“เมื่อเด็กชายวิษณุต้องเข้าผ่าตัดไส้ติ่งในโรงพยาบาล : ทุกข์ที่ต้องเผชิญของเด็กชายผู้ไม่มีเลข 13 หลัก”


บันทึกนี้เป็นบันทึกที่เขียนไว้เดิม และ รื้อมาแบ่งให้คนอื่นๆ ได้ลองอ่านกันอีกครั้ง เพราะเป็นกรณีของคนไร้รัฐผู้ยากไร้ ที่ไม่มีหลักประกันทางสุขภาพคุ้มครอง พี่บุญมีผู้เป็นแม่ของเด็กชายวิษณุ หวาดกลัวอย่างมากกับการที่ลูกเข้าโรงพยาบาล ไม่ใช่เพราะเพียงไม่มีบัตร แต่เพราะเธอไม่มีเงินจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล ผู้เขียนจำน้ำตาของพี่บุญมี ที่หน้าห้องจนท.สังคมสงเคราะห์ได้ดี ใบหน้าของพี่บุญมีวันนั้นยืนยันชัดเจนให้ผู้เขียนมายืนอยู่ตรงนี้ในโครงการ

 ในบันทึกนี้อยากจะเล่าเรื่องราวของน้องชายคนหนึ่งที่ชื่อ วิษณุ ที่ผู้เขียนมีความผูกพันและห่วงใยอยู่เสมอ 

รู้จักตัวตนของ "วิษณุ"

น้องวิษณุ  เป็นเด็กชาย อายุ 12 ขวบ  หน้าตาหล่อเหลา  เวลาอยู่ที่โรงเรียน วิษณุใช้ชื่อว่า เด็กชายวิษณุ  สายหยุด  ซึ่งที่จริงเป็นนามสกุลของเพื่อนบ้าน  เพราะตัวตนของวิษณุจริงๆ แล้ว เค้าไม่เคยมีนามสกุลเป็นของตนเอง  ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าแม่กับยายของวิษณุก็ไม่เคยมีนามสกุลเช่นเดียวกัน อันเนื่องมาจากยายของวิษณุเป็นคนมอญในประเทศพม่าที่ไม่มีนามสกุล ยายย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยตั้งแต่ยังสาวๆ  ประมาณปี พ.ศ. 2506 ทางอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี  

เพราะความขัดสน และ ความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงลูกทั้ง 5 คนด้วยตัวคนเดียว (หนึ่งในนั้นคือ พี่บุญมี ลูกสาวคนโต ผู้เป็นแม่ของวิษณุ)   ยายจึงอพยพออกจากหมู่บ้านในป่าเข้ามาในเมือง ยายของวิษณุ ชื่อว่า ป้า สันที พาลูกๆ มาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ หลังจากที่เคยได้ทำทะเบียนประวัติที่หมู่บ้าน แต่ยังไม่ทันจะได้รับบัตรประจำตัว  ป้าสันทีและลูกๆ จึงพลัดพรากจากการที่จะได้มีบัตรประจำตัว และตกอยู่ในสถานการณ์ของคนไม่มีบัตรมาตลอดชีวิต จนมาถึงวิษณุ เมื่อแม่ของวิษณุ แต่งงานกับกับพี่เล็ก ซึ่งเป็นคนมอญ ที่ไม่มีบัตรเช่นเดียวกัน วิษณุ ซึ่งแม้จะเกิดที่โรงพยาบาล  แต่ครอบครัวก็ไม่ได้แจ้งเกิดให้กับวิษณุแต่อย่างไร  

วิษณุเป็นเด็กกล้าหาญ  อาจจะเพราะว่าได้รับการดูแลเหมือนเป็นความหวังของครอบครัว แม่ซื้อผักมาขายส่งให้วิษณุได้เรียนหนังสือ เพราะอยากให้มีความรู้ติดตัวจะได้ไม่ลำบากเหมือนแม่และยาย  ผู้เขียนเคยโทรศัพท์คุยกับพี่บุญมีอยู่บ่อยครั้ง  บางครั้งโดยบังเอิญเป็นการคุยกันหลังจากฝนตกหนัก  พี่บุญมีมักหยอกล้อว่า บ้านเกือบพังแล้วอาจารย์[1] หรือ เสียงตะโกนว่า บ้านจะพังแล้วอาจารย์ ถ้าเราคุยกันขณะที่ฝนตก   ตอนแรกผู้เขียนก็นึกไม่ออก แต่ก็แซวกลับว่าจะไปเยี่ยมบ้านดูสักที [2]

วิษณุ...ต้องเข้าโรงพยาบาล  

แต่เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่10 กันยายน พ.ศ. 2549  ที่ผ่านมา วิษณุปวดท้องมาก แม่บุญมีจึงพานั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปหาหมอที่โรงพยาบาลบางจาก จังหวัดสมุทรปราการ หมอสงสัยว่าวิษณุจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ จึงบอกให้บุญมีกลับไปเก็บของที่บ้านและมาพบหมออีกครั้งตอน บ่ายสาม ส่วนวิษณุก็เป็นเด็กเข้มแข็งเช่นเคย ไล่แม่กลับบ้านและนอนให้หมอให้น้ำเกลืออยู่คนเดียวที่โรงพยาบาล    ในที่สุดเมื่อพบว่าวิษณุเป็นไส้ติ่งอักเสบ ทางโรงพยาบาลบางจากเป็นโรงพยาบาลเล็ก ไม่มีเครื่องมือผ่าตัด จึงส่งวิษณุไปเข้ารับรักษาตัวต่อที่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ ปากน้ำ แม่บุญมีจึงโทรศัพท์ มาแจ้งผู้เขียนและโดยขั้นตอนการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในกรณีที่ผู้ร้องประสบกับปัญหาผลกระทบด้านสิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่นนี้ ทางผู้เขียนก็ได้เข้าไปช่วยเหลือดูแลการเข้ารับรักษาพยาบาลของเด็กชายวิษณุที่โรงพยาบาล    

เพราะเมื่อเวลาคนที่ไม่มีเลข 13 หลัก อย่างวิษณุมีความเจ็บป่วย โดยทั่วไปก็จะไม่กล้าไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่จะแก้ไขความเจ็บป่วยของตนเองด้วยการซื้อยามากินเอง  หรือ ไปหาหมอที่คลีนิก  กระทั่งหากอาการหนักจนทนไม่ไหวเท่านั้นจึงยอมเข้าโรงพยาบาล  เพราะการปรากฎตัวต่อโรงพยาบาลนั้นบางครั้งก็มีปัญหาเรื่องที่ตนเองไม่มีเลขประจำตัว13 หลัก  และที่หนักหนามากกับคนที่ไม่มีเลข 13 หลัก คือ ไม่มีสิทธิในประกันสุขภาพเยียวยาความขัดสนทางการเงิน เหมือนคนอื่นๆ    

 ในครั้งนี้ บุญมีนำเงินเก็บทั้งหมดที่มีในบ้านที่เก็บไว้มานานแล้ว(ประมาณ3,000 บาท) มาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ลูก นับแต่ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลบางจาก ค่าส่งตัวคนไข้  ค่าผ่าตัดและ ค่าใช้จ่ายในการนอนค้างรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรปราการปากน้ำ  ซึ่งทั้งหมดตกเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมาก (ประมาณ 15,000 บาท) มากเกินกว่าที่คนไม่มีเลข 13 หลักอย่างบุญมี ซึ่งทำการค้าขายผักเล็กๆ น้อยๆ จะสามารถหาได้ในเกือบทั้งปี     

อย่างไรก็ตามวิษณุได้รับการรักษาพยาบาลจนเสร็จขั้นตอน และ คุณหมออนุญาตให้กลับบ้านได้ และทางโรงพยาบาลได้สงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลส่วนที่บุญมียังค้างโรงพยาบาลอยู่ให้  โดยมีความเข้าใจและเป็นห่วงกับอนาคตที่ต้องดำเนินของเด็กชายวิษณุและครอบครัวนี้    

ผู้เขียนได้เข้าไปประสานงานอย่างต่อเนื่องกับทางโรงพยาบาลจนถึงวันที่เด็กชายวิษณุจะออกจากโรงพยาบาล ในวันนั้นผู้เขียนพบว่าแม่บุญมีมีอาการจะร้องไห้เกือบตลอดเวลาตั้งแต่ก่อนเข้าพบเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลเพื่อขออนุมัติค่าใช้จ่ายที่ยังค้างชำระ แต่เมื่อผู้เขียนได้พูดคุยและให้กำลังใจ  บุญมีก็ดูผ่อนคลายและลดความหวาดกลัวลง  

"สังคมสงเคราะห์" ทางออกในการเยียวยาค่ารักษาพยาบาลของวิษณุ

ในขั้นตอนการสอบประวัติของโรงพยาบาลโดยเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์นั้น  ผู้เขียนได้มีโอกาสอธิบายสาเหตุ  ข้อเท็จจริงทางกฎหมาย และ ขั้นตอนการดำเนินการแก้ไขของครอบครัวนี้ให้ทางโรงพยาบาลได้เข้าใจมากขึ้นด้วย จนในที่สุดทางโรงพยาบาลก็อนุมัติสงเคราะห์ค่าใช้จ่ายที่เหลือ และ ให้วิษณุกลับบ้านได้ หลังจากนั้นบุญมีก็ยังร้องไห้น้ำตาไหลอยู่อีกเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่เพราะความกลัวอย่างตอนแรก เป็นน้ำตาแห่งความดีใจของผู้เป็นแม่ และดูเหมือนจะไหลพรั่งพรูออกมาเพื่อระบายความอัดอั้นที่มีมาตลอด หลายวันที่วิษณุอยู่โรงพยาบาล

ผู้เขียนพบว่าทุกคนในครอบครัวของป้าสันที (กว่า 8 ชีวิตที่ไม่มีใครมีบัตร) ที่ติดตามดูอาการวิษณุด้วยความเป็นห่วงนั้น นอกจากจะเป็นห่วงในอาการเจ็บป่วยของวิษณุแล้ว ยังมีความเป็นห่วงและกังวลใจมากในเรื่องที่วิษณุไม่มีบัตร ตลอดจนค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากเพราะไม่มีระบบประกันสุขภาพรองรับ


[1] อาจารย์ เป็นคำสรรพนามที่พี่บุญมี มักเรียกผู้เขียน เพราะว่ าเรามีห้องเรียนร่วมกันที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสถานะบุคคล

[2] ภายหลังเมื่อผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านพี่บุญมีแล้วก็เห็นจะจริงดังคำที่พี่บุญมีว่า  เพราะแม้จะมีการซ่อมแซมจนแข็งแรงมากกว่าครั้งที่คุยกันแล้ว  ถ้าพายุมาแรงๆ บ้านก็คงจะยังสั่นสะเทือนและจะทำให้คนในบ้านเปียกอยู่อีกแน่นอน 
หมายเลขบันทึก: 161383เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2008 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การสงเคราะห์ในกรณีนี้ของโรงพยาบาล เป็นทางออกทางหนึ่งของโรงพยาบาล และคนไร้รัฐ แต่หนทางนี้ ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหา

แต่ก็ควรจะทราบว่า แต่ละโรงพยาบาลมีความสามารถที่จะสงเคราะห์ได้เพียงใดนะคะ

ลืมบอกชลว่า ดีใจที่ชลเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ที่จะเอากรณีศึกษาเรื่องที่ ๑ ขึ้นมาให้เราได้อ่านกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท