การเลือกตั้งของประเทศไทย


ระบอบประชาธิปไตยนั้นแสดงออกโดยการปกครอง
  
 ประชาธิปไตยคืออะไร
         การปฏิวัติประชาธิปไตย คือ การเปลี่ยนแลงระบอบเผด็จการเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือยกเลิกระบอบเผด็จการและสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทน
          หลายคนกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงไม่ต้องปฏิวัติประชาธิปไตย บางคนกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ จึงเพียงแต่พัฒนาระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นไม่ต้องปฏิวัติประชาธิปไตย จริงทีเดียว ถ้าประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ก็ตาม ก็ไม่ต้องปฏิวัติประชาธิปไตย แต่ประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้วจริงหรือ ?
          ระบอบประชาธิปไตยนั้นแสดงออกโดยการปกครองประชาธิปไตยหรือรัฐบาลประชาธิปไตย (Democratic Government) และการปกครองประชาธิปไตยนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักของการปกครองประชาธิปไตย ดังต่อไปนี้
1. อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) หมายความว่า ประชาชนเป็นเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศร่วมกัน มิใช่คนส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนน้อยผูกขาดอำนาจไว้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคัดค้านคณะราษฎร์ว่า “ ข้าพเจ้าสมัครใจจะสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ราษฎรทั้งหลาย แต่ไม่ยินยอมยกอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือคณะหนึ่งคณะใด ” และหลักการอำนาจอธิปไตยปวงชนนั้น แสดงออกด้วยนโยบายบริหารประเทศ ซึ่งรักษาผลประโยชน์ของประชาชน มิใช่รักษาผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย
2. เสรีภาพ (Freedom) หมายความว่า บุคคลมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการใช้สิทธิต่าง ๆ ทั้งในทางส่วนตัว ในทางสังคมและในทางการเมือง เช่น ในร่างกาย ในทรัพย์สิน ในการศึกษา ในการนับถือศาสนา ในการชุมนุม ในการตั้งสมาคม ในการตั้งพรรคการเมือง และในการเปลี่ยนรัฐบาล เป็นต้น
3. ความเสมอภาค (Equality) หมายความว่า บุคคลมีความเท่าเทียมกันในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะถือความเท่าเทียมกัน ทั้งในทางกฎหมาย และในทางโอกาส
4. หลักกฎหมาย (Rule of Law) คือหลักนิติธรรม ซึ่งใช้เป็นเป็นมาตรฐานของการออกกฎหมาย เช่น หลักที่ว่าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดให้สันนิษฐานก่อนว่า เป็นผู้สุจริต ศาลเท่านั้นเป็นผู้พิพากษาตัดสินกฎหมาย ฯลฯ กฎหมายใดซึ่งขัดกับหลักกฎหมายย่อมเป็นโมฆะ
5. รัฐบาลจากการเลือกตั้ง (Elected Government) หมายความว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่าบริหารต้องมาจากการเลือกตั้งทั่วไป
             เหล่านี้ คือหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย การปกครองซึ่งเป็นไปตามหลักการเหล่านี้ ก็เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย และหลักการที่เป็นหัวใจ คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ถ้ามีหลักการข้อนี้แล้ว ถึงจะยังขาดข้ออื่น ๆ อยู่บ้างก็เป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าไม่มีข้อนี้ ถึงจะมีข้ออื่น ๆ ก็เป็นระบอบเผด็จการ เช่นประเทศไทยในปัจจุบันเป็นระบอเผด็จการที่มีเสรีภาพพอสมควร ที่เรียกว่า ประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะว่าถึงจะมีเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีหลักกฎหมายอยู่บ้าง และมีการเลือกตั้งแต่อำนาจอธิปไตยมิได้เป็นของปวงชน ฉะนั้น การปกครองของประเทศไทย จึงไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบเผด็จการ
 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
           อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เป็นหลักการปกครองหลักที่ 1 ของระบอบประชาธิปไตย และเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย แต่ในประเทศไทย มีการอธิบายกันอย่างกว้างขวางว่าหัวใจของระบอบประชาธิปไตย คือ เสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นการชักจูงประชาชนให้เข้าใจผิดต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง จนไม่รู้ว่าระบอบประชาธิปไตยคืออะไร
           การปกครองทั้งหลายย่อมมีอำนาจ การปกครองบ้านย่อมมีอำนาจของบ้าน การปกครองของวัดย่อมมีอำนาจของวัด การปกครองย่อมมีอำนาจของโรงเรียน ไปจนถึงการปกครองประเทศ ย่อมมีอำนาจของประเทศ ในบรรดาอำนาจทั้งหลายเหล่านั้น อำนาจของประเทศเป็นอำนาจสูงสุดคือสูงถึงขนาดฆ่าคนได้ และสิทธิ์ขาดโต้แย้งมิได้ จึงนิยมเรียกกันว่าอำนาจสูงสุดของประเทศ ดังที่ใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก และต่อมาเรียกให้เป็นศัพท์ว่าอำนาจอธิปไตย ซึ่งใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา จนถึงปัจจุบัน  อำนาจของประเทศหรืออำนาจอธิปไตยนั้น มีอำนาจเดียวแต่แสดงออกเป็น 3 ด้าน คือ (1) อำนาจนิติบัญญัติ (2) อำนาจบริหาร (3) อำนาจตุลการ
         อำนาจในการปกครองย่อมมีเจ้าของ และเจ้าของอำนาจก็คือผู้ปกครอง นัยหนึ่ง อำนาจย่อมเป็นของผู้ปกครอง อำนาจของบ้านเป็นของเจ้าบ้าน อำนาจของวัดเป็นของสมภาร อำนาจของโรงเรียนเป็นของครูใหญ่ จนถึงอำนาจของประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของผู้ปกครองประเทศ   ผู้ปกครองประเทศนั้นกล่าวอย่างกว้างมี 2 ชนิด คือ ชนส่วนน้อยและปวงชน (ประชาชน) ถ้าชนส่วนน้อยเป็นผู้ปกครองประเทศ อำนาจของประเทศหรืออำนาจอธิปไตยก็เป็นของชนส่วนน้อย ถ้าปวงชนเป็นผู้ปกครองประเทศ อำนาจของประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน  ถ้าอำนาจของประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อย ก็เป็นระบอบเผด็จการ ถ้าอำนาจของประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนก็เป็นระบอบประชาธิปไตย และแต่ละระบอบต่างก็มีหลายรูป โดยสาระสำคัญแล้วระบอบเผด็จการหรือระบอบประชาธิปไตยนั้น ได้ได้หมายความอย่างอื่น แต่หมายความว่า อำนาจหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อยหรือเป็นของปวงชนเท่านั้น    แต่ชนส่วนน้อยหรือปวงชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจของประเทศหรืออำนาจประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้เป็นผู้กุมอำนาจโดยตรง แต่มีผู้แทนเป็นผู้กุมอำนาจ และผู้แทนก็คือคณะการเมือง กลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมือง ซึ่งเข้าไปกุมองค์กรแห่งอำนาจของประเทศหรืออำนาจอธิปไตย อันได้แก่ รัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล เพื่อใช้องค์กรทั้ง 3 นี้รักษาผลประโยชน์ของผู้ที่ตนแทน ถ้าแทนชนส่วนน้อยก็ใช้องค์กรเหล่านี้รักษาผลประโยชน์ของชนส่วนน้อย ถ้าแทนปวงชนก็ใช้องค์กรเหล่านี้รักษาผลประโยชน์ของปวงชน
         ทั้งนี้จะรู้ได้ด้วยนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ ถ้านโยบายของรัฐบาลรักษาผลประโยชน์ของชนส่วนน้อย ก็แสดงว่าอำนาจของประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของชนส่วนน้อย ถ้านโยบายของรัฐบาลรักษาผลประโยชน์ของปวงชน ก็แสดงว่าอำนาจของประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน    ในปัจจุบัน อำนาจของประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของกลุ่มผลประโยชน์ผูกขาด ซึ่งเป็นชนส่วนน้อย ฉะนั้น ไม่ว่านโยบายใด ๆ ล้วนแต่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของชนส่วนน้อย โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน   
        ฉะนั้น จึงต้องเปลี่ยนมืออำนาจของประเทศหรืออำนาจอธิปไตยจากของกลุ่มผลประโยชน์ผูกขาด มาเป็นของปวงชน เพื่อให้มีรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายรักษาผลประโยชน์ของประชาชน   การเปลี่ยนมืออำนาจของประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเช่นนี้ คือหัวใจของการเปลี่ยนระบอบเผด็จการเป็นระบอบประชาธิปไตย คือหัวใจของการปฏิวัติประชาธิปไตย
หมายเลขบันทึก: 160466เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2008 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

  เห็นด้วยครับ และที่สำคัญคือ

  ผู้แทนที่เป็นกลุ่มผู้ถืออำนาจ  ต้องมีจิตใจที่ครุ่นคิดถึง แต่ประโยชน์ของส่วนรวม

ไม่ใช่จ้องแต่จะหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง

ซึ่งสามารถตรวจสอบขั้นต้นได้จากพฤติกรรมที่ผ่านมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท