12. วิทยาลัยนาฏศิลป์อินเดียที่ดังทั่วโลก เจนไน รัฐทมิฬ นาดู


ความเรียบง่าย สมถะ บ่อเกิดของความสงบและความงาม

                                       

         อรุณสวัสดิ์ ฉันตื่นมาพร้อมกับรับชาร้อนๆ อร่อยๆ ของพี่ นั่งจดบันทึกต่อ พีทำอาหารเช้าให้ทานด้วย ราวๆ 9.00 น. คุณ K พาฉันเดินไปวิทยาลัยศิลปกรรมที่อยู่ไม่ไกลจากที่พักชื่อวิทยาลัยศิลปกรรมรุกมินี เดวี (Rukmini Devi College of Fine Arts) พี่เคยพาฉันขึ้นไปดาดฟ้าชั้นสี่เพื่อชมวิวทิวทัศน์โดยรอบก็เห็นสวนป่าขนาดใหญ่ที่ปกคลุมวิทยาลัยนาฏศิลป์นี้อยู่ เมื่อวานตอนค่ำ พี่สาวก็พาเดินเข้าไปในวิทยาลัยแต่ไปได้ไม่ไกลนัก เพราะมืดค่ำแล้ว ไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยไหม เลยถอยกลับบ้าน เช้านี้อากาศดี แดดอ่อนๆ น่าเดิน เราสองคนก็เดินเข้าประตูไป ผ่านสวนต้นไม้ไปเล็กน้อยราว 300 เมตร ด้านซ้ายมือมีโรงเรียน ท่านนึกภาพตามไปด้วยว่ามีอาคารชั้นเดียวหลายๆ หลัง กระจายตัวอยู่ในบริเวณพื้นที่กว้างที่มีต้นไม้ใหญ่ๆ เป็นทั้งร่มเงา ลานกิจกรรม ห้องเรียนธรรมชาติของนักเรียนและครู  บรรยากาศดีมาก สงบร่มเย็น ไม่มีมลพิษมารบกวนสมาธิเลย มีรั้วกั้นโปร่งๆ แต่ดูเป็นสัดส่วน

    เดินต่อไปอีกราว 4-500 เมตรจากปากทางเห็นที่ทำการของวิทยาลัย เนื่องจากพื้นที่ของวิทยาลัยกว้างขวางมาก ดังที่บอกไว้แต่ต้นว่าอยู่ในสวนป่า ดังนั้นอาคารเรียนที่นี่ไม่มีตึกสูงกว่า 1 ชั้นเลย ที่ทำการของผู้อำนวยการ ห้องเรียนเป็นอาคารชั้นเดียว เราแวะไปที่สำนักงานก่อนเพื่อขอเข้าพบผู้ที่รับผิดชอบ ถอดรองเท้า เข้าไปนั่งรอที่เก้าอี้ ที่ทำการของผู้บริหารเงียบสงบ สะอาด มีสุภาพสตรีนั่งคุยกัน 2 ท่านอยู่ที่โซฟาตรงข้ามฉันน่าจะเป็นอาจารย์เพราะท่านทำท่ารำประกอบด้วย คงปรึกษากันเกี่ยวกับการสอน สักพักคุณ K พาฉันไปพบผู้อำนวยการ ฉันก็มอบนามบัตรและวารสารที่นำติดไปด้วย และเรียนให้ท่านทราบว่าเคยชมการแสดงของวิทยาลัยท่านที่สถานทูตอินเดียในประเทศไทยจัดซึ่งดีมาก ท่านบอกว่าท่านเคยนำคณะไปแสดงรามเกียรติ์ และคุณ K แจ้งว่าขอพาฉันเข้าไปชมกิจกรรมของวิทยาลัยท่านก็อนุญาต ฉันขอบคุณและลาออกมาเพราะดูเหมือนท่านมีงานค้างอยู่กับสุภาพสตรีที่นั่งรออยู่หน้าโต๊ะ  ฉันออกมานั่งรอที่เก้าอี้หน้าห้องตัวเดิม คุณ K เดินเข้าไปด้านในสักพักออกมาพร้อมหนังสือเล่มเล็กแนะนำวิทยาลัย และบัตรผู้เยี่ยมติดหน้าอกให้ฉัน เราเดินออกมา ข้ามถนนเล็กๆ เข้าไปในบริเวณที่อยู่ด้านข้างของสำนักงาน  หน้าห้องเรียนมีป้ายติดว่า กระท่อม (Cottage) ตามด้วยชื่อผู้บริจาค เพราะวิทยาลัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิชื่อ กาลักเชตรา (Kalakshetra Foundation) ขออนุญาตเล่าเรื่องของมูลนิธิก่อน

    วิทยาลัยศิลปกรรมนี้สร้างขึ้นโดยมาดามรุกมินี เดวี อรุนเดล (Rukmini Devi Arundale) เป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่และยั่งยืนให้กับศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศอินเดีย ท่านได้ฟื้นฟูทั้งศิลปะและหัตถกรรมแบบดั้งเดิมของอินเดียให้กลับฟื้นขึ้นมา ท่านเป็นสตรีผู้สูงศักดิ์คนแรกที่ลุกขึ้นมาเรียนนาฏศิลป์ของอินเดียซึ่งถือว่าเป็นศิลปะชั้นต่ำในต้นศตวรรษที่ 20 ท่านซึมซาบในความงามและคุณค่าทางจิตวิญญาณของรูปแบบศิลปะประเภทนี้ ท่านไม่เพียงแต่จะกล้าเรียนรู้เท่านั้นแต่ยังกล้าแสดงบนเวทีที่ถูกต่อต้านจากสาธารณชนอย่างหนักในยุคนั้นด้วย

   ท่านสมรสกับดร. จอร์จ อรุนเดล (ชาวต่างชาติ) ซึ่งเป็นการสร้างความตกตะลึงให้กับสังคมที่เข้มงวดในจารีต ท่านก็เผชิญหน้ากับเสียงต่อว่าของสังคมอย่างกล้าหาญ ท่านได้

เข้าไปร่วมงานกับ Theosophical movement และเป็นสาวกของดร.อานนี  เบสัน (Dr. Annie Besant) และสามีซึ่งเป็นผู้ที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและนักการศึกษาผุ้ยิ่งใหญ่ ท่านเดินทางไปในที่ต่างๆ ทั่วโลกในฐานะทูตวัฒนธรรมอินเดีย ท่านสร้างโรงเรียนระดับมัธยม และวิทยาลัยเพื่อมอบให้การศึกษาที่เน้นคุณค่าทางวัฒนธรรมของอินเดียแบบดั้งเดิม ท่านได้ใช้วิธีการสอนแบบมอนเตสโซรี (Montessori) เป็นครั้งแรก ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกรัฐสภาจากประธานาธิบดีในปี 1952 และ 1956 ท่านสนใจในการพิทักษ์รักษาสัตว์ป่าด้วยได้ออกกฎหมายป้องกันการกระทำทารุณสัตว์ ท่านทานเจและทำการส่งเสริมการรับประทานเจในประเทศอย่างมาก

     ท่านก่อตั้งมูลนิธิกาลักเชตรา (Kalakshetra) ในเดือนมกราคม 1936 เพื่อเป็นสถาบันวิชาการที่อนุรักษ์คุณค่าศิลปะอินเดียแบบดั้งเดิมไว้ โดยเฉพาะด้านดนตรีและการรำ ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในเวลาต่อมา ภายใต้การดูแลของท่าน สถาบันมีความเจริญเติบโตเป็นที่รู้จักทั้งในระดับชาติและนานาชาติว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะและเป็นเลิศ  มีพื้นที่ทำการกว้างขวาง มีครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาสอน ในปี 1993 รัฐบาลอินเดียได้ประกาศให้วิทยาลัยแห่งนี้เป็นสถาบันที่มีความสำคัญระดับชาติ โดยให้ความดูแลทั้งวิทยาลัยและมูลนิธิด้วย วิทยาลัยเป็นสถาบันอิสระภายใต้กรมวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

     ขอจบประวัติท่านผู้ก่อตั้งแต่เพียงเท่านี้  ขอพาท่านเดินชมการเรียนและสถานที่ หมู่กระท่อมที่เป็นชั้นเรียน แยกเป็นวิชาและแยกความยากง่ายของนาฏศิลป์ แต่กระท่อมจะรายล้อมอยู่ด้านนอก แต่ละหลังไม่ไกลกันนัก ตรงกลางมีต้นไม้ใหญ่น้อยร่มรื่น มีลานพระพิฆเณศอยู่ใต้ร่มไทร เห็นแล้วนึกถึงสวนโมกข์และวัดสวนแก้วทันที แนวคิดที่อยู่ท่ามกลางความสงบของธรรมชาติแบบเดียวกัน สวนพิฆเณศเป็นลานที่ให้นักศึกษาและครูมาทำพิธีสวดมนต์ นั่งสมาธิทุกเช้าก่อนเข้าเรียน

                                   

     วิทยาลัยนี้สอนศิลปกรรมทุกชนิด ท่านต้องไม่นึกภาพห้องเรียนของเมืองไทยเพราะไม่เหมือนและไม่มีในเมืองไทย ที่นี่ ห้องเรียนที่อยู่ในกระท่อมแต่ละหลังจะโล่ง ไม่มีข้าวของใดๆ ไม่มีโต๊ะ เก้าอี้นักเรียน ครู และนักศึกษานั่งพื้น ครูอาจมีเก้าอี้นั่งหน้าชั้นหรือนั่งบนเสื่อเท่านั้น อุปกรณ์คือเครื่องดนตรี ที่นำมาเรียนและนำกลับ ลานในวิทยาลัยก็เป็นห้องเรียนตามธรรมชาติได้ นักเรียนมีกระเป๋า มีสมุดมาก็หาวิธีวางบนกระเป๋าเพื่อจด ฝาผนังห้องเรียนมีรูปผู้บริจาคเงินสร้างกระท่อมแต่ละหลังเท่านั้น ความเรียบง่ายธรรมดาสร้างความงามและความยิ่งใหญ่ให้กับงานศิลปะและนาฏศิลป์ของอินเดีย

ครูบาอาจารย์ นักศึกษาแต่งกายแบบดั้งเดิมที่พร้อมจะฝึกซ้อม เห็นนักศึกษาฝึกท่ารำของอินเดียแล้วคล้ายกับการออกกำลังกายดีๆ นี่เองที่ต้องฝึกแสดงออกตั้งแต่ทางสายตา ท่าทาง การกระโดด เหงื่อไหลกันไปตามๆ กัน มีนักศึกษาต่างชาติ เช่นญี่ปุ่น รัสเซีย เป็นต้นมาแฝงตัวนุ่งสาหรีเรียนด้วย ครูสอนเป็นภาษาทมิฬเพราะฉะนั้นนักศึกษาต้องเรียนรู้ภาษา ระหว่างที่เราแวะชั้นโน้นไปชั้นนี้ เห็นชาวต่างชาติหลายกลุ่มมาดูงานด้วย

    พวกเราเดินชมห้องเรียนจนทั่ว นักศึกษาสาวๆ ก็ทำท่าอายๆ เวลาถูกถ่ายรูป เขาตั้งใจเรียนดีมาก ห้องร้องเพลงก็ฝึกร้องประกอบการตบมือประกอบจังหวะเพราะมาก เมื่อกลับออกมาจากลานชั้นเรียนผ่านหอประชุมที่ใช้แสดงนาฏศิลป์ใหญ่โตสวยงามแต่เรียบง่าย โครงสร้างอาคารโปร่งลมพัดผ่านเข้าไปในหอประชุมสบายๆ  ในราวเดือนธันวาคมจะเป็นช่วงเวลาที่วิทยาลัยจะจัดการแสดงด้วยการขายบัตรให้ผู้เข้าชม เดือนธันวาคมเป็นเดือนแห่งสีสัน ความสนุกของเมืองเจนไนทีเดียว

      เราเดินกลับมาที่สำนักงานเพื่อคืนบัตรที่ติดหน้าอก แล้วเดินกลับมาทางเดิม มีคณะของชาวต่างชาติบ้าง กลุ่มนักเรียนชาวอินเดียบ้างกำลังเดินกันไปชั้นเรียนต่างๆ เพื่อศึกษาดูงาน 

      วันนี้เราไม่มีพาหนะเพราะคุณ K บอกว่า Dr. R มารับพวกเราไม่ได้แล้วเพราะเมื่อวานนี้ราวบ่าย 3 โมงลูกสาวของท่านประสบอุบัติเหตุ ฉันบอกคุณ K ว่าเราน่าจะไปเยี่ยมนะ แกบอกเย็นๆ เราไปก็ได้ พวกเราจึงใช้มอเตอร์ขานี่แหละเพราะคุณ K บอกว่าสถานที่ต่อไปอยู่ไม่ไกลจากที่นี่ และเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิเดียวกับวิทยาลัยนี้ แม้ว่าจะแดดร้อนมาก ฉันก็ลุยเดินเลาะไปตามถนนราว 15 นาที เข้าไปดูโรงงานทอผ้าที่ทอมือ โรงงานใหญ่ เราแวะห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก่อน มีผ้าสาหรีทั้งฝ้ายและไหม สวย ได้แต่ชื่นชมทางสายตาและสัมผัสเพราะไม่ทราบจะซื้อมาทำอะไร ผ้าลายเดียวกัน สีเดียวกัน 6 เมตรนี่ยังไม่จูงใจให้เสียเงินเท่าไร มีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เป็นผ้าฝ้ายทอมือ ฉันเดินชมสินค้าในห้องเล็กๆ นั้นไปเรื่อยๆ มีลูกค้าสัก 3-4 คนมาดูสินค้าด้วย สุดท้ายฉันซื้อผ้าทอมือเขียนลายด้วยสีธรรมชาติขนาดเท่าผ้าเช็ดหน้ามาฝากเพื่อนๆ ที่ทำงาน ชำระเงินแล้วออกมา ไม่ได้ดูภายในโรงงานต่อ

            คุณ K เรียกรถสามล้อเครื่องพาไปส่งที่ Theosophical Society ก่อตั้งโดยนายHenry Steel Olcott ขาวอเมริกันและนาง Helena Petrovna Blavatskyb ชาวรัสเซีย เป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของทุกศาสนา รถตุ๊กๆ จอดหน้าประตู เราขออนุญาตเจ้าหน้าที่หน้าประตูใหญ่เดินเข้าไป สถานที่กว้างขวางใหญ่โต ไม่ทราบว่ากี่สิบไร่ นึกถึงสวนลุมพินี (ที่กรุงเทพฯ) ผสมกับปฐมอโศก (นครปฐม) ต้นไม้ใหญ่ๆ เหล่านี้มีเจ้าภาพปลูก คุณ K ชี้ให้ดูป้ายที่ปักไว้ใกล้ๆ ต้นไม้ว่าประเทศใดเป็นผู้ปลูก แต่ยังไม่เห็นของไทยแฮะ คิดว่าต้องมีแน่ เราแวะไปดูสวนต้นโพธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แผ่กิ่งก้านสาขามีรั้วรอบขอบชิด เราเดินชมสวน ชมป่าไปเรื่อยๆ ผ่านอาคารซึ่งเป็นที่ทำการบ้าง ที่พักบ้างอยู่ห่างๆ กัน เงียบสงบ นานๆ จะมีคนขี่จักรยานผ่านมา ไม่มีรถเข้ามาวิ่งเพ่นพ่าน เหมาะแก่การฝึกสมาธิภาวนา ปฏิบัติธรรมมาก เดินไปเรื่อยๆ สักพัก Dr. R ขับรถคันสวยมาพาเราขึ้นรถขับกลับไปทางที่เราเดินผ่านมาเพื่อไปแวะห้องสมุด ฉันถามถึงอาการลูกสาวท่านๆ บอกไม่มีอันตรายอะไรที่ศีรษะ แต่แขนขา ถลอก เมื่อวานนี้ตอนที่ท่านขับรถพาพวกเรากลับจากกันจีปุรัม ภรรยาท่านไม่ได้โทร. บอกเรื่องนี้กับท่านเพราะภรรยาท่านสามารถจัดการได้ เกรงว่าสามีจะกังวลในระหว่างขับรถ ท่านบอกว่ามารับเราเมื่อเช้าไม่ได้เพราะพาลูกสาวไปตรวจ  ฉันแซวท่านว่าสงสัยต้องซื้อรถให้ลูกสาวขับแล้วกระมังจะได้ปลอดภัยขึ้น ท่านหัวเราะเพราะการจราจรที่เมืองไหนๆ ของอินเดียคงเหมือนกันหมด ขี่ตามใจตัวเอง ยิ่งเป็นสาวๆ ขี่รถด้วยจิ๊กโก๋ชอบแซว

    เราไปแวะที่ห้องสมุด มีการแนะนำตัว แลกบัตร Dr. R ก็เป็นที่รู้จักดีของคนที่นั่น ห้องสมุดเงียบ บรรยากาศดี พื้นไม้สะอาดต้องถอดรองเท้า พี่เจ้าของบ้านที่ฉันพักด้วยก็เป็นสมาชิกที่ห้องสมุดนี้ มีวารสารทางด้านศาสนามากมาย มีหนังสือต่างๆ เยอะดี หน้าต่างเปิดโล่งไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศ บรรยากาศดี เราเดินดูรอบๆ แล้วออกมา ฉันมอบวารสารให้ห้องสมุด 1 เล่ม ได้รับใบตอบรับและขอบคุณ ออกมาห้องสมุดเจอผู้ว่าการรถไฟพร้อมเลขาฯ มาสมทบ แนะนำตัวกัน พวกเราลงมาชั้นล่างเพื่อชมห้องเก็บเอกสารหายาก เช่น หนังสือพระคัมภีร์ศาสนาต่างๆ ภาษาต่างๆ (ไม่มีไทย) คัมภีร์เล่มจิ๋วที่สุดมีแว่นขยายด้วย และคัมภีร์ใบลาน ชมเสร็จออกมาภายนอก Dr. R บอกว่าต้องขอตัวกลับไปดูลูกสาวต่อ ให้ท่านผู้ว่าการรถไฟที่มารับช่วงดูแลเราต่อ  คุณ K ถามฉันว่าเย็นนี้เราไปเยี่ยมลูกท่านดีไหม ฉันตกลง ลาท่านตรงนั้น

            ท่านผู้ว่าการรถไฟพาเราไปที่วัดใหญ่แห่งหนึ่งไม่ไกลจากที่เดิม เป็นวัดที่นับถือท่าน Viveknandha ดูเหมือนท่านผู้ว่าจะคุ้นเคยกับสถานที่ดี เราเข้าไปในสำนักงาน มีคนนั่งทำงานอยู่ เรานั่งคอย (ไม่ทราบว่าคอยใคร) ราว10 นาที มีชายคนหนึ่งนำถาดใส่ขนมหวานสี่ถ้วยมาให้เรา ขนมหวานนี้คล้ายข้าวเหนียวเปียก แต่ต้มด้วยนม หอม หวานมาก ทานเสร็จท่านผู้อำนวยการของสำนักงานเป็นพระหนุ่ม โกนศีรษะ แต้มจุดแดงที่หน้าผาก นุ่งจีวรแบบพระมหานิกาย ท่านดูหน้าตาสดใส  ปรากฎกายขึ้น ท่านผู้ชายสองคนที่พาฉันมาคารวะท่านด้วยการแตะมือไปที่เท้าท่าน ฉันไหว้ท่านและถวายนามบัตรให้ท่าน ท่านคุยภาษาทมิฬกันอย่างคุ้นเคย แต่คุยภาษาอังกฤษกับฉัน มีการพูดถึงท่านวิเวกนันทาซึ่งมีภาพใหญ่ติดที่ผนังพร้อมภาพ Guru ชายหญิงขนาบข้าง ที่นี่เป็นสำนักพิมพ์ด้วย เราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันสักพักก็กราบลาออกมา

     เพื่อนๆ ถามว่าไปไหนต่อ ฉันบอกว่าอยากไปซื้อหนังสือ ท่านผู้ว่าการให้รถพาไปร้านหนังสือ อยู่ในซอยเล็ก ร้านอยู่ชั้นสองไม่ใหญ่ แต่หนังสือเยอะมาก ฉันเลือกซื้อมาได้จำนวนหนึ่งที่คิดว่าจะสามารถขนกลับเมืองไทยไหว คนขายลดให้เพราะเห็นว่าฉันซื้อเข้าห้องสมุด เสร็จแล้วท่านผู้ว่าพาไปทานอาหารเที่ยง ไปร้านอาหารหรูคนเต็มร้าน แต่ก็มีห้องว่าง ฉันสั่งอาหารชุดมาทานตามคุณ K อร่อยทานไปเกือบหมด เสร็จแล้วคุณ K เลี้ยง ออกมาเข้าเมืองไปชมนิทรรศการเครื่องทองเหลืองเพราะที่เจนไนมีชื่อ ร้านอยู่กลางเมือง แถวๆ ตึกแบบอังกฤษทาสีแดงที่เป็น landmark ของเมือง ร้านนี้เป็นของรัฐบาล สินค้ามีมากมาย สวยงาม ที่เด่นๆ คือเชิงเทียน หรือที่จุดไฟในพิธีต่างๆ ทองเหลืองมันเงาวาววามมาก ฉันเดินชมไม่ได้ซื้อเพราะไม่ทราบจะซื้ออะไร เอาไปทำอะไร เพื่อนๆ ซื้อกันบ้างเพราะวันพรุ่งนี้เป็นวันที่ทุกบ้านบูชาไฟแก่เทพเจ้า  กลับออกมาไปเที่ยวที่ทำการสถานีรถไฟของรัฐทมิฬ นาดู เป็นอาคารสมัยอังกฤษเป็น landmark อีกแห่งหนึ่ง ดูภายนอกสวยงามดี ห้องท่านผู้ว่าคงทำใหม่ กว้างขวาง สะอาด สวยงาม นอกนั้นเป็นห้องที่มีสภาพเก่าๆ บรรยากาศไม่น่าทำงานสักเท่าใดนักโดยเฉพาะในเรื่องของความสะอาดของสถานที่ เห็นมีการบูรณะซ่อมแซมเป็นหย่อมๆ  คุณเลขาพาไปชมสถานีรถไฟ มีทั้งที่ไปต่างจังหวัด ไปชานเมือง คนเยอะ รถไฟดูไม่เก่านะ เสียดายไม่มีโอกาสได้ขึ้นไปชมสภาพภายในรถไฟ กลับมาที่ห้องทำงานท่านผู้ว่า ก็จวนจะได้เวลาลากลับ คุณ K บอกเรานั่งรถไฟกลับกันดีกว่า ฉันตื่นเต้นตอบตกลงเพราะอยากลองว่าเป็นอย่างไร ท่านผู้ว่าและเลขาออกมาส่งขึ้นรถท่านๆ ให้รถไปส่งขึ้นรถไฟที่สถานีห่างจากที่ทำการท่านออกไปสักเล็กน้อย ท่านบอกว่าคราวหน้าถ้ามีหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยช่วยเอามาบริจาคให้ห้องสมุดสถานีรถไฟด้วยนะ ไม่ทราบว่ามีห้องสมุด ไม่งั้นจะเตรียมไปด้วย

    ไปถึงสถานีรถไฟฟ้า คุณ K ไปซื้อตั๋ว โชคดีที่รถยังไม่ออก เกือบออก เราวิ่งไปขึ้นรถกัน รถว่าง รถไฟฟ้าอินเดียมีขนาดกว้างกว่าของไทยมาก นั่งสบาย คนไม่เยอะได้นั่งชมวิวไป อากาศดี ผ่านสถานีรถไฟที่กำลังปรับปรุงให้มีขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง เราผ่านมาหลายสถานีทีเดียว สุดท้ายมาลงหน้า IT park เริ่มมืดแล้ว คุณ K เรียกรถตุ๊กๆ บอกให้ไปส่งแกเอาของไปไว้ที่บ้านก่อน เสร็จแล้วไปส่งฉันให้ฉันแวะเอาของไปไว้เช่นกัน เสร็จแล้วนั่งตุ๊กๆ คันเดิมไปส่งเราที่บ้าน Dr. R ก่อนถึงฉันยัดเยียดเงินให้แกแวะซื้อผลไม้ไปเยี่ยมไข้ด้วย นั่งรถไปไกลพอควรกว่าจะถึงบ้าน Dr. R เป็นอพาร์ตเมนท์บรรยากาศดี ฉันนำของฝากจากเมืองไทยไปฝากครอบครัวท่านด้วย ไปถึงลูกสาวโขยกเขยกออกมาจากห้อง แกบอกไม่เป็นอะไรมาก หยุดเรียนสักสัปดาห์ก็คงไปเรียนได้ ฉันรู้จักครอบครัวท่านเพราะท่านพาไปประชุมนานาชาติที่สถาบันฯ ฉันด้วย และเราไปเที่ยวเขมรด้วยกันต่อ ภรรยาท่านซึ่งหน้าเด็กมากทำชาร้อนพร้อมนำขนมขบเคี้ยวมาให้ทาน เราคุยกันนานพอควร จึงขออนุญาตลากลับ ฉันเชิญท่านและครอบครัวว่าวันที่ 28 พฤศจิกายนเย็นไปทานอาหารด้วยกันกับเพื่อนๆ ท่านก็รับปาก ภรรยาท่านจะให้สามีไปส่งพวกเรากลับบ้าน เราขอบคุณและปฏิเสธเพราะเราไปเองเที่ยวเดียวสะดวกกว่า  ออกมาปากซอยเรียกรถตุ๊กนั่งกลับบ้าน ถึงราว 19.30 น.

   พี่ที่บ้านคอยจนฉันมาเพื่อพาไปบ้านพี่สาวและพี่เขยซึ่งอยู่อพาร์ตเมนท์ใกล้ๆ กัน  พี่หิ้วหม้ออาหารไปด้วย ไปถึงพี่เขยนอนเอกเขนกดูทีวี  แกรีบลุกเมื่อเราไปถึง ฉันก็ทักทายพี่เขยพี่สาว ฉันนั่งคุยตอบคำถามของพี่เขย แกเป็นครูเก่าคำถามแกจึงหนักๆ เกี่ยวกับเมืองไทย ฉันชวนให้แกไปเที่ยวเมืองไทยสักครั้ง พี่ผู้หญิงทั้งสองเข้าครัวไปเตรียมอาหาร วันนี้ทานอิดลี่ (ถ้วยฟูไม่หวาน ไม่กะทิ) กับแกงซึ่งฉันเห็นพี่สาวฉันที่บ้านโม่แป้งไว้ตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แกมีเครื่องโม่แป้งไฟฟ้าที่บ้าน อาหารอร่อยดี ของหวานคือกล้วย ทานเสร็จนั่งคุยกันสักพักขอลากลับ ช่วงนี้หลานสาวของพี่ที่บ้านฉันซึ่งแต่งงานแล้วไปอยู่ที่รัฐพิหารพาครอบครัวมาเที่ยวที่ Kerala แล้วจะมารับพ่อแม่เขาไปเที่ยวพิหารวันที่ 28 พ.ย. ด้วย   ฉันกลับมาขอcheck mail เสร็จอาบน้ำ นอนหลับสบาย อากาศดี

หมายเลขบันทึก: 161255เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2008 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะคุณโสภนา
      ตามบันทึกมา และจะสอบถามเรื่องการสัมมนาด้วยค่ะ จะมีที่ ม.มหิดลศาลายา ใช่หรือเปล่าคะ ขอบคุณค่ะ

 สวัสดีครับ
ตามมาอ่านครับ สนุกดีครับ โดยเฉพาะเรื่องศิลปะอินเดีย
ผมเองกำลังทึ่งกับจิตรกรชาวอินเดียที่ชื่อว่า Raja Ravi Verma วาดภาพได้สวยงามมากโดยเฉพาะสีน้ำมัน
ทำให้นึกถึงท่านครูเหม เวชกรของไทย
ท่าน Verma เป็นเจ้าชาย เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1848-1906 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ครับ
คงต้องหาเวลาไปดูหอศิลป์แห่งชาติของอินเดียซะแล้วครับ

เรียน คุณพลเดชที่เคารพ คุณพลเดชมีความสามารถในการวาดรูปมากค่ะ และมีความรู้เรื่องศิลปะดีทีเดียว กรุณาเขียนมาให้เราได้รู้จักบ้างก็จะขอบพระคุณมากค่ะ ด้วยความเคารพ โสภนา
พอดีมีเพื่อนเขาอยากไปเที่ยวที่รัฐนี้ค่ะ ยังงงกับชื่ออยู่เลยว่าอยู่ส่วนไหนของอินเดีย บังเอิญเจอเลยมาอ่านและนำลิงค์ของบล็อกนี้ส่งไปให้เขา เผื่อจะได้ศึกษาก่อนไปเที่ยว เขาตั้งใจจริงจังมากเลยนะคะ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร งงๆ แต่ก็สนุกดีค่ะที่ได้มาอ่านและทำความรู้จักสถานที่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ

เรียน คุณ Little Jazz

    คนไทยเราจำนวนมากไม่ค่อยรู้จักประเทศเพื่อนบ้านทั้งอยู่ใกล้ๆ ประเทศไทย และเพื่อนบ้านในภูมิภาค แต่เรายินดีที่จะไปเรียนรู้เรื่องของฝรั่งที่อยู่ไกลออกไป (รู้จักไว้ก็ดีค่ะ จะได้รู้เท่าทัน) ประเทศเพื่อนบ้านก็มีความสำคัญมากเพราะหากไม่เข้าใจจะเกิดความกระทบกระทั่งกันได้ง่าย รู้เขา รู้เรา จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่ายนะคะ ขอบคุณที่กรุณาอ่านและส่งต่อ เพราะนั่นคือจุดประสงค์ที่อยากให้ท่านผู้อ่านรู้จักเพื่อนบ้านที่ดีอย่างอินเดีย

    ดิฉันว่าเมืองเจนไน และรัฐทมิฬ นาดูน่าไปค่ะ ถ้าอยากเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดีแล้วท่านจะไม่ผิดหวัง แล้วพบกันใหม่ค่ะ

บ้า มาก ป่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท