unclepiak
ธีรพงษ์ สุทธิวราภิรักษ์

อาบน้ำแบบถนนจระเข้


ก็อกน้ำเก่าคร่ำฉีดเส้นด้ายของสายน้ำเย็นเจี๊ยบออกมาสองเส้น  เขายืนตัวซีดอยู่ภายใต้เงาของหลังคาห้องน้ำกลางแดดใกล้เที่ยง ของวันใกล้สิ้นปีพ.ศ ๒๕๔๙ มันเป็นวันที่อากาศหนาวที่สุดส่งท้ายปี แสงสว่างแลบเข้ามาจากซอกประตูที่งับได้ไม่สนิท ส่องต้องเงาร่างของมนุษย์เปลือยที่กำลังมองสายน้ำเล็ก ๆ อย่างต่อรอง

สัมผัสของฝ่าเท้าเปล่าเหยียบความเย็นบนพื้นซีเมนต์เปียก เขากลั้นใจตักน้ำเต็มขันราดตัวเร็ว ๆ บ่อที่กินน้ำหน้าหนาวเอาไว้จนพุงกางอย่างนี้ รู้ล่วงหน้าว่าต้องเย็นกรีดผิว กระนั้นยังรู้สึกได้ว่าท่อนแขนถูกหนามของขุมขนแทงออกมาจนกลายเป็นผิวส้มโอ

อย่างรวดเร็วเขาตักน้ำอีกขันราดเส้นผมที่ไม่ได้สระมาหลายวัน จะอย่างไรวันนี้ต้องเอี่ยมอ่องเป็นพิเศษแม้จะหนาวจนอยากจะกอดกองไฟก็ตาม และจากนั้นการพันตูระหว่างความหนาวเยือกกับภาระในการชำระร่างกายก็ปะทะกันตามวิถีของมัน ลงเอยด้วยกลิ่นสะอาดของสบู่และแชมพูสระผม และการที่คน ๆ หนึ่งจะเกิดอาการสั่นสะท้านเหมือนหมาที่วิ่งไปสบัดขนหลังถูกจับไปอาบน้ำ...

------

ข้างบนนี้คืองานทดลองเขียน ที่มีแรงบันดาลใจจากการได้อ่านหนังสือแปลชื่อ ถนนจรเข้ (The Street of Crocodiles) อันเป็นงานเขียนของบรูโน ชูลซ์ วรรณกรรมเซอร์เรียลิสม์ที่ผมเพิ่งหยิบมาอ่านเป็นรอบที่สามสิบ ต้องสารภาพก่อนว่า ผมยังอ่านไม่จบแม้จะเป็นเพียงพ็อกเก็ตบุ๊คหนาแค่ ๒๐๕ หน้า และแม้จะหยิบมาอ่านหลายสิบหนแล้วก็เถอะ

การเขียนเลียนแบบวิธีเขียนบรรยายแบบเหนือจริง เป็นอะไรที่สนุกและท้าทายมาก ๆ ครับ แต่ด้วยความที่ประสบการณ์น้อยนัก จึงเขียนออกมาได้แค่ไม่กี่ย่อหน้าในครั้งแรก แต่ก็อยากจะเอามาโพสต์ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านและอยากจะกระตุ้นให้พวกเราลองเขียนอะไรที่แปลกออกไปดูสักหน่อย ถือว่าเป็นการเขียนแบบทดลองดูก็แล้วกัน *: p

ผมซื้อหนังสือแปลเล่มนี้มาจากงานสัปดาห์หนังสือหลายปีก่อน ครั้งแรกที่หยิบมาอ่านยอมรับตามตรงว่า "อ่านไม่รู้เรื่อง" และถึงขณะนี้ก็ยังไม่รู้เรื่องราวว่ามันยังไงกันแน่ แต่ทุกครั้งที่พยายามอ่าน ผมจะต้องเกิดความทึ่งในวิธีการเล่าเรื่องของผู้เขียนทุกครั้ง และความทึ่งนี้แหละ ทำให้อยากจะลองเขียนเลียนแบบดูสักตั้ง

โดยส่วนตัวแม้จะได้อ่านงานเขียนแนวเหนือจริงมาบ้าง และส่วนใหญ่มักจะเป็นการบรรยายสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เห็นภาพซ้อนทับกันในจินตนาการของผู้แต่งมากกว่า อย่างเช่นการบรรยายนิมิตขณะบรรลุธรรมของเฮอร์มานน์ เฮสเสในเรื่องสิทธารถะ หรือแม้แต่ผลงานโหด ๆ อ่านยากเช่นสเต็ปเปนวูฟ ที่มีการบรรยายแนวเหนือจริงแทบตลอดเล่ม แต่งานของบรูโน ชูลซ์แตกต่างออกไปมาก

งานของบรูโน ชูลซ์ เรื่องนี้บรรยายภาพสิ่งที่เราเห็นได้อยู่แล้วออกมาเป็นแบบที่เราไม่เคยคิด หรือมองเห็นแบบนั้นมาก่อน และผู้อ่านจะต้องพยักหน้ายอมรับตามภาพที่เขาวาดออกมาด้วยตัวอักษรนั้นได้(หลังจากอ่านทวนสักหลายรอบ) และภาพที่เห็นจากการอ่านนั้น ก็มักจะติดตากว่าภาพสามัญทั่วไปซะอีก

หมายเลขบันทึก: 156383เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2007 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท