โนราตัวอ่อน โยคะแห่งท่าร่ายรำ


click to view full image : e0b982e0b899e0b8a3e0b8b24.jpg , 90,421 bytes , 505x673 pixel
delete photo | auto resize photo
สายๆ วันอาทิตย์  เด็กจำนวนมากนั่งเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ติดตามซีรี่ส์ญี่ปุ่น-เกาหลี ตามกระแสนิยมยอดฮิตทางช่อง 7 สี แต่ยังมีเด็กจำนวนหนึ่งอยู่ในชุดโนรา  ศิลปการแสดงเก่าแก่อันทรงคุณค่าแห่งปักษ์ใต้บ้านเรา

พิธีปิดค่ายรักษ์โนรา   อำเภอสิงหนคร  อำเภอสะทิงพระ จัดตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายโมงของวันอาทิตย์ 12  พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ ศาลาประชาคมอำเภอสิงหนคร  เยาวชนกว่า 50 คน ที่เข้าร่วมทั้งใจ “รัก” และต้องการ “รักษ์” โนรา มาพร้อมผู้ปกครองที่คอยลุ้นและเชียร์ลูกหลานรำและโชว์ท่าโนราตัวอ่อน  ด้วยสีหน้าแห่งความสุข ตลอดเวลาหลายชั่วโมง แม้เป็นวันที่อากาศค่อนข้างอบอ้าว

งานเลิก ต่างช่วยกันถอดเก็บชุดลูกปัดโนราลวดลาย เหลือง แดง น้ำเงิน ดำ ขาว อันตัดขับสีเด่นเจนตาอย่างเป็นระเบียบ แต่บางกลุ่มถอดเฉพาะส่วนหาง  ยังแต่งชุดโนราเกือบเต็มยศนั่งรถสองแถวทยอยกลับบ้าน  

รอจนเจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำโครงการช่วยกันคนละไม้ละมือ เก็บเครื่องดนตรีโนรา อุปกรณ์ทุกอย่าง แล้วทยอยกลับไปทีละคนสองคน จนเหลือคนสุดท้ายนั่นแหละวิทยากรผู้รับผิดชอบและผลักกันให้เกิดค่ายรักษ์โนรา  อาจารย์ไทรประพร  แก้วชะนะ  ถอดไมค์ลอยที่ติดกับตัวออกมานั่งสนทนากับเรา

“ เด็กมาด้วยใจรัก และชอบโนรากันทุกคน”  อาจารย์ไทรประพรเล่า  นั่นคุณลักษณะพิเศษของเด็กที่สมัครเข้าร่วมโครงการค่ายรักษ์โนรา มีส่วนน้อยมากที่ไม่ชอบจริง หรือถูกผู้ปกครองบังคับมา  แต่มักจะขอลาออกตั้งแต่ 2-3 วันแรก

“ค่ายรักษ์โนรา”เกิดจากอาจารย์ไทรประพร  นำเสนอโนราในประเด็นวัฒนธรรมที่เอื้อต่อสุขภาพ  จนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดสงขลา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา  

อาจารย์ไทรประพรเป็นผู้ฝึกสอนโนรามานานแล้ว สอนฟรีทั้งที่โรงเรียน ที่บ้าน  และรับเป็นวิทยากรต่างหน่วยงานสังกัดหลายแห่ง  แม้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการประจำอยู่ที่โรงเรียนวัดศรีชัย  ตำบลคูขุด อำเภอสะทิงพระ จังหวัดสงขลา  

ที่โรงเรียนวัดศรีชัย จัดให้มีการสอนรำโนรามาตั้งแต่ปี 2527  และทำมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ลูกศิษย์ได้ออกงานใหญ่มีรางวัลพ่วงท้ายมากมาย เช่น รางวัลที่ 2 จากการประกวดโนรา  มหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์ปี 2538 , รางวัลที่ 3 ประกวดโนราตัวอ่อน มหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์ปี 2542  ,ได้เป็นตัวแทนรำโนรารับเสด็จ ที่สนามบินบ้านทอน นราธิวาส   ,รำในโอกาสการแข่งขันซีเกมส์ที่สงขลา และรำในงานสำคัญๆ ต่างของจังหวัดสงขลา

ปี 2548 โนรายก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติ มาเป็นผู้สอนให้ที่โรงเรียนวัดศรีชัยด้วยตนเองนับเป็นเกียรติอย่างสูง   ส่วนหนึ่งเพราะอาจารย์ประพรนับเป็น “ลูกยก”คนหนึ่งของโนรายก  ด้วยภรรยาโนรายกเป็นเกลอกับแม่สามีของอาจารย์ไทรประพร ทุกวันนี้จึงได้นำท่าเพลงโค 12 ท่า และท่าครู 12 ท่า จากโนรายก มาถ่ายทอดต่อยังศิษย์

อาจารย์ไทรประพรเกิดที่พัทลุง ย้ายตามสามีชาวสะทิงพระมาอยู่อีกฝั่งของทะเลสาบ  ก่อนได้เรียนกับโนรายก  จบนาฏศิลป์จากวิทยาลัยครูสงขลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา)   ขณะนั้นฝึกโนรากับอาจารย์สาโรจน์ นาควิโรจน์ เป็นครั้งแรก

สิ่งที่อาจารย์ไทรประพรนำเสนอและได้รับความสนใจอย่างสูงในขณะนี้คือโนราตัวนวน  หรือโนราอ่อน เพื่อสุขภาพนั่นเอง

โนราตัวอ่อน เป็นความสามารถพิเศษ ที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ แม้แต่คณะโนราเองอาจจะมีอยู่โรงละคนเท่านั้นเอาไว้เรียกคนดู หรือถ้ามีการแข่งกัน 2 คณะ  ผู้ได้เปรียบกว่าคือสามารถโชว์โนราตัวอ่อน อย่างเช่นนอนขดตัวในถาเพื่อคาบเงินมาให้ได้  อาจจะเป็นเด็กหรือคนแก่ นั่นก็พอจะเรียกความสนใจผู้ชมแล้ว

ท่าตัวอ่อนนักวิชาการได้รวบรวมได้มี ท่านั่งรำ 10 ท่า ท่ายืนรำ 9 ท่า ท่านอนรำ 5 ท่า

“ เสนอเรื่องนี้ไปเพราะว่า การรำโนราท่าตัวอ่อนเป็นท่าโยคะอย่างหนึ่ง ล้วนแต่เป็นการออกกำลังกาย  โดยเฉพาะคนที่มีอาการเข็ดเมื่อย มารำโนราจะเห็นผลได้ทันที เพราะจะคลายกล้ามเนื้อ” อาจารย์เล่า  แม้แต่อาการปวดเมื่อยอยู่ในระดับรุนแรง การรำด้วยท่าทั่วไปอาจช่วยไม่ได้  ยังแก้ได้ด้วยการฝึกเล่นท่าสะพานโค้ง

นอกจากผลทางสรีระ การฝึกโนรายังเป็นการฝึกสมาธิ โดยการติดตามรู้เท่าทันการเคลื่อนไหวของร่างกาย   ยังทำให้รู้และประเมินสุขภาพบางอย่างได้ เช่นการทรงตัวรู้ถึงประสิทธิภาพของกระดูกไขข้อ   โนราจึงนับว่ามีคุณต่อสุขภาพในแง่การบำบัดหลายประการ เพียงแต่ต้องฝึกฝนอย่างจริงจังและถูกต้องตามหลัก

“เด็กที่มาเข้าค่ายหัดโนรา ในวันแรกจะบอกว่า เมื่อยไปหมด  หลายแห่งอย่างที่หน้าขา เวลาฝึกย่อตัว มันเป็นเพราะว่าเส้นมันคลายออก แต่พอรำไปสักพัก อาการทั้งหายจะหายไป ไม่เป็นอีกแล้ว รู้สึกว่าตัวเบา เลือดลมไหลเวียนดีมาก”

ที่เป็นอย่างนั้นอาจารย์ไทรประพรเล่าว่า เพราะบางคนไม่เคยห้อยเอาหัวลง สังเกตตอนก้มแล้วลุกขึ้นจะมึนศีรษะ  จะไม่ปกติ แต่พอมาฝึกรำโนราเลือดลมจะเดินปกติ  ไม่ค่อยมีโรค หรือเจ็บไข้ไม่สบาย

ในแง่สมาธิ เด็กที่ฝึกโนราตัวอ่อน  จะต้องมีกันทุกคน เพราะถ้าขาดคุณสมบัติข้อนี้จะไม่สามารถฝึก เรียนรู้อะไรได้เลย  พื้นฐานคือฝึกความอดทนให้เด็กนั่นเอง
เด็กที่มาเข้าค่ายรักษ์โนรา พบว่าร้อยละ 80  สามารถทำท่าโนราตัวอ่อนตามที่สอนได้  พร้อมกับท่าพื้นฐานของโนรา อย่างเช่น ท่าครูและท่านาด

“แต่ละท่าก็โหดนะ ถ้าไม่อดทนจะทำไม่ได้เลย” อาจารย์ไทรประพร กลับเห็นว่าผลที่ได้ก็ถือว่าเกินคุ้ม  ปรากฏชัดว่าผลการเรียนดีขึ้น   ยังส่งผลดีกับการเรียนพลศึกษา โดยเฉพาะวิชายืดหยุ่น อย่างท่าหกกบ หรือท่าสะพานโค้งในวิชาพลศึกษาจะเป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลย เมื่อเทียบกับท่ารำในโนรา ที่ยากกว่า

ค่ายรักษ์โนรา เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแล้ว หลังจากประกาศว่ามีกิจกรรมดังกล่าว เด็กพื้นที่เป้าหมายคือ“โซนบก”ของจังหวัดสงขลา  สมัครเกินกว่าที่คาด  ในส่วนทีมงานได้อาสาสมัครทีมงาน ซทั้ง ชาวบ้าน ครู และศิลปินพื้นบ้านมาช่วยจาก สะทิงพระ สิงหนคร และกระแสสินธุ์ ราว 20 คน  โดยแยกฝึกกันไปตามพื้นที่ เด็กสะทิงพระฝึกที่อาคารเอนกประสงค์ โรงเรียนในเมือง  ส่วนเด็กสิงหนครได้ฝึกที่วัดเปรมศรัทธา ทั้งสองแห่งมีอาจารย์ไทรประพร เป็นวิทยากรหลัก

นอกจากเด็กผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่แล้วยังมีเด็กชายมาขอฝึกรำ 3-4 คน และอีกจำนวนหนึ่งมาฝึกเป็นลูกคู่  การที่เด็กชายมาฝึกด้วย ซึ่งทุกวันนี้ค่อนข้างหายาก เพราะอาจารย์อธิบายให้เด็กๆว่าโนราในสมัยก่อน มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่รำ  ประวัติของโนราก็คือเจ้าเมืองในอดีตมอบชุดให้รำ ซึ่งก็คือชุดเจ้าเมืองนั่นเอง  ผู้ชายเท่านั้นที่เป็นนายโรงโนราและทำพิธีกรรมต่างๆได้   โนราชายจึงสำคัญ ขณะที่คนรุ่นใหม่เห็นว่าเป็นเรื่องผู้หญิง

หลังการฝึกจนจบ และมาถึงวันปิดค่ายได้พบนัยสำคัญที่น่าสนใจอย่างหนึ่งจากแบบประเมินผลว่าส่วนผู้ปก ครองมีความพึงพอใจสูง นั่นอาจเพราะคนรุ่นพ่อแม่ในท้องถิ่นยังผูกพันกับโนราอยู่มาก  แต่การที่เด็กผู้ฝึกทุกคนบอกว่ายังรักยังชอบในศิลปะการแสดงแขนงนี้อย่างจริง จัง  มาฝึกตามกำหนดทุกวันโดยไม่ขาด นั้นเป็นเรื่องที่เป็นความหวังว่าโนราจะมีการสืบทอดต่อกันไปเรื่อยๆ

“ผู้ปกครองเห็นการแสดงของลูกหลาน ต่างพออกพอใจแล้วที่ทำได้ขนาดนี้  ส่วนอื่นถ้ามีโอกาสเขาอยากให้ครูได้พาเด็กไปออกงานแสดงบ้าง หรืออย่างน้อยก็เป็นพื้นฐานทางโนราที่อาจจะใช้เรียนต่อ  เป็นความสามารถพิเศษของเด็ก  ส่วนเด็กที่มาเข้าค่ายนอกจากได้ความรู้แล้ว ก็ยังสนุก ได้เพื่อน”

ไม่ใช่เพียงผลทางด้านสุขภาพ ตามเป้าหมายของโครางการอย่างเดียว  อาจารย์ไทรประพรเล่าว่า ใครได้เรียนโนราไปแล้วจะได้วิชาติดตัวไปตลอดชีวิต  สิ่งนี้ไม่มีใครจะมาแย่งชิง หรือจี้ปล้นเอาไปได้  วิชานี้ถ้าฝึกฝนชำนาญก็ใช้ทำมาหากินได้ อยู่ที่ไหนก็ไม่อด ไม่ต้องกลัวจน บางคนเก่งหน่อยสามารถเอาไปใช้หารายได้พิเศษโดยการไปรำกับคณะโนรา  บางคนได้เรียนต่อพัฒนาเป็นครูโนราสอนคนอื่นต่อไปได้อีก

“พี่มีลูก 3 คน พวกเขาได้เรียนโนราหมด คนโตผู้ชายตีเครื่องได้ทุกอย่าง ลูกสาวอีก2คนรำได้  มีอยู่คนหนึ่งเรียนดุริยางคศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และเรียนการแสดงอยู่กับภัทราวดีเธียเตอร์  ระหว่างเรียนก็มีโรงแรม 3 แห่งในกรุงเทพฯ ตามให้ไปรำโนราโชว์  แสดงให้เห็นว่าใครเก่งเรื่องนี้ก็อยู่ได้ ยิ่งต่างประเทศเขาก็ต้องการ อย่างในจังหวัดสงขลาเองก็มีการติดต่อแสดงมาอยู่เรื่อย เพียงแต่จะรับงานหรือไม่”

อาจารย์ ไทรประพรยังสะท้อนความจริงบางด้านว่า ในกลุ่มเด็กเล็ก ยังชอบโนราก็จริง แต่เมื่อโตขึ้นชั้นมัธยมเข้าสู่วัยรุ่น บางคนกลับหันไปเรียนทางด้านอื่นอย่างดนตรีสากล

“มันจะเหลือก็แต่ คนที่เราปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กเท่านั้น ที่ยังชอบโนรา  พอเข้าวัยรุ่นเด็กทั่วไปมันบอกว่าโนรามันไม่หรอย ไม่เหมือนดนตรีสากล”

ขณะที่โนราอาชีพในท้องถิ่นทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งอยู่ได้เพราะการแสดงโนราโรงครู   ซึ่งจะมีงานชุกในช่วงเดือน 6ถึงเดือน 9  โนราที่อยู่ได้ไม่เดือดร้อนก็เห็นจะเป็นโนราที่สังกัดอยู่ตามสถาบันการศึกษาอย่าง เช่น ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ  มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา  ที่มักได้ออกงานใหญ่  เชื่อมกับงานวัฒนธรรมระดับชาติ

การสืบทอดวิชาโนรานับจากอดีต ปัญหาอยู่ที่การไม่ค่อยจะสอนต่อกันมา เพราะคนรุ่นก่อนหวงวิชาส่วนหนึ่ง   แต่ทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องท่ารำโนราเพี้ยนไป

“อย่างท่านาด บางโรงกลายเป็นท่าเต้น  หากไปดูโนรายกท่านาดนี้จะย่อตัวลง เดินนิ่ม”

โนราพุ่ม เทวา ซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางด้านโนรา รำนิ่มจนลูกปัดไม่ไหวจึงได้รับฉายาว่าเทวดา เพราะขณะรำเหมือนกับลอยมา ออกจากฉากเหมือนเหาะ

อาจารย์ไทรประพรเห็นว่า ท่าโนราที่เพี้ยนไป เกิดจากที่โนรารำเพื่อเอาใจคนเอาใจผู้ชมเอาใจลูกค้า  จนเปลี่ยนไปที่ละนิด ยังมีเด็กที่เรียนทางด้านนาฏศิลป์  ต้องเรียนหลายแบบในที่สุดเอามาประยุกต์รวมกันมันก็เปลี่ยนไปเอง

โนราที่เอามาใช้ในการรำแอโรบิกออกกำลังกาย ก็ทำให้ท่าโนราเพี้ยนไปอีกแบบ ยิ่งถ้าคนทำไม่รู้พื้นฐานโนรา เพราะต้องสอดคล้องกับการออกกำลังกาย ที่เน้นมือ  เน้นการออกกำลังกายที่ว่องไว  ขณะที่หลักของโนรา แม้จะเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งแต่ ต้องเข้าลักษณะ อ่อนนอก แข็งใน   ร่ายรำเข้าจังหวะตรงดนตรีมากแทบจะไม่เหลือช่องว่าง  อย่างไรก็ตามการนำไปใช้ออกกำลังกายถ้า ไม่น่าเกลียด เป็นตามหลักเท่าที่ควรก็ถือว่าเกิดประโยชน์ ใช้ได้

สัญญาณที่ดีบางอย่างยังมีอยู่ อย่างเช่นมีหลายหน่วยงานเข้ามาส่งเสริมโนรา อย่างน้อยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา(อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)หลายแห่งทุ่มสนับสนุนเต็มที่ ทั้งซื้อเครื่องดนตรี ซื้อชุดโนรา มาให้กลุ่มชาวบ้านที่สนใจ  หนึ่งในนั้นก็เห็นจะเป็น ที่ อบต.วัดขนุน อำเภอสิงหนคร ซึ่งเป็นโครงการต่อไปของอาจารย์ไทรประพร ที่เน้นฝึกโนราตัวอ่อนให้กับ สมาชิก อสม. และผู้สูงอายุ  จัดที่โรงเรียนวัดขนุน เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคมนี้

การอบรมโนราที่วัดขนุนยังต้องการเอาท่าโนราไปทำโนราบิค คือเอาท่าไปออกกำลังกายด้วยดนตรีสากลในอนาคตอีกด้วย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นำเอาวิชาโนราไปต่อยอดเพื่อเอื้อต่อสุขภาพ
[
“งานนี้ไม่กำหนดอายุผู้เข้าร่วม งานนี้ถือว่ารำเพื่อสุขภาพและบำบัดโดยเฉพาะ ผู้สมัครส่วนมากเป็นผู้หญิง ”
อาจารย์เห็นว่าคนที่อายุ ไม่เกิน 50 ปีสามารถรำโนราได้ คนที่รำโนราต่อเนื่องมักจะแข็งแรง และรู้กำลังตนเอง ในค่ายรักษ์โนราที่ผ่านมาก็มีครูและชาวบ้าน หลายคนมาร่วมฝึกไปกับเด็ก  แต่ผู้ใหญ่จะฝึกโนราตัวอ่อนแบบเด็กเสียทีเดียวก็ไม่ได้  ห้อยหัวก็ไม่สามารถทำได้มาก  ท่าคลายกล้ามเนื้อเหมือนเด็กก็ไม่ได้  จะต้องเลือกท่าที่เหมาะกับวัย  และต้องฝึกท่าพื้นฐานก่อนว่าจะพัฒนาไปทางใดได้ บางคนจับขาดูก็รู้แล้วว่าจะขึ้นท่าอะไรได้หรือไม่ได้  ถ้าฝืนทำอาจเกิดการบาดเจ็บได้

ผู้ใหญ่ยากกว่าเด็ก  บางครั้งเกร็งตัวจนทำท่าทางตัวอ่อนไม่ได้  จึงมักเน้นไปทางการฝึกสมาธิ ฝึกการหายใจแทนการออกท่าผาดโผน ซึ่งอาจจะส่งผลเสียทางสุขภาพ

“อย่างที่ว่า โนรามีความอ่อนนิ่มนวล แต่มีความแข็ง  ไม่ใช่อ่อนไปหมด ต้องชัด จังหวะมันแน่นอน โนราต้องแข็งลงจังหวะกับดนตรีประกอบพอดีเป๊ะ  แต่ต้องนุ่มอยู่ด้วย  การย่อตัว ลอยหน้าลอยตา รำทางไหนไปทางนั้น  อะไรเหล่านี้ เป็นศิลปะของโนรา”อาจารย์ไทรประพรเล่า
คำสำคัญ (Tags): #โนราตัวอ่อน
หมายเลขบันทึก: 160165เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2008 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท