เก็บตกจากมานุษยวิทยาการเเเพทย์ในไทยคดีศึกษา: เมื่อมีคนกล่าวชื่อ "หมอโกมาตร" ทำให้ฉุกคิดได้


 เมื่อวันที่  9-11  มกราคมนี้  ข้าพเจ้าได้ไปร่วมงานประชุมวิชาการไทยคดีศึกษานานาชาติครั้งที่ 10  ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในอัตราลดพิเสษเพราะใช้สิทธินักศึกษาที่ร่วมนำเสนอบทความด้วย ข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะเล่าเรื่องบทความเพราะไม่เกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพเเละระบบสาธารณสุข เเต่จะเล่าเรื่องนายแพทย์ ดร.  โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์ หรือ "หมอโกมาตร" 

 

 วันที่  9  เพื่อนนักศึกษาที่มาจากต่างประเทศชวนให้ข้าพเจ้าไปฟังวงนำเสนองานอันเนื่ื่องมาจากทฤษฎีของ  Stanley J Tambiah (Transformations of Local Power in Thailand I: Papers in Honor of Stanley J. Tambiah )  นักศึกษาปริญญาเอกท่านหนึ่งได้นำเสนอเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  และได้ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับมานุษยวิทยาสุขภาพ ที่กล่าวถึงชื่อหมอโกมาตรอย่างสั้นๆ ซึ่งเกี่ยวกับงานวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตด้านมานุษยวิทยาเรื่องชาวกวยที่ข้าพเจ้าเคยยืมห้องสมุดมาอ่าน รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างเมื่อนานมาแล้ว เพราะเมื่อก่อนนั้นข้าพเจ้าไม่ได้แม่นทฤษฎีมานุษยวิทยาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพียงเเต่ใช้เครื่องมือที่นักมานุษยวิทยาใช้ ในงานวิจัยที่ผ่านมาของข้าพเจ้า ตามแต่โอกาสและพื้นที่จะอำนวย  

 

ข้าพเจ้ารู้สึกโชคดีที่ได้อ่านงานของหมอมาบ้าง ทั้งส่วนที่เป็นงานวิชาการเมื่อเพิ่งเริ่มเรียนปริญญาโท และงานสื่อสารแนวคิดด้านเครื่องมือการศึกษาชุมชน ที่คล้ายกับการที่ได้รับการอบรมมา  ซึ่งยอมรับว่าอ่านง่ายกว่าวิทยานิพนธ์มาก แต่ไม่อาจอ้างตัวว่าอ่านและเข้าใจลึกซึ่งพอจะตั้งตนสอนคนอื่นได้  หรือเข้าใจทะลุปรุโปร่ง หลังจากได้นอนเต็มที่เมื่อข้าพเจ้านำเสนองานเสร็จ ก็เกิดบรรลุขึ้นมาทันทีว่า ที่เคยคิดและตั้งใจไว้ว่า อย่างน้อยในการวิจัยเพื่อให้เห็นศักยภาพของคนชายขอบ ของโรงพยาบาล ในการสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมในกระบวนการสาธารณสุขนั้น เห็นจะเป็นจริงแล้ว 

 

อย่างน้อยการที่ข้าพเจ้าเริ่มด้วยการพยายามไม่มองว่าคนหรือโรงพยาบาลเหล่านั้นเป็นภาระ ด้านตัวเลขและงบประมาณสาธารณสุข  ทั้งที่ข่าวตัดในบล็อกนี้ก็ไม่ค่อยสนับสนุนความเชื่อของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไม่รู้ว่าตนเองจะผลักดันมิติทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมในการประกันสุขภาพให้ไปไกลแค่ไหนในงานวิจัยนี้ แต่ข้าพเจ้าตั้งใจว่าข้าพเจ้าจะใส่หัวใจให้กับงานวิจัยหลักประกันสุขภาพที่ทำให้มากที่สุด แม้จะดูเป็น NGOs ก็ตาม

 

บทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งของหมอที่ข้าพเจ้าพบในอินเตอร์เน็ทกล่าวว่า ”การแพทย์ก็เป็นวิธีมองนะครับ ถ้าเปรียบเทียบวิธีมองกับไฟฉาย สมมติว่าเรามีไฟฉายอยู่กระบอกหนึ่ง ซึ่งสว่างมาก เหมือนวิธีมองทางการแพย์ที่มีความรู้ทางการแพทย์เยอะ แล้วเราไปมองหากุญแจที่ทำตกไว้ ถ้าไฟฉายนั้นมีลำแสงตรงกลางที่สว่างมากเพียงลำแสงเดียว เมื่อเราส่องไฟฉายไปเจอกุญแจ เหมือนกับมองเห็นโรค แต่พอเราจะไปเก็บกุญแจนั้น หัวของเราอาจจะไปชนเข้ากับกิ่งไม้ หรือขาเราอาจจะเดินไปสะดุดตอไม้ หรือโดนงูฉก ไฟฉายที่ดี นอกจากจะมีลำแสงสว่างตรงกลางแล้ว ต้องมีกรวยแสงรอบๆ ออกมาด้วย เพื่อจะได้เห็นว่า นอกจากกุญแจที่เราจะไปหยิบแล้ว ยังมีอะไรอื่นๆ ในชีวิตของชาวบ้านที่อาจจะมีผลต่อการทำงานของเราบ้าง พอเห็นอย่างนั้น จะได้มีความละเอียดและระมัดระวังว่า แม้เป้าหมายเราจะคือการไปหยิบกุญแจก็จริง แต่ระหว่างนั้น บริบทรอบข้างของชีวิตชาวบ้านมีเรื่องอะไรที่เราต้องใส่ใจบ้าง หากเป็นแบบนี้ การแพทย์ก็จะมีความอ่อนโยนต่อชีวิตมนุษย์มากขึ้น ” (บทสัมภาษณ์ นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ทางรายการวิทยุอุษาคเนย์ ๑๐๐.๕ อสมท. ๙ มิถุนายน ๒๕๕๐ ที่ http://www.shi.or.th/Editor/Detail.php?hId=864)

 

อีกไม่นานข้าพเจ้าก็จะเริ่มลงพื้นที่แล้ว หวังว่างานของข้าพเจ้าจะมีมิติที่เป็นมนุษย์มากขึ้น  

 

หมายเลขบันทึก: 159019เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2008 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท