คน(เกือบ)ได้หลักประกันสุขภาพ


พื้นที่ที่เราน่าจะลงที่หนึ่งคือกรุงเทพฯ ลืมไปได้ไงเนี่ย เพราะมีคนไร้บ้าน คนไร้บัตรจำนวนมากออกมาทำงาน เสี่ยงโชค อย่างเรื่องในเว็บบอร์ดของอาจารย์แหวว อันนี้ http://www.archanwell.org/newwebboard/main.php?board=001224&topboard=1

 

มีข้อสังเกตว่าคนเหล่านี้จะไม่ปรากฏตัวเมื่อป่วยหนักจริงๆ เพราะตามปกติ ก็จะไปคลินิกเอกชน ไปซื้อยาทานเอง และมักคิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคเล็กๆ น้อย แต่เรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ ปัญหาเรื่องสิทธิในหลักประกันสุขภาพจึงไม่เกิด หรือเจ้าของเรื่องมองไม่เห็น ในช่วงแรกๆ เมื่อยังซื้อยาประทังอาการเป็นครั้งคราวได้ เพราะจ่ายทีละไม่กี่ร้อยจนถึงหลักพัน นานๆ ทีก็ยังไม่มากเท่าไหร่

 

เพราะกลัวว่าไปตรวจสุขภาพ โดยไม่มีหลักประกันจะแพง จึงรักษาตามอาการไปได้ระดับหนึ่ง ต่อมาเมื่ออาการค่อนข้างจะพัฒนาไปทางขาลง คลินิกรับมือไม่ไหวก็ต้องไปโรงพยาบาล

 

พอเข้าโรงพยาบาลก็เข้านาน  เสียค่าใช้จ่ายมาก เมื่อไม่ได้ทำบัตรไว้ก่อน โดยเฉพาะกรณีคนมีปัญหาเรื่องสัญชาติไทย คือเป็นคน(สัญชาติ)ไทยโดยการเกิด  หรือสามารถแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ แต่ยังไม่ได้แปลง จะมาทำบัตรตอน Admit เข้าโรงพยาบาลก็ไม่ทันเสียเเล้ว ไหนจะต้องตามหาเอกสาร หาพยานร้อยแปด ไหนจะต้องเดินเรื่องที่อำเภอ ไหนญาติจะต้องวิ่งหาเงินมาดูแลผู้ป่วย ฯลฯ

 

ประเด็นการเข้าถึงของคนเกือบไทย หรือคนเกือบมีสิทธิในหลักประกันสุขภาพ แต่ไม่มี เพราะไร้บัตรนี้ เป็นเรื่องทับซ้อน

 

จะคิดว่าเป็นปัญหาเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตีความ คำว่า "บุคคล" ที่เป็น "ผู้ทรงสิทธิ์" ก็ใช่ เพราะถ้าตีความว่าผู้ทรงสิทธิ์เป็น"บุคคล" ที่อาศัยอยู่หรือมีภูมิลำเนาในประเทศไทยกับตีความว่า "บุคคล" คือผู้มีสัญชาติไทย การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพก็ต่างกันลิบลับจะมองว่าเป็นปัญหาเรื่องความไม่ตระหนักถึงสิทธิในหลักประกันสุขภาพของบุคคลก็ได้ เพราะแทนที่จะตรวจสอบสิทธิ์ และหาหลักประกันเเต่เนิ่นๆ ก็ไม่สนใจ เพิ่งมาทำเอาตอนป่วย

 

จะมองว่าเป็นความไม่รู้ และเห็นความสำคัญของสิทธิในการมีตัวตนทางกฎหมายก็ได้อีก เพราะ คนที่มีสัญชาติไทยแต่เป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ตน หลายๆ คนไม่สนใจกลับไปติดต่อทำบัตรประชาชน เพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้าน จนขาดการติดต่อกับระบบทะเบียนราษฎร อาจเป็นเพราะต้องโยกย้ายไปทำงานต่างถิ่น ไปสร้างครอบครัว ไปค้าขาย เป็นคนเร่ร่อน ฯลฯ

 

จะมองว่าเป็นเพราะระบบทะเบียนราษฎรสำหรับคนสัญชาติไทย ออกแบบมาไม่เหมาะกับสังคม ทั้งสังคมยุคสมัยใหม่ที่เพิ่งพัฒนาระบบทะเบียนราษฎร และสังคมหลังสมัยใหม่ ที่มีระบบทะเบียนราษฎรค่อนข้างมั่นคงเเล้วก็ใช่อีก  ปัญหาหลายๆ กรณีสะท้อนว่าระบบทะเบียนราษฎรไทยอาจมีฐานคิดว่าคนต้องติดบ้าน ดังนั้นคนทำมาหากินชายแดน  ที่มีวิถีชีวิตต่างจากคนติดบ้าน จึงมักตกหล่น เช่นไม่ได้อยู่บ้านตอนที่มีการสำรวจ ไปค้าขายสร้างกิจการต่างแดนเป็นพักๆ ไม่ค่อยกลับบ้าน ในยุคเเรกเริ่มของการ "สำรวจ" จนทุกวันนี้ คนที่ไปๆมาๆ ระหว่างพรมแดน  คนไร้บ้านส่วนใหญ่จึงเป็นคนไร้บัตร และไร้ทะเบียนบ้าน  ที่พบกระจัดกระจายจนทุกวันนี้ ส่วนเป็นคนที่อยู่นอกสารบบของ "บ้าน" ในทะเบียนราษฎรไทย

 ประเด็นทุกประเด็น ล้วนส่งผลกระทบต่อการเข้าสู่สิทธิในหลักประกันสุขภาพ ในรูปแบบต่างๆ ดังนั้นปัญหาการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ การใช้หรือให้บริการตามหลักประกันสุขภาพ จึงไม่ใช่การฟันธงว่า ปัญหาอยู่ที่ไหน เพราะปัญหาเกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่างร่วมกัน ทั้งผู้ใช้และระบบหลักประกันสุขภาพ กับระบบสัญชาติ/ ทะเบียนราษฎร (เวลาเขียนรายงานจะเขียนอย่างนี้ได้หรือไม่ โปรดติดตาม จะให้ดีมาอ่านในบล็อกจะสนุกกว่าอ่านรายงานมากกกกกกก)

หมายเหตุ

การเขียนเรื่อง คน(เกือบ)ได้หลักประกันสุขภาพ  ทำให้คิดต่อได้เป็นวรรคเป็นเวร จึงมีปัจฉิมลิขิตจากมุมมองของนักเรียนสังคมศาสตร์ สองเรื่อง คือ "บ้านกับคน คนกับบ้าน" และ "สิทธิมนุษยชนที่เราเห็น ยัง "ติดบ้าน-ติดบัตร" ซึ่งคงไม่ได้นำมาใช้ในโครงการศึกษาหลักประกันสุขภาพฯ ทางเลือก สำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ จึงเเยกคำสำคัญของกระทู้ไปต่างหาก แต่นำมารวมไว้ในบล็อกนี้ เผื่อท่านผู้อ่านจะสนใจเเละเเลกเปลี่ยน

 

บ้านกับคน คนกับบ้าน

 

ปรากฏการณ์อีกอันหนึ่งก็คือในยุคที่การอพยพย้านถิ่นฐานเป็นไปได้ง่าย และเป็นเเรงบันดาลใจให้คนเข้ามาหาอนาคตในเมืองใหญ่ ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งดิ้นรนไปทำงานเมืองใหญ่ หรือที่ที่มีผลตอบเเทนทางเศรษฐกิจสูง ไม่ใช่เฉพาะที่กรุงเทพฯ และไม่ใช่เฉพาะที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีมาเเล้ว แต่เกิดขึ้นเรื่องยๆ เมื่อเหมืองบูม คนเฮไปทำเหมือง ไปขุดแร่ ไปทำป่าไม้ เมื่อการท่องเที่ยวบูม คนย้ายไปทำงานภาคบริการ ไปทำงานก่อสร้างโรงเเรม รีสอร์ท ภาคใต้  (สังเกตจากคนไร้บัตรในสึนามิที่ไม่ใช่มอแกน)ฯลฯ การย้ายถิ่นนี้บางคนมักจะไม่ย้ายที่อยู่ไปทะเบียนบ้านปลายทาง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้มี "บ้าน" เป็นของตัวเอง เช่นคนงานก่อสร้าง ฐานคิดว่าเมื่อก่อนสังคมไทยส่วนหนึ่งอาจจะเป็นสังคมติดบ้าน อยู่กันในท้องถิ่น ไม่ต้องดิ้นรนย้ายถิ่น ทำให้ระบบทะเบียนนิยมการจัดหมวดหมู่คนใส่บ้าน สิทธิทางการเมือง การสาธารณสุข ผู้ติดกับบ้านมากกว่าคน

 

ในปัจจุบัน พวกอยู่หอพัก  อพาร์ตเมนท์ หรือเช่าคอนโด เช่าบ้านเขาอยู่ในเมืองอื่น เช่น ผู้เขียนเองมีทะเบียนบ้านอยู่ที่หนึ่ง แต่มาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ในอพาร์ตเมนต์ หรือ "หอ" อีกที่หนึ่ง แต่เท่าที่ถามมาเพื่อนร่วมหอก็ไม่มีใครคิดจะย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในกรุงเทพฯ การใช้สิทธิบางประการของคนจึงผูกติดอยู่กับ"บ้าน" เช่นการไปเลือกตั้ง ก็ต้องเลือกในเขตที่ตนมีทะเบียนบ้านอยู่ (เเม้จะขอมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่ที่ๆ อยู่อาศัยจริง ก็ต้องเลือก ส..ตาม "ทะเบียนบ้าน" ที่ตนมีชื่ออยู่)แต่ว่า ส.. ที่มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้เขียน คือ ส.. กรุงเทพฯ มากกว่า ส.. ตามทะเบียนบ้าน

 

เมื่อก่อนการใช้สิทธิ 30 บาทก็ต้องอยู่ติดบ้าน จนภายหลังอนุญาตให้คนที่มีภูมิลำเนาอยู่จริงๆ ในพื้นที่ที่ไม่ใช่ตามทะเบียนบ้าน ขอใช้สิทธินอกพื้นที่ได้ โดยแสดงหลักฐานว่าตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ในที่อื่นๆ จริงๆ เช่น แสดงใบเสร็จค่าน้ำ ไฟ โทรศัพท์ ค่าเช่าบ้าน ฯลฯ ที่มีชื่อของเจ้าของสิทธิ์ เพื่อยืนยันว่าได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ไม่ได้ระบุในทะเบียนบ้าน เช่นผู้เขียนเช่าหอพัก ก็อาจเอาใบเสร็จค่าหอพัก ค่าโทรศัพท์ที่เเสดงที่อยู่ไปเป็นหลักฐานได้ถึงภูมิลำเนาตามข้อเท็จจริง

 

สิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่สุดที่เราเห็น ยัง "ติดบ้าน-ติดบัตร"

 

ปัญหาประการหนึ่งของการใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานก็คือ การเข้าถึงสิทธิพื้นฐานจะต้องผูกติดกับ "การมีประทับตรารับรอง" หลายอย่าง เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวหนังสือเดินทาง บัตรอะไรสักอย่าง ถ้าอยากได้สิทธิเหนือกว่าสิทธิพื้นฐาน ก็ต้องมีตรารับรองเพิ่มขึ้นอีก เช่น สัญชาติ บนบัตรประจำตัวประชาชน"ไทย"  หลักฐานการเสียภาษี หลักฐานการส่งเงินประกันสังคม เช่นบัตรประกันสังคม เมื่อก่อนคนมีรายได้น้อยต้องไปจดทะเบียน มีบัตรรับรอง "ความจน"คนพิการก็ต้องมีบัตรรับรอง "ความพิการ" เป็นผู้ลี้ภัยต้องมีบัตรประจำตัวหรือเอกสารประจำครอบครัว ถ้าไม่มีก็ต้องมีหนังสือรับรอง เมื่อจะออกไปยังประเทศที่สาม

 

การมีบัตรไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หรือเป็นการกดขี่เสมอไป  บัตรบางบัตรเป็น "บัตรเบ่ง" เช่นบัตรทอง royal orchid บัตรเครดิต "แพลตินัม"  บัตรบางบัตรผลิกชีวิตคนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ลองถามคนที่เคยได้ "บัตรสี" แล้วเปลี่ยนมาเป็น "บัตรประชาชนไทย" หรือลองเปรียบเทียบหนังสือเดินทางไทย  กับหนังสือเดินทางอเมริกา หรือหนังสือเดินทางสหภาพยุโรป แล้วจะรู้ว่าบัตรอภิสิทธิ์มีจริงๆ ยิ่งถือหนังสือเดินทางประเทศไทย ไปบางประเทศล่ะก็ ยิ่งรู้ซึ้ง ได้ยินเสียจนตัดใจว่าถ้าชาตินี้ไม่เดือดร้อนต้องไปจริงๆ จะไม่เสียค่าวีซ่าไปเที่ยวให้พวก "มัน" แน่ๆ

 

แม้สิทธิมนุษยชน จะไม่ได้จำกัดเฉพาะ "คนมีบัตร" ความจริงก็คือ ถ้าไม่มีบัตร การเข้าถึงสิทธิก็จะยากขึ้น ต้องดิ้นรนกันหลายรอบ ชีวิตจริงจะต้องการบัตรหรือเอกสารรับรองความเป็นมนุษย์ แม้บางมนุษย์จะไม่มีบัตร แต่เขาก็เป็นมนุษย์ เขาจะไม่มีสิทธิพื้นฐานตามไปด้วยหรือ  แม้ฝ่ายนโยบายจะขยับ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติยังไม่ขยับตาม เรื่องนี้ยังต้องสู้อีกยาวค่ะ

หมายเลขบันทึก: 162351เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2008 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จ๊อบได้เคยอ่านวิทยานิพนธ์ของด๋าวที่ด้วยสิทธิในเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลแล้วยัง

ด๋าวจึงยืนยันว่า สิทธิดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสิทธิมนุษยชน เพราะต้องยอมรับว่า ในยุคที่รัฐสมัยใหม่ปรากฏตัวขึ้น ความเป็นบุคคลตามกฎหมาย ขึ้นอยู่กับเอกสารรับรองความเป็นบุคคลที่ออกโดยรัฐ ความสำเร็จที่จะคุ้มครองมนุษย์ ก็คือความสำเร็จที่จะบังคับรัฐให้รับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายแก่มนุษย์

ลองหางานของด๋าวมาอ่านนะคะ

ยืนยันค่ะ ว่าสิทธิในเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลเป็นสิทธิมนุษยชน  แต่คิดว่าสิทธิในเอกสารพิสูจน์ตนของไทย เป็นสิทธิติดทะเบียนบ้าน เช่นคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง ไม่สามารถทำบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ แม้จะมีเลข 13 หลัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไกลจากงานของเรามาก แต่ก็อยากจะบันทึกไว้

แต่สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ไม่อาจแบ่งเเยกได้ การรักษาคนที่ขาดสิทธิมนุษยชนเอง ก็น่าจะไม่รักษาแบบเเยกส่วน การใช้สิทธิในการได้รับเอกสารเพื่อพิสูจน์ทราบตัวบุคคล หรือ "ทุกๆ คนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด"แม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานมองว่าต้องมาก่อน    สิทธิอื่นๆ ในทางปฏิบัติ  เช่นสิทธิด้านสุขภาพ  สิทธิในการศึกษา แต่ถ้าเรามองว่าทุกสิทธิมีความจำเป็นกับชีวิต และจัดการไปพร้อมๆ กัน เช่น แม้ไม่มีบัตร เมื่อเจ็บป่วย ต้องได้รับการรักษาพยาบาลตามความจำเป็น ต้องได้เรียน ระหว่างที่เราจัดการกับสถานะบุคคล คนอย่างน้อยออยหรือป้าเจรียงก็ยังไม่ตาย หนูอาจจะมองว่า ตรงไหนที่มีปัญหาต้องช่วยเขาพร้อมๆ กันไปด้วย ไม่ใช่ต้องรอเอาใส่ทะเบียนบ้าน รอมีบัตร แล้วค่อยได้รับการคุ้มครองค่ะ 

จึงอยากเรียนอธิบายให้อาจารย์ทราบ ด้วยความคิดถึงนะเจ้าคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท