ข้าราชการและพนักงาน : ความเท่าเทียมที่ไม่เท่าเทียม


 มีพนักงานมหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง  ถามผมว่า “จะให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้วุ่นวายไปทำไม  ถ้าจะบอกว่าเพื่อพนักงานละก้อ  ทุกวันนี้พนักงานมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เสียอะไร  เงินเดือนก็ได้  เงินตำแหน่งก็ได้  เงินโบนัสก็ได้  จะออกไปทำไม ?”
 
มีบุคคลภายนอกเสนอว่า “ถ้าเห็นว่าพนักงานมหาวิทยาลัยเสียสิทธิ  สภามหาวิทยาลัยก็ให้สิทธิให้เท่าเทียมกับข้าราชการก็หมดเรื่อง  เป็นเรื่องของการบริหารมากกว่า”

 มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติท่านหนึ่งอภิปรายในวันที่ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนเรศวร  เข้าสภาฯ ว่า “อ้างว่าออกนอกระบบเพื่อพนักงาน  แล้วทำไมพนักงานเซ็นชื่อคัดค้านการออกนอกระบบ  รายชื่ออยู่ในมือผมนี่”

 คำถาม  และความเห็นข้างต้นผมไม่โต้แย้ง  เพราะไม่ใช่หน้าที่ผม  และผมไม่ใช่จำเลยใคร  แต่ผมจะทำหน้าที่ให้ข้อมูลแก่ประชาคมชาวนเรศวร  เท่าที่ผมรู้และมีหลักฐานว่าก่อน พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับใหม่) จะเข้าสภานิติบัญญัติและประกาศใช้  สภามหาวิทยาลัยนเรศวร  และมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเพื่อความเท่าเทียมระหว่างพนักงานมหาวิทยาลัย  และข้าราชการ  โดยขอยกตัวอย่างเฉพาะเงินประจำตำแหน่งวิชาการ  ดังนี้

 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 1.  พระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2538  บัญญัติไว้ดังนี้
      มาตรา 12  อัตราเงินประจำตำแหน่งและการรับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือน  ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย  ข้าราชการครู.... (และข้าราชการฝ่ายอื่นๆ)  ให้เป็นไปตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้
      เงินประจำตำแหน่งไม่ถือเป็นเงินเดือน

 2.  บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
 
     1.  ประเภทวิชาการ

ตำแหน่ง

อัตรา  (บาท/เดือน)

ศาสตราจารย์  ระดับ 11
ศาสตราจารย์  ระดับ 9-10
รองศาสตราจารย์  ระดับ 9
รองศาสตราจารย์  ระดับ 7-8
ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ระดับ 8
ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ระดับ 6-7

          15,600
          13,000
            9,900
            5,600
            5,600
            3,500


 3.  ระเบียบกระทรวงการคลัง  ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2547
      ข้อ 5  ข้าราชการที่ได้รับเงินประจำตำแหน่ง  ตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง  ได้รับเงินค่าตอบแทนรายเดือนเท่ากับอัตราเงินประจำตำแหน่งที่ได้รับอยู่เดิม  ยกเว้นข้าราชการซึ่งได้รับเงินประจำตำแหน่ง  ระดับ 7

 สรุป    1.  กฎหมายข้อ 1  และ 2  เป็นที่มาของการได้รับเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ (ผศ., รศ., ศ.) เด้งที่หนึ่ง
            2.  ระเบียบข้อ 3  เป็นที่มาของการได้รับเงินประจำตำแหน่งวิชาการ  เด้งที่สอง

 จึงเป็นที่มาของคำว่า 2 เด้ง  คือ  ได้รับ 2 เท่า 

กฎหมายและประกาศข้างต้นใช้สำหรับข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย  โดยเบิกจ่ายเงินประจำตำแหน่งจากงบประมาณแผ่นดิน

 * ส่วนพนักงานมหาวิทยาลัย  ไม่มีกฎหมายรองรับ  จึงไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินประจำตำแหน่ง

  สภามหาวิทยาลัย  และมหาวิทยาลัย  แก้ปัญหาเงินประจำตำแหน่งวิชาการของพนักงานโดยมีการดำเนินการดังนี้ครับ

 1.  สภามหาวิทยาลัยมีมติในการประชุมครั้งที่ 97/(4/2544)  เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2545  อนุมัติเงินประจำตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัยในอัตราบัญชีเงินประจำตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย  และมหาวิทยาลัยให้เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณแผ่นดิน  หมวดเงินอุดหนุนทั่วไป : เงินอุดหนุนใช้จ่ายบุคลากร (เด้งที่หนึ่ง)

 2.  เมื่อมีระเบียบกระทรวงการคลังให้จ่ายเด้งที่สอง  มหาวิทยาลัยได้ใช้มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย  ครั้งที่ 18/2549  เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549  เรื่อง  เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ ดังนี้
       1.  ให้หน่วยงานที่มีผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ  คือ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่เป็นข้าราชการไม่ถึงระดับ 8  สามารถเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษได้อีก 1 เท่า  เป็นจำนวนเงิน 3,500 บาทต่อเดือน  โดยเบิกจ่ายจากเงินรายได้ของหน่วยงานต้นสังกัด
       2.  ให้หน่วยงานที่มีผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ  ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย  สามารถเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษได้อีก 1 เท่า  โดยเบิกจ่ายจากเงินรายได้ของหน่วยงานต้นสังกัด

       ทั้งนี้  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549  เป็นต้นไป

 สรุป  เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้รับงบประมาณเบิกจ่ายตามกฎหมาย  มีที่มาจาก 2 ทาง  คือ
      1.  เงินงบประมาณแผ่นดิน  ที่มหาวิทยาลัยกันเงินอุดหนุนทั่วไปที่ใช้ในการบริหารมหาวิทยาลัยไว้ส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็นเงินประจำตำแหน่ง
      2.  คณะและหน่วยงานต้องจัดสรรเงินรายได้ที่ใช้เพื่อการบริหารคณะและหน่วยงานมาจ่ายเป็นเงินประจำตำแหน่ง

 

คำถาม  คือ  มหาวิทยาลัย  คณะ  และหน่วยงานจะรับภาระดังกล่าวได้นานเท่าใด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทราบว่า  วันที่ 9 มกราคม 2551  จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการอีกหลายสิบตำแหน่ง

 หากวันที่มหาวิทยาลัย  คณะ  และหน่วยงานไม่สามารถรับภาระดังกล่าวได้  พนักงานมหาวิทยาลัยที่ได้ตำแหน่งวิชาการจะได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือไม่ ?

 วันที่ผมพูดถึง  อาจมาเร็วกว่าที่คาด

 สำหรับพนักงานสายบริการ  พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับใหม่) บัญญัติให้มีสิทธิที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป  วิชาชีพเฉพาะ  หรือเชี่ยวชาญเฉพาะได้ดังนี้
      (1)  ระดับเชี่ยวชาญพิเศษ
      (2)  ระดับเชี่ยวชาญ
      (3)  ระดับชำนาญการ
      (4)  ระดับปฏิบัติการ
      (5)  ระดับอื่นตามที่ ก.พ.อ. กำหนด
      (มาตรา  65/2  และมาตรา 18)

 ส่วนเงินประจำตำแหน่ง  ก็คงเช่นเดียวกับกรณีของตำแหน่งทางวิชาการของพนักงานสายวิชาการ

 ขอแถมข้อมูลว่า  เงินโบนัสข้าราชการนั้น  มาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน  ส่วนเงินโบนัสพนักงาน  มาจากเงินรายได้ของหน่วยงาน

 ---------------------สวัสดีปีใหม่ 2551  ครับ---------------------------

 

หมายเลขบันทึก: 156406เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2007 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 01:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บอก"สภา"ประชาคม"   ตรงๆได้ไหมครับว่า  มหาวิทยาลัยนเรศวร หาเงินไม่เก่ง เงินเกือบไม่พอ           

พ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถทำให้มหาวิทยาลัยของบประมาณแผ่นดินได้มากขึ้น  จึงให้พวกท่านช่วยกันยกมือผ่าน

ถ้าได้เข้าสภาอีกครั้ง

กราบเรียนท่านพี่

  • จะอยู่ระบบไหน
  • ก็ทำงาน ครับ
  • มีเงินเดือน
  • ก็ทำให้เต็มที่
  • อย่าเต็มที ครับ
  • สวัสดีก่อนปีใหม่ครับ

Happy2008_jjv2

กราบสวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท