การวิจัยธรรม: โพชฌงค์ ๗


โพชฌงค์ คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้การตรัสรู้ หรือโพธิจิต หรือการบรรลุธรรมเกิดขึ้นได้ มี 7 อย่าง

โพชฌงค์ ๗ จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความหมายไว้ดังนี้ :

โพชฌงค์ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้หรือองค์ของผู้ตรัสรู้มี ๗ อย่างคือ ๑. สติ ๒. ธัมมวิจยะ (การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม) ๓. วิริยะ ๔. ปีติ ๕. ปัสสัทธิ ๖. สมาธิ ๗. อุเบกขา

อธิบายเพิ่มเติม

โพชฌงค์ คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้การตรัสรู้ หรือโพธิจิต หรือการบรรลุธรรมเกิดขึ้นได้ มี 7 อย่าง คือ

๑. สติ - ความระลึกได้
๒. ธัมมวิจยะ - การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม การวิจัยธรรม ซึ่งเป็นตัวปัญญานั่นเอง
๓. วิริยะ - ความพากเพียร
๔. ปีติ - ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำในใจ มี ๕ ชนิด คือ
     
๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล
     ๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ รู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ
     ๓. โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอก รู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง
     ๔. อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟูตัวเบา หรืออุทานออกมา
     ๕. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ เป็นของประกอบกับสมาธิ
     (จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) เช่นกัน)

๕. ปัสสัทธิ - ความสงบกายสงบใจ, ความสงบใจและอารมณ์, ความสงบเย็น, ความผ่อนคลายกายใจ (จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) เช่นกัน)
๖. สมาธิ - ความตั้งใจมั่น ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ
๗. อุเบกขา - ความที่จิตมีความสงบระงับเป็นอย่างยิ่ง ไม่กระเพื่อมไหวไปตามสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ทุกข์ ดีใจ เสียใจ รัก ชัง กล้า กลัว ยินดี ยินร้าย ฯลฯ ซึ่งจะเป็นจิตที่มีความประณีต ละเอียดอ่อน ปลอดโปร่ง เบาสบาย เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อธรรมทั้ง 7 อย่างนี้เกิดขึ้น จิตจะมีทั้งกำลัง (จากวิริยะ และสมาธิ) ความเฉลียวฉลาด (จากธัมมวิจยะ) ความเบาสบาย (จากปีติ ปัสสัทธิ และอุเบกขา) ความเป็นกลาง ไม่ลำเอียง (จากอุเบกขา) โดยมีสติและปัญญา (ธัมมวิจยะ) เป็นเครื่องนำทาง จึงเป็นฐานที่สำคัญของการบรรลุธรรม ซึ่งแน่นอนว่าจิตที่มีสภาพเช่นนี้ เมื่อจะน้อมไปเพื่อทำประโยชน์สิ่งใด ความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกลเลย

คำสำคัญ (Tags): #โพชฌงค์ ๗
หมายเลขบันทึก: 161103เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2008 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท