ห้วงแห่งการจากพราก


ด้วยบัตรสีชมพูซึ่งบ่งบอกสถานภาพของแรงงานข้ามชาติที่เธอถืออยู่นั้น นอกเหนือจากการเอื้ออำนวยในการทำงานอย่างมั่นใจแล้ว ยังกลับกลายเป็นกรอบที่กักขังเธอเอาไว้ไม่ให้ออกไปไหนได้ไกลกว่าจังหวัด หรือพื้นที่ที่ระบุเอาไว้


โดย : ศิราพร แป๊ะเส็ง นักข่าวอาสา ไทยเอ็นจีโอ


เมื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเริ่มไม่มีความแน่นอน ประกอบกับรายได้จากภาคเกษตรที่เริ่มลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ในขณะที่ท้องยังหิว และต้องการเติมให้เต็ม เส้นทางของการเดินทางจึงเกิดขึ้น ทั้งเพื่อความปลอดภัย เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ในบ้านเมืองที่พูดกันคนละภาษาและไร้ญาติขาดมิตร

โหน่ย แม่หญิงมอญ ชาวเมืองมะละแหม่ง กับการจากพรากครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต กว่า 12 ปีที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย ด้วยเงินที่สามีได้เก็บหอมรอมริบจากการลักลอบเข้ามาทำงานก่อนหน้านี้ การเดินทางของเธอเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่ว่าจะเก็บเงินให้มากพอที่จะเป็นค่านายหน้าเพื่อรับลูกๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ มาอยู่ด้วยกันที่เมืองไทย

ภาษาไทยสำเนียงมอญแฝงความเหนื่อยล้าที่เล่าขานให้เราฟังถึงความยากจนของครอบครัว การทำงานในภาคเกษตรมีรายได้เพียงเล็กน้อย ไม่พอที่จะสร้างชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้ ด้วยสิ่งที่ปลูกไม่สามารถขายได้ในราคาที่พอใจนัก บางครั้งก็ถูกปล้นสะดมจากผู้ประสงค์ร้าย เห็นเหล่าเพื่อบ้านที่จากมาทำงานต่างถิ่น ไม่กี่ปีก็มีเงินส่งมาให้ครอบครัวได้ใช้สอย มีชีวิตที่ดีขึ้น ความหวังของเธอก็เรืองรองขึ้นมา และตัดสินใจให้สามีล่วงหน้ามาถากถางทางเอาไว้รอเธอและลูกๆ

สมุทรสาคร คือจุดหมายปลายทางของเธอในครั้งนั้น กว่าจะฝ่าฟันเข้ามาหาสามีที่รอเธออยู่ก่อนแล้วด้วยทั้งการเดินทางด้วยการเดินเท้าและรถของนายหน้า รวมถึงการหลบซ่อนตัวเป็นครั้งคราวจากเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย ซึ่งกว่าจะข้ามมาเจอกับสามีต้องใช้เวลาราว 8 วัน

อาจจะถือเป็นโชคดีของเธอก็ว่าได้ เพราะเธอได้ทำงานทันทีที่เข้ามาในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลขนาดเล็ก ที่เรียกกันว่า "ล้ง" ที่ซึ่งสามีของเธอทำงานอยู่ก่อนหน้า หากแต่ค่าแรงที่ได้รับก็ไม่สูงมากนัก แลกกับการมีที่พักที่ถือว่าอยู่ในระดับดีเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ กับการได้อยู่กับสามี และการทำความใฝ่ฝันของเธอให้เป็นจริง ด้วยการทำงานและค่อยๆ ช่วยกันเก็บเงินเพื่อเป็นค่านายหน้าให้รับลูกเข้ามาอยู่ด้วยกัน

5 ปีถัดมา ความใฝ่ฝันของเธอก็เป็นจริง เมื่อเธอสามารถเก็บหอมรอมริบเงินที่ได้จากการทำงานและทยอยรับลูกๆ เข้ามาทำงานด้วยกันครั้งละคน สองคน จนปัจจุบันครอบครัวของเธอและครอบครัวของน้องชาย รวมทั้งหมดกว่าสิบชีวิต ได้อยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา รวมถึงทำงานร่วมกันในล้ง แห่งหนึ่ง ชานเมืองสมุทรสาคร ที่ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของชีวิตได้ นั่นคือ ที่อยู่อาศัย อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค และ สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหนก็ตาม นั่นคือ "ความอบอุ่นและ ความเป็นครอบครัว" ในที่ๆ ไกลจากถิ่นฐานบ้านเกิดหลายพันกิโลเมตร

ทุกเช้า ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เธอต้องรีบตื่นขึ้นมาทำหน้าที่เรียงปลาหมึกหลายร้อยตัวลงแผง ด้วยค่าแรงแผงละ 3 บาท และเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวันราวสี่โมงเย็น กับรายได้ต่อวันที่ประมาณ 300-400 บาท ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ส่งมายังโรงงาน อย่างไรก็ตาม รายได้ของเธอมีแนวโน้มที่จะลดลงด้วยวัตถุดิบที่เริ่มขาดแคลน จากทรัพยากรที่ร่อยหรอลงสืบเนื่องจากการโหมกระหน่ำใช้อย่างไม่รีรอของระบบทุน

เธอบอกเราด้วยรอยยิ้มอันละไมและแววตาอันเปล่งประกายแห่งความฝันถึงห้วงแห่งการเดินทางของเธอว่า "เข้ามาอยู่ 12 ปีแล้ว ตอนนั้น อายุได้ 30 กลัวเหมือนกันว่าจะไม่มีงานทำ แต่แฟนมาก่อนแล้วเลยตามมา ไม่เคยกลับบ้านเลย ไม่กล้ากลับ กลัวไม่ได้กลับมาทำงานอีก เพราะเดี๋ยวนี้กฎหมายเข้มงวด เข้าออกยาก ไม่เหมือนเมื่อก่อน คิดว่าจะทำงานไปเรื่อยๆ ยังไม่คิดถึงการกลับบ้าน"

ด้วยบัตรสีชมพูซึ่งบ่งบอกสถานภาพของแรงงานข้ามชาติที่เธอถืออยู่นั้น นอกเหนือจากการเอื้ออำนวยในการทำงานอย่างมั่นใจแล้ว ยังกลับกลายเป็นกรอบที่กักขังเธอเอาไว้ไม่ให้ออกไปไหนได้ไกลกว่าจังหวัด หรือพื้นที่ที่ระบุเอาไว้ การกลับบ้านจึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยคิด ด้วยทั้งหวาดกลัวกับการถูกจับกุม และการต้องจากพรากเป็นครั้งที่สอง เพราะกว่าจะสามารถสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ได้ต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจมหาศาล การรักษาครอบครัวเอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถึงแม้จะเป็นครอบครัวที่ต้องอพยพโยกย้ายมาตั้งรกรากต่างถิ่นก็ตาม

นี่เป็นเพียงปรากฏการณ์เล็กๆ ของคนเล็กๆ คนหนึ่งในภาพใหญ่ของการพัฒนาประเทศ ที่มุ่งเป้าสู่การผลิตและการส่งออกที่เน้นกำไรสูงสุด ด้วยการขูดรีดแรงงานอย่างถึงที่สุดเช่นกัน แรงงานข้ามชาตินับแสนคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยถูกกระทำย่ำยีทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ รวมถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบทั้งจากเจ้าของโรงงาน จากนายหน้าทั้งคนไทยและคนชาติเดียวกัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย ที่พร้อมจะเอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยกว่าอยู่เสมอ เปรียบประดุจดั่งริ้นที่จ้องจะดูดเลือดผู้ผ่านมาอยู่มิวาย

และเธอ โหน่ย อาจจะถือเป็นแรงงานที่มีโชคในการแสวงหาก็ว่าได้ ด้วยเธอมีชีวิตที่ดีกว่าแรงงานคนอื่นๆ นับแสนคน เธอไม่ต้องวิตกกังวลกับการถูกไล่ออกจากงาน ไม่ต้องหวาดหวั่นกับการจับกุมของเจ้าหน้าที่หากเธอไม่ออกไปไหนไกล ไม่ต้องหลบซ่อนตัวเพราะทำผิดกฎหมาย ไม่ต้องวุ่นวายกับการย้ายที่อยู่เพราะนายจ้างมีที่พักที่ดีและไม่แออัดให้ และ ไม่ต้องเดียวดาย เพราะวันนี้ เธอมีคนคอยเคียงข้าง มีครอบครัวที่อบอุ่น มีงานทำ มีรายได้ ซึ่งต่างกับแรงงานอีกหลายแสนคนที่ยังตกอยู่ในห้วงแห่งทุกข์ระทม

หมายเลขบันทึก: 162738เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2008 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท