราคา 50 บาท ราคาพื้นวันนี้จะเป็น 35 บาท วันนี้จะมีการซื้อขายในราคาต่ำกว่า 35 บาทไม่ได้
ราคาตลาด (market price)
ราคาหุ้นใด ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดจาการซื้อขายครั้งหลังสุดเป็นราคาที่สะท้อนถึงความต้องการซื้อและความต้องการขายจากผู้ลงทุนโดยรวมในขณะนั้น
ราคาเสนอขาย (Offer)
ราคาขายต่ำที่สุดของแต่ละหลักทรัพย์ที่มีการเสนอขายเข้ามาในระบบซื้อขาย ณ ขณะใดขณะหนึ่งอาจจะมีราคาเสนอขายเข้ามาหลายราคา แต่ระบบซื้อขายที่ตลาดหลักทรัพย์จะแสดงราคาเสนอขายต่ำที่สุดไว้ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ว่า ผู้เสนอขายที่ราคาต่ำกว่าควรได้สิทธิขายก่อน
หุ้นชั้นดี (blue chip)
หุ้นสามัญของบริษัทที่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เป็นบริษัทที่สามารถทำผลกำไรให้เติบโตและจ่ายปันผลได้ต่อเนื่องมายาวนาน อีกทั้งมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพของผู้บริหาร สินค้า และการให้บริการ
หุ้นบริษัทชั้นดี (blue chip stock) อ่านต่อ . . .
หมายเลขบันทึก: 163762เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2008 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 07:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุนข้อมูลน่ะข๊ะ ^^

เราจาเอาปายรายงานหน้าห้องอ่ะ

ม่ายมีล่ะแย่เลย

อิอิ >_________<

ขอบคุนอีกทีข๊ะ -*-

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท