ทีวีสาธารณะที่.....


ทั้งสามประเด็นข้างต้น เป็นสิ่งที่ในฟรีทีวีไม่อาจให้คำตอบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากเราต้องการช่องทางของทีวีทางเลือกที่เน้นคุณค่าของการนำเสนอรายการที่ให้ความรู้แก่ผู้ชมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การเรียนรู้ ตอบสนองต่อต้องการของประชาชน ไม่ได้แฝงเร้นในระบบทุนนิยม บริโภคนิยม สังคมนิยมสุดโต่ง หรือแม้แต่ประชานิยม อย่างที่เป็นอยู่ ก็ถึงเวลาที่ต้องหันเหมาทุ่มแรงทุ่มใจสร้างทีวีสาธารณะที่ตอบสนองทั้งสามประเด็นข้างต้นอย่างไม่ต้องรีรอ....
 

เมื่อวันก่อนได้เข้าร่วมประชุมกับเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก ในการหารือเกี่ยวกับ (๑) ภาพลักษณ์ (๒) คุณค่า (๓) คุณสมบัติของกรรมการนโยบายของทีวีสาธารณะ หรือ TPBS ที่ห้องประชุม ชั้น ๒๔ อาคารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส ความน่าสนใจของเวทีประชุมวันนี้ก็คือ การตั้งต้นคุยกันถึงแนวคิด กรอบ และแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของการจัดทำทีวีสาธารณะ จากการหารือร่วมกับเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เครือข่ายครอบครัวอาสาเฝ้าระวังสื่อ ตลอดจน เครือข่ายนักวิชาการด้านสื่อ ทำให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวคิดในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนความรู้เกี่ยวกับทีวีสาธารณะ ๓ เรื่อง ด้วยกัน

           เรื่องที่ ๑             ทีวีสาธารณะที่ “เสรี” เป็นประเด็นหลักการพื้นฐานของทีวีสาธารณะ หากมองย้อนกลับไปดูหลักการและเหตุผลในการจัดตั้งทีวีสาธารณะที่ต้องการให้มีสถานีโทรทัศน์และวิทยุที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง ซึ่งการเดินไปถึงจุดนั้นได้ การบริหารจัดการของสถานีโทรทัศน์และวิทยุนั้นก็ต้องอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า “เสรีและเป็นธรรม” ดังนั้น การบริหารจัดการทีวีสาธารณะนั้น นอกจากจะต้องเป็นไปเพื่อสาธารณะแล้ว ยังต้องเสรีจากการควบคุม แทรกแซงจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อให้เนื้อหา สาระ การนำเสนอนั้นเป็นกลาง เป็นธรรม ตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง

            นั่นหมายความว่า กรรมการสรรหา กรรมการนโยบาย กรรมการบริหาร ผู้อำนวยการ พนักงานขององค์การนั้น จะต้องตระหนักถึงหลักการพื้นฐานข้างต้นอย่างเข้มข้น และ การเดินทางไปถึงจุดนั้นได้  “เรา”คงต้องรีบสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในสังคมสาธารณะ เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจและรู้สึกเป็นเจ้าของทีวีสาธารณะ อีกทั้ง การสร้างกลไกของกระบวนการตรวจสอบ ติดตามให้เป็นไปตามหลักการข้างต้น 

           เรื่องที่ ๒             ทีวีสาธารณะที่ “ผลิต” รายการที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม” ในช่องทางของฟรีทีวี เนื้อหาสาระส่วนใหญ่ต้องตอบสนองต่อความนิยมเชิงปริมาณ อันเป็นกลไกทางพาณิชย์นิยมเพื่อทำให้สปอนเซอร์สนับสนุนรายการโทรทัศน์โดยไม่ได้เน้นหรือตระหนักว่า สาระของรายการนั้นๆตอบสนองต่อการเรียนรู้ของประชาชนในสาธารณะชนหรือไม่ ดังนั้น สาระหลักของการผลิตรายการจึงมุ่งเน้น “ความบันเทิง” มากกว่า “สาระความรู้” แนวคิดและองค์ความรู้ในการผลิตรายการแบบ สาระบันเทิง จึงถูกมองผ่านไปอย่างน่าเสียดาย ในทางตรงกันข้าม หลักการของทีวีสาธารณะไม่ได้มุ่งเน้นการแสวงหากำไร แต่มุ่งตอบโจทย์ความรู้เพื่อสาธารณะมากกว่า รายการโทรทัศน์ในทีวีสาธารณะจึงต้องให้คำตอบเรื่องสาระความรู้เพื่อสาธารณะ โดยคำนึงถึงอายุ อาชีพ ชนชั้น เพศ สถานะ เช่น กลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว คนด้อยโอกาส เกษตรกร เป็นต้น ที่สำคัญต้องได้สัดส่วนที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม

           เรื่องที่ ๓             ทีวีสาธารณะที่ “เน้น” การมีส่วนร่วมของประชาชน หัวใจสำคัญของทีวีสาธารณะก็คือ หลักการเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนมีส่วนร่วมของประชาชนในทีวีสาธารณะมี ๓ รูปแบบ กล่าวคือ (๑) การมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง คุณภาพของเนื้อหารายการ ผ่านระบบสภาผู้ชม หรือ เรียกกันง่ายๆว่า ส่วนร่วมในการจัดผังรายการ (๒) การมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบคุณภาพเนื้อหารายการโทรทัศน์ หรือเรียกว่า ระบบโพสต์เรตติ้ง และ (๓) การมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซึ่งจะทำให้คุณค่าของรายการตอยสนองต่อความต้องการของแต่ละชุมชนได้เป็นอย่างดี

       ปัญหาที่ต้องขบคิดให้ตกก็คือ สภาผู้ชม จำนวน ๕๐ คน ตามกฎหมายนั้น ต้องเป็นตัวแทนของผู้ชมจากทุกภาคส่วน จากทุกภูมิภาค จากทุกชนชั้น จากทุกระดับการศึกษา เพราะเขาเหล่านั้นก็คือ มนุษย์ในฐานะพลเมืองในสังคมไทย ดังนั้น องค์ประกอบของสภาผู้ชมนั้น ต้องไม่ใช่ตัวแทนที่ถูกเลือกเพราะไม่มีใคร แต่ต้องเป็นผู้แทนที่เป็นปากเป็นเสียงแทนทุกกลุ่มคนข้างต้นได้เป็นอย่างดี

         ทั้งสามประเด็นข้างต้น เป็นสิ่งที่ในฟรีทีวีไม่อาจให้คำตอบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากเราต้องการช่องทางของทีวีทางเลือกที่เน้นคุณค่าของการนำเสนอรายการที่ให้ความรู้แก่ผู้ชมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การเรียนรู้ ตอบสนองต่อต้องการของประชาชน ไม่ได้แฝงเร้นในระบบทุนนิยม บริโภคนิยม สังคมนิยมสุดโต่ง หรือแม้แต่ประชานิยม อย่างที่เป็นอยู่ ก็ถึงเวลาที่ต้องหันเหมาทุ่มแรงทุ่มใจสร้างทีวีสาธารณะที่ตอบสนองทั้งสามประเด็นข้างต้นอย่างไม่ต้องรีรอ....
หมายเลขบันทึก: 158196เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2008 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท