STSP
การแสดงละครเวทีและภาพยนตร์ Stage and Screen Performance, MSU.

วิจารณ์ภาพยนตร์ไทย


โปงลางสะดิ้งลำซิ่งส่ายหน้า

โปงลางสะดิ้งลำซิ่งส่ายหน้าเป็นภาพยนตร์แนว comedy ที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ที่ให้ทั้งสาระและความบันเทิง  ที่สำคัญยังให้แนวคิดในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันนั่นคือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน (อตฺตาหิ อตฺตาโน นาโถ) ตามหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า                กระแสนิยมในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจจากนักชมภาพยนตร์ทั้งหลายมากพอสมควร  โดยสังเกตรายได้รวมหลังเข้าฉาย 4 วันจากโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศก็ทำรายได้มากกว่า 10 ล้านบาท (อ้างอิงจากตารางจัดอันดับรายได้ภาพยนตร์ประจำเดือนพฤศจิกายน2550จากนิตยสาร Flick) และรายได้รวมหลังจากฉายรอบสุดท้ายทั่วประเทศ (หนังเข้าฉายในโรงประมาณ 15 วัน) ก็สามารถทำรายได้มากกว่า 60 ล้านบาท นับได้ว่าหนัง comedy เรื่องนี้สามารถโกยเงินจากคอหนังไทยได้มากพอสมควร(ได้กำไรมากกว่า 45 ล้านบาท)                เมื่อข้าพเจ้าได้วิเคราะห์กระแสความนิยมจากภาพยนตร์เรื่องโปงลางสะดิ้งลำซิ่งส่ายหน้าแล้วก็ค้นพบความน่าสนใจหลายๆอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งสำคัญหลักในการดึงให้คนดูมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งๆที่ก็มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์หลายเรื่อง ทั้งไทยและต่างประเทศเข้าพร้อมกัน  อาจเป็นเพราะความสามารถของผู้กำกับ(ฤกษ์ชัย พวงเพชร) ที่สามารถเขียนบทละครตลกและสามารถเลือกนักแสดงที่มารับบทบาทตัวละครได้อย่างลงตัว  ทำให้คนสนใจมากขึ้น                อันดับแรกเมื่อพิจารณาถึงเรื่องโครงเรื่องแล้วนั้น  ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจมากพอสมควร  สามารถมองเห็นความขัดแย้งของตัวละครได้ชัดเจน เช่น เจ้าของโรงภาพยนตร์เก่า(สถานที่หลักในการดำเนินเรื่อง)ไม่ยอมขายโรงหนังแห่งนี้ให้กับนายหน้า(รับบทโดยไหม-วิสา สารสาส)  ที่เข้ามาติดต่อทุกวันเพื่อจะปรับปรุงโรงหนังแห่งนี้ให้กลายเป็นซินีเพล็กซ์ แต่หลานชาย(รับบทโดย อี๊ด โปงลางสะออน) ของเจ้าของโรงหนังนี้ก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจะให้ลุงเปลี่ยนใจมาขายโรงหนังเพราะโรงหนังนี้เก่าและทรุดโทรมมากจนไม่มีใครเข้ามาใช้บริการ เป็นต้น  ทำให้ความต้องการของตัวละครอย่างชัดเจนซึ่งมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ในปัจจุบันที่มีความเห็นแก่ตัว  อยากได้ของคนอื่นหรือคาดหวังกับบางสิ่งบางอย่างเพียงเพื่อประโยชน์ของตนเอง  เมื่อเกิดความขัดแย้งในตัวละครเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนนำไปสู่จุดวิกฤตของเรื่องเมื่อโรงหนังถูดตัดไฟเพราะไม่มีเงินไปจ่ายค่าไฟ ทุกชีวิตที่อยู่ต้องทำงานและอาศัยในโรงหนังแห่งนี้จึงต้องพยายามหาทางแก้ไขและช่วยกันหาเงินเพื่อมาจ่ายค่าไฟ จึงเข้าสู่จุดคลี่คลายเมื่อพระเอก(รับบทโดย บีม-  กวี ตีนจรารักษ์)เข้ามาช่วยจ่ายค่าไฟและทุกคนเริ่มเปลี่ยนจากโรงหนังมาเป็นเวทีแสดงหมอลำซิ่งควบคู่กับการฉายหนัง วิเคราะห์จากโครงเรื่องแล้วจะเห็นว่าระดับของความตึงเครียดในเหตุการณ์ได้เพิ่มขึ้นจนถึง climax และได้คลี่คลายลงจนถึงตอนจบของเรื่อง  ทำให้เนื้อเรื่องไม่น่าเบื่อและน่าติดตาม                สิ่งต่อมาคือ  บทละคร (Dialogue) มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเพราะนอกจากจะมีเนื้อหาที่ให้สาระและยังสอดแทรกมุขตลกเข้าไปด้วยทำให้สามารถสร้างเสียงหัวเราะได้ตลอดทั้งเรื่องแต่ข้าพเจ้าคิดว่าบางครั้งมุขตลกก็มีมากเกินไปโดยนักแสดงที่พยายามจะสร้างความตลกจนการแสดงเกิดความเฝือ(Cliché’)หรือความน่าเบื่อ แต่ประการสำคัญคือสามารถสอดแทรกคุณธรรมเรื่อง     ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน  ไว้ได้อย่างแนบเนียนและดูไม่ขัดกับเนื้อเรื่องจนเกินไป                แต่สิ่งที่สร้างความนิยมให้มากที่สุดกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือ  นักแสดงที่เข้ามาสวมบทบาทตัวละครในเรื่อง  ก็ได้ดาราดังมากมาย อาทิเช่น บีม-กวี ตันจรารักษ์,ไหม- วิสา สารสาส,อี๊ดโปงลางสะออนและทีมงานโปงลางสะออนไม่ว่าจะเป็น ลูลู่,ลาล่าและคนอื่นๆ ซึ่งดาราเหล่านี้ก็มีแฟนคลับที่นิยมและชื่นชอบคอยติดตามผลงานอยู่ก่อนแล้ว  ไม่แปลกใจเลยว่าเหล่าแฟนคลับทั้งหลายต้องแห่แหนมาดู idol  ของตัวเองอย่างแน่นอน แต่ใช่ว่าชื่อเสียงโด่งดังแล้วจะมีความสามารถในการแสดงอย่างเต็มร้อย  ข้อบกพร่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คงอยู่ที่การแสดง(Acting) ของดาราเหล่านี้ บีม ก็มีข้อบกพร่องอยู่บ้างตรงที่พยายามที่จะสร้างอารมณ์อยู่ตลอดเวลาหรือพยายามจะเข้าถึงอารมณ์ของตัวละครมากจนเกินไปจนดูขาดความเป็นธรรมชาติ  ส่วนอี๊ด โปงลางสะออนก็พยายามที่จะสร้างความสนุกสนานตลอดเวลา จนคนดูติดภาพความเป็นอี๊ดโปงลางสะออนเสียมากกว่าจะเป็นบทตัวละครหลานชายที่ชอบวางแผนเพื่อจะขายโรงหนังเก่าๆของลุง  ที่นับเป็นจุดเด่นในเรื่องนี้คือ ลูลู่ลาล่า ที่เป็นตัวเสริมคอยสร้างความเฮฮาจากบุคลิกและความทะเล้นของพวกเธอ แต่ก็กลายเป็นจุดบอดของภาพยนตร์เหมือนกัน เพราะบางฉากพวกเธอก็ Over acting เสียจนไม่น่าขำเอาเสียเลย                ส่วนเรื่อง location และ make-up รมทั้ง costume ก็อยู่ในระดับปานกลางดูไม่น่าเกลียดจนเกินไปถึงแม้ว่าจะถ่ายทำในโรงภาพยนตร์เสียเป็นส่วนใหญ่แต่ก็ต้องยอมรับว่า  สถานที่หลักของเรื่องก็คือโรงภาพยนตร์ที่เป็นตัวกลางในการดำเนินเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้  และด้วยเนื้อเรื่องเกี่ยวกับคนธรรมดาฉะนั้นเสื้อผ้าหน้าผม ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหรูเลิศแต่อย่างใดแต่มีขัดกันอยู่บ้างที่เสื้อผ้าของเหล่าบรรดาโปงลางสะออนที่ดูสดใสมากจนโดดออกจากตัวละครอื่นๆ แต่ก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด  สรุปว่าภาพยนตร์เรื่องโปงลางสะดิ้งละซิ่งส่ายหน้าก็จัดอยู่ในระดับไม่ย่ำแย่แต่ก็ไม่ดีมากในแวดวงภาพยนตร์เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆที่เข้าฉายพร้อมกันในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2550

---------------------------------------------------------------------------------------- 

นายสมัชชา  อัคพราหมณ์  วิชาเอกการแสดงละครเวทีและภายนตร์  กลุ่มสาขาศิลปะการแสดงคณะศิลปกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาการแสดงละครเวทีและภาพยนตร์ 2 ภาคการศึกษาปลาย  ปีการศึกษา 2550  ส่งงานอาจารย์เมษา  อุทัยรัตน์ 

หมายเลขบันทึก: 158734เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2008 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท