หมอบ้านนอกไปนอก(49): นิวเคลียร์ในคน


พลังในการขับเคลื่อนองค์การของคนในองค์การ (พลังในคนหรือพลังปัญญา) สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมหาศาล ถ้าผู้บริหารสามารถกระตุ้นให้เกิดความเร็วอย่างเป็นระบบจำนวนมากในทิศทางเดียวกันทำให้ปลดปล่อยพลังปัญญาในตัวออกมามากได้ พลังปัญญาที่หยุดนิ่งอยู่ในตัวคนเมื่อถูกกระตุ้นอย่างถูกต้องมันจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นพลังทำให้องค์การก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ประเทศในยุโรปอย่างเบลเยียมที่ต้องเผชิญอากาศหนาวเย็น ฝนฟ้าไม่แน่นอน แสงแดดน้อย ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานความร้อนและแสงสว่างมากจึงมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆมากตามไปด้วย มีการวิวัฒนาการจากฟืนในอดีต มาถึงถ่านหิน แรงลม แรงน้ำ น้ำมัน แก๊สธรรมชาติจนมาถึงพลังงานนิวเคลียร์

การไปดูงานโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ในเขตชานเมืองแอนท์เวิปทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า เป็นของเอกชนคืออิเล็กทราเบล (Electrabel) ที่เป็นบริษัทขายพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ผลิตกระแสไฟฟ้าและบริการด้านไฟฟ้ากำลัง มีระบบการผลิต 4 ระบบสินค้าคือระบบถ่านหิน (Conventional thermal power station) ระบบก๊าซธรรมชาติ (combined cycle gas turbine power station) ระบบพลังน้ำ (Pumped storage or hydroelectric power station) ระบบพลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear power station) และระบบผลิตความร้อน (Heat congeneration) ทำให้โรงงานมีระบบสำรองในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้ 30,021 เมกะวัตต์ต่อปี ขายให้เบลเยียมใช้ 13,127 เมกะวัตต์ต่อปี ในปี 2006 ถือเป็น 57.9 % ของไฟฟ้าที่ใช้ในเบลเยียม

ส่วนการผลิตที่เราเข้าไปดูคือส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (Power station of Doel) มีเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 4 เตา ใช้ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิง กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าเริ่มจากพลังงานเคมี (Chemical) เปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อน (Thermal) ทำให้เกิดพลังงานกล (Mechanical) จนเกิดพลังงานไฟฟ้า (Electrical) พลังงานเคมีอาจมาจากฟืน ถ่านหิน น้ำมันหรือนิวเคลียร์ก็ได้ ระบบนิวเคลียร์เริ่มจากความร้อนจากยูเรเนียม (Uranium) ทำให้น้ำเกิดเป็นไอ แล้วเพิ่มแรงดันของไอน้ำ (Stream) ไปปั่นเครื่องกล (Turbine) แล้วหมุนกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เนื่องจากต้องใช้น้ำปริมาณมากมาใช้ในการทำให้น้ำที่ผ่านความร้อนเย็น (Cooling system) ลงก่อนปล่อยทิ้ง จึงจำเป็นต้องตั้งริมแน่น้ำสเกลด์ โดยน้ำที่ปล่อยลงแม่น้ำต้องอุณหภูมิไม่เกิน 35 องศาเซลเซียสและต้องดูดน้ำในแม่น้ำกลับไปใช้อีก

แร่ยูเรเนียมที่นำมาใช้ ถูกบรรจุในแท่งเหล็กอย่างดี ในเตาปฏิมากรณ์ปรมาณู (Nuclear building) ที่หนา90 ซ.ม ถึงสองชั้น ตัวเตาออกแบบเป็นอาคารคอนกรีตทรงกลมเนื่องจากไม่ให้มีมุมที่เป็นจุดอ่อนของอาคารเพื่อให้ทนแรงดันภายในได้ดี มีระบบควบคุมภายใน (Internal control) ที่สามารถทำงานได้เองอัตโนมัติ มีคอมพิวเตอร์สามเครื่องที่จะปิดระบบทั้งหมดได้เองหากมีปัญหาภายใน 1.3 วินาที มีห้องเครื่องจักร (Mechanic room) เปลี่ยนพลังงานกลเป็นกระแสไฟฟ้า มีระบบวงจรน้ำเพื่อสนับสนุนระบบการผลิตจากแม่น้ำเป็นหลักและระบบสำรองจากสระน้ำที่สร้างไว้ด้านนอก มีอาคารความเย็น (Cooling tower) ขนาดใหญ่ที่ใช้การพ่นน้ำแบบอาบน้ำฝักบัว ด้านบนโล่ง ดูดความเย็นจากภายนอกเข้าไปทำให้ละอองไอน้ำลอยออกจากปล่องคล้ายควันไฟแต่กลับเป็นปุยเมฆขาวลอยฟ่องไปบนท้องฟ้า ระบบนี้ใช้น้ำถึง 1.5 พันล้านลิตรต่อปี

การเข้าไปในระบบการผลิตของโรงงานมีประตูรักษาความปลอดภัยสามรูปแบบที่แตกต่างกันที่คนภายนอกไม่สามารถเข้าไปได้ทั้งระบบบัตร รหัส กล้องวงจรปิด ในส่วนของอาคารนิวเคลียร์มีการรักษาความปลอดภัยจากคนภายนอกและรักษาความปลอดภัยให้คนทำงานด้วยเครื่องวัดปริมาณรังสีและคนในชุมชนอย่างดี เพื่อป้องกันการสัมผัสรังสี (Radiation) และการปนเปื้อนฝุ่นรังสี (Contamination)

ระบบการผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์จะหยุดระบบทั้งหมดเพื่อตรวจสอบระบบทุกปีๆละ 4-6 สัปดาห์ ยูเรเนียม 4 กรัมสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เท่ากับใช้ถ่านหิน 1,000 กิโลกรัม ในขณะที่ราคาถูกกว่า โรงงานนี้เริ่มผลิตเตาแรกในปี 1974, 1975, 1982 และ 1985 ตามลำดับ โดยผลิตไฟฟ้าได้แต่ละเตาเป็น 392.5 MW, 432.5 MW, 1006 MWและ 985 MW ตามลำดับ การใช้พลังนิวเคลียร์เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าจึงมีราคาถูกกว่าน้ำมันหรือถ่านหิน ลดการใช้เชื้อเพลิง (Fossil fuel) เช่นน้ำมัน 10 ล้านตันหรือ15 พันล้านลูกบาศก์เมตรของก๊าซธรรมชาติและไม่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี เคร่งครัด จริงจังเพื่อลดอันตรายจากรังสีได้ โรงงานนี้ตั้งในเขตพื้นที่เพาะปลูก บ้านพักอาศัยก็อยู่ไม่ไกลนัก ติดกับแม่น้ำสเกลด์ แสดงว่าชาวบ้านเขาเชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยของทางโรงงานมาก การผลิตกระแสไฟฟ้าคล้ายกับการจัดบริการทางสุขภาพที่การผลิตกับการใช้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ไม่สามารถผลิตกักตุนไว้แล้วค่อยขายหรือใช้ได้ ความเชื่อมั่นเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการทำทุกสิ่ง

ผมลองจินตนาการดูถ้าเราเปลี่ยนแหล่งกำเนิดความร้อนจากนิวเคลียร์มาเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้น้ำเกิดความร้อนเป็นไอน้ำ โดยใช้เลนส์รวมแสงขนาดใหญ่ส่องไปตกกระทบโลหะนำความร้อนที่แช่อยู่ในอ่างน้ำทำให้น้ำเดือดเป็นไอน้ำ แล้วใช้คอนเดนเซอร์อัดความดันให้เป็นลำไอน้ำไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ไม่รู้จะเป็นไปได้หรือเปล่า หรืออาจสู้ระบบโซลาร์เซลไม่ได้ จึงไม่มีใครทำ

ขณะนั่งรถบัสไปดูโรงงานไฟฟ้า สังเกตถนน สิ่งก่อสร้างมีการออกแบบอย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ แบ่งออกเป็นทางรถไฟ รถจักรยาน รถยนต์ การก่อสร้างมีการควบคุมงานให้เป็นไปตามแบบแปลนที่กำหนด นึกถึงโรงพยาบาลบ้านตาก มีการจัดทำผังหลัก (Master plan) โดยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงมาทำให้ มีพี่ลิขิต สะอาด สถาปนิกฝีมือเยี่ยมของกระทรวงสาธารณสุข เป็นคนกำหนดแบบผังให้เพื่อใช้เป็นแม่แบบการก่อสร้างอาคารต่างๆในโรงพยาบาล ไม่ใช่อยากสรางอะไร ตรงไหนก็ได้ ตอนมีการก่อสร้างอาคารผมก็โชคดีที่มีคนที่รู้เรื่องงานก่อสร้าง รู้ทันผู้รับเหมาอย่างพี่ออด (อภิชาต รอดแสวง) มาช่วยเป็นหูเป็นตาให้ ทำให้งานก่อสร้างของโรงพยาบาลออกมาดีมาก ตอนอยู่ที่โรงพยาบาลแม่พริกก็มีพี่หนอม (ถนอม แดงประเสริฐ) คอยช่วยดูให้ พี่หนอมนี่ก็เก่งมากได้ทั้งงานช่าง งานซ่อมและงานก่อสร้าง การก่อสร้างโดยไม่มีคนรู้เรื่องคุมงานหรือมีคนไม่รู้เรื่องมาคุมงานเป็นการเสี่ยงอย่างมาก ผมโชคดีเสมอที่ได้ทำงานร่วมกับคนที่มีความรู้ความสามารถ มีคนเก่งมาช่วยงานตลอด

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว ผมได้ไปร่วมชมละครเวทีแพนโทไมน์ เป็นละครพูดภาษาอังกฤษประกอบเพลงสนุกๆ ตลกๆ ประยุกต์จากเรื่องหนูน้อยหมวกแดง มีผู้แสดงหลากวัยจำนวนมากทั้งชายและหญิงในเวลาสองชั่วโมง มีเสียงหัวเราะดังเป็นระยะๆ กับการมีส่วนร่วมของผู้ชมตลอดเวลา มีเสียงแซว อย่างสนุกสนาน เป็นการพักผ่อนหย่อนใจของชาวแอนท์เวิปที่เข้าไปชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่

สัปดาห์ที่ 19 ของหลักสูตร เริ่มต้นด้วยความผิดหวังของผลคะแนนการสอบที่ผ่านมาของนักศึกษาหลายๆคน แม้เกือบทั้งหมดจะสอบผ่านก็ตาม หลายคนมุ่งหวังคะแนนสอบสูงมากก็ผิดหวังมาก ถ้าหวังน้อยก็ผิดหวังน้อย อาจารย์วาลาเรียบอกทุกคนในชั้นว่าอย่าไปคิดมากคะแนนแค่ผ่านก็พอ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือคุณได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากอาจารย์และจากกันและกันได้มากแค่ไหนมากกว่า ส่วนผมไม่ได้หวังมากนัก ก็พอเอาตัวรอดไปได้

วันจันทร์ที่ 14 มกราคม 2551 เรียนระบาดวิทยาประยุกต์กับอาจารย์คุณและเศรษฐศาสตร์กับอาจารย์บรูโน (Bruno Meessen) ผมสามารถฟังอาจารย์สอนได้มากขึ้นน่าจะได้สัก 80% แล้ว อาจารย์บรูโนหน้าตาดูอ่อนวัยและหล่อมากแต่ก็สอนได้ดีมากเช่นกัน

วันอังคารที่ 15 มกราคม 2551 เรียนระบาดวิทยาประยุกต์เป็นการนำเสนอระบบเฝ้าระวังโรคจากเพื่อนในชั้น 4 เรื่องคือเอดส์จากเพื่อนละตินอเมริกา วัณโรคจากเพื่อนอาฟริกา อหิวาตกโรคจากเพื่อนอาฟริกาและไข้หวัดนกจากเอเชีย ตอนบ่ายเรียนเศรษฐศาสตร์กับอาจารย์บรูโน และชั่วโมงแนะแนวกับอาจารย์วาลาเรีย ตอนเย็นไปเรียนภาษาอังกฤษเหลืออีกสามครั้งก็จะมีการสอบวัดความรู้ ขากลับลมพัดแรงมากปั่นจักรยานแทบไม่เคลื่อนที่เลย กลับถึงบ้านแทบหมดแรง

วันพุธที่ 16 มกราคม 2551 เริ่มเรียนนโยบายสาธารณสุขกับอาจารย์วิม มีการทบทวนระบบสุขภาพแห่งชาติก่อนและช่วงบ่ายเรียนเศรษฐศาสตร์กับอาจารย์บรูโน

วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม 2551 เรียนนโยบายสาธารณสุขกับอาจารย์วิม ตอนพักเบรกไปคุยกับคุณฮิลดี่เรื่องเอกสารรับรองบ้านพัก ให้เขาโทรไปอำเภอให้ ผมยังคงรอเอกสารนี้เพื่อทำวีซ่าให้ครอบครัวอีกเช่นเคย ตอนบ่ายเรียนเศรษฐศาสตร์ ผมเคยเรียนแล้วตอนเรียนนิด้า มาคราวนี้เป็นการเรียนภาคภาษาอังกฤษแต่ก็ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น หลังอาหารเย็นแวะไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดนาร์มีน (อาเซอร์ไบจัน) ที่อาฟริกันผับ (Ilo Afrik) มีเพื่อนๆไปร่วมสัก 15 คน อยู่ใกล้ๆสถาบัน อยู่สักพักก็กลับบ้าน

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2551 จะมีเรียนนโยบายสาธารณสุขและเศรษฐศาสตร์เหมือนเดิม ช่วงเย็นจะไปเที่ยวสเปนกับพี่เกษมและเช็งเฟ็ง (จีน) และกลับมาแอนท์เวิปวันจันทร์เช้า

พลังงานนิวเคลียร์ได้มาจากการเกิดขึ้นของทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์คือ E = mc2 ที่สื่อให้ทราบว่ามวลกับพลังงานเป็นสิ่งเดียวกันเมื่อมวลเคลื่อนที่ด้วยความเร็วมากๆจนถึงยกกำลังสองของความเร็วแสง มวลจะกลายเป็นพลังงานอันมหาศาล ในด้านการบริหารคนก็เช่นกันพลังในการขับเคลื่อนองค์การของคนในองค์การ (พลังในคนหรือพลังปัญญา) สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมหาศาล ถ้าผู้บริหารสามารถกระตุ้นให้เกิดความเร็วอย่างเป็นระบบจำนวนมากในทิศทางเดียวกันทำให้ปลดปล่อยพลังปัญญาในตัวออกมามากได้ พลังปัญญาที่หยุดนิ่งอยู่ในตัวคนเมื่อถูกกระตุ้นอย่างถูกต้องมันจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นพลังทำให้องค์การก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความเร็วในการทำงานของคนในองค์การเกิดได้เมื่อเราส่งเสริมหรือกระตุ้นการเรียนรู้จนเกิดความรู้ความสามารถ (Competency) และความมุ่งมั่นผูกพันต่อองค์การ (Commitment) ของคนในองค์การ ได้ พลังงานนิวเคลียร์ในการขับเคลื่อนองค์การก็เกิดได้เช่นกันเป็น E = m C x C = mC2 สอดคล้องกับสมการของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่เขียนไว้ว่า Intellectual capital = Competency x Commitment สิ่งสำคัญที่จะเกิดได้คือต้องมีบรรยากาศที่ดีโดยมีการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเหมาะสม

คนที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้หรือคุณอำนวย (Facilitator) ต้องทำหน้าที่สำคัญ 4 อย่างคือส่งเสริมการเรียนรู้ ส่งเสริมความรักความห่วงใยกัน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมความภาคภูมิใจให้คนทำงานหรือLearn, Care, Share, Shine พลังงานนิวเคลียร์ใช้ความร้อนทำให้เกิดพลังไฟฟ้า แต่พลังในคนใช้ความรักมาปลดปล่อยพลังปัญญาออกมา คุณอำนวย (Facilitator) จึงต้องรู้จักการจัดการความรักในองค์การก่อนที่จะจัดการความรู้ คุณอำนวยต้องรักคนอื่นเป็น (จริงๆ ไม่ใช่รักแต่ปาก) อยากให้คนอื่นๆโดดเด่นโดยเฉพาะคนทำงาน มองหาความดีที่ซ่อนอยู่ในตัวคนขององค์การแล้วควัก/สกัดเอามาโชว์ มาชื่นชม ไม่คิดเล็กคิดน้อย ไม่ขี้ใจน้อย ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา เจ้าคิดเจ้าแค้น ทำงานร่วมกับคนอื่นๆได้ง่าย ไม่ทำงานเอาหน้าหรือเอาไว้ต่อรองกับผู้บริหารเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่คอยสั่งงานแต่คอยกระตุ้นให้เกิดผลงาน และต้องไม่แอบอ้างว่าที่สำเร็จนี่เพราะฉันนะ ฉันเหนื่อยนะ ถ้าไม่มีฉันคงไม่ได้อย่างนี้หรอก ฉันทำงานหนักกว่าใครทั้งหมด ฉันต้องได้สองขั้น ฉันต้องได้เงินเพิ่มพิเศษมากกว่าคนอื่น ถ้าเป็นแบบนี้คนทำงานในองค์การก็อาจไม่อยากร่วมมือด้วยอีก จะเห็นได้ว่าการจัดการความรู้จะสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่มีการจัดการความรักในองค์การ

สถาบันไอทีเอ็มที่ผมกำลังเรียนอยู่นี้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ค่อนข้างมาก มีการสร้างบรรยากาศแบบเป็นกันเองสบายๆ สร้างสัมพันธไมตรีระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาและนักศึกษาด้วยกัน เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในชั้นเรียน นอกชั้นเรียนและในเวทีเสมือนจริง มีการเปิดกระดานอินเตอร์เน็ตให้แลกเปลี่ยนกัน จัดคอมพิวเตอร์พกพาให้คนละ 1 เครื่อง จัดหน่วยความจำและที่อยู่อิเล็กโทรนิกส์ในระบบของสถาบันให้นักศึกษาแต่ละคน ทุกจุดในสถาบันสามารถต่ออินเตอร์เน็ตได้ฟรี มีห้องคอมพิวเตอร์ที่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานภายใต้รหัสเฉพาะคน มีกกระดาษและหมึกพิมพ์ให้ฟรี มีระบบห้องสมุดที่มีหนังสือให้อ่านเป็นรูปเล่มและห้องสมุดออนไลน์ที่เข้าได้จากรหัสส่วนตัว มีการสื่อสารผ่านทางยาฮูกรุ๊ประหว่างนักศึกษากับอาจารย์ที่สะดวกในการเข้าถึง มีอาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมหรือFacilitator ที่คอยส่งเสริมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักศึกษา คอยดูแลประคับประคองจิตใจเมื่อนักศึกษาเหงา คิดถึงบ้านหรือวิตกกังวลอย่างเป็นกันเอง นักศึกษากับอาจารย์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้กันได้อย่างอิสระ ถกเถียงกันได้อย่างเสรี มีการจัดทัศนศึกษานอกสถานที่ การจัดงานเลี้ยงเพื่อกระชับสัมพันธ์ การพาไปร่วมการประชุมในระดับชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมเครื่องมือในการเรียนรู้เช่น จัดหลักสูตรภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สอนใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สอนการเขียนบทความ สอนการค้นหาเอกสารทางวิชาการที่มีคุณภาพ อาจารย์วาลาเรียทำหน้าที่ Facilitator ได้ดีมาก

ผู้บริหารที่ผมมีโอกาสได้ใกล้ชิดในจังหวัดตาก ที่เป็นทั้งผู้บริหารและคุณเอื้อที่ช่วยเอื้อให้คนในองค์การมีโอกาสเรียนรู้มากขึ้น เช่นพี่ตุ่ยหรือหมอวรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ที่ส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาอบรมด้านสำคัญๆหลายๆแม้โรงพยาบาลจะมีเจ้าหน้าที่ไม่พอก็ตาม พี่จิหรือหมอจิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด ที่พยายามจัดหาเงินทุนเพื่อส่งเสริมให้ลูกจ้างได้ไปเรียนในสาขาที่โรงพยาบาลขาดแคลน เมื่อจบมาแล้วก็รับเข้าทำงานที่โรงพยาบาล และอาจารย์ปัจจุบัน  เหมหงษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากที่สนับสนุนการศึกษาเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่ในสังกัดเป็นอย่างดี ตอนที่ผมขอไปช่วยงานสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีสัปดาห์ละสองวัน เวลาขออนุญาตไปบรรยายให้หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งขอลาศึกษาต่อที่เบลเยียม อาจารย์อนุญาตตลอด ทั้งที่ผมซึ่งเป็นผู้ช่วยไม่อยู่ช่วยงาน ท่านก็ต้องทำงานมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น แต่ท่านก็ส่งเสริมผมเป็นอย่างดี

ตอนที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก การได้เห็นตัวอย่างที่ดีจากผู้บริหารหลายๆท่านก็ได้ส่งเสริมการศึกษาของเจ้าหน้าที่ทั้งในระบบ นอกระบบ นอกเวลา เช่นเอื้อให้เรียนการศึกษานอกโรงเรียน เรียนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ขอจัดการจัดหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ของวิทยาลัยชุมชนเพื่อเอื้อให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบ้านตากได้มีโอกาสศึกษาในระดับอนุปริญญา การส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรม การศึกษาดูงานหน่วยงานต่างๆ การส่งเสริมเจ้าหน้าที่ให้ไปเป็นวิทยากรภายนอกโดยไม่ได้จำกัดว่าต้องเท่านั้นเท่านี้ครั้งต่อเดือนเพราะการที่หน่วยงานข้างนอกมาเชิญเจ้าหน้าที่เราไปบรรยาย ถือเป็นเครดิตที่ดีของโรงพยาบาล ตัวเจ้าหน้าที่เองก็ได้พัฒนา ได้เรียนรู้เพิ่มเติมด้วย ทำให้มีเจ้าหน้าที่ที่สามารถเป็นวิทยากรภายนอกได้หลายคน หลายด้าน

ผมได้พยายามศึกษาเรียนรู้และการนำกิจกรรมใหม่ๆเข้ามากระตุ้นการเรียนรู้โดยทำไปเรียนรู้ไปพร้อมๆกันกับเจ้าหน้าที่ เช่นการพัฒนาคุณภาพ กิจกรรม 5 ส การบริหารภาครัฐแนวใหม่ การบริหารเชิงกลยุทธ์ เป็นต้น ไม่ได้มุ่งหวังใบรับรองหรือรางวัล แต่สิ่งที่ได้มากกว่าคือการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่ จัดระบบอินทราเน็ต อินเตอร์เน็ตและเว็บไซต์โดยอาศัยศักยภาพของคนในองค์การเองและการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ส่งประกวดผลงานวิชาการประกวดในการประชุมวิชาการประจำปี กระทรวงสาธารณสุขโดยการทำให้เป็นแบบอย่าง การช่วยตรวจสอบแก้ไขเอกสาร รวมทั้งให้กำลังใจ สร้างความเชื่อมั่นให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมและให้ไปราชการโดยไม่นับรวมในโควต้าการอบรมปกติ สนับสนุนการจัดทำเอกสารหรือบอร์ด จัดรถไปส่ง ซึ่งผมถือว่าเป็นการทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในประเด็นของ Share และ Shine ได้

บทบาทคุณอำนวยนี้ถ้าผู้บริหารหรือผู้อำนวยการแสดงบทบาทนี้ด้วยก็จะดียิ่งขึ้น บรรยากาศและความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีจะเกิดเร็วขึ้น จากคุณเอื้อจะกลายเป็นคุณเอื้ออำนวย หรือบางทีบางเรื่อง บางงาน บางอย่างเป็นเรื่องยาก ลูกน้องอาจทำไม่เป็น ไม่กล้าทำ เราอาจต้องสอน ต้องแนะนำหรือช่วยเขาทำบ้าง หรืออาจต้องทำเป็นตัวอย่างให้ดูด้วย เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างแก่ลูกน้องก็จะกลายเป็นคุณเอื้ออำนวยกิจ ไปเลย เช่นผมเคยเขียนงานวิจัยจากงานประจำ (R2R) เป็นตัวอย่างให้เจ้าหน้าที่ดูแล้วส่งประกวดหรือส่งตีพิมพ์ แต่ไม่ใช่ไปแย่งทำในสิ่งที่ลูกน้องทำได้

เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทุกแห่งมีคนที่มีความรู้ความสามารถกันมาก แต่อาจไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าทำ ไม่กล้านำเสนอ หากได้รับการกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุนจะปลดปล่อยพลังปัญญาในตัวออกมาได้มาก

ผมอยู่เบลเยียมมาเดือนที่ห้าแล้วปรับตัวได้หลายอย่างยกเว้นเรื่องคิดถึงครอบครัว ที่ทำยังไงก็ไม่ชินทั้งที่คุยกับภรรยาเกือบทุกวัน

พิเชฐ  บัญญัติ

เวอร์บอนด์สแตรต 52, แอนท์เวิป, เบลเยียม

17 มกราคม 2551, 23.09 น. (05.09 . เมืองไทย)

หมายเลขบันทึก: 159912เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2008 05:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีคำถามจากผู้อ่านถึงผม ผมได้ตอบกลับไปทางอีเมล์แล้ว ให้ติดต่อกลับไปที่โรงพยาบาลบ้านตากโดยตรงเลยครับ เพราะตอนนี้ผมอยู่ที่เบลเยียม ฝากผู้เกี่ยวข้องของทางโรงพยาบาลบ้านตากด้วยครับ

 ข้อความ

ด้วยขณะนี้ดิฉันอยู่ระหว่างการฝึกเขียนJob Drescriptionพยาบาลให้แกโรงพยาบาลแต่ไม่ค่อยแน่ใจในการเขียนจึงอยากขอศึกษารายละเอียดจากโรงพยาบาลบ้านตากด้วยค่ะ
                ขอขอบพระคุณค่ะ

อีกคำถามหนึ่ง ท่านผู้อ่านที่มีความรุเรื่องนี้ รบกวนช่วยแสดงความคิดเห็นด้วยครับ ช่วงนี้ผมแทบไม่ได้ติดตามข่าวเศรษฐกิจเลย ต้มยำกุ้ง crisis เกิดในเอเชีย เริ่มจากเมืองไทย ที่ปั่นเศรษฐกิจให้โตเร็วเกินไป แต่ไม่ได้โตในภาคการผลิตจริง เกิดเป็นเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ แล้วก็แตก ซึ่งเท่าที่พอรู้ เป้าหมายทางเศรษฐกิจไม่ได้แค่โต (Growth) หรือดูแค่จีดีพี (GDP)อย่างเดียว แต่ต้องมีสเถียรภาพ (Stability) และมีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมด้วย (Distribution) ส่วนHamburger crisis น่าจะเป็นเหตุการร์ที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาตอนนี้ ส่วนรายละเอียดผมไม่มีเวลาศึกษาครับ

ข้อความ

อยากทราบว่า สาเหตุของการเกิด  hamburger  crisis  กับ  ต้มยำกุ้ง crisis   

และมีความแตกต่างกันอย่างไรคะ   รบกวนช่วยตอบหน่อยนะคะ

               ขอบคุณคะ........

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท