สัญญาประชาคม หลักแห่งสิทธิทางการเมือง


สัญญาประชาคม หรือ ดู กองทรัค โซสิอาล หรือหลักแห่งสิทธิทางการเมือง ว่าด้วยบ่อเกิดและพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย คือ ความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ โดยพลเมืองแห่งเจนีวา -ฌอง ฌากส์ รูสโซ

หนังสือที่เหมาะกับกาละขณะนี้เล่มหนึ่ง ซึ่งทับหนังสือเสนอออกมาก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งล่าไม่นาน เป็นหนังสือที่โลกรู้จัก นักเรียนนักศึกษารู้จัก ไม่ว่าจะนักเรียนประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ หรือแม้แต่การศึกษา

เพราะ "สัญญาประชาคม" หรือ "ดู กองทรัค โซสิอาล" หรือหลักแห่งสิทธิทางการเมือง ว่าด้วยบ่อเกิดและพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยคือ ความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ โดยพลเมืองแห่งเจนีวา "ฌอง ฌากส์ รูสโซ" เล่มนี้

ทั้งถูกพูดถึงและถูกนำมาอ้างอิง ติดต่อกันยาวนานกว่า ๒๕๐ ปี

ประเทศซึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองมา ๗๕ ปี จะมากจะน้อยนักเรียนการเมืองรุ่นแรกๆ ย่อมได้รับผลสะท้อนจากความคิดของรูสโซ เป็นแนวทางหนึ่งซึ่งทรงอิทธิพลอย่างมาก อย่างน้อยก็กระตุ้นความคิดอ่านเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ขึ้นมา

จนวันนี้ ยังสงสัยได้ว่า มีคนแวดวงการเมืองไทยได้อ่านกันสักกี่คน

ยิ่งบรรดาทาก เพลี้ย มด มอด แมลงการเมือง ที่คอยกัดแทะบ่อนเบียนประชาธิปไตย ยิ่งไม่ต้องถามถึง

หนังสือพิมพ์อย่างดีปกกระดาษแข็งสีสวย เย็บสัน หนา ๓๐๐ หน้า เล่มนี้ นอกจากลำดับชีวิตและงานของฌอง ฌากส์ รูสโซ กับคำนำผู้ประพันธ์แล้ว แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๔ ตอน ๔๘ บท ประกอบด้วยตัวอย่างเช่น

ตอนที่ ๑ สังคมเริ่มแรก, สิทธิของผู้แข็งแรงที่สุด, ความเป็นทาส, จำเป็นต้องหวนกลับสู่ข้อตกลงครั้งแรกเสมอ, ข้อตกลงทางสังคม, รัฏฐาธิปัตย์, ภาวะที่เป็นสังคม, กรรมสิทธิ์ในที่ดิน

ตอนที่ ๒ อำนาจอธิปไตยมิอาจถ่ายโอนกันได้, อำนาจอธิปไตยเป็นสิ่งที่แบ่งแยกมิได้, เจตจำนงร่วมผิดพลาดได้หรือไม่, สิทธิในชีวิตและความตาย, กฎหมาย, ผู้บัญญัติกฎหมาย, ประชาชน ฯลฯ

ตอนที่ ๓ ว่าด้วยรัฐบาลโดยทั่วไป, หลักการต่างๆ ที่ใช้ในการก่อตั้งรัฐบาล, รูปแบบของรัฐบาล, ประชาธิปไตย, อภิชนาธิปไตย, ราชาธิปไตย, รัฐบาลแบบผสม, ใช่ว่ารัฐบาลทุกรูปแบบจะเหมาะสมกับทุกประเทศ ฯลฯ

ตอนที่ ๔ เจตจำนงร่วมเป็นสิ่งที่ทำลายไม่ได้, การออกเสียง, การเลือกตั้ง, สมัชชาประชาชนโรมัน, ศาล, ผู้เผด็จการ, ผู้เซนเซอร์, ศาสนาพลเมือง ก่อนจะสรุป และมีเชิงอรรถของผู้เขียนกับเชิงอรรถของผู้แปลคือ "วิภาดา กิตติโกวิท"

เพียงไล่เรียงแต่ละตอนแต่ละบทตามที่กำกับมา คนชอบเรียนย่อมเห็นแล้วว่า น่าสนใจศึกษาน่าใคร่ครวญขนาดไหน น่าคิดว่าหากชาวสยามได้อ่านได้คิดในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ในขณะที่สภาพสังคมก็ใกล้เคียงกัน เพียงแต่สำนักคิดและพื้นฐานของการถือศาสนาแตกต่างกันไปนั้น จะเกิดปฏิกิริยาแบบใด

เพราะแม้แต่ยุคอวกาศซึ่งประชาธิปไตยรู้จักนิยมกันกว้างขวางนี้ คนที่ต้องศึกษาวิธีคิดอ่านบริหารสังคม เช่นนักการเมืองในเมืองไทย ยังล้าหลังชาวบ้านประชาชนคนทำกินไม่รู้ไกลเท่าไหร่ อย่าว่าแต่จะห่างรูสโซมาแล้ว ๒๕๐ กว่าปีเลย

มีเวลาวันหยุดช่วงปีใหม่ที่จะถึง หากจะช่วยกันทำบุญเป็นคุณกับบ้านเมืองสักหน่อย ก็ช่วยกันหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันบ้างเถิด

** ลำแข. คอลัมน์ งานเป็นเงา "สัญญาประชาคม". หนังสือพิมพ์มติชน, วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10883, หน้า 25.

หมายเลขบันทึก: 156253เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2007 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สัญญาประชาคม(ในความหมายที่นำมาใช้ในการเมืองไทยปัจจุบัน) หมายถึง ความตกลงร่วมกันของประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ร่วมกันหรือกลุ่มคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน กับฝ่ายตรงข้าม เพื่อเป็นการแสวงความตกลงและทางออกของปัญหาซึ่งเป็นปัญหาที่มีผลกระทบในวงกว้างซึ่งหากปล่อยไว้อาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม

ความหมายที่แท้จริงนั้น "สัญญาประชาคม"(Social Contract) หมายถึง ทฤษฎีสัญญาประชาคม อันเป็นนัยตามหลักกฎหมายธรรมชาติ มีลักษณะเป็น สำนึกของจริยธรรม ที่ผู้ปกครองควรตระหนักถึง สิทธิบางประการที่ผู้อยู่ใต้ปกครอง(ประชาคม)ได้ยอมสละไป(อาจเรียกได้ว่ายอมอยู่ใต้อำนาจของผู้ปกครอง) เพื่อความปลอดภัยของตนในสิทธิและเสรีภาพที่ยังคงเหลืออยู่ แนวคิดเช่นนี้เองที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย โดยตรรกกะจากสำนึกจริยธรรมดังกล่าว หากมองในมุมกลับกันก็หมายความว่า อำนาจแท้จริงของผู้ปกครองนั้นมาจากประชาชนนั่นเอง ดังนั้นประชาชนควรจะเป็นผู้ที่ใช้สิทธิของตนเลือกผู้ปกครองขึ้นมา และในการนี้วิธีที่เหมาะสมก็คือการใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน

มีนักคิดหลายคนที่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนในการริเริ่มแนวคิดเรื่องสัญญาประชาคม เช่น

[[โทมัส ฮอบบ์ - Thomas Hobbes)ปรากฏอยู่ในหนังสือ Leviathan (1651)]

[[จอห์น ลอค - John Locke)ปรากฏในหนังสือ Two Treatises of Government(1689)]

[(ฌองค์ ยาร์ค รุสโซ่ - Jean Jacques Rousseau)ปรากฏอยู่ในหนังสือ Du Contrat social (1762)]

อย่างไรก็ตามจุดริเริ่มแนวคิดนี้ในหนังสือ Leviathan(The Matter, Forme and Power of a Common Wealth Ecclesiasticall and Civil)นั้น ฮอบบ์ไม่ได้เขียนเพื่อมุ่งกล่าวถึงสัญญาประชาคมโดยเฉพาะเจาะจง แต่มุ่งอธิบายถึงธรรมชาติของมนุษย์และโครงสร้างสังคม เป็นที่น่าสังเกตุว่า ตัวฮอบบ์เองนั้นปฏิเสธหลักการแบ่งอำนาจอธิปไตย ไม่ปฏิเสธระบอบกษัตริย์ แต่กล่าวถึงแนวทางการใช้อำนาจที่เหมาะสมเท่านั้น

**http://th.wikipedia.org/wiki/สัญญาประชาคม 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท