แรงงานไปเช้าเย็นกลับกับประกันสังคม


ข่าวจากเว็บประกันสังคม
แรงงานต่างด้าว ไป-กลับ รับสิทธิเท่าเทียม
เลขที่ :
วันที่ประกาศ : 31/1/2551

แรงงานต่างด้าว ไป-กลับ รับสิทธิเท่าเทียม

          สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจงกรณีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในลักษณะ ไป-กลับที่เดินทางมาทำงานโดยถูกกฎหมายและเดินทางไปกลับประเทศต้นทางภายในวันเดียวกัน  ต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน พร้อมทั้งจ่ายเงินสมทบ รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี
          นายสุรินทร์  จิรวิศิษฎ์  เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่อาศัยตามแนวตะเข็บชายแดนที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายกับนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม  พ.ศ. 2533 เช่นกัน ซึ่งคำว่าลูกจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533  มาตรา 5 หมายความว่าผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้าง โดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร  แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย  และยกเว้นลูกจ้างตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างมาตรา 4(6) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ศ.2545  อันได้แก่ลูกจ้างในกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปี และไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจรหรือเป็นไปตามฤดูกาล  ลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ดังนั้น  แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายกับนายจ้าง ซึ่งมิได้เข้าข้อยกเว้นตามที่ได้กล่าวในข้างต้นจึงเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533
          สำหรับอัตราการนำส่งเงินเงินสมทบกองทุนประกันสังคมนั้น ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตรในอัตราร้อยละ 1.5 กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพในอัตราร้อยละ 3  และกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 0.5 ตามลำดับ  ซึ่งค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนนั้นกฎกระทรวงฉบับที่ 7(พศ.2538)  ออกตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533  กำหนดเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ1,650  บาท และไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท และค่าจ้างนั้นหมายความว่าเงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และหมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่าย ให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนดคำนวณหรือจ่ายในลักษณะใด หรือวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร เมื่อลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และได้นำส่งเงินสมทบอันก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนก็จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
          นายสุรินทร์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอย้ำสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป นายจ้างมีหน้าที่ต้องยื่นขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ภายในกำหนด 30 วัน  นับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน โดยไม่มีข้อยกเว้นว่า การจ้างงานนั้นจะเป็นช่วงทดลองงาน  เพียงนายจ้างยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส.1-01) และแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-30) สำหรับผู้ที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาก่อนหรือแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-30/1)  ณ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ  หากนายจ้างไม่ขึ้นทะเบียน ลูกจ้างสามารถแจ้งเบาะแสมายังสำนักงานประกันสังคมโดยตรงได้ทันทีเพียงแจ้งข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของสถานประกอบการและจำนวนลูกจ้างที่มีอยู่  โดยแจ้งมาที่สายด่วนประกันสังคม 1506  หรือกองตรวจสอบ หมายเลขโทรศัพท์ 02-956-2580-1 สำนักงานประกันสังคมจะได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงของนายจ้างว่าเป็นตามข้อมูลที่ลูกจ้างแจ้งไว้หรือไม่ ในขณะเดียวกันทางสำนักงานประกันสังคมจะไม่เปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูลให้กับนายจ้าง ได้รับทราบ
          หากผู้ประกันตนต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการหรือดูรายละเอียดได้ที่ 
www.sso.go.th

ที่มา: http://www.sso.go.th/news.php?menu_id=5&group_id=52&news_id=631

หมายเหตุ ที่ขีดเส้นใต้ โปรดดูกรณีนางหนุ่ม ไหมแสงประกอบ เพราะไม่ได้รับเงินชดเชยการพิการจากการทำงานจากกองทุนทดแทนของประกันสังคม เเต่ได้จากนายจ้าง

 

หมายเลขบันทึก: 163203เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2008 00:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณจ้า

สามารถสรุปได้ว่า "ลูกจ้าง" ตามความในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533  ไม่ได้หมายเฉพาะคนสัญชาติไทยเท่าแต่หมายรวมถึงแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย

ดีจังเลย

 

ไหมต้องเช็คกฎหมายอีกทีนะจ๊ะ เพราะว่าเดี๋ยวจะเจอกรณีแนวปฏิบัติอื่นๆ เรื่องกองทุนทดแทน (อ่านกระทู้พี่บอมดูนะจ๊ะ)

เข้าใจเอาเองว่า ยังไม่ปฏิบัติได้เลย ยังต้องรอประกาศกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องการกำหนดรูปแบบหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง กระทรวงสาธารณสุขเรื่องการตรวจสุขภาพ โรคที่ไม่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำงาน กระทรวงแรงงานเรื่องการมอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ พิจารณาอนุญาตการทำงานของแรงงานต่างด้าวได้

ต้องรออีกสักพักแหละครับ ถ้าได้จริงคงมีประเด็นน่าสนใจอีกหลายเรื่อง

(ขี้เกียจล๊อกอินเลยใช้แบบนี้ไปก่อนนะ)

บอม

ระหว่างเดินทางกลับจากสังขละบุรีวันนี้ คุณหมอได้ให้คำเเนะนำว่า นอกจากจะดูเรื่องผู้ทรงสิทธิในพรบ. แล้ว อย่าลืมดูระเบียบในการเบิกจ่ายเงินทดแทนด้วยนะคะ ว่าต้องเอาเอกสารอะไรไปบ้าง ฝากไหมด้วยนะคะ ที่ทำเรื่องผู้ทรงสิทธิในพรบ. ที่เกี่ยวกับการประกันสุขภาพ (ประกันอุบัติเหตุบุคคลที่สาม กับกองทุนทดแทนประกันสังคม) ที่จริงมีอีกหลายจุดที่เป็นประโยชน์เเต่ขอนอนก่อน เพราะเพิ่งไปกลับสังขละบุรีมาในสองวัน (ไปจันทร์เช้า กลับอังคารบ่าย รู้สึกมึนๆ มากๆ)

อันนี้เห็นด้วยกับหมอครับ เพราะมันเจอมาแล้ว เหมือนอย่างที่บอกว่าผู้ทรงสิทธิในกฎหมายมันเข้า แต่ไปเจอระเบียบว่าด้วยหลักฐานแล้วกลายเป็นไม่เข้าไปซะงั้น

ดีใจจังมีคนมาช่วยดูประเด็นนี้แล้ว ดีใจ ๆ ๆ โฮ่ๆ  ๆ ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท