คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ


ความจริงคนที่อายุ 80 เชื่อว่า มีกำลังที่จะปฏิบัติงานได้อีก ไม่ใช่น้อย

1.  บทนำ1.1   ความสำคัญของคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตต่อสังคมไทยเป็นที่ประจักษ์กันโดยทั่วไปแล้วว่าคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย มาเป็นระยะเวลากว่า 4 ทศวรรษ นับเนื่องแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเสด็จประภาสโรงงานคอมพิวเตอร์ใหญ่ของไอบีเอ็มที่ซิลิคอนวอลเล่ย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2503 เพื่อจุดประกายให้วงการคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยคิดถึงการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติให้ทัดเทียมประเทศที่เจริญแล้ว[1]         ในโอกาสนี้ผู้เขียนขออัญเชิญเรื่องราวเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และผู้สูงอายุมานำเสนอเพื่อเป็นเครื่องระลึกในพระมหากรุณาธิคุณและถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตนตามรอยเบื้องพระยุคบาทของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลในการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับเนื่องกว่า 61 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ และกว่า 80 พรรษาแห่งพระชนมายุ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทรงสนับสนุนให้มีการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทย ที่มีลักษณะงดงามเพื่อแสดงผลบนจอคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อประดิษฐ์บัตร ส.ค.ศ. พระราชทานพรแก่พสกนิกรชาวไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่เป็นประจำทุกปี ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยในการออกแบบและจัดทำโปรแกรมพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ (โปรแกรมนี้ว่า BUDSIR: Buddhist Scriptures Information Retrieval) รวมทั้งมีพระราชวิจารณ์ในการออกแบบโปรแกรมสำหรับสืบค้นข้อมูลดังกล่าว ทรงเป็นผู้นำการพัฒนาพหุสื่อ(Multimedia) อาทิเช่น การทำให้คอมพิวเตอร์พูดภาษาไทยได้ชัดขึ้น ตลอดจนทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ และทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชกรณียกิจต่างๆ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังสนพระทัยและทรงพระปรีชาสามารถในด้านอินเทอร์เน็ต ดังที่ ศาสตราจารย์ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ได้กล่าวไว้ว่า ได้รับทราบจากข้าราชบริพารว่า ทรงใช้อินเทอร์เน็ตอยู่บ่อยมากจนอาจจะกล่าวได้ว่า
ทรงพระปรีชาสามารถในด้านอินเทอร์เน็ตไม่น้อยกว่าผู้ใดในประเทศไทย
[2]  นับได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้นำและจุดประกายวงการคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง[3]  
                หากย้อนไปเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2529 ม.ล.อัศนี ปราโมช ได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอซพลัส ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ท่านจึงทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก ดังพระราชดำรัส (ซึ่งพระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2530) ความว่า[4]                   เดี๋ยวนี้ เด็กๆ อายุ 10 ขวบ เล่นคอมพิวเตอร์เป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่ามีปมด้อยขึ้นมาว่าเล่นคอมพิวเตอร์ไม่เป็น

                   ...แล้ววันหนึ่ง ก็มีคนหนึ่ง เอาคอมพิวเตอร์มาให้บอกว่า อันนี้ เขียนดนตรี ก็เลยรับเอาไว้ ที่จริงรับเอาไว้เขาไม่ได้ให้เพราะว่าไปซื้อมาก็เงินของเราเอง เราซื้อเราก็ยังกลัว มองดูแล้วไม่รู้จะทำยังไง แต่ถึงตอนปีใหม่ ก่อนปีใหม่ นิดหนึ่ง ก็เอาคอมพิวเตอร์ขึ้นไปตั้งในห้องทำงานแล้วก็จิ้มไป เขาบอกว่าเขียนหนังสือได้ เขียนรูปได้ ก็เริ่มลองเขียนหนังสือ ก็เขียนสำหรับอวยพรปีใหม่เป็นบัตร ส.ค.ส. แล้วก็เขียนไปๆ เอ้อ... ออกมาได้ เขียนออกมาเป็นตัวได้ ก็แปลกดี

                 ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เพียงแต่ทรงงานด้วยคอมพิวเตอร์เท่านั้น หากแต่ทรงสนพระทัยในการศึกษาเทคนิคการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆ บางครั้งได้ทรงเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ออกดูระบบภายในเครื่องด้วยพระองค์เอง ทรงปรับปรุง Software ใหม่ขึ้นมาใช้เอง และบางครั้งทรงแก้ไขปรับปรุง Software ในเครื่อง เช่น โปรแกรมภาษาไทย CU Writer ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ (โปรแกรมประมวลคำ-Word Processor ในช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งมีการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) อย่างแพร่หลาย ซึ่งพัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อมีปัญหาไวรัสในเครื่องคอมพิวเตอร์เกิดขึ้น พระองค์ท่านทรงห่วงว่าไวรัสจะทำลายข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ ดังนั้น เมื่อทรงใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์จึงทรงระมัดระวังมาก และทรงเก็บ (Copy) ข้อมูลไว้หลายชุด[5]แม้ในวันที่พระองค์ท่านเจริญพระชนมายุมากแล้ว พระองค์ท่านก็ยังคงใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเสมอมามิได้ขาด นับได้ว่าเป็นความโชคดียิ่งของพสกนิกรชาวไทยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้นำด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง โดยทรงเน้นถึงการประหยัดและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ นำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขของพสกนิกรชาวไทยโดยถ้วนหน้า  กำลังใจจากในหลวงต่อผู้สูงวัย 

"ดอกบัวในใจยังคงบานอยู่ ไม่มีวันโรยรา"ที่นครพนม บนเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินตรงสามแยกชยางกูร-เรณูนคร บ่ายวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 นายอาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ได้บันทึกภาพในวินาทีสำคัญที่กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่งของประเทศ ภาพแม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ วัย 102 ปี ไปรอรับเสด็จ พร้อมดอกบัวสายสีชมพู จำนวน 3 ดอก ตั้งแต่เช้าจนบ่าย แสดงแดดแผดเผาจนดอกบัวสายในมือเหี่ยวโรย แต่หัวใจรักภักดีของหญิงชรายังเบิกบาน เมื่อในหลวงเสด็จฯ มาถึงตรงหน้า แม่เฒ่าได้ยกดอกบัวสายโรยรา 3 ดอกนั้นขึ้นจบเหนือศรีรษะแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง พระเจ้าแผ่นดินทรงโน้มพระหัตถ์แตะมือกร้านคล้ำของเกษตรกรชราชาวอีสานอย่างนิ่มนวล ไม่มีใครรู้ว่าทรงกระซิบคำใดกับแม่เฒ่า             แต่แน่นอนว่าแม่เฒ่าไม่มีวันลืมเช่นเดียวกับที่ในหลวงไม่ทรงลืมราษฎรคนสำคัญที่ทรงพบริมถนนวันนั้น หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ แล้วทางสำนักพระราชวังได้ส่งภาพรับเสด็จของแม่เฒ่าตุ้ม พร้อมพระบรมรูปหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์ผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนมให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึก พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ อาจมีส่วนชุบชีวิตให้แม่เฒ่ายืนยาวอีกด้วยความสุขต่อมาอีกถึงสามปีเต็มๆ ...(คัดลอกจากหนังสือ ในหลวงของฉัน ในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับผู้สูงอายุ อันเป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ สมควรนำมากล่าวไว้เพื่อเป็นเครื่องระลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ดังนี้จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้แก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าถวายพระพร ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา (5 ธันวาคม 2549)  พระองค์ท่านตรัสถึง คนแก่ หรือผู้สูงอายุ ว่าไม่ควรมองข้าม ยังความปลื้มปิติให้กับ ผู้สูงอายุ ทุกเพศทุกวัยทั่วประเทศ ดังความตอนหนึ่งของกระแสพระราชดำรัสที่ว่า[6]...ความจริงคนที่อายุ 80 เชื่อว่า มีกำลังที่จะปฏิบัติงานได้อีก ไม่ใช่น้อย ฉะนั้น ที่พูดเริ่มต้นนี้ดูท่าทางเหมือนว่าน้อยใจว่าอายุมาก แต่ถ้าอายุมากขึ้น เป็นประโยชน์ได้เปรียบ คนไหนที่อายุน้อยๆ เสียเปรียบ เพราะไม่มีความรู้ เรียกว่า คนที่อายุน้อยๆ เป็นคนที่เซ่อ เป็นคนที่ไม่มีความสามารถ ฉะนั้น คนที่อายุมากๆ เป็นคนที่ได้เปรียบ เพราะว่าถ้าคุณสมบัติของคนที่มีอายุ เรียกว่า มีประสบการณ์ ก็ต้องถือว่าเป็นคนที่ได้เปรียบ แล้วก็คนที่อายุน้อย อาจจะดูถูกคนที่อายุมาก เพราะมีปมด้อยนั่นเอง คนที่อายุน้อยๆ แล้วก็ไม่มีความสามารถ เลยต้องดูถูกคนที่อายุมาก แต่ก็ขอบอกว่าคนที่อายุมาก ถ้ารักษาความดี รักษาคุณสมบัติ คุณธรรม ก็ได้เปรียบคนที่อายุน้อย และในประเทศชาติถ้ามีคนที่มีอายุมากและได้เปรียบ ถ้าท่านมีจะทำงานได้ ถ้ามีแต่คนเด็กๆ ที่ไม่ถือว่ามีความสามารถ ชาติบ้านเมืองไม่ก้าวหน้า จะต้องพูดอย่างนี้ท่านผู้ใหญ่ก็อาจจะบอกว่า นี่แหล่ะ คนที่อายุมากมีประโยชน์       แต่คนที่อายุมาก แต่ว่าเมื่อใช้ความได้เปรียบของความมีอายุมาก ก็เป็นเด็ก เป็นคนที่มีอายุเยาว์ เป็นคนที่เยาว์ในความคิด และอันตรายมาก เพราะมีคนที่เขาบอกว่าเขาแก่แล้ว เขาน้อยใจว่าแก่ น้อยใจว่าแก่ คนอย่างนี้เป็นคนที่ไม่เป็นผู้ใหญ่ แล้วคนที่ไม่เป็นผู้ใหญ่ทำให้บ้านเมืองล่มจมได้ มัวแต่ไปน้อยใจว่าอายุมาก แก่ แล้วก็ไม่ใช้ความอายุมากเป็นประโยชน์ น่าอนาถ ถ้ามัวแต่บอกว่าเราแก่ แล้วก็น้อยใจว่าแก่ ไม่มีดีเลย ก็แสดงให้เห็นว่าแก่จริงๆ หงำเหงอะ เรียกว่าหงำเหงอะ ที่บอกว่า แก่ แล้วไม่ใช้ความแก่ ความชรา ความก้าวหน้า จิตใจที่อายุมาก ที่มีประสบการณ์ มาใช้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและต่อส่วนรวม ถ้าคนที่อายุมาก แล้วก็ใช้ความอายุมากเป็นประสบการณ์ คนมีประสบการณ์นั้นช่วยคนอื่นได้มาก เราก็ควรที่อย่าเอาคนที่ไม่มีประสบการณ์ทำให้บ้านเมืองล่มจมได้ เพราะว่าคนที่เชื่อว่า คนอายุมากเป็นคนไม่มีประสบการณ์ คนที่อายุมากมีประสบการณ์ จะมีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหนแต่ก็มีประสบการณ์ เราเรียนมามากหรือน้อยแต่ก็มีประสบการณ์ ประสบการณ์นี้ช่วยให้ส่วนรวมก้าวหน้าได้...ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำให้สัมภาษณ์ของ ผู้สูงวัย ที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[7] อันแสดงซึ่งความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านอย่างหาที่สุดมิได้มานำเสนอ (ทั้งนี้ อายุของผู้ให้สัมภาษณ์เป็นอายุในปี พ.ศ. 2549) ดังนี้นางสาวพูนศรี รัศมี วัย 69 ปี ที่ออกจากบ้านที่จังหวัดสุพรรณบุรีตั้งแต่ตี 3 เพื่อมาจับจองพื้นที่ที่ใกล้เบื้องพระยุคลบาท มากที่สุด ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ด้วยหวังว่าจะได้ชื่นชมพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใกล้ๆ บอกว่า แม้จะเคยมานั่งรับเสด็จ แล้ว 5 ครั้ง แต่สำหรับปีนี้ เป็นปีที่พิเศษเพราะรู้สึกตื้นตันในพระราชดำรัสที่ทรงให้ไว้ถึงผู้สูงอายุ "ตอนที่ในหลวงท่านมีพระราชดำรัสว่า คนแก่ก็มีคุณค่า มีประโยชน์ อย่ารู้สึกน้อยใจ ฉันขนลุก มีความสุข ปลื้มใจมาก คิดได้ประเดี๋ยวนั้นเลยว่า ฉันจะต้องแข็งแรง ทำตัวมีคุณค่าต่อครอบครัวและสังคมมากขึ้น เมื่อก่อน ฉันอยู่ไปวันๆ เพราะฉันมีโรคประจำตัวหลายโรคด้วย ทั้งโรคเบาหวาน และโรคโลหิตจาง คิดว่าสุขภาพแย่ ก็เลยพาลไม่อยากทำอะไร แต่หลังจากวันนี้ฉันขอสัญญาเลยว่าจะไม่ทำตัวให้เป็นภาระลูกแล้ว จะดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อดูแลลูกหลานให้เป็นคนดี เพื่อถวายพระองค์ท่านต่อไป"ส่วน นางเง็กเกียว แซ่ลิ้ม "อาม่า" วัย 72 ปี ที่แม้ขาจะไม่ค่อยดีด้วยความชรา แต่ก็อดทนนั่งเฝ้าฯรับเสด็จตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อขอให้ได้เห็นพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครั้งหนึ่งในชีวิต"วันนี้เป็นครั้งแรกที่มาเข้าเฝ้าฯ ตอนแรกลูกก็เตือนว่าจะไหวหรือเปล่า เพราะอากาศร้อน และที่ทางที่เจ้าหน้าที่จัดให้ก็คงคับแคบ แต่ฉันยืนยันบอกกับลูกว่า ฉันไหว เพราะรู้สึกปลื้มใจที่ในหลวงเห็นคุณค่าของคนแก่ หลังจากที่พระองค์มีพระราชดำรัสเสร็จเรียบร้อย ฉันหันไปสอนลูกหลานทันทีว่า ในหลวงยังห่วงประชาชนราษฎร ดังนั้น เราต้องทำความดีเป็นคนดีถวายท่าน ถึงคนรุ่นใหม่จะมองว่าคนแก่ เป็นไม้ใกล้ฝั่ง แต่ก็ยังเป็นไม้ที่มีคุณค่า อยากให้ในหลวงอยู่กับประชาชนนานๆ ต่อไป ชาตินี้เกิดมาก็คุ้มแล้วที่ได้เกิดมาอยู่ใต้พระบารมีของพระองค์"ด้าน นายพวง ปุงบางกะดี่ วัย 72 ปี ผู้สูงวัยอีกคนหนึ่ง ที่ตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อมาเฝ้าฯรับเสด็จบอกว่า รู้สึกดีใจ ปลาบปลื้มที่สุด ที่ท่านมีพระราชดำรัส เห็นประโยชน์ของคนแก่ อยากใช้ชีวิตอยู่ต่อไป "ผมคิดว่า พระราชดำรัสของในหลวง จะเป็นแรงกระตุ้นให้คนแก่ทุกคนรวมทั้งผมด้วยให้ลุกขึ้นมาสู้ และไม่คิดน้อยใจว่า เป็นเพียงคนแก่ที่ไม่มีความหมาย ในชีวิตนี้ผมไม่เคยแตะต้องอบายมุข เพราะรักพระองค์มากที่สุด อยากทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความดี เพื่อให้คุ้มค่าที่เกิดมาเป็นคนไทย อยากฝากให้คนแก่ทุกคนลุกขึ้นสู้ และสอนลูกหลานทำความดีถวายท่าน" ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา วัย 67 ปี พ่อตัวอย่างแห่งชาติ ประจำปี 2549 เผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้ทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต อย่างเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ชีวิตอย่างพอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อ "ได้ฟังพระราชดำรัสของพระองค์ท่านที่ตรัสถึงคนแก่ ว่ามีประโยชน์ มีคุณค่า ให้นำประสบการณ์ ความรู้เข้ามาบริหารประเทศชาติเจริญก้าวหน้านั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ที่ทรงให้ความสำคัญกับคนแก่ เพราะความจริงคนแก่แม้จะอายุมาก ทำงานช้า สู้คนหนุ่มๆ ไม่ได้ แต่ความรอบรู้และประสบการณ์ของคนแก่นั้นที่มีมากกว่าหนุ่มๆ ก็สามารถนำพาให้ประเทศชาติผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปได้ จึงอยากให้คนแก่ทุกคนใช้ประสบการณ์ ความรู้และความรอบรู้ ทำงานพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป เพราะทุกคนไม่ว่าจะอายุมากหรือน้อยต่างก็มีคุณค่าในตัวของตัวเองอยู่แล้ว"จากพระราชกรณียกิจนานัปการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิบัติมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า รวมตลอดถึงผู้สูงอายุ โดยพระองค์ท่านทรงใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรในสังคมไทย และได้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลกโดย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ได้ ทูลเกล้าฯ ถวาย "รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์" หรือ “UNDP Human Development Lifetime Achievement Award” รางวัลประเภท Life-long achievement ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับรางวัลประเภทนี้เป็นบุคคลแรกของโลก จากการที่ได้ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและทรงพระวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ เพื่อยังประโยชน์และความเจริญอย่างยั่งยืนมาสู่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศมาโดยตลอด โดยนายโคฟี่ อันนัน (Kofi Annan) เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น เป็นผู้ทูลเกล้าถวาย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549[8]เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ปวงข้าพระพุทธเจ้าและพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าขอน้อมถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมใจของไทยทั้งชาติ ตราบกาลนานเทอญ    1.2    คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต : จุดเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ              คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง มวลมนุษยชาติต่างตระหนักดีถึงอิทธิพลของคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง จนอาจกล่าวได้ว่า คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของโลกและวิถีชีวิตของมนุษย์ไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์ หรือ Globalization อันเป็นยุคที่การติดต่อสื่อสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ และการคมนาคมขนส่ง ทำให้โลกทั้งโลกสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรมมีความเชื่อมโยงทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ชุมชน หน่วยธุรกิจ และรัฐบาลทั่วทั้งโลก[9] คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นประดิษฐกรรมและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดคลื่นลูกที่สามในช่วงปลายทศวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกระบวนการโลกาภิวัตน์ และรุนแรงมากขึ้นในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ตามความเห็นของอัลวิน ทอฟเฟลอร์ (Alvin Toffler) ผู้เขียนหนังสือคลื่นลูกที่สาม (The Third wave) คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ช่วยให้การจัดเก็บและส่งผ่านข้อมูลทำได้ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที การสื่อสารระยะไกลเปรียบเสมือน Electronic Superhighways อันมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจดังเช่นที่รถไฟเคยก่อให้เกิดการปฏิวัติของคลื่นลูกที่สองในราว ค.ศ. 1750 ต่อจากคลื่นลูกแรก คือ การปฏิวัติทางด้านการเกษตรกรรมในราว ค.ศ. 1450 คลื่นลูกที่สามขับเคลื่อนด้วยความรู้ในรูปของข้อมูลข่าวสาร อันเป็นทรัพยากรที่มีค่า สามารถแลกเปลี่ยน ส่งผ่านและนำไปใช้ได้ทันที[10] ถึงกับกล่าวกันว่าโลกได้แบนราบลงเป็นหนึ่งเดียวกัน (The World is Flat) โลกาภิวัตน์ได้ทำให้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและข้อมูลข่าวสาร ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน และไม่เว้นแม้แต่วัยชรา หรือกลุ่มผู้สูงอายุ          จากกระแสของโลกาภิวัฒน์ ได้ทำให้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีการลดลงของอัตราการเกิดและอัตราการตาย ทำให้ ภาวะประชากรสูงอายุในประเทศไทยสูงขึ้น ประเทศกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" (Aging Society) ซึ่งหมายถึง สังคมของคนที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จนเป็นที่กังวลของทุกภาคส่วนว่าการมีประชากรผู้สูงอายุมากนี้ จะนำมาซึ่งปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงในอนาคต ซึ่งจากข้อมูลของ United Nations (2007) World Population Ageing พบว่า หลังจากปีพ.ศ. 2552  ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิง ได้แก่ เด็ก และผู้สูงอายุ จะมีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการลดภาวะเจริญพันธ์อย่างรวดเร็วและการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปีพ.ศ. 2550 จะมีจำนวน 7,187,000 คน (ร้อยละ 11)  ปีพ.ศ. 2568 จะมีจำนวน 13,958,000 คน (ร้อยละ 19.2)  ปีพ.ศ. 2593 จะมีจำนวน 20,702,000 คน (ร้อยละ 27.8)[11]  จึงได้มีการเตรียมพร้อมรับปัญหาดังกล่าวโดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนร่วมกันดำเนินงานเพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุนสถานภาพ บทบาท และกิจกรรมของผู้สูงอายุ โดยการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุขึ้น เป็นนโยบายระดับชาติ มีแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 - 2564) มีกฎหมายที่ใช้คุ้มครองผู้สูงอายุโดยตรง คือ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มีการจัดตั้งสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ (www.oppo.opp.go.th) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมศักยภาพ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่ "สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ" และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศจะเห็นได้ว่าการผสานกันระหว่างคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ได้มีส่วนสำคัญในการเกิดโลกาภิวัตน์ อันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในสังคมโลก รวมทั้งวิถีชีวิตผู้สูงอายุ เทคโนโลยีดังกล่าวได้ทำให้เกิดเว็บไซต์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail) ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุในปัจจุบันมีวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตดีขึ้น นับเป็นข้อดีประการหนึ่งของเทคโนโลยีในยุคโลกาภิวัตน์ ผู้สูงอายุที่เกษียณตัวเองจากการทำงาน หลายท่านได้ใช้เวลาว่างในการศึกษาค้นคว้า แสวงหา ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนความรู้อันเกิดจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้สั่งสมมายาวนาน เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง และประโยชน์โดยตรงแก่ผู้สูงอายุเอง โลกของอินเทอร์เน็ตได้ทำให้ผู้สูงอายุมีสังคมเสมือน (Virtual Society) กับคนในวัยเดียวกันจากทั่วประเทศ และอาจทั่วทุกมุมโลก     2.  คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงอายุ2.1 คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตกับผู้สูงอายุคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมต่อเข้าสู่โลกออนไลน์ของเครือข่ายอิเทอร์เน็ต ซึ่งเต็มไปด้วยบริการที่หลากหลายอันเป็นแหล่งสาระความรู้ ความบันเทิงแก่ผู้สูงอายุ ได้แก่ เว็บไซต์ต่างๆ ที่สามารถให้ข้อมูลทุกอย่างที่อยากรู้ (จนมีผู้กล่าวไว้ว่าเว็บไซต์คือห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก) บริการรับ-ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ การสืบค้นข้อมูลออนไลน์ การสนทนาออนไลน์ เป็นต้น  ผู้สูงอายุหลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างดีในช่วงวัยก่อนเกษียณการทำงาน และท่านเหล่านั้นก็คงจะประจักษ์ด้วยตนเองแล้วว่าคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตนั้น มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้เพียงใด แต่ผู้สูงอายุหลายท่านก็ไม่คุ้นเคย หรือไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาก่อน ก็อาจมีความรู้สึกว่าคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ยุ่งยากต่อการใช้งาน และทันสมัยเกินไปสำหรับตนเอง จากรายงานตัวชี้วัดการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย (ICT Indicators) สำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2549 พบว่า มีกลุ่มผู้สูงอายุ (55 ปีขึ้นไป) ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณร้อยละ 3.6 ของประชากร (ประมาณ 2,261,833 คน) และใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ ร้อยละ 2.0 ของประชากร (ประมาณ 1,256,574 คน)[12] (ปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยมี 62,828,706 คน[13]) และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการเพิ่มของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (ปี 2550 (ข้อมูล ณ สิงหาคม 2550) มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 8,465,800 คน คิดเป็นร้อยละ 12.59 จากประชากร 67,249,456 คน[14]) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการตัวเลขผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยจะสูงถึงประมาณ 10.1 ล้านคนในปีพ.ศ. 2551 และมีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น[15] ในต่างประเทศนั้น ขอยกตัวอย่างการสำรวจสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตในกลุ่มผู้สูงอายุชาวอังกฤษ[16] (พ.ศ. 2549) พบว่า เพียงร้อยละ 28 ของผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีเท่านั้นที่มีอินเทอร์เน็ตใช้งานที่บ้าน เทียบกับสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมดของประเทศที่คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยราวร้อยละ 57 ของครัวเรือนทั้งหมด การใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้สูงอายุที่ยังน้อยอยู่นั้นส่งผลให้เกิดปัญหาการเสียโอกาสในการรับบริการ

หมายเลขบันทึก: 156248เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2007 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท