การคิดเชิงวิเคราะห์


                                      การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking)
                                                                                           ผศ.ดร.ไสว  ฟักขาว    

    การคิดเป็นความสามารถของมนุษย์ที่มีเหนือสัตว์ชนิดอื่น  สำหรับคนเก่งทั้งหลายหากเราไปศึกษาดูจะพบว่าเขาเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ที่มีความสามารถในการคิดสูงมาก การคิดเชิงวิเคราะห์เป็นลักษณะการคิดแบบหนึ่งที่มีความสำคัญมากต่อการดำเนินชีวิต  การเรียนรู้สิ่งต่างๆ  และการทำงาน  รวมทั้งยังเป็นพื้นฐานของการคิดแบบอื่นๆ เช่น การคิดเชิงระบบ การคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงเปรียบเทียบ  การคิดเชิงสังเคราะห์ การคิดเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น การคิดเชิงวิเคราะห์จะทำให้เรารู้ข้อเท็จจริง รู้เหตุผลของสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจความเป็นมาของสิ่งต่างๆ  รู้ว่าเรื่องนั้นมีองค์ประกอบอะไรบ้าง รู้ข้อเท็จจริงซึ่งเป็นฐานความรู้สำหรับการประเมินและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง  การที่เราไม่สามารถหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลให้กับเรื่องง่ายๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนับเป็นปัญหาที่ร้ายแรงเพราะเป็นสิ่งบ่งบอกว่าคนในสังคมของกำลังดำเนินชีวิตไปตามอารมณ์ ความรู้สึกมากกว่าดำเนินอย่างมีเหตุผล
        การคิดเชิงวิเคราะห์  หมายถึง ความสามารถในการจำแนกแจกแจงองค์ประกอบต่างๆของสิ่งใดสิ่งหนึ่งและหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น  จากความหมายดังกล่าวจะเห็นว่าความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์นั้นมีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราอย่างมาก ในการที่บุคคลใดจะเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ที่ดีหรือไม่นั้นมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ระการ คือ
1.     ความสามารถในการตีความ ซึ่งหมายถึง ความพยายามที่จะทำความเข้าใจและให้เหตุผลแก่สิ่งที่เราต้องการจะวิเคราะห์เพื่อแปลความหมายสิ่งที่ไม่ปรากฏของสิ่งนั้น  ซึ่งแต่ละคนอาจใช้เกณฑ์ต่างกัน เช่น จากความรู้เดิม  จากประสบการณ์ หรือจากข้อเขียนของคนอื่น
2.      ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะวิเคราะห์ ผู้วิเคราะห์จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่จะวิเคราะห์ดีพอเสียก่อนไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการใช้ความรู้สึกส่วนตน
3.      ความช่างสังเกต ช่างสงสัยและช่างถาม คุณสมบัติข้อนี้จะช่วยให้ผู้วิเคราะห์ได้ข้อมูลมากเพียงพอก่อนที่จะวิเคราะห์
4.    ความสามารถในการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล โดยเริ่มจากการแจกแจงข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพรวมเสียก่อนจากนั้นจึงคิดหาเหตุผลเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อค้นหา ความจริง

              นอกจากองค์ประกอบของการคิดเชิงวิเคราะห์ที่กล่าวมาแล้ว การเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ที่ดียังต้องมีคุณสมบัติดังนี้
1.     เป็นผู้ที่รับข้อมูลแล้วไม่ด่วนสรุป  ผู้คิดจะต้องตีความข้อมูลที่ได้ให้กระจ่างเสียก่อนโดยเริ่มจาก  การกำหนดนิยามของสิ่งที่จะคิดให้ตรงกัน จากนั้นจึงตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงเหตุผล โดยพิจารณาจาก สิ่งที่สื่อความหมายสัมพันธ์กัน สิ่งที่ละไว้ สิ่งที่ส่อนัย (Implication) และความสัมพันธ์เชิงเหตุผล   ในปัจจุบันคนในสังคมจำนวนไม่น้อยกำลังถูกหลอกให้หลงเชื่อสิ่งที่ไม่มีเหตุผลโดยการอ้างเหตุผลที่ไม่ถูกต้องแต่ดูเหมือนถูกต้องซึ่งในทางปรัชญาเรียกว่า “การใช้เหตุผลวิบัติ” (Fallacy) 
2.    เป็นผู้ไม่ด่วนแก้ปัญหาแต่มีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าปัญหาที่แท้จริง คืออะไรเสียก่อน อาจใช้เทคนิค Why-Why Analysis คือ การถามว่าทำไมไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 5 คำถาม
3.   เป็นนักตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ที่ดี ซึ่งอาจเป็นคำถามในลักษณะต่อไปนี้
-     คำถามแบบ  “5Ws 1 H” คือ  What (มันคืออะไร)   Who(ใครเกี่ยวข้องบ้าง) Where (มันเกิดที่ไหน) When (มันเกิดเมื่อไร)  Why (ทำไมจึงเกิดขึ้น และ How   (มันเป็นอย่างไร)
-      คำถามเชิงเงื่อนไข (Conditions) โดยถามในลักษณะ
ถ้า…….จะเกิด……….(If…………….Then…………)
-      คำถามเกี่ยวกับจำนวน(Number) หรือความถี่(frequencies) เช่นเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นกี่ครั้งแล้ว หรือมีความถี่แค่ไหน
-      คำถามเกี่ยวกับลำดับความสำคัญ(Priority)  เช่น เราควรทำอะไรก่อน-หลัง
-      คำถามเชิงเปรียบเทียบ(Comparative) เช่น สุขภาพกับความสุขอะไรสำคัญกว่ากัน
สำหรับเครื่องมือที่นักคิดเชิงวิเคราะห์นิยมใช้เพื่อช่วยในการคิดได้แก่ 
1.      แผนผังแบบ Conceptual Map  เช่น Concept Map   Web Diagram และ  Mind Map
2.      แผนภูมิแบบก้างปลา(Fishbone Diagram) ซึ่งนิยมใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุและผลกระทบ
3.      แผนภาพแสดงความสัมพันธ์เชิงเหตุผล (Causal relation) ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งนิยมใช้สำหรับการคิดเชิงระบบ(System Thinking)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15924เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2006 15:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท