บทความเรื่องตลกอีสาน : ภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย (ตอนสุดท้าย)


คนยุคปัจจุบันกับนิสัยด้านลบ                                                                                       

                  พฤติกรรมของผู้แสดงตลกในตลกอีสานเป็นสิ่งสะท้อนค่านิยมและความคิดของคนในสังคมนั้น ๆ เพราะตลกอีสานถูกแต่งขึ้นโดยคนสมัยใหม่ ก็ย่อมสะท้อนความคิดของคนสมัยใหม่ ผู้เขียนเห็นว่า มุขตลกในแต่ละยุคสมัยมักจะแฝงแง่มุมทางสังคมที่น่าสนใจของสมัยนั้น ๆ ไว้ได้เสมอ ดังเช่นในการแสดงตลกอีสานของคณะเสียงอีสานและคณะเพชรพิณทอง ซี่งได้สะท้อนถึงความคิด นิสัย ตลอดจนสภาพของสังคมไทยในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ดังตัวอย่างจากเสียงอีสาน ชุดที่ 6 เนื้อหาแสดงให้เห็นถึงความเจ้าเล่ห์ของคนที่ใช้หลอกลวงผู้อื่นให้หลงกล โดยยายยงค์ยืมเงินจากปอยฝ้าย 2,000 บาท แต่ปอยฝ้ายมีให้แค่ 1,000 บาท ยงค์จึงหลอกปอยฝ้ายว่า ถ้าเช่นนั้น ปอยฝ้ายก็เป็นหนี้ตนอยู่ 1,000 บาท ซึ่งสร้างความงุนงงให้กับปอยฝ้ายว่า อยู่เฉย ๆ ตนก็เป็นหนี้คนอื่น ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ยืมเงินใคร อำนาจของเงินจึงเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากตัวอย่างนี้ กล่าวคือ เงินมีอำนาจที่สามารถซื้อได้แม้กระทั่งคำพูดของคน และเพื่อเงินแล้ว คนยอมทำได้ทุกสิ่งที่บุคคลที่จะให้เงินต้องการ ดังเช่นที่ปอยฝ้ายรับปากว่าจะไม่เรียกยงค์ว่าเสี่ยว หากยงค์จ้างปอยฝ้ายด้วยเงิน 2,000 บาท

                      ภาพสะท้อนถึงความเจ้าเล่ห์หลอกลวงของมนุษย์นั้น ก็ปรากฏในการแสดงของคณะเพชรพิณทอง ชุดหนิงหน่องยุ่งไม่เลิก เช่นเดียวกัน มนุษย์ใช้เล่ห์กลฉ้อโกงและหลอกลวงผู้อื่น ส่งผลให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน ดังที่หนิงหน่องเล่าถึงเทคนิคการขายยาดมว่า หากอยากได้กำไรมาก ก็ทอนเงินให้ลูกค้าช้า ๆ เช่น เมื่อได้ธนบัตรใบละ 1,000 บาทจากยายที่ซื้อยาดมหลอดละ 12.50 บาท แม้ว่าผู้ขายจะมีเงินทอนให้ก็ตาม ให้บอกว่า มีเงินทอนไม่พอเพื่อถ่วงเอากำไร แล้วให้ยายนั่งรอไปก่อน จากนั้นเร่ขายยาดมตามปกติ แล้วจึงกลับมาบอกยายว่า จวนจะได้เงินทอนให้ยายแล้ว ถ่วงเวลาไปเรื่อย ๆ จนถึงเวลาที่รถโดยสารที่ยายนั่งต้องออกจากท่ารถไป เพียงเท่านี้ก็จะได้กำไรมากมาย พฤติกรรมที่ฉ้อโกงเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย เพราะพ่อค้าแม่ค้าหลายคนที่ขายสินค้าให้กับผู้โดยสารบนรถประจำทางและรถไฟมีพฤติกรรมดังกล่าว สาเหตุที่ต้องประพฤติดังกล่าว อาจเนื่องมาจาก สภาพสังคมปัจจุบันที่ผู้คนต่างต้องดิ้นรนหาเงินมาเลี้ยงชีพของตน วิธีใดที่ทำแล้วได้เงินมากแม้จะต้องโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น บางคนก็ยอมทำ ในขณะที่บางคนเห็นว่า   แม้ต้องทำงานเหนื่อยเพียงใด  แต่ถ้าเป็นงานสุจริต ไม่ได้โกงใคร ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ก็พอใจแล้ว

                    ส่วนตัวอย่างจากการแสดงของคณะเพชรพิณทองนั้น พบในชุดลุงแนบต้มฟังหมอลำซิ่ง   จากคำกล่าวที่ลุงแนบพูดไว้ว่า    งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข  เป็นคำกล่าวที่ผู้คนต่างยอมรับว่าเป็นจริง และสะท้อนถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม จากสังคมที่เคยแลกเปลี่ยนอาหารหรือสิ่งของระหว่างกัน โดยไม่ต้องใช้เงิน เงินในสมัยก่อนจึงมิใช่สิ่งสำคัญ แต่ในสมัยปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นสังคมที่มีเงินเป็นปัจจัยที่ 5 หากมนุษย์ไม่ทำงานก็จะไม่ได้มาซึ่งเงินที่จะมาดลบันดาลให้ตนมีความสุขได้

                 อำนาจเงินและความเห็นแก่ได้ของคนสะท้อนให้เห็นได้จากตัวอย่างการแสดงของเสียงอีสาน ชุดที่ 3 บางคนก็คิดจะเอาแต่ได้โดยไม่สนใจว่าใครจะเป็นจะตาย ไม่สนใจชีวิตของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ผู้นั้นเป็นสามีของตนเอง ปัจจุบัน จะพบกรณีเช่นนี้มาก ที่คนสามารถทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน แม้ว่าจะต้องไปคร่าชีวิตผู้อื่นก็ตาม ดังเช่นข่าว สามีฆ่าภรรยาเพื่อเอาเงินประกัน เป็นต้น แสดงถึงความเสื่อมโทรมของสังคมไทยอีกด้านหนึ่ง

                       ตัวอย่างบทสนทนาของวงเพชรพิณทอง ในชุดสตริงบ้านนอก สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของคนไทยบางกลุ่มที่ไร้น้ำใจ แทนที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กลับงัดแงะเอาทรัพย์สินของคนที่บาดเจ็บไป เรียกได้ว่า นอกจากจะไม่ช่วยแล้วยังซ้ำเติมผู้เคราะห์ร้ายอีกด้วย  เคราะห์กรรมเช่นนี้ เราสามารถพบเห็นได้ในข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือตามโทรทัศน์ทั่วไปในปัจจุบัน 

บทส่งท้าย                     

                 จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่า การแสดงตลกอีสานนำมาซึ่งความสนุกสนาน บันเทิง และตลกขบขันแก่ผู้แสดงและผู้ฟัง คนเราจะหัวเราะและชอบฟังเรื่องตลก ก็เพราะเรื่องตลกนั้นแปลกไปจากความเป็นจริงที่พบเห็น ส่วนบางเรื่องที่เราไม่สามารถเปิดเผยได้ในความเป็นจริง แต่ตลกสามารถนำมาเล่นล้อเลียนด้านหน้าเวที เพื่อให้เราหัวเราะและหลีกหนีจากความเป็นจริงได้ ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง (2544:  20) จึงกล่าวไว้ว่า มุขตลกเป็นเรื่องเล่าประเภทที่นำเสนอภาพที่มีมูลความจริง (seeds of truth) แต่แฝงไว้ซึ่งการเสียดสีล้อเลียน                        

                 หากมองภาพของสังคมไทยด้วยแล้ว ย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีกฎระเบียบเคร่งครัด ยิ่งเรื่องใดที่ถือเป็น เรื่องต้องห้าม ด้วยแล้ว คนไทยยิ่งไม่นำมาเปิดเผยในที่สาธารณะ รวมทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องความขัดแย้งและความสัมพันธ์ในครอบครัว นอกจากนี้ยังรวมไป ถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีของคนไทยด้วย เมื่อที่ใดมีกฎระเบียบ ก็ย่อมมีความเครียดเกิดขึ้น บางครั้งคนเราจึงฝ่าฝืนระเบียบเพื่อบรรเทาความเครียดนั้น ตลกจึงเป็นทางออกทางหนึ่งที่ช่วยให้คนในสังคมได้รับความบันเทิง ความสนุกสนาน ได้ปลดปล่อยอารมณ์และเสียงหัวเราะ ได้รู้สึกสะใจ และได้ระบายความเก็บกดภายใน                      

               ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรมองในอีกแง่หนึ่งว่า มุขตลกก็ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่ากฎระเบียบที่สังคมกำหนดขึ้นมานั้น ย่อมมีการฝ่าฝืนและมีข้อยกเว้น ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง (2544:  20) ให้ความเห็นไว้ว่า ในประเด็นหลังนี้ คติชนจึงทำหน้าที่รายงานข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ  นับได้ว่า คติชนได้ให้ ภาพลึก (insight) ของสังคมไทย มุขตลกในวัฒนธรรมอื่น ก็จะเปิดเผยความเป็นจริงอันนี้มาจากกฎระเบียบในวัฒนธรรมนั้น ๆ เช่นกัน                     

                นอกจากมุขตลกจะทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนการฝ่าฝืนกฎระเบียบของสังคมแล้ว    มุขตลกยังเป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการแสดงออกเรื่องเพศ การแสดงถึงความขัดแย้งและความสัมพันธ์ในครอบครัว การล้อเลียน ประชดประชัน เสียดสีผู้ที่มีสถานะสูงกว่า ตลอดจนพฤติกรรมในด้านลบของผู้คน เมื่อพิเคราะห์หน้าที่ของมุขตลกดังกล่าวแล้ว อาจสรุปได้ว่า เราสามารถใช้มุขตลกเป็น ข้อมูลทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นการ    ชี้ว่าในสังคมนั้นมีความขัดแย้งเรื่องอะไร ระหว่างใครกับใคร หรือเคร่งครัดกับเรื่องอะไรบ้าง ตลกช่วยทำหน้าที่แก้ปัญหาทางใจ และช่วยลดความกดดันลงได้ในระดับหนึ่ง เมื่อสังคมบัญญัติกฎเกณฑ์ สังคมก็มีกลไกที่ช่วยบรรเทาความกดดันจากกฎเกณฑ์นั้น มุขตลกจึงทำหน้าที่ให้คนบันเทิง และในขณะเดียวกัน ก็ ลดความเครียดทางสังคม อีกทางหนึ่งด้วย  

หมายเลขบันทึก: 155483เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2007 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับอาจารย์

            การเอาเรื่องจริงมาพูดเล่น  มันตลกครับ  แล้วเรื่องเหล่านี้เป็นสากลเลยผมว่า

            อีกเรื่องคือพฤติกรรมทางเพศที่มักนำมาเป็นเรื่องตลก  แสดงถึงการหาทางออกเช่นกันใช่ใหมครับ

สวัสดีค่ะ คุณสุมิตรชัย...

ใช่แล้วค่ะ การเอาเรื่องเพศมาเป็นเรื่องตลก แสดงถึงการหาทางออกอย่างหนึ่งของคนไทย เพราะอย่างสังคมไทยเนี่ย เป็นสังคมที่ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องเพศในที่สาธารณะ เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ปกปิด ฉะนั้นการได้พูดถึงเรื่องเพศโดยผ่านการแสดงตลกแบบนี้ จึงเป็นการระบายความเครียดอย่างนึงค่ะ เพราะในสภาพความเป็นจริง เราไม่สามารถทำได้ยังไงล่ะคะ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท