สาระน่ารู้ :
การพิจารณาความผิดด้านกฎหมายกับเรือประมงที่รุกล้ำน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน
เนื้อหา
กรณีที่เรือประมงไทย
บางกลุ่มได้รุกล้ำ และลักลอบเข้าไปทำประมงในน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน
แล้วถูกเรือรบประเทศเพื่อนบ้านไล่จับกุม นั้น สำนักงานต่างประเทศ
สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้ข้อพิจารณาความผิดด้านกฎหมายประมง
ว่าการกระทำดังกล่าว อาจเป็นความผิดตามกฎหมาย ดังนี้
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490
ตามมาตรา 28 ทวิ
กำหนดให้บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของเรือใช้
หรือยอมให้ใช้เรือของตนทำการประมงละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ
และทำให้คนประจำเรือหรือผู้โดยสารไปกับเรือต้องตกค้างอยู่ ณ
ต่างประเทศ
บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหาย
และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศ
ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินเจ็ดคนภายในสามสิบวัน
นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งค่าวินิจฉัยดังกล่าว
กรณีนี้
หากเจ้าของเรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าว
ก็จะมีโทษ ตามมาตรา 64 ทวิ
ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท
หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี
หรือทั้งปรับทั้งจำ
พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง
การที่เรือประมงลักลอบเข้าไปทำประมงในน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้าน
ถือว่าเป็นการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
ซึ่งตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522
มาตรา 11 กำหนดไว้ว่า
การเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องเดินทางเข้ามาหรือออกไปตามช่องทาง
ด่านตรวจคนเข้าเมือง เขตท่า สถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลา
ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และในมาตรา
18 วรรค 2
ก็กำหนดไว้ว่า บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักร
ต้องยื่นรายการตามแบบที่กำหนดในกฏกระทรวง
และผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่
ของด่านตรวจคนเข้าเมืองประจำเส้นทางนั้น จึงเห็นได้ว่าหากลูกเรือประมง
เจ้าของเรือและผู้ที่ควบคุมเรือที่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
โดยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ก็จะเป็นความผิดตามมาตรา
11, 18 และมีโทษตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดโทษไว้ จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท
แต่ถ้าผู้กระทำผิดตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง
มีสัญชาติไทยก็ให้ระวางโทษ ปรับไม่เกิน สองพันบาท ตามมาตรา
62 วรรคสอง
ในกรณีเจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมเรือ
พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา
23
ก็กำหนดไว้ให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ
จะต้องนำพาหนะเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง
เขตท่า สถานี หรือท้องที่และตามกำหนดเวลา ทั้งนี้
ตามที่รัฐมนตรีจะได้ประกาศในราชกิจจนุเบกษา และในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง
ก็กำหนดให้พาหนะใดที่เข้ามาในหรือจะออกไปนอกราชอาณาจักร
เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะต้องแจ้งกำหนดวันและเวลา
ที่พาหนะเข้ามาถึง หรือจะออกจากเขตท่า สถานี
หรือท้องที่ตามแบบที่กำหนดในกฏกระทรวงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ
ที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองซึ่งควบคุมเขตท่า สถานี
หรือท้องที่นั้นภายในเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศไว้ ฉะนั้น
หากเจ้าของเรือประมงหรือผู้ควบคุมเรือประมงไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว
ก็จะเป็นความผิดตามมาตรา 23 และมาตรา
65 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท
หรือทั้งจำทั้งปรับและเป็นความผิดตามมาตรา 25
และมาตรา 66 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน
2 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.
2456
ตามมาตรา
28
ซึ่งกำหนดให้คนรับจ้างสำหรับทำการในเรือเดินทะเลคนใด
จะเข้าทำการงานหรือมีผู้จ้างทำการงานในเรือกำปั่นชาติสยาม
หรือเรือกำปั่นต่างประเทศชาติใดที่ไม่มีกงสุลประจำอยู่ในกรุงสยาม
ต้องได้รับอนุญาตเจ้าท่าก่อนจึงทำได้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้
ก็จะเป็นความผิดและมีโทษตามมาตรา 290
ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 500 บาท ถึง 5,000 บาท ดังนั้นหากลูกเรือประมงทำงานในเรือประมงไทย
ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าก่อนจะเป็นความผิดและมีโทษดังกล่าว
ในกรณีนายเรือตามมาตรา 21 กำหนดให้เรือกล ที่เป็นเรือเดินทะเลและเป็นเรือไทย
ขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสส์ขึ้นไป
เมื่อจะออกจากเขตท่าเรือใดๆ ในน่านน้ำไทย
นายเรือต้องแจ้งกำหนดออกเรือต่อเจ้าท่าก่อนออกเรือเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง
เพื่อให้เจ้าท่าตรวจสอบว่าปฏิบัติถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่เสียก่อน
เมื่อเห็นว่าถูกต้องแล้วจึงอนุญาตให้เรือออกได้
ถ้าไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้จะเป็นความผิดและมีโทษตามมาตรา 24 ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 500 บาท
ถึง 5,000 บาท ดังนั้น
หากนายเรือนำเรือประมงซึ่งเป็นเรือกลที่เป็นเรือเดินทะเล
และเป็นเรือไทยขนาดตั้งแต่หกสิบตันกรอสส์ขึ้นไปออกไป
โดยไม่แจ้งกำหนดออกเรือต่อเจ้าท่าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงก็จะเป็นความผิดและมีโทษ ดังกล่าว
ที่มา http://www.navy.mi.th/tmbfcc/IntDocLawAttachedVessel.php#F3