ความเชื่อเกี่ยวกับพระปริตรและการสะเดาะเคราะห์ของชาวพม่า


พม่าประกาศให้สังคมโลกรับรู้ว่า ประเทศพม่าเป็น “แผ่นดินทอง” ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับความเป็น “แผ่นดินแห่งพุทธศาสนา” และ “แผ่นดินแห่งพุทธเจดีย์”
ความเชื่อเกี่ยวกับพระปริตรและการสะเดาะเคราะห์ของชาวพม่า
พม่าประกาศให้สังคมโลกรับรู้ว่า ประเทศพม่าเป็น “แผ่นดินทอง” ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับความเป็น “แผ่นดินแห่งพุทธศาสนา” และ “แผ่นดินแห่งพุทธเจดีย์” รวมอยู่ด้วย โดยพม่าได้หมายเอาพระเจดีย์สีทองอร่ามอย่างพระเจดีย์ชเวดากองเป็นเอกลักษณ์ของแผ่นดินพม่า พระเจดีย์จึงเป็นภาพลักษณ์ในเชิงวัตถุที่แสดงว่าพม่าเป็น ”เมืองพุทธ” ในทำนองเดียวกันชาวพม่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธก็แสดงรูปแบบของพุทธศาสนิกชนไว้อย่างเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความนิยมในการเดินทางแสวงบุญ การบวชเรียน การสวดมนต์ การปฏิบัติวิปัสสนา และการจัดประเพณีทางศาสนา แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระและเป้าประสงค์ของการปฏิบัติบูชาทั้งหลายของชาวพุทธพม่าแล้ว มีหลายประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์โดยชาวพม่าด้วยกันเองอยู่บ่อยว่าไม่เหมาะสมกับวิถีพุทธที่ถูกต้อง ราวกับว่าชาวพุทธพม่าส่วนใหญ่กำลังเดินผิดแนวทางของพุทธศาสนา ในบทนี้จึงขอนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจสองเรื่อง คือ การสวดพระปริตร และการสะเดาะเคราะห์ของชาวพม่า ในประเด็นแรกนั้นเป็นการใช้บทพุทธคุณเพื่อการป้องกันภยันตราย ส่วนประเด็นหลังเป็นความเชื่อในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการสะเดาะเคราะห์กับองค์พระเจดีย์และพระพุทธรูป ทั้งสองประเด็นจะช่วยให้มีความเข้าใจสังคมพุทธแบบพม่าได้ในอีกมิติหนึ่ง ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นวิถีพุทธแบบชาวบ้าน

ความเชื่อเกี่ยวกับพระปริตร

ในยุคที่ประเทศพม่ายังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ (ก่อน ค.ศ. ๑๘๘๖) พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนับว่ารุ่งเรืองอย่างสืบเนื่องด้วยการอุปถัมภ์ของราชสำนักพม่า พระเจ้ามินดง  (ค.ศ. ๑๘๕๒  –๑๘๗๘ ) กษัตริย์พม่าปลายสมัยคองบอง  นับเป็นกษัตริย์พม่าพระองค์หนึ่งที่ทรงสนพระทัยในกิจทางศาสนา คราหนึ่งพระองค์ได้ทรงจัดให้มีพระราชพิธีสวดพระปริตรในนครมัณฑะเล โดยได้นิมนต์พระสงฆ์ชื่อดังจากวัดต่างๆมาร่วมทำพิธีดังกล่าว ในงานมีผู้ร่วมพิธีทั้งที่เป็นวงศานุวงศ์ตลอดจนข้าราชบริพารร่วมสดับฟังการสวดพระปริตรกันอย่างพร้อมพรั่ง ตามความเชื่อของชาวพม่า การได้ฟังบทสวดพระปริตรจะช่วยให้ได้อานิสงส์อย่างยิ่ง พม่าถือว่าพระปริตรเป็นดุจคาถามนตราอันศักดิ์สิทธิ์ สามารถปัดเป่าเภทภัยและป้องกันภยันตรายต่างๆได้ การสวดพระปริตรที่พระราชวังมัณฑะเลในคราวนั้นก็คงด้วยพระเจ้ามินดงทรงประสงค์จะให้เป็นเครื่องคุ้มกันภัยให้กับพระนครของพระองค์
เมื่อพระสงฆ์สวดพระปริตรจบ พระเจ้ามินดงได้ทรงถามพระสังคชาสงฆ์รูปหนึ่งว่า “ในสมัยพระเจ้าสิริธัมมาโสกนั้น มีบันทึกไว้ว่าในเวลาที่พระมหาโมคัลลิบุตติสสะสวดพระปริตรนั้น  น้ำพระปริตรเดือดขึ้นได้ แต่เหตุใดการสวดพระปริตรคราวนี้ น้ำพระปริตรจึงกลับนิ่งไม่สั่นไหวแม้แต่นิด  ฤาพระสงฆ์ซึ่งร่วมสวดพระปริตรครานี้ต่างไม่มั่นอยู่ในสมาธิ”
พระสังคชาได้ทูลถวายว่า “พระเจ้าสิริธัมมาโสกนั้น เป็นพระราชาผู้ทรงอานุภาพสูงส่ง จนสามารถเรียกหมู่นาคให้มาสยบได้ด้วยซ้ำ และพระสงฆ์เหล่านี้ก็มิอาจเทียบได้กับพระมหาโมคัลลิบุตติสสะ น้ำพระปริตรนี้จึงจะเดือดได้ฉันใด แม้มหาบพิตรเองผู้ซึ่งเป็นถึงเจ้าแห่งแผ่นดินและผืนน้ำ ไฉนเลยจะทรงเรียกนาค แม้งูปลาก็ไม่อาจทรงเรียกมาได้ ด้วยเหตุนี้ พระองค์อย่าได้ทรงกังวลเลยว่าน้ำพระปริตรจะเดือดหรือไม่”
พระสังคชาคงจะพยายามอธิบายให้พระเจ้ามินดงทรงเห็นว่า การประเมินพระราชอำนาจของพระราชา ใช่ว่าจะดูเพียงอานุภาพในการสยบนาคเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน การประเมินศีล สมาธิ และปัญญาของสงฆ์ โดยดูจากน้ำพระปริตรว่าจะเดือดหรือไม่นั้น ก็ไม่น่าจะสมด้วยเหตุและผล
เนื้อความที่เกริ่นมาข้างต้นนี้ เป็นประเด็นที่นักเขียนพม่าผู้หนึ่ง ซึ่งใช้นามปากกาว่า วีงเตงอู นำเสนอไว้ในงานเขียนของเขา เพื่อคัดค้านความเชื่อที่คลาดเคลื่อนไปจากแนวทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทของชาวพม่าในปัจจุบัน วีงเตงอูได้แสดงทัศนะของเขาเป็นบทความย่อยๆ ลงอย่างต่อเนื่องในวารสารธรรมรังสี ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๙๐ ถึง ๑๙๙๔ และเขาได้ยกประเด็นการเดือดของน้ำพระปริตรมาเป็นข้อพิจารณาเรื่องหนึ่ง หลังจากที่วีงเตงอูเสนอบทความแสดงทัศนะที่ทวนกระแสสังคมโดยแย้งกับความเชื่อหลายอย่างของชาวพุทธพม่าทั่วไปนั้น เขากล่าวว่าได้รับทั้งคำสนับสนุน และคำคัดค้านพร้อมกับคำประณามจากพระสงฆ์และฆราวาสพอๆกัน ที่จริงวิธีการเขียนของวีงเตงอูเป็นการแสดงทัศนะที่นุ่มนวล เขาแสดงทัศนะอย่างค่อนข้างระวัง แบบชวนให้คิด มากกว่าที่จะวิพากษ์สังคมพุทธพม่าอย่างตรงไปตรงมา  อย่างไรก็ตาม บทความของวีงเตงอูกลับช่วยสะท้อนโลกทัศน์ทางความเชื่อของชาวพุทธพม่าปัจจุบันได้อย่างชัดเจน
ในกรณีของความเชื่อของคนพม่าต่อบทสวดพระปริตร(xib9Ng9kN)ซึ่งมี ๑๑ บทนั้น วีงเตงอูมิได้ลดค่าของบทสวดดังกล่าว และมิได้ขัดขวางการสวดพระปริตรแต่อย่างใด เขาเพียงแต่อยากให้ชาวพม่าที่หลงคิดว่าพระปริตรเป็นดุจคาถามนตรา ที่จะช่วยให้เกิดศิริมงคล ดูดทรัพย์ ให้ลาภ และค้าขายคล่องเหล่านั้น หันมาให้ความสำคัญต่อความเข้าใจในเนื้อหาของพระปริตร แต่ในทางกลับกัน ชาวพุทธพม่าส่วนใหญ่มักเพียงพยายามท่องพระปริตรให้ชัดถ้อยชัดคำเท่านั้น โดยหาได้สนใจเนื้อความที่ว่าไว้ในบทสวดนั้น อีกทั้งมักเข้าใจว่าพระปริตรคือเครื่องรางที่จะช่วยคุ้มกันภัยอันเกิดจากสิ่งร้ายนานา อาทิ โรคภัยไข้เจ็บ มารร้าย ภูติผี ฝันร้าย ศัตรู สัตว์มีพิษ  อัคคีภัย ทุกข์เข็ญ การคลอดบุตร การสู้รบ และอุปสรรคต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้วีงเตงอูยังได้หยิบยกข้อมูลมายืนยันอย่างหนักแน่นว่าการสวดเพื่อวิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างที่ชาวพม่านิยมปฏิบัติกันอยู่นั้น แท้จริงคือการยอมรับความเชื่ออย่างลัทธิพราหมณ์ หรืออาจชะรอยไปคล้อยกับลัทธิตันตระของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน หาใช่พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไม่ พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทสอนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล สมาธิ และปัญญา   อีกทั้งปฏิเสธความเชื่อในเรื่องพระผู้เป็นเจ้าที่จะช่วยเหลือหรือบันดาลสิ่งต่างๆให้กับมนุษย์ วีงเตงอูเห็นว่าชาวพุทธพม่าส่วนมากดำเนินชีวิตผิดไปจากแนวทางของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่พม่ารับไว้เป็นที่พึ่งหลักนับแต่สมัยพระเจ้าอโนรธาเป็นต้นมา การที่พุทธศาสนาซึ่งเป็นสถาบันหลักอันหนึ่งของชาติผิดเพี้ยนไปจึงเป็นสิ่งที่เขาเรียกร้องให้ชาวพุทธช่วยกันตรวจสอบตนเองอย่างแยกแยะเพื่อให้พ้นจากลัทธิพิธีนอกพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม ทัศนะของวีงเตงอูนับว่าฝืนต่อความรู้สึกของชาวพุทธพม่าโดยทั่วไป ที่ต่างคุ้นเคยกับการนำพระปริตรมาเป็นเครื่องคุ้มครองและป้องกันภัย และคงยากมากที่คนพม่าส่วนใหญ่จะคล้อยตามความคิดของเขา แม้เรื่องของพระเจ้ามินดงที่วีงเตงอูยกมายืนยันถึงความไม่เข้าใจในอานุภาพของพระปริตรนั้น  กลับชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ว่าน้ำพระปริตรอาจเดือดได้ ถ้าบังเกิดผู้มีบารมีเสมอด้วยพระเจ้าสิริธัมมาโสกและพระมหาโมคัลลิบุตติสสะ  ยิ่งด้วยเคยมีปรากฏการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ความเชื่อในอานุภาพของพระปริตรยิ่งเข้มข้นขึ้น ดังมีเหตุการณ์เล่าลือกันว่าสงฆ์พม่ารูปหนึ่ง เป็นพระธรรมจาริกแห่งภูเขาฉิ่น คือ พระอุตตมะสาระ กล่าวกันว่าท่านเจริญด้วยเมตตาบารมี และได้เคยแสดงฤทธิ์ด้วยการเสกน้ำพระปริตรให้เดือดเป็นที่ประจักษ์จนเลื่องชื่อ ถึงแม้พระสงฆ์รูปนี้จะมรณภาพไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้  แต่สถานีวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐบาลปัจจุบันยังคงนำเสียงบทสวดพระปริตรทั้ง ๑๑ บทของท่านเวียนออกอากาศในเวลาเปิดรายการทุกเช้าเป็นประจำ สิ่งนี้ยืนยันได้ชัดถึงความเชื่อมั่นของชาวพุทธพม่าต่ออำนาจวิเศษแห่งพระปริตร
หากกล่าวถึงประสบการณ์ของชาวพม่าที่ได้จากการสวดและการฟังพระปริตรนั้น ชาวพม่าหลายคนยืนยันว่าได้รับอานิสงส์จริง  ถึงคราวที่เจ็บป่วยไม่สบาย การเดินทางมีอุปสรรค ฝันร้าย ก่อนคลอดบุตร ก่อนสอบ สมัครงาน ขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ ชาวพม่าจะเลือกบทสวดพระปริตรที่เหมาะสมจาก ๑๑ บทนั้น โดยจะสวดอย่างสม่ำเสมอจนพ้นช่วงวิกฤติของตน บางคนสวดพระปริตรทั้ง ๑๑ บททุกคืน บางคนจะทยอยสวดเป็นบางบทในแต่ละวันโดยจะสวดให้ครบทั้ง ๑๑ บทในแต่ละสัปดาห์ การสวดพระปริตรจึงกลายเป็นวิถีชีวิตของชาวพุทธพม่าให้ได้นึกถึงอำนาจพุทธคุณที่จะช่วยคุ้มครองตนอยู่เสมอ อีกทั้งปรากฏการณ์น้ำพระปริตรเดือดให้เห็นจริงในปัจจุบัน ยิ่งช่วยหนุนให้คนพม่าส่วนมากต่างเชื่อในฤทธิ์อำนาจแห่งพุทธคุณ โดยไม่ใส่ใจต่อความเห็นที่แย้งว่าการท่องบ่นพระปริตรมิอาจช่วยเพิ่มบุญกุศล ปัญญา หรือทรัพย์แก่ตนได้เลย
การที่ชาวพุทธพม่านิยมการปฏิบัติธรรมด้วยการนั่งสวดพระปริตรหรือบทพุทธคุณอื่นๆพร้อมกับการนับลูกประคำโดยมิได้ใส่ใจเนื้อหาในบทสวดนั้น อาจเป็นไปได้ว่าชาวพม่าทั่วไปชอบที่จะให้ความสำคัญต่อพิธีกรรมมากกว่าหลักธรรม เหตุหนึ่งอาจเนื่องมาจากความเข้าใจที่ว่า แม้จะยึดปฏิบัติตามหลักคำสอนในพุทธศาสนา ดังเช่น การดำเนินชีวิตด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญานั้นแล้วก็ตาม แต่ใช่จะมั่นใจได้ว่าชีวิตจะพบกับความสำเร็จได้เสมอไป เพราะชาวพม่าเชื่อว่ายังมีสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือกว่านี้อีก สิ่งนั้นคือ อดีตกรรม จึงเป็นเหตุให้ไม่อาจมั่นใจในการดำเนินชีวิตด้วยการประพฤติตามพุทธธรรมเพียงหนทางเดียว เหตุนี้จึงต้องทำให้หลักธรรมมีความศักดิ์สิทธิ์จนสามารถนำมาใช้แก้กรรมได้ ก็ด้วยการเสริมอานุภาพหรือฤทธิ์ให้กับหลักธรรมนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า สำหรับชาวพุทธพม่าทั่วไปแล้ว หลักธรรมจึงไม่อาจเป็นเพียงแนวทางแห่งการหลุดพ้นเท่านั้น แต่ยังจะต้องเป็นไปเพื่อความอยู่รอดของชีวิตปัจจุบันได้ด้วย ส่วนเหตุที่พม่าเชื่อว่าพิธีการสวดพระปริตรเป็นเครื่องแก้กรรมและป้องกันอันตรายนั้น อาจเป็นเพราะชาวพุทธพม่าเชื่อในเรื่องอดีตกรรมที่ตายตัว และโชคชะตาที่อาจปรับเปลี่ยนได้ด้วยฤทธิ์วิเศษ แล้วนำมาผูกเป็นความเชื่อในอิทธิฤทธิ์ที่เนื่องด้วยอำนาจพุทธคุณ ความเชื่อเกี่ยวกับอานุภาพของการสวดหรือฟังพระปริตรจึงสะท้อนโลกทัศน์ของชาวพม่าที่ให้ความสำคัญต่อพิธีกรรมหรือการบูชามากเสียจนลืมหลักแห่งการหยั่งรู้อริยสัจ โดยหันไปนิยมพึ่งพาอำนาจที่เหนือกว่า เพียงเพื่อให้ช่วยพลิกผันโอกาสหรือประคองชีวิตให้อยู่รอดเท่านั้น
ปัจจุบัน ความเชื่อถือในอานุภาพของบทสวดพระปริตรและอานิสงส์จากการฟังบทสวดดังกล่าวยังคงมีอยู่ในสังคมพม่าอย่างมั่นคง  เป็นตัวอย่างหนึ่งของความนิยมในการนำอำนาจพุทธคุณมาใช้ในวิถีชีวิตแบบชาวพุทธพม่า การยกข้อธรรมมาเป็นเครื่องคุ้มกันภัยดุจคาถามนตรานั้น นับเป็นปรากฏการณ์สามัญที่พบเห็นได้อย่างปกติในสังคมพม่า และอาจกล่าวได้ว่าชาวพุทธพม่ารับเอาพิธีกรรมของลัทธิศาสนาอื่นมาเป็นพุทธพิธีโดยมิได้แยกแยะอย่างที่วีงเตงอูพยายามชี้ให้เห็น หลักธรรมจึงถูกกำหนดเป็นบทสวดสำหรับวิงวอนขอความคุ้มครอง มากกว่าที่จะยึดเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ส่วนการกระจายเสียงบทสวดพระปริตรทั้ง ๑๑ บทของพระอุตตมะสาระ  ที่นำออกอากาศในช่วงเวลาเปิดรายการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐบาลทุกเช้านั้น บ่งชัดถึงการยอมรับในอานุภาพแห่งพระปริตรโดยผ่านพิธีกรรมในระดับรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อและศรัทธาของประชาชนส่วนใหญ่ ที่ยังอาศัยความอบอุ่นจากศาสนาเป็นที่พึ่งสำคัญ
หากเทียบสมัยโดยย้อนนึกถึงคราวที่พระเจ้ามินดงจัดพระราชพิธีสวดพระปริตรที่นครมัณฑะเลเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เห็นจะต่างเพียงว่าน้ำพระปริตรในสมัยพระเจ้ามินดงนั้นไม่เดือด แต่กลับเดือดได้ในปัจจุบัน ปรากฏการณ์นี้จึงช่วยเพิ่มศรัทธาต่อพระปริตรได้สนิทใจ  และยังอาจมีส่วนช่วยเพิ่มความชอบธรรมต่ออำนาจรัฐได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากหวนนึกถึงคำกล่าวของพระสังคชาที่ทูลถวายต่อพระเจ้ามินดงเกี่ยวกับความไม่สมด้วยเหตุและผลต่อการเดือดของน้ำพระปริตร ตามที่โยงให้ไปสัมพันธ์กับสมาธิและอานุภาพนั้น ก็คงจะให้แง่คิดเป็นแนวทางในการตรวจสอบความเชื่อของชาวพุทธพม่าด้วยกันเอง และน่าจะสมกับเจตนาของวีงเตงอู ที่ประสงค์ให้ชาวพม่าหันมาดำเนินชีวิตอยู่ในแนวทางที่ต้องกับหลักธรรมของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อต่อบทสวดพุทธคุณอย่างพระปริตรนั้นจัดได้ว่าฝังลึกอยู่ในจิตใจของชาวพุทธพม่าส่วนใหญ่ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมาเนิ่นนาน ดังนั้นจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะโต้แย้งการพึ่งพาบทสวดในแนวทางดังกล่าว เพียงโดยอ้างหลักของเหตุและผลเพื่อต้องการยืนยันหลักการของศาสนาอย่างผู้รู้  อีกทั้งสังคมพม่าไม่มีอิสระพอที่จะหันมาพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมทั้งหลายที่เอื้อให้สังคมพม่ายังจำเป็นต้องพึ่งพาศาสนาตามความเข้าใจอย่างชาวบ้าน ปัจจัยที่อาจต้องพิจารณาเป็นพิเศษได้แก่ ปัญหาทางการศึกษา เศรษฐกิจ และการเมือง จึงเป็นไปได้ว่า เหตุที่ชาวพม่าต้องหันไปคาดหวังกับศาสนากันมากโดยไม่รู้สึกขัดแย้งแต่อย่างไรนั้น ก็คงด้วยเพราะไม่อาจคาดหวังจากระบบดังกล่าวได้ดีพอนั่นเอง
การสะเดาะเคราะห์ด้วยฉัตร
การสะเดาะเคราะห์ หรือ ยะดะยา-เฉ่ (pE9kg-y) เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาของชาวพม่า ความนิยมนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับการดูดวงชะตา ซึ่งชาวพม่าส่วนมากยังมักต้องพึ่งพาอยู่เป็นนิตย์ ดังพบว่าในสิ่งตีพิมพ์ของพม่าประเภทนิตยสารรายสัปดาห์หรือรายเดือน จะต้องมีคอลัมน์ทำนายดวงชะตา พร้อมกับคำแนะนำสำหรับการสะเดาะเคราะห์ของผู้เกิดในแต่ละวันของสัปดาห์ วิธีการสะเดาะเคราะห์มีหลากหลายรูปแบบ อาทิ ปล่อยนกปล่อยปลา เลี้ยงอาหารสัตว์ มอบสิ่งของให้ผู้อื่น กินผลไม้บางชนิด ทิ้งขยะให้พ้นจากบ้าน และถวายฉัตรต่อพระเจดีย์ เป็นต้น ในบรรดาคำแนะนำเพื่อการสะเดาะเคราะห์นั้น การถวายฉัตรต่อองค์พระเจดีย์ ดูจะเป็นข้อปฏิบัติที่กระทำกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากพบกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆก็ตาม ชาวพม่ามักถือว่าการสะเดาะเคราะห์ด้วยวิธีดังกล่าวนี้เป็นบุญกริยาที่ประเสริฐสุด ในที่นี้จะขอกล่าวถึงความเป็นมาของฉัตร และการประยุกต์ฉัตรเพื่อการสะเดาะเคราะห์ของชาวพุทธพม่าพอสังเขป
ในภาษาพม่า  คำเรียก  ร่ม และ ฉัตร  ใช้รากคำเดียวกันว่า ที (5ut)  คำนี้จึงหมายถึงร่มกันแดดกันฝนธรรมดาก็ได้  หรือหมายถึงเครื่องสูงที่ใช้บอกฐานะหรือบรรดาศักดิ์ และยังหมายถึงเครื่องประดับที่อยู่บนส่วนยอดของพระเจดีย์ได้ด้วย
ในอดีตพม่ามีกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง และสิ่งที่เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็คือ เศวตฉัตร หรือ ฉัตรขาว ซึ่งพม่าจะเรียกว่า ที-ผยู่ (5utez&) แปลว่า “ร่มขาว”  สำหรับขุนนางก็จะมีฉัตรแสดงบรรดาศักดิ์  อาทิ ขุนนางชั้นสูงจะมีฉัตรแดงเป็นเกียรติยศ เป็นต้น พม่าถือว่าเศวตฉัตรเป็นสิ่งคู่กับองค์พระมหากษัตริย์ ราชบังลังก์ที่ไร้ฉัตรจึงหมายถึงการหมดสิ้นแห่งอำนาจและบารมี ดังตอนที่ราชวงศ์ของพม่าล่มสลายด้วยการยึดครองของอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๘๕ นั้น พม่าถึงกับเปรียบการสิ้นสุดของระบอบกษัตริย์ครั้งนั้นว่า ฉัตรหัก หรือ ทีโจ (5utdy7bt) อย่างไรก็ตาม แม้พม่าจะไม่มีสถาบันกษัตริย์อีกแล้ว แต่พม่ายังคงมีการใช้ฉัตรขาวเป็นเครื่องบอกบรรดาศักดิ์สำหรับพระสงฆ์
สำหรับฉัตรที่ประดับยอดพระเจดีย์แบบพม่านั้น เรียกว่า  พระฉัตร หรือ ทีด่อ (5utg9kN)  เจดีย์แบบพม่าจะต้องมีฉัตร  และในการสร้างเจดีย์จะมีการทำพิธีอัญเชิญพระฉัตร ซึ่งถือเป็นพิธีสำคัญและจะต้องกระทำเป็นลำดับสุดท้าย ดังเมื่อเดือนเมษายนของปีนี้ (พ.ศ.๒๕๔๒)  รัฐบาลพม่าได้จัดงานขึ้นฉัตรใหม่สำหรับพระเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็นงานยกฉัตรที่ยิ่งใหญ่ ด้วยว่างเว้นมานานนับแต่สมัยพระเจ้ามินดง รัฐบาลพม่าจัดงานนี้อย่างเอิกเกริก โดยใช้เวลาเตรียมงานหลายเดือน  และใช้เวลาเพื่ออัญเชิญพระฉัตรถึง  ๓  วัน  และยังจัดงานฉลองพระฉัตรอีกนับ  ๑๐  วัน  นับเป็นงานหลวงที่สามารถเรียกศรัทธาจากชาวพุทธพม่าทั่วประเทศได้มาก  ในพิธีมีผู้คนมาร่วมบริจาคแก้วแหวนเงินทองสำหรับประดับพระฉัตรกันมากมาย  จนของบริจาคมากล้นเหลือ และต้องนำไปจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เสียส่วนหนึ่ง
พม่าถือว่าฉัตรที่ยอดพระเจดีย์เป็นดุจร่มที่กางกั้นเจดีย์ให้บังเกิดความร่มเย็น ชาวพม่ายังเชื่ออีกว่าการบูชาด้วยฉัตรเป็นการทำบุญที่ได้กุศลมากกว่าการทำบุญอื่นใด  จึงเชื่อว่าหากมีวาสนาได้ถวายพระฉัตรแด่องค์พระเจดีย์ ชีวิตก็จะมีแต่ความร่มเย็น  และประสบแต่ความสำเร็จ ทุกวันนี้ชาวพม่ายังนิยมถวายฉัตรแด่องค์เจดีย์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมิใช่เป็นฉัตรเงินหรือฉัตรทองแท้ ๆ ฉัตรแบบนี้จะทำด้วยกระดาษสีเงิน สีทอง สีขาว สีเหลือง หรือสีเขียว ซึ่งมีจำหน่ายที่ร้านค้าแถวองค์เจดีย์ สีของฉัตรต่างมีความหมาย หากเป็นสีทองหรือสีเงินจะแสดงถึงความมั่งมี แต่ถ้าเป็นสีขาวจะแสดงถึงความสงบสุข เป็นต้น ชาวพุทธพม่านิยมบูชาพระเจดีย์ด้วยฉัตรประเภทนี้ เพื่อแก้เคล็ดหรือสะเดาะเคราะห์ ดังกรณีที่ประสบเคราะห์ร้าย ชาวพุทธพม่ามักจะต้องถวายฉัตรกระดาษแด่พระเจดีย์ และในการตั้งเครื่องหมู่บูชาพระเจดีย์ ซึ่งพม่าเรียกว่า กะเดาะ-บแว (doNg9kHx:c) มักจะต้องปักฉัตรไว้ที่สำรับบูชานั้นด้วย เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้พรที่ขอเกิดผลสัมฤทธิ์   (ตามคติของพม่านั้น เครื่องบูชาที่มีฉัตรประดับจะถือว่าเป็นเครื่องบูชาในฝ่ายศาสนา  ต่างจากการบูชาเทพนัต ซึ่งชาวพม่าไม่นิยมใช้ฉัตรมาประกอบเครื่องบูชา) การถวายฉัตรที่ทำด้วยกระดาษนี้  จึงต่างไปจากการถวายพระฉัตรสำหรับยอดพระเจดีย์  ที่ทำเพื่อสืบพระศาสนาหรือเพื่อเป็นพุทธบูชา  แต่การถวายฉัตรกระดาษสี จะเป็นเพื่อการขอความคุ้มครอง  และเพื่อความสงบสุขในชีวิตสำหรับผู้ถวาย 
ฉัตรจึงถูกใช้ในหลายหน้าที่ เป็นทั้งเครื่องแสดงฐานะของกษัตริย์ เครื่องบอกยศศักดิ์ของขุนนางชั้นสูง เครื่องแสดงเกียรติยศสำหรับพระสงฆ์ และเป็นเครื่องประดับยอดพระเจดีย์ ตลอดจนนิยมใช้ฉัตรประกอบเครื่องบูชาสำหรับพิธีสะเดาะเคราะห์และขอพร การที่พม่าพัฒนาการถวายฉัตรแด่องค์พระเจดีย์จนถึงขั้นนี้นั้น อาจเป็นเพราะฉัตรเป็นเครื่องหมายแห่งอำนาจและบุญบารมี อันจะนำมาซึ่งความมั่งมีและความร่มเย็นในชีวิต ซึ่งเป็นโลกียสุขที่ปุถุชนต่างปรารถนา
ความเชื่อเกี่ยวกับการสะเดาะเคราะห์ด้วยฉัตร และป้องกันภัยด้วยการสวดพระปริตร นับเป็นตัวอย่างของความเชื่อในอำนาจบุญกุศลและพุทธคุณของชาวพุทธพม่า อันจะช่วยให้เข้าใจวิถีพุทธแบบชาวบ้านในอีกมิติหนึ่ง และแม้ว่าวิถีพุทธแบบพม่าในประเด็นดังกล่าวนั้นอาจดูไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนักก็ตาม แต่พุทธศาสนาในวิถีแบบชาวบ้านนั้นกลับมีบทบาทต่อสังคมพม่าอย่างมาก จนแม้แต่ฝ่ายรัฐเองก็ให้ความสำคัญต่อพุทธศาสนาในรูปแบบดังกล่าวไม่ยิ่งหย่อนไปจากฝ่ายประชาชนพม่านัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะชาวพม่าต่างมีความเข้าใจต่อพุทธศาสนาในฐานะของพิธีกรรมอย่างหนึ่งในการค้ำจุนชีวิต ส่วนภาครัฐเองก็ประยุกต์พุทธพิธีให้เป็นรัฐพิธีที่สอดคล้องกับความเชื่อและความต้องการของประชาชน ดังนั้น การท่องบ่นพุทธคุณเพื่อป้องกันภัยนานาชนิด และการถวายฉัตรเพื่อปัดรังควาญต่างๆ จึงเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สะท้อนความเชื่อแบบหนึ่งของพม่า
วิรัช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15552เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากๆเลยนะค่ะสำหรับข้อมูล ดีมากๆเลยค่ะ ทำต่อไปนะค่ะ เอาใจช่วยสู้ๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท