การพูด


หมอภาษา

                    ในปัจจุบันนี้  เกิดปัญหาขึ้นกับภาษาไทยเรา  คือการพูดไม่ถูกต้อง  พูดไม่ชัด  เช่น    ออกเสียง  คำควบกล้ำ  ไม่ชัด ออกเสียงเพี้ยน  เช่น  ออกเสียงคำว่า  ฉัน  เป็น  ฉาน  คำว่า  ที่  เป็น  ซี่   เป็นต้น  จึงเกิดอัศวินผู้พิทักษ์ภาษาไทยขึ้น  เรียกว่าหมอภาษา  รับรักษาโรควินิจฉัยโรค   จึงอยากให้อ่าน

โดยจารุทัศน์  วงศ์ข้าหลวง

"ฉานซื้อหมอนพะชันมาเก๊าสิบเก๊าบาท ถูกชิงๆ”

 

ประโยคนี้...ไม่ได้เขียนผิดหรอกค่ะ แต่เป็นประโยคที่มักออกเสียงผิดๆ ต่างหาก เริ่มตั้งแต่ ฉัน เป็น ฉาน พระจันทร์ เป็น พะชัน เก้าสิบเก้า เป็น เก๊าสิบเก๊า และจริงๆ เป็น ชิงๆ

 

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อย เท่านั้นค่ะ ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าการออกเสียงภาษาไทย ในชีวิตประจำวันของเราเริ่มผิดเพี้ยนไปมากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง คนรอบตัว หรือ คนในโทรทัศน์ สำหรับผู้ใหญ่ไม่น่ากังวลนักเพราะถ้าตั้งสติให้ดีจะทราบว่าการออกเสียงที่ไม่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว เป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะเข้าใจได้ว่า คำที่ได้ยินและคำที่พูดนั้นถูกหรือผิดกันแน่ เพราะได้ยินผิดๆ และพูดผิดๆ ทุกวัน จนกลายเป็น “โรคภูมิคุ้มกันภาษาไทยบกพร่อง” และ ถ้าคนไทยเป็นโรคนี้ทุกคน ภาษาไทยของเราคงจะอยู่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยไปได้อีกไม่นาน...

 

ก่อนจะถึงวันนั้น ในฐานะที่เราเป็นคนไทยคนหนึ่ง เรามาเริ่มต้นเป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกๆ ไปพร้อมกับ อัศวินพิทักษ์ภาษาไทย กันดีกว่าค่ะ

 


หมอภาษา...อัศวินพิทักษ์ภาษาไทย

 

อัศวินพิทักษ์ภาษาไทย หรือที่เรียกว่า “หมอภาษา” มีพันธกิจสำคัญในการห้องกัน บำบัด รักษาผู้ที่ใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง หรือ เป็นโรคสมมติที่มีชื่อว่า “โรคภูมิคุ้มกันภาษาไทยบกพร่อง” บันทึกคุณแม่จะพาคุณผู้อ่านไปพบกับ อาจารย์ศิริวรรณ์ ฉายะเกษตริน อัศวินผู้ริเริ่ม “โครงการหมอภาษาเพื่อพัฒนาเยาวชน” และ ก่อตั้งร้านหมอภาษา อาจารย์ศิริวรรณ์ เล่าถึงการโครงการหมอภาษาว่า

 

”โครงการหมอภาษาเพื่อพัฒนาเยาวชน ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ 29 กรกฎาคม 2542 เป็นปีที่รัฐบาลประกาศให้มีวันภาษาไทยแห่งชาติเป็นครั้งแรก และเป็นโครงการที่สนองพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยเรื่องการใช้ภาษาไทยของพสกนิกรไทยอยู่เสมอ จึงเกิดเป็นโครงการและเป็นร้านหมอภาษา เพื่อให้เด็กๆ คุณครู และบุคคลต่างๆ ตระหนักว่า การออกเสียงภาษาไทยไม่ถูกต้อง ไม่ชัดเจนเปรียบเสมือนเป็นโรคชนิดหนึ่ง ถ้าไม่รักษาไม่ระมัดระวัง จะลุกลามจนเรื้อรังได้ เช่น โรค ร ล ลักปิดลักเปิด โรควรรณยุกต์เคลื่อนเรื้อรัง แต่เป็นโรคสมมตินะคะ ไม่ใช่โรคจริงๆ เมื่อคนไข้เข้ามาในร้านหมอภาษาแล้ว ก็จะเริ่มตั้งแต่การทำประวัติ วินิจฉัยโรค บำบัด ไปจนถึงการรับยา คล้ายกับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ถ้าใครสามารถออกเสียงภาษาไทยได้ถูกต้องแล้ว เราก็จะมีประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพ และรับรองการมีส่วนร่วนในการอนุรักษ์ภาษาไทยให้ ซึ่งเด็กๆ เขาจะภูมิใจมากค่ะ”

 


โรคภูมิคุ้มกันภาษาไทยบกพร่อง

 

ร้านหมอภาษา เป็นร้านเล็กๆ ที่รับรักษาอาการป่วยทางภาษาให้กับผู้ใช้บริการ อาการป่วยทางภาษาซึ่งเป็นโรคสมมติมีมากมายหลายโรค เราไปทำความรู้จักแต่ละโรคกันเลยนะคะ
  • โรค ร ล ลักปิดลักเปิด เป็นโรคที่ออกเสียงตัว ร ตัว ล ไม่ได้ ตัว ร. เรือ ต้องรัวลิ้น ตัว ล.ลิง ต้องกระดกลิ้น แต่ไม่ได้ถือเป็นโรคร้ายแรงนักเพราะบางทีเราพูดกันเร็วๆ อาจจะตกหล่นบ้าง คุณหมอภาษาแนะนำว่า หากให้ความสำคัญและฝึกบ่อยๆ การตกหล่นก็จะน้อยลง สามารถออกเสียงได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งในการออกเสียงที่ถูกต้องต้องไม่ออกเสียงเหมือนตัว R ในภาษาอังกฤษค่ะ

     

  • โรค ส ซ อักเสบ มักเกิดจากการพ่นลมหน้าคำออกมามากเกินไปเหมือนตัว S ในภาษาอังกฤษ ต้องฝึกฝนโดยการบังคับการปล่อยลมไม่ให้มีมากเกินไป เพราะปกติเสียง ส ซ เป็นเสียงเสียดแทรกจะมีลมออกมาอยู่แล้ว จึงต้องจำกัดลมให้พอดี ทำปากให้ถูกลักษณะก็จะหายค่ะ

     

  • โรค ตัวสะกดอ่อนแอ เกิดจากการออกเสียงไม่ครบ ไม่มีตัวสะกด เช่น พูดไทยไม่ชัด ออกเสียงเป็น ผู้ไทยไม่ชะ ควรฝึกออกเสียงให้ชัดเจนเต็มคำ โรคนี้ก็จะทุเลาลงค่ะ

     

  • โรค จ จานเจือจาง เกิดจากการออกเสียงตัว จ.จาน เพี้ยนไป ช.ช้าง เช่น รักคุณจริงๆ เป็น รักคุณชิงๆ ขอบใจ เป็น ขอบไช โรคนี้เกิดจากการออกเสียงเลียนแบบภาษาอังกฤษค่ะ

     

  • โรค ถ ท ทรพิษ เกิดจากการออกเสียง ถ ท เป็น ซ เหมือนตัว SH ในภาษาอังกฤษ เช่น ที่ เป็นชี่

     

  • โรค ฝ ฟ ตีบตัน เสียง ฝ ฟ เป็นเสียงเสียดแทรก เช่นเดียวกับ ส ซ ถ้าพ่นลมออกมามากเกินไปก็จะทำให้เกิดเสียงที่ไม่ถูกต้อง

     

  • โรคมะเร็งในหลอดเสียง ฉ ซ เกิดจากการออกเสียงเหมือนเสียง SH หรือ CH ในภาษาอังกฤษ เพราะมีเสียงลมข้างหน้ายาวเกินไป วิธีแก้ไขก็คือพยายามออกเสียงให้ชัดเจน ไม่เลียนแบบเสียงในภาษาอังกฤษ

     

  • โรควรรณยุกต์เคลื่อนเรื้อรัง เป็นการออกเสียงวรรณยุกต์เคลื่อนที่ไปจากระดับเสียงหนึ่ง เช่น แม่ เป็น แม้ แน่นอน เป็น แน่นอน

จากสถิติของโครงการหมอภาษาพัฒนาเยาวชนพบว่า โรคที่พบมากที่สุดในเด็กไทย คือ โรค ร ล ลักปิดลักเปิด โรค ส ซ อักเสบ และ โรควรรณยุกต์เคลื่อนเรื้อรัง

 


หนูคือหมอภาษา

 

ไม่เพียงแต่ที่ร้านหมอภาษา ของอาจารย์ศิริวรรณ์ ฉายะเกษตรริน เท่านั้น ที่ให้บริการรักษาโรคภูมิคุ้มกันภาษาไทยบกพร่อง โครงการหมอภาษาพัฒนาเยาวชนพยายามสร้างเด็ก และเยาวชนให้เป็นผู้นำในการแก้ปัญหา มอบความไว้วางใจให้เขาเป็นผู้พิทักษ์ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาของเขาเอง ในสถานศึกษาต่างๆ ตั้งแต่อนุบาลถึงอุดมศึกษาประมาณ 2,000 แห่ง ที่อยู่ในเครือข่ายโครงการหมอภาษาพัฒนาเยาวชน ก็มีหมอภาษาตัวน้อยๆ เป็นอาสาสมัครที่ผ่านการประเมินและได้รับการอบรมจำนวนมาก จนสามารถตั้งร้านหมอภาษาในสถานศึกษาของตนเองได้ เราไปแอบดูหมอภาษาตัวน้อยๆ ใน “โรงเรียนปราโมชวิทยา” กันดีกว่าค่ะ ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง

 

คุณหมอภาษาตัวน้อยๆ รอต้อนรับทีมงานบันทึกคุณแม่อยู่แล้ว เมื่อเราไปถึง คุณหมอภาษาก็แนะนำว่า ก่อนที่จะเข้ารับการรักษา ต้องลงทะเบียน กรอกประวัติให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วรับบัตรนัดเพื่อเข้ารับการตรวจ เมื่อถึงวันและเวลานัด คุณหมอจะวินิจฉัยโรคให้หลังจากที่คนไข้ประเมินตนเองแล้วว่าป่วยเป็นอะไร แล้วเข้ารับการบำบัดรักษา ก็คือการฝึกออกเสียงตามแบบฝึกหัดของแต่ละโรค พร้อมทั้งรับยาคือ รับแบบฝึกอ่านกลับไปอ่านที่บ้าน คุณหมอจะนัดคนไข้ใหม่ หากต้องเข้ารับการรักษาอีก แต่ถ้าตรวจแล้วพบว่าอาการหายขาดก็จะได้รับวุฒิบัตรของร้านหมอภาษารับรองคุณภาพ

 

อาจารย์ลักษณา สังฆมาศ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เล่าถึงโครงการหมอภาษาพัฒนาเยาวชนของโรงเรียนปราโมชวิทยาว่า

 

”ร้านหมอภาษาของโรงเรียนปราโมชวิทยาจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ ทั้งนอกเวลาเรียนและในชั่วโมงเรียนค่ะ ซึ่งเด็กๆ ก็จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือเด็กที่สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมร้านหมอภาษาเองก็จะเข้ามาใช้บริการในเวลาพัก กลุ่มที่ 2 คือ เด็กที่ได้รับการสำรวจพบว่าต้องการการฝึกฝนเป็นพิเศษจะใช้บริการในคาบเรียนภาษาไทยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เราก็จะฝึกไปเรื่อยๆ เมื่อดูจากสถิติแล้วพบว่าเด็กๆ สามารถอ่านได้ดีขึ้น ออกเสียงถูกต้องขึ้น ร้านหมอภาษาจึงไม่ได้ทำน้าที่แก้ปัญหาอย่างเดียวแต่จะทำหน้าที่ซ่อมเสริมด้วย และร้านหมอภาษาก็เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ให้ความสนใจมากเลยนะคะ เพราะนอกจากจะรู้จักการใช้ภาษาที่ถูกต้องแล้ว เขายังได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายด้วย เช่น จัดรายการเสียงตามสาย ฝึกเป็นพิธีกร และผู้ประกาศข่าวค่ะ”

 


ถ้าลูก...เป็นโรคภูมิคุ้มกันภาษาไทยบกพร่อง

 

เด็กๆ ยุคใหม่ ได้รับอิทธิพลทางภาษาจากสื่อต่างๆ ง่ายมาก จึงทำให้การใช้ภาษาไทยอาจบกพร่องไปบ้าง โดยเฉพาะโรควรรณยุกต์เคลื่อนที่ และการออกเสียงภาษาไทยเลียนแบบภาษาอังกฤษ แต่โรคเหล่านั้นก็ป้องกันได้ค่ะ

 

อาจารย์ศิริวรรณ์ ฉายเกษตริน แนะนำว่า “หากคุณพ่อคุณแม่ทราบว่าลูกมีความบกพร่องในการพูด และการออกเสียงภาษาไทยที่ถูกต้อง ก็ควรรีบแนะนำการพูดที่ถูกต้องให้ ถึงแม้ว่าเด็กๆ จะอยู่กับครูมากก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องหมั่นสังเกตและแนะนำการออกเสียงให้ เหนือสิ่งอื่นใด คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกด้วย เช่น คุณแม่พูดตัว ส แล้ว เอาลิ้นออกมาเหมือนออกเสียง TH ในภาษาอังกฤษ หรือ คุณแม่ไม่ออกเสียง ร ล เลย เด็กก็จะติดไปอย่างนั้นค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงเป็นบุคคลสำคัญมากที่ช่วยให้ลูกๆ ออกเสียงได้ถูกต้องชัดเจน”

 

แม้ว่า “หมอภาษา” ทั่วประเทศไทย จะอาสาเป็นผู้พิทักษ์ภาษาไทยแล้ว แนวร่วมอุดมการณ์อย่างเราๆ ก็ยังคงต้องช่วยกันอย่างขัดแข็ง เริ่มง่ายๆ จากการเป็นตัวอย่างที่ดี แนะนำการออกเสียงที่ถูกต้องให้กับลูกๆ เพื่อที่วันข้างหน้าเขาจะเติบโตขึ้นเป็นเยาวชนไทย ที่ใช้ภาษาไทยถูกต้อง มีบุคลิกภาพดี และสามารถอวดเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

(update 17 กุมภาพันธ์ 2006)
[ ที่มา.. นิตยสารบันทึกคุณแม่ มีนาคม 2005]
หมายเลขบันทึก: 160616เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2008 02:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทำไมไม่มีโรคตัวสะกดอ่อนแอครับ เด็กนักเรียนโรงเรียนสังขะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท