ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

จะลงขันหรืออเมริกันแชร์?


In Gourmet & Cuisine, October 2007

      คงเคยได้ยินคำว่า "อเมริกันแชร์" นะคะ เราใช้พูดกันบ่อยๆ เวลาไปกินอาหารตามร้านแล้วจบลงด้วยการต่างคนต่างจ่าย ใครกินอะไรไปก็จ่ายส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบ

     ภัตตาคารทั่วโลกรู้จักธรรมเนียมการจ่ายค่าอาหารแบบนี้ บางร้านแยกใบเสร็จของใครของมันให้เสร็จเรียบร้อย หากบอกบริกรแต่แรกว่าให้แยกบิล บางร้านก็ไม่ทำให้ คนกินต้องดูกันเองว่าของใครราคาเท่าไหร่แล้วจ่ายไปตามนั้น

     ธรรมเนียมที่คล้ายๆ กับอเมริกันแชร์ที่พบในเมืองไทยเราก็คือ วิธีหารสอง อันนี้ไม่ได้หมายถึงต้องหารค่าอาหารด้วยเลขสองนะคะ แต่หารด้วยจำนวนผู้ที่กิน วิธีจ่ายเงินลักษณะนี้เรียกแบบไทยๆ ว่า ลงขัน อย่างค่าอาหารสองพันบาท ถ้าไปกันห้าคนก็จ่ายลงขันคนละ 400 บาท ไม่เกี่ยงว่าใครกินมากกินน้อย กลุ่มที่ไปกินก็มักจะเป็นเพื่อนๆกัน จ่ายขาดไปนิดเกินไปหน่อย ก็ไม่เป็นไร

     การจ่ายเงินค่าอาหารแบบอเมริกันแชร์ยุติธรรมดี และสร้างความสบายใจให้กับหลายๆคน แต่วิธีการหารสองหรือลงขัน ถูกบางคนใช้เป็นเครื่องมือเอาเปรียบคนอื่นได้

     ฉันเองเคยถูกเอาเปรียบทำนองนี้ สมัยที่ไปอยู่อเมริกาใหม่ๆ มีรูมเมทเป็นคนอเมริกัน ซึ่งตกลงกันว่าจะอยู่กันแบบ หารสองดังนั้นเมื่อถึงเวลาสิ้นเดือน เธอก็บอกให้ฉันเขียนเช็คค่าเช่าอพาตเม้นท์ครึ่งหนึ่ง และค่าน้ำค่าไฟครึ่งหนึ่ง ซึ่งฉันก็จัดการให้โดยดี

     เธอมีรถยนต์ใช้ ส่วนฉันไม่มี เธอจึงพาฉันออกไปซื้อของกินของใช้ที่ซุปเปอร์มาเก็ตด้วยกัน ต่างคนต่างก็หยิบของที่ตัวเองต้องการใส่รถเข็นคันเดียวกัน พอแคชเชียร์คิดเงินเสร็จ เธอก็เขียนเช็คจำนวนเงินหารสองส่งให้ แล้วบอกให้ฉันเขียนอีกครึ่ง ฉันก็ทำตาม สองสามครั้งแรกๆก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอสังเกตเห็นว่าทุกครั้งที่ออกไปซื้อของด้วยกัน ในรถเข็นมีของของเธอมากกว่าของฉันเกือบสองเท่า แถมบางอย่างที่เธอซื้อมานั้น แฟนของเธอก็มาช่วยใช้ซะด้วย ฉันก็รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ จึงบอกว่าไม่ต้องการออกไปซื้อของด้วยกันอีกแล้ว ให้ต่างคนต่างซื้อ ฉันอยากได้อะไรก็จะเดินไปซุปเปอร์มาเกตซื้อเอง หมดเรื่องไป

     ส่วนเวลาที่เธอชวนฉันออกไปกินอาหารที่ภัตตาคาร ฉันไม่ปฏิเสธ เพราะใช้ธรรมเนียมอเมริกันแชร์ ใครกินอะไรก็จ่ายส่วนของตัว เราจึงปฏิบัติกิจกรรมนี้กันได้ราบรื่นดี

     วิถีอเมริกันแชร์เป็นธรรมเนียมที่ดีค่ะ แต่ไม่นิยมใช้ในสังคมไทย คนไทยใช้การลงขันแทน และมักจะเป็นแบบที่ผู้ไปกินจะรู้ล่วงหน้าแล้วว่าต้องจ่ายแบบนี้ กลุ่มวัยรุ่นและหนุ่มสาวใช้วิธีลงขันมากกว่าผู้ใหญ่

     โดยทั่วไป เมื่อผู้ใหญ่หลายๆคนชวนกันไปกินอาหารโดยไม่มีใครเป็นเจ้าภาพทำหน้าที่จ่ายเงิน ก็จะมีใครคนใดคนหนึ่งรับเป็นผู้จ่าย อาทิ คนที่อาวุโสสูงสุด คนที่ทำตัวเป็นสุภาพบุรุษ หรือคนที่ประกาศตัวเป็นเจ้ามือด้วยการบอกว่ามื้อนี้ขอเลี้ยงเองไม่มีอเมริกันแชร์ ไม่มีลงขัน และถ้าไปกินด้วยกันบ่อยๆ ก็จะผลัดกันเป็น เจ้ามือ

     อย่างไรก็ตาม การกินอาหารด้วยกันแล้วจ่ายแบบลงขันเป็นธรรมเนียมที่ถูกจริตของคนไทยมากกว่าจ่ายแบบอเมริกันแชร์ เพราะวิถีกินอาหารไทยเป็นการสั่งอาหารมากินด้วยกัน รุมกันกิน ไม่ใช่สั่งอาหารมาต่างคนต่างกินแบบฝรั่ง พวกที่เอาเปรียบคนอื่นเวลากินแบบลงขันจ่ายที่เห็นได้บ่อยๆ คือ สั่งอาหารราคาแพงๆ ให้ตัวเอง หรืออาหารที่ตนกินได้คนเดียว แล้วจ่ายเท่ากับคนอื่นๆ

     ภัตตาคารบางแห่งไม่ได้คิดค่าบริการรวมไปในค่าอาหาร การให้ทิปแก่บริกรเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติ ดังนั้นก่อนลงมือหารเงินลงขัน ต้องบวกค่าทิปหรือค่าบริการอื่นๆ ที่ควรมีไว้ด้วย ลงขันให้ยุติธรรม

     ถ้าคุณสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่างเป็นพิเศษหรือราคาแพงสำหรับตัวเองคนเดียว ก็อย่าลืมแสดงมารยาทดีด้วยการลงขันส่วนพิเศษนั้นต่างหากนะคะ      

หมายเลขบันทึก: 159942เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2008 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ธุป้าเจี๊ยบค่ะ ..

 

"สามัญสำนึกส่วนบุคคล" ของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน   ทำให้บางครั้ง - บางเรื่อง ก็จะหงุดหงิดกับวัฒนธรรมลงขัน ด้วยประการฉะนี้ แล

 

ป้าเจี๊ยบหายไปนานเลยนะคะ ^^ คิดถึงค่ะ

ยิ้ม ยิ้ม..กำลังอัพเรื่องที่ตีพิมพ์ไปแล้วขึ้น   ขอบคุณนะคะที่อัพปุ๊บคุณเนปาลีเข้ามาทักทายปั๊บ  ที่หายไปนานเพราะเดินทางบ่อยมากค่ะ คิดถึงเพื่อนๆ ทุกคนเช่นกัน.. เสร็จจากนี้แล้วจะแวะไปเขียนที่ "เรื่องของป้าเจี๊ยบ" บ้าง... 

   อ่านงานของอาจารย์ กี่เรื่องๆ  ก็ได้ความรู้เพิ่มพูนเสมอๆๆ  ดีจัง

                  จะหมั่นมาอ่านค่ะ

                         ขอขอบคุณ

                                   เสาวลักษณ์

ใช้อเมริกันแชร์ ใครกินใครจ่ายดีค่ะ ในกลุ่มมีเพื่อนร่วมรุ่น ต่างความคิด บางคนก็กลัวเสียเปรียบทำให้ไม่ออกมาพบเพื่อน ตัวเองเป็นตัวประสานกลุ่ม อยากให้เพื่อนออกมาคุย ออกมาแชร์ความคิด เลยตั้งกฎว่า มาทุกครั้ง อเมริกันแชร์ แบบใครกิน ใครจ่ายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท