กว่าจะเป็นปฏิวัติเขียว


เปลี่ยนพันธุ์ เปลี่ยนวิธีการผลิต เปลี่ยนเทคโนโลยี และ เปลี่ยนวิถีชีวิตของเกษตรกร

กว่าจะเป็นปฏิวัติ (เขียว)[๑] 

ปฏิวัติเขียว :

 GREEN  REVOLUTION     หมายถึง การเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรกรรมจากแบบดั้งเดิมมาสู่การเกษตรแผนใหม่  ที่ให้ผลผลิตสูง โดยใช้พันธุกรรมที่ผสมขึ้นมาใหม่   ใช้ปุ๋ยเคมี    สารเคมีกำจัดศัตรูพืช  เครื่องจักรกลทางการเกษตร  ระบบชลประทานแผนใหม่ และความรู้ด้านการจัดการฟาร์ม   การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการเกษตรเกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศแรกที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้น โดยประมาณ พ.ศ. ๒๓๔๓   เจ้าของที่ดินที่มีฐานะร่ำรวยได้เริ่มหาวิธีการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของตน   โดย ชาร์ล ไวส์เคาท์  ทาวน์แซนด์ ได้คิดค้นวิธีเพิ่มผลผลิตในที่ดินเท่าเดิมให้มากขึ้นโดยปลูกพืชหลายชนิด เช่น ข้าวบาร์เลย์ ถั่ว ข้าวสาลี และหัวผักกาด หมุนเวียนสลับกันไป ทำให้มีการใช้ที่ดินอย่างเต็มที่  ภายหลังจากนั้นเกิดนักคิดหลายท่านได้คิดค้นเครื่องจักรกลในการทำฟาร์ม  รวมทั้งเขียนตำราว่าด้วยวิธีการทำการเกษตรให้มีผลกำไรมากขึ้น   ระบบเกษตรแบบใหม่ที่ใช้ทุนและการจัดการฟาร์มที่มีแรงกระตุ้นจากความต้องการผลกำไรได้เข้ามาแทนที่การเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมในประเทศอังกฤษอย่างรวดเร็ว      การปฏิวัติเกษตรกรรมได้แผ่ขยายสู่ประเทศต่างๆ ใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมนี  โดยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร การจัดการฟาร์มที่เป็นระบบ และการใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เยอรมนีนั้นถือว่าเป็นประเทศแรกๆที่มีการนำปุ๋ยเคมีเข้ามาใช้ในการเกษตร  เช่น ระหว่างปี ๒๔๓๘-๒๔๕๕ มีการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเพิ่มขึ้น ๓ เท่า ปุ๋ยฟอสฟอรัส เพิ่มขึ้น ๒.๕ เท่า และปุ๋ยโปตัสเซียมเพิ่มขึ้น ๘ เท่ารวมถึงมีการนำเอาพันธุ์พืชใหม่ๆ จากดินแดนอาณานิคมมาทดลองปลูกทั้งในยุโรปเอง  และการนำเอาพืชจากดินแดนอาณานิคมหนึ่งไปยังอีกอาณานิคมหนึ่งซึ่งมีเงื่อนไขการผลิตที่ดีกว่า เช่น มีแรงงานราคาถูกมากกว่า ใกล้กับตลาดหรือสะดวกต่อการขนส่งเพื่อป้อนอุตสาหกรรมของตนได้มากกว่า       

      สำหรับสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุที่เป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ และเป็นแหล่งรองรับการหลั่งไหลเข้ามาแสวงโชคของชาวยุโรป ทำให้การเกษตรในสหรัฐขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว โดยในระยะแรกนั้นการเพิ่มขึ้นของผลผลิตทางการเกษตรเกิดขึ้นจากการขยายพื้นที่การเกษตร และนำเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาใช้ ควบคู่กับการนำทาสผิวดำจากแอฟริกามาใช้ในกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงาน เช่น การทำไร่ฝ้าย   ปฏิวัติเขียวในอเมริกาเกิดขึ้นภายหลังการจัดตั้งสถาบันสอนวิชาการและสถานีทดลองการเกษตรที่เรียกว่า Land Grant   เมื่อปี ๒๔๐๕   โดยภายหลังการจัดตั้งสถาบันดังกล่าว  ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรของสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกในปี ๒๔๙๓            

  ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง เทคโนโลยีการเกษตรแบบตะวันตกได้ถูกเผยแพร่มายังประเทศโลกที่สาม หรือกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา   แต่ก็ยังไม่กว้างขวางมากนัก เช่นในกรณีประเทศไทย ได้มีการนำเอาเครื่องจักรที่ใช้ในการไถนาเข้ามาใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม  เพราะสู้การใช้แรงงานคนไม่ได้ การปฏิวัติเขียวของประเทศโลกที่สาม เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งทิ้งระยะกว่าหนึ่งศตวรรษหลังจากที่มีการนำเครื่องจักรไถนาเครื่องแรกเข้ามาใช้ในประเทศไทยด้วยความช่วยเหลือทางวิชาการของมูลนิธิ  ร็อกกี้เฟลเลอร์  ในเม็กซิโก ด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสาลีที่ให้ผลผลิตสูงและต้านทานโรคราสนิม (rust) ได้ผลอย่างรวดเร็ว  ทำให้สามารถผลิตข้าวสาลีได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการในประเทศอันถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิวัติเขียว  ด้วยความสำเร็จของร็อกกี้เฟลเลอร์ในเม็กซิโกและปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันทำให้สหรัฐหันความสนใจไปยังกลุ่มประเทศโลกที่สาม  จึงก่อเกิดโครงการใหญ่ๆ ขึ้นในหลายพื้นที่ ในส่วนของภูมิภาคเอเชียเกิดการริเริ่มเพื่อจัดตั้งสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรือ “อีรี่” ขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์  ในปี  พ.ศ. ๒๔๙๖  โดยได้รับเงินบริจาคก้อนใหญ่จากมูลนิธิฟอร์ด (Ford Foundation) และร็อกกี้เฟลเลอร์ รวมถึงได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆหลายแห่งด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเคมีเกษตร ปุ๋ย บรรษัทค้าน้ำมัน  ในส่วนของประเทศไทย กระบวนการเปลี่ยนแปลงการเกษตรไปสู่แนวทางการปฏิวัติเขียวนั้น ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก่อนตั้งสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติในประเทศฟิลิปปินส์แล้ว โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภายใต้ความช่วยเหลือของสหรัฐ ด้วยการส่งนักวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตร ๒ คน เพื่อเข้ามาช่วยเหลือทางวิชาการ คือ นักพันธุศาสตร์  เพื่อมาช่วยเหลือในโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และนักปฐพีวิทยาเข้ามาแนะนำเกี่ยวกับการสำรวจและปรับปรุงบำรุงดินในประเทศไทย โดยเริ่มโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในประเทศไทย  ด้วยการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกษตร และนักศึกษาเกษตร ในเนื้อหาพื้นฐานเกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์พืช ธรรมชาติของดินโดยเฉพาะดินในเขตร้อน และความสำคัญของปุ๋ยเคมี  หลังจากนั้นมีการเก็บตัวอย่างพันธุ์ข้าวใน  ๓๕  อำเภอ จากพื้นที่ทำนา ๙๗๘  แห่ง เพื่อทำการศึกษาและทดลองปลูก  การรับเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์จากตะวันตกได้ดำเนินไปพร้อมๆกับการปรับปรุงหน่วยงานราชการของกระทรวงเกษตรเพื่อรองรับแนวคิดใหม่ของการพัฒนาการเกษตรไปพร้อมๆกันด้วย  ความช่วยเหลือทางวิชาการของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเริ่มต้นการปฏิวัติเขียวในประเทศไทย และเป็นการเชื่อมโยงและผนวกการวิจัยการเกษตรในระดับประเทศเข้ากับสถาบันวิจัยการเกษตรระหว่างประเทศที่ประเทศฟิลิปปินส์    

        นับแต่การก่อตั้งศูนย์วิจัยข้าวนานาชาติ ที่ฟิลิปินส์   ในราวปี  ๒๔๘๖   จวบจนถึง ปี  ๒๕๐๖   ซึ่งเป็นปีแรกของการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ   ตลอดระยะเวลา ๒๐   ปี ที่นักวิชาการจากต่างประเทศเข้ามีส่วนในการชี้นำระบบการผลิต และการเกษตรในประเทศ    ตั้งแต่ช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกที่ว่าด้วยการพัฒนาระบบการผลิต    ทั้งด้านการเพิ่มปริมาณเพื่อการส่งออก และการปรบปรุงวิธีการผลิตแผนใหม่ เพื่อการเพิ่มผลผลิตต่อไร่   ด้วยแนวทางของระบบชลประทาน การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและเขื่อนขนาดใหญ่  รวมถึงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ทั้งด้านพันธุกรรม  ด้านเทคโนโลยีการผลิต  เทคโนโลยีการบริหารจัดการ   รวมถึงการก่อตั้งสถาบันวิจัยด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง และการผลิตบุคลากรที่ทีความชำนาญเฉพาะทาง            

  จวบถึงปัจจุบัน  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๐  ปี ๒๕๕๐    ตลอดระยะเวลา ๔๔  ปีของการพัฒนาประเทศ ด้วยการเดินทางของปฏิวัติเขียวที่ยาวนานมาก และระหว่างทางได้เกิดการทำลายทรัพยากรท้องถิ่นไปอย่างไม่สามารถประมาณค่าได้  ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางพันธุกรรมพืช และสัตว์ท้องถิ่น   ปฏิวัติเขียว  ไม่เพียงแค่  เปลี่ยนพันธุ์  เปลี่ยนเทคโนโลยี  เปลี่ยนระบบการผลิต แต่นำสู่การเปลี่ยนวิถีชีวิตของเกษตรกรอย่างเลี่ยงไม่ได้          

     ยกตัวอย่างเช่น ชาวนาใน  จ. สุพรรณบุรี จากชาวนาที่เคยมีความสุขกับวิถีกสิกรรม   ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้จัดการนาที่ทำนา  ๒ ปี ๕  ครั้ง  ใช้พันธุ์ข้าวที่ปรับปรุงโดยสถาบันวิจัย เพื่อให้ต้นเตี้ย เพื่อรองรับเทคโนโลยีทางการเกษตร และตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร   ต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงจนแทบไม่มีกำไร  หากไม่ทำ  นั่นหมายความว่า จะเป็นหนี้สินที่ไม่สามารถชดใช้ได้    การทำนา จึงเสมือนเป็นการต่ออายุ และผลัดวงจรของหนี้สินไปเรื่อยๆ    วงจรดังกล่าว เกิดขึ้นกับชาวนา ๙๐   กว่าเปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ภาคกลาง              

 ปฏิวัติเขียว  เกิดขึ้นแล้ว  และเกิดขึ้นยาวมานกว่าที่เราจะทบทวนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  ด้วยซึมซับถึงการเปลี่ยนแปลงจนเป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิต  เป็นชีวิตที่ทุกข์ระทมของชาวนาชาวไร่ ผู้หลังหยาดเหงื่อแรงงานเพื่อก่อบ้านสร้างเมือง ด้วยหวังว่า เหงื่อทุกหยาดหยดจะถมทับผืนแผ่นดินเกิดให้เจริญงอกงาม    หากแต่ ในความเป็นจริงแล้ว หยาดเหงื่อและพลังเหล่านั้น กลับถูกแย่งชิงโดยระบบทุนต่างชาติที่เข้ามารอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และ เหลือเอาไว้เพียง  ความย่อยยับของทรัพยากร   สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่น เอาไว้ให้ลูกหลานได้ดูต่างหน้า เพื่อระลึกว่า   ประเทศของเรา เคยเป็นผู้มั่งคั่งประเทศหนึ่งในดินแดนอุษาคเนย์

 


[๑] ข้อมูลบางส่วนจาก รายงานวิจัยจากปฏิวัติเขียวสู่พันธุวิศวกรรม ประโยชน์และผลกระทบต่อประเทศไทย โดย    นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  นายสุริยนต์    ธัญกิจจานุกิจ   และคณะ    ตุลาคม ๒๕๔๘         ;  หนังสือ ไปให้พ้นปฏิวัติเขียว : เบื้องหลังปัญหาการเกษตร และการแสวงหาทางเลือกใหม่ โดย  วิทูรย์  เลี่ยนจำรูญ  ;  www.nesdb.go.th  ;  www.biothai.net 
หมายเลขบันทึก: 155956เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2007 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากกำลังต้องการข้อมูลการปฏิวัติเขียวพอดีเลย ได้ความรู้ด้วย

ขอบคุณมากค่ะได้ความรุ้เพิ่มเติมเยอะเลย อยากรู้ข้อมูลของIRRIเพิ่มจังมีไหมคะเช่นเป็นมาอย่างไรข้ลที่เป็นประวัติน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท