BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

พิมพ์


พิมพ์

คำนี้ มีใช้อยู่ในภาษาไทยทั่วไป โดยส่วนหนึ่งมักจะประสมกับคำอื่นๆ เช่น หนังสือพิมพ์ แท่นพิมพ์ โรงพิมพ์ ขนมพิมพ์ ฯลฯ ซึ่งนัยตามนี้ น่าจะหมายถึง ประทับ หรือ กด โดยจะต้องมี แบบ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประทับหรือกด...

อีกนัยหนึ่ง หมายถึง ความงามหรือ ความประทับใจ ดังเช่นบทเพลงซึ่งจำได้ท่อนหนึ่งว่า เธอเป็นนางพิมพ์ของใครมาก่อน ชายทั่วทั้งนคร.... (จำได้แค่นี้ ใครจำได้ตลอด ช่วยเพิ่มเติมด้วย) ตามนัยนี้ หมายถึงความงามหรือความประทับใจต่อสาวสวย... นอกจากนั้นก็อาจหมายถึง รูปวาด ดวงจันทร์ หรือทิวทัศน์เป็นต้นที่สวยงามน่าประทับใจ ฯลฯ ก็อาจใช้คำว่า พิมพ์ ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งโดยมากมักจะอยู่ในบทร้อยกรอง...

ตามคัำมภีร์อภิธานัปปทีปิกา คำว่า พิมพ์ นี้ มีใช้อยู่ ๓ ความหมายคือ

  • รูปเหมือน
  • วงจันทร์
  • ผลตำลึง

......

ในความหมายแรกว่า รูปเหมือน นี้ อาจแยกย่อยออกไปได้อีก โดยนัยแรกหมายถึงการเปรียบเทียบตรง เช่น พุทธพิมฺพํ รูปเปรียบแห่งพระพุทธเจ้า นาคพิมโพ ผู้เปรียบดังช้างตัวประเสริฐ ฯลฯ

นัยหลังหมายถึง รูปร่าง ซึ่งเป็นร่างกาหรืออัตภาพโดยตรง เช่น คาถาในธรรมบทตอนหนึ่งว่า

  • ปสฺส จิตฺตกตํ พิมฺพํ            อรุกายํ สมุสฺสิตํ
  • อาตุรํ พหุสงฺกปฺปํ               ยสฺส นตฺถิ ธุวํ ฐิติ
  • เธอจงเห็นอัตภาพ ที่ไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง อันธรรมดาตกแต่งให้วิจิตร มีกายเป็นแผล อันกระดูกยกขึ้นมา อันกระสับกระส่าย  มีความดำริมาก ฯ

รายละเอียดนิทานดูที่ เรื่องแรก เป็นต้น

ส่วนคำว่า พิมพ์ ในความหมายว่า รูปเหมือน หรือร่างกายนี้ ท่านว่ามาจาก วมะ รากศัพท์ ซึ่งแปลว่า จำลองมา (รากศัพท์นี้ แปลว่า สำรอก หรือ อ้วก ก็ได้ )... การทำตัวค่อนข้างยาก จะละไว้ โดยจะไปทำตัวในความหมายที่สองเป็นตัวอย่าง.... 

...................

ในความหมายว่า วงจันทร์ หรือ วงเดือน นี้ ท่านตั้งวิเคราะห์บาลีไว้ว่า

  • มญฺญเต ญายเต อเนนาติ พิมฺพํ
  • วงกลม อันปวงชน ย่อมรู้ คือย่อมเข้าใจ ด้วยสิ่งนี้ ดังนั้น สิ่งนี้ ชื่อว่า พิมพ์ (เป็นเครื่องให้รู้)

ตามนัยนี้ น่าจะบ่งชี้ว่า วงกลม นั้น เราเรียนรู้หรือลองเลียนมาจากดวงจันทร์นี้เอง...

สำหรับการทำตัว... ตามคัมภีร์ว่ามานั้น ผู้เขียนยากที่จะคล้อยตามได้... โดยท่านบอกว่า

พิมพะ มีรากศัพท์มาจาก มนะ ลง ว.แหวนปัจจัย ( มนะ + ว)... แปลง ม.ม้า เป็น พ.พาน (มนะ จึงเป็น พนะ )... แล้วก็แปลงสระ อะ ที่ พ.พาน  เป็น สระ อิ (พนะ จึงเป็น พินะ )... ดังนั้น จึงได้เป็น พินะ + ว

ต่อจากนั้น ก็แปลง .หนู ที่ พินะ เป็น ม.ม้า (พินะ จึงเป็น พิมะ)... แล้วก็แปลง ว.แหวน เป็น พ.พาน ( พิมะ + ว = พิมะ + พ)  จึงสำเร็จรูปเป็น พิมพะ หรือ พิมพ์ ในภาษาไทย

สำหรับคำยากๆ ทำนองนี้ นักเรียนบาลีโดยมากมักทำตัวไม่ได้ ส่วนมากมักจะจำว่า คำนี้แปลว่าอย่างไร เท่านั้น 

.............

ส่วนอีกความหมาย ที่แปลว่า ผลตำลึง นั้น นอกจากจะใช้ว่า พิมพะ แล้ว ในบาลีบางครั้งก็ใช้ว่า พิมพิกา หรือ พิมพกา ซึ่งก็แปลว่า ผลตำลึง เช่นเดียวกัน...

สำหรับความหมายนี้ก็มีใช้อยู่ในร้อยกรองบ้างเช่นเดียวกัน... 

................ 

คำนี้จึงมีใช้ทั่วไปในภาษาไทย ภาษาบาลีก็มีใช้ทั่วไป แม้คำแปลจะไม่ยาก แต่การอธิบายตามรูปศัพท์ค่อนข้างยาก...

คำอธิบายยุ่งยากทำนองนี้ ผู้เขียนไม่ค่อยนำมาเล่า เพียงแต่หลายๆ คำก็มีใช้อยู่ดาษดื่นในภาษาไทย... วันนี้ โอกาสดี ก็นำมาเล่าพอเป็นตัวอย่าง.... 

หมายเลขบันทึก: 161359เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2008 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากเลยค่ะ กำลังหาอยู่พอดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท